
แม้จะไม่มีการฉีดหรือปลูกฝีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เนื่องจากในตอนนั้นฝีดาษในคนถูกกำจัดหมดแล้ว ทว่าวัคซีนป้องกันฝีดาษก็ยังมีการผลิตอยู่ในบางประเทศ เพื่อวิจัยทางการแพทย์ และป้องกันการใช้เชื้อฝีดาษเป็นอาวุธชีวภาพ รวมทั้งใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงที่ยังคงพบการระบาดในแถบแอฟริกาอยู่ประปรายด้วย
โดยในปัจจุบัน วัคซีนโรคฝีดาษคนที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจากสหรัฐอเมริกา (FDA) แล้ว มีอยู่ด้วยกัน 2 ตัว คือ
1. วัคซีน ACAM2000 ของบริษัท Acambis เป็นวัคซีนรุ่นเก่าที่ใช้มานานแล้ว ในลักษณะการปลูกฝี สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้นานหลายสิบปี
2. วัคซีน Imvamune (Imvanex หรือ Jynneos) ของบริษัท Bavarian Nordic ประเทศเดนมาร์ก เป็นวัคซีนรุ่นใหม่ซึ่งฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ปัจจุบันได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาฝีดาษในคนในสหภาพยุโรป และยังได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
สำหรับประเด็นนี้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ ได้เผยผลการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนฝีดาษคน (Smallpox) ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เก็บรักษาไว้นานกว่า 40 ปี (ผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 และ 2523 จำนวน 13 รุ่นการผลิต) โดยเป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่เก็บในรูปผงแห้ง (Dry freeze) ที่ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบและพบว่า วัคซีนฝีดาษที่มีอยู่ยังมีลักษณะทางกายภาพที่ดี มีคุณภาพตามมาตรฐานวัคชีนไวรัสทั่วไปและยังคงมีคุณค่า หากเกิดการระบาดขึ้นในประเทศและไม่สามารถจัดหาวัคซีนฝีดาษมาใช้ได้ วัคซีนฝีดาษที่ขณะนี้มีประมาณ 1 หมื่นหลอด บรรจุ 1 หลอด 50 โดส รวมทั้งหมด 500,000 โดส น่าจะนำมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ แต่ทั้งนี้การนำวัคซีนมาใช้ในสภาวะฉุกเฉินก็ต้องพิจารณาร่วมกันหลาย ๆ ฝ่าย ถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ได้รับวัคซีนด้วย

สำหรับคนที่เคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนมาแล้วก็พอจะเบาใจได้ โดย นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า คนที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2523 ที่เคยปลูกฝีมาแล้ว ตัววัคซีนที่ได้ไปจะช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85% (ในคนที่มีภูมิคุ้มกันดี)
ส่วนในเรื่องภูมิคุ้มกันของวัคซีนจะอยู่ได้นานแค่ไหน จากการศึกษาในวารสารนิวอิงแลนด์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ที่ได้ทำการเจาะเลือดเก็บตัวอย่างบุคลากรที่ทำงานในศูนย์สัตว์จำพวกลิง ที่ออริกอน สหรัฐอเมริกา จำนวน 45 คน เป็นระยะอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยประมาณ 15 ปี พบว่า ประมาณ 60% ยังคงมีภูมิคุ้มกันอยู่ ทั้งนี้ ประเมินกันว่าระยะเวลาครึ่งชีวิตจะอยู่ประมาณ 90 ปี ซึ่งก็ถือว่านานเลยทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไม่ได้หมายความว่าจะช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงหรือไข้ทรพิษได้ทุกคน เพราะต้องขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายของแต่ละคนด้วยนะคะ

ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) แนะนำว่า ถ้าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เพิ่งสัมผัสเชื้อมา สามารถฉีดวัคซีนฝีดาษได้ภายใน 4 วัน ซึ่งจะมีภูมิคุ้มกันขึ้นทันก่อนที่ไวรัสจะเริ่มแบ่งตัวเป็นจำนวนมาก แต่หากฉีดวัคซีนหลังสัมผัสเชื้อมาแล้ว 4-14 วัน วัคซีนอาจป้องกันโรคไม่ได้เท่าที่ควร ทำได้เพียงลดความรุนแรงของโรคลง

ส่วนในประเทศไทย ศ. นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้การระบาดยังอยู่ในต่างประเทศแบบวงจำกัด ประเทศไทยยังไม่เสี่ยงต่อการระบาดมาก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะให้วัคซีน ซึ่งการให้วัคซีนอาจมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะวัคซีนฝีดาษเป็นชนิดเชื้อเป็น หากฉีดให้คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจทำให้เชื้อลามทั้งตัวจนเสียชีวิตได้
ด้าน 5 องค์กรวิชาชีพแพทย์ ได้แก่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศคำชี้แจงเรื่องโรคฝีดาษลิงเช่นกัน โดยระบุว่า แม้ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี จะไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่การระบาดยังไม่มาก มีโอกาสที่โรคนี้จะแพร่ระบาดมาถึงประเทศไทยได้น้อย
อีกทั้งหากมีการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ ไว้ตามร่างกาย ยกเว้นในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน มีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็เสี่ยงจะมีอาการรุนแรงได้ ดังนั้นจึงเล็งเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องเร่งรีบหาวัคซีนในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม หากการระบาดทวีความรุนแรงและใกล้ตัวเราขึ้นเรื่อย ๆ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมปรับเปลี่ยนแนวทางการให้วัคซีนฝีดาษเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ
นอกจากนี้ถ้าเจอใครที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดและมีอาการป่วย มีผื่น-ตุ่มขึ้นผิดปกติ ควรอยู่ให้ห่างไว้ เพราะหากสัมผัสโดนเชื้อเข้าก็เสี่ยงติดฝีดาษลิงได้นะคะ
บทความที่เกี่ยวข้องกับฝีดาษ
หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 25 กรกฎาคม 2565
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, เฟซบุ๊กธีรวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha, เฟซบุ๊ก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana, Blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย, cdc.gov, กรุงเทพธุรกิจ (2), เดลินิวส์, TNN, กรุงเทพธุรกิจ, Thai PBS