x close

ชวนรู้จักการปลูกฝี คืออะไร แผลเป็นแบบไหนป้องกันฝีดาษได้

           ปลูกฝี คืออะไร ประเด็นนี้กลับมาอีกครั้งหลังจากฝีดาษลิงกลับมาระบาดใหม่ ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะกำลังสงสัยกันอยู่ว่า แผลที่ต้นแขนเรานั้นใช่การปลูกฝีไหม แล้วการปลูกฝีช่วยป้องกันโรคอะไรได้อีกบ้าง

            โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษเป็นโรคติดต่อที่มีการระบาดมาตั้งแต่สมัยอดีต แต่หมดไปได้เพราะมีการปลูกฝีป้องกันโรค ทว่าตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2523 การปลูกฝีดาษได้ถูกยกเลิกไป คนในยุคหลัง ๆ จึงอาจไม่ค่อยได้ยินคำว่า "การปลูกฝี" และไม่รู้ว่าเราปลูกฝีเพื่ออะไร กระทั่งเมื่อมีโรคฝีดาษลิงระบาดขึ้นมาอีกครั้งในปี 2022 การปลูกฝีก็ถูกพูดถึงกันมากขึ้น ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจประเด็นปลูกฝีกันหน่อยดีกว่า
การปลูกฝีคืออะไร
ปลูกฝี

           การปลูกฝี ภาษาอังกฤษเรียกว่า Vaccination คือ การฉีดวัคซีนอย่างหนึ่ง โดยจะนำเอาเชื้อไวรัสในหนองฝี เข้าไปอยู่ในชั้นผิวหนังบริเวณต้นแขนของผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรค เพื่อให้เชื้อเพิ่มจำนวนต่อไปและช่วยกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค ซึ่งกระบวนการนี้จะก่อให้เกิดตุ่มหนองเฉพาะที่ขึ้นมา และเมื่อภูมิคุ้มกันเอาชนะเชื้อไวรัสได้ ตุ่มหนองนั้นก็จะค่อย ๆ แห้งและตกสะเก็ดเป็นแผลเป็นบนร่างกายนั่นเอง

           ทั้งนี้ ประเทศไทยเริ่มปลูกฝีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2378 เพื่อป้องกันโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ ก่อนที่จะเลิกการปลูกฝีในเด็กแรกเกิดมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา เนื่องจากโรคฝีดาษจะถูกกวาดล้างไปแล้ว หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2523 ทาง WHO ได้ประกาศว่าสามารถระงับการระบาดของโรคฝีดาษได้แล้ว ทั่วโลกจึงยกเลิกการปลูกฝีตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา ทำให้เด็กส่วนใหญ่ที่เกิดหลังปี 2523 แทบไม่ได้ปลูกฝีเพื่อป้องกันฝีดาษอีก

           อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เด็กแรกเกิดยังคงมีการปลูกฝี หรือการฉีดวัคซีน BCG เพื่อป้องกันวัณโรคที่บริเวณไหล่ซ้าย ซึ่งจะฉีดลงใต้ผิวหนังเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย และทิ้งรอยแผลเป็นไว้คล้าย ๆ กับการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ
แผลปลูกฝีแบบไหนช่วยป้องกันฝีดาษได้
             เมื่อเกิดประเด็นการปลูกฝีบนแขนขึ้นมา หลายคนก็คลับคล้ายคลับคลาว่าเรามีแผลปลูกฝีบนต้นแขนหรือเปล่า แต่ช้าก่อน...เราอาจเข้าใจผิดไปก็ได้ เพราะแผลเป็นที่ปรากฏบนต้นแขนอาจเป็นแผลจากการปลูกฝีเพื่อป้องกันฝีดาษ หรือแผลจากการปลูกฝีหรือฉีดวัคซีน BCG ป้องกันวัณโรคก็ได้เช่นกัน โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปรียบเทียบความแตกต่างไว้ ดังนี้

แผลปลูกฝีดาษ

ปลูกฝี

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan

            แผลปลูกฝีดาษจะมีลักษณะแบนราบ เรียบไปกับผิวหนัง หรือบุ๋มลงไปเล็กน้อย แต่ขอบแผลจะไม่เรียบ

แผลปลูกฝีวัณโรค

ปลูกฝี

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan

            แผลปลูกฝีป้องกันวัณโรคจะมีลักษณะนูน ขอบแผลเรียบมน
เคยปลูกฝีมาแล้ว
จะมีภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษนานแค่ไหน
ปลูกฝี

             จากข้อมูลของ น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ที่โพสต์ข้อมูลงานวิจัยผ่าน blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย ระบุว่า ผู้ที่เคยปลูกฝีดาษมาแล้วภูมิคุ้มกันจะลดลงช้ามาก โดยมีครึ่งชีวิตนานถึง 92 ปี แยกเป็นในผู้ชาย 99 ปี และในผู้หญิง 85 ปี ดังนั้นผู้ที่เคยปลูกฝีดาษมาเมื่อ 50 ปีก่อน ก็จะมีระดับภูมิคุ้มกันเพียงพอต่อโรคฝีดาษลิง
การปลูกฝีป้องกันฝีดาษลิงได้เท่าไร

             จากสถิติทางการแพทย์ตั้งแต่อดีต พบว่า การปลูกฝีมีประสิทธิภาพที่สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85% เลยทีเดียว

เราต้องกลับมาปลูกฝีกันอีกครั้งหรือไม่
             การระบาดของฝีดาษลิง ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า เราควรกลับมาปลูกฝีเพื่อป้องกันฝีดาษกันใหม่หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ยังไม่ต้องปลูกฝีใหม่ โดยตอนนี้ทั่วโลกไม่มีวัคซีนชนิดนี้แล้ว จะมีเพียงแค่ไม่กี่ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกากับรัสเซียที่ยังเก็บเชื้อไข้ทรพิษเอาไว้อยู่ ขณะที่ประเทศไทยไม่มีเชื้อตัวนี้เก็บไว้ แต่ก็จะประสานงานหาวัคซีนว่ามีประเทศใดเก็บเอาไว้บ้าง หรือบริษัทไหนจะสามารถผลิตเพิ่มได้ อย่างไรก็ตาม หากจะผลิตวัคซีนขึ้นมาใหม่ก็สามารถจำลองสายพันธุ์เพื่อทำวัคซีนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อตัวจริง

          ด้าน 5 องค์กรวิชาชีพแพทย์ ได้แก่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศคำชี้แจงเรื่องโรคฝีดาษลิงเช่นกัน โดยระบุว่า แม้ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี จะไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่การระบาดยังไม่มาก มีโอกาสที่โรคนี้จะแพร่ระบาดมาถึงประเทศไทยได้น้อย 

          อีกทั้งหากมีการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ ไว้ตามร่างกาย ยกเว้นในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน มีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็เสี่ยงจะมีอาการรุนแรงได้ ดังนั้นจึงเล็งเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องเร่งรีบหาวัคซีนในตอนนี้

          อย่างไรก็ตาม หากการระบาดทวีความรุนแรงและใกล้ตัวเราขึ้นเรื่อย ๆ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมปรับเปลี่ยนแนวทางการให้วัคซีนฝีดาษเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ

             ได้รู้จักการปลูกฝีกันไปแล้ว ก็ลองสำรวจดูนะคะว่าแผลที่ต้นแขนเราเป็นการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคอะไร ส่วนโรคฝีดาษลิง ณ ขณะนี้ แม้จะยังไม่ปรากฏในประเทศไทย แต่เราก็ควรระมัดระวังตัวเองไว้ โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ป่า เนื้อสัตว์ฟันแทะอย่างหนู กระรอก และพยายามอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับสัตว์เหล่านี้ด้วย และถ้าเจอใครที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดและมีอาการป่วย มีผื่น-ตุ่มขึ้นผิดปกติ ควรอยู่ให้ห่างไว้ เพราะโรคนี้ติดต่อได้จากการสัมผัสผู้ติดเชื้อค่ะ

บทความที่เกี่ยวกับฝีดาษ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชวนรู้จักการปลูกฝี คืออะไร แผลเป็นแบบไหนป้องกันฝีดาษได้ อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2565 เวลา 13:39:44 95,852 อ่าน
TOP