ฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ โรคระบาดวายร้าย ที่เคยคร่าชีวิตผู้คนมากมายในอดีต

          ฝีดาษ มีอีกชื่อว่า "ไข้ทรพิษ" ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง และเป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ 

ไข้ทรพิษ

          หากเอ่ยชื่อโรคฝีดาษขึ้นมา หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินชื่อนี้ แต่ก็อาจไม่รู้จักอย่างชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร มีอาการอย่างไร และเกิดขึ้นจากอะไร เนื่องจากประเทศไทยได้ประกาศว่าโรคนี้ได้ถูกกวาดล้างไปจนหมดสิ้นกว่า 30 ปีแล้ว วันนี้กระปุกดอทคอมเลยจะขอพาทุกคนไปรู้จักกับโรคฝีดาษ หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ไข้ทรพิษ กันค่ะ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อประดับไว้เป็นความรู้ และเตรียมรับมือในกรณีที่อาจคาดไม่ถึง

ฝีดาษ คืออะไร ?


          โรคฝีดาษ ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า ไข้ทรพิษ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Smallpox เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่ส่งผลต่อทุกระบบในร่างกาย พบครั้งแรกในสมัยศตวรรษที่ 16 จากการเดินทางไปยังทวีปอเมริกาของชาวยุโรป ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการระบาดที่ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน และเอธิโอเปีย ก่อนที่จะพบผู้ป่วยรายสุดท้ายจากการระบาดตามธรรมชาติที่ประเทศโซมาเลียในปี พ.ศ. 2520 จนในปี พ.ศ. 2521 ยังพบการติดเชื้อจากห้องแล็บในประเทศสหราชอาณาจักร 1 ราย โดยการพบผู้ติดเชื้อครั้งนี้นับเป็นผู้ป้วยคนสุดท้ายของโลก กระทั่งในปี พ.ศ. 2522 จึงได้รับการรับรองจากคณะนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสี่ยงทั่วโลกว่าไม่พบการระบาดของโรคฝีดาษอีกต่อไป ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2523 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าโรคฝีดาษถูกกวาดล้างไปจนหมดสิ้นแล้ว นับเป็นการยุติการระบาดของโรคฝีดาษอย่างเป็นทางการ
 
          ต่อมาในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. 2542 ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ (CDC) เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และที่ State Research Centre of Virology and Biotechnology เมืองโคลท์โซโว แคว้นโนโวซีบีสค์ สหพันธ์สาธารณรัฐรัสเซียได้รับอนุญาตให้เก็บรักษาเชื้อไวรัสฝีดาษไว้เพื่อการศึกษาวิจัย เพราะยังมีความเสียงว่าอาจมีการนำไปใช้เป็นอาวุธชีวภาพ จึงยังต้องมีการพัฒนาวัคซีนต่อไปเรื่อย ๆ ให้สมบูรณ์มากที่สุดเผื่อในกรณีที่คาดไม่ถึง

ฝีดาษ

สถานการณ์ฝีดาษในประเทศไทย


          โรคฝีดาษอุบัติขึ้นในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีการปรากฎขึ้นตั้งแต่ครั้งพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2460-2504 ก็พบการระบาดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2488-2489 เป็นปีที่มีการระบาดครั้งใหญ่ที่สุด เนื่องจากญี่ปุ่นจับเชลยมาสร้างทางรถไฟสายมรณะข้ามแม่น้ำแคว จึงทำให้เชลยศึกป่วยด้วยโรคฝีดาษและลามไปยังคนไทยจากภาคต่าง ๆ ที่ไปรับจ้างทำงานในแถบดังกล่าว และเมื่อแยกย้ายกันกลับถิ่นฐานก็ได้นำโรคฝีดาษไปแพร่ระบาดทั่วประเทศ ในครั้งนั้นมีผู้ป่วยมากถึง 62,837 คน เสียชีวิต 15,621 คน สูงกว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงปี พ.ศ. 2462-2487 ถึง 8 เท่า

          หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2504-2505 ได้มีการระบาดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย บริเวณติดต่อกับรัฐเชียงตุงของประเทศพม่า มีผู้ป่วย 34 ราย เสียชีวิต 5 ราย และในปี พ.ศ. 2504 นั้นเอง กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เริ่มกวาดล้างโรคนี้อย่างจริงจังในประเทศไทย  และรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ กระทั่งปี พ.ศ. 2523 เมื่อองค์อนามัยโลกประกาศให้โลกปลอดจากเชื้อฝีดาษจึงได้หยุดการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคนับแต่นั้นมา

ฝีดาษ 

ฝีดาษเกิดจากอะไร ?


          โรคฝีดาษ เกิดจากเชื้อไวรัสวาลิโอลา (Variola Virus) ในกลุ่มออร์โธพ็อกซ์ไวรัส (Orthopoxvirus) ลักษณะเด่นของโรคนี้คือจะมีตุ่มขึ้นตามผิวหนังทั่วร่างกาย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคนี้แต่ก็สามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการฉีดวัคซีน หรือที่เรียกว่าการปลูกฝี

          ทั้งนี้โรคฝีดาษจะมีระยะการฟักตัว 7-19 วัน ก่อนจะเริ่มมีอาการไข้และปวดตามร่างกายอย่างรุนแรง โดยจะกินเวลาประมาณ 10-14 วัน จากนั้น 2-4 วันหลังจากไข้ลดลงก็จะมีตุ่มขึ้นตามร่างกาย ซึ่งเมื่อเกิดตุ่มฝีดาษขึ้น ผู้ป่วยก็จะเข้าสู่ระยะแพร่เชื้อ เพราะเชื้อโรคฝีดาษจะอยู่ภายในตุ่ม หากตุ่มเหล่านี้แตกก็จะทำให้ติดต่อกันได้ผ่านระบบทางเดินหายใจ และการสัมผัสทางผิวหนัง นอกจากนี้ บางรายอาจติดต่อได้ผ่านทางเยื่อบุตา หรือในกรณีที่แม่เป็นฝีดาษอาจถ่ายทอดโรคดังกล่าวให้ลูกผ่านทางรกได้เช่นกัน

โรคฝีดาษ มีกี่ชนิด


          โรคฝีดาษมีทั้งหมด 4 ชนิด โดยแต่ละชนิดมีความรุนแรง และอาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้


1. โรคฝีดาษชนิดรุนแรง (Variola Major)

          ฝีดาษชนิดนี้จะมีอาการที่รุนแรงและมีผู้เสียชีวิตสูง ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าจากสถิติผู้ป่วยโรคฝีดาษในอดีต มีถึง 90% ที่ป่วยด้วยโรคฝีดาษชนิดนี้ และมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคฝีดาษชนิดนี้สูงถึง 30% เลยทีเดียว

2. ฝีดาษชนิดไม่รุนแรง (Variola Minor)

          เป็นโรคฝีดาษชนิดที่มีอาการคล้ายกับฝีดาษชนิดรุนแรง แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่า โดยมีอัตราการเสียชีวิตเพียง 1%

3. ฝีดาษชนิดเลือดออก (Hemorrhagic)

          ฝีดาษชนิดเลือดออกเป็นฝีดาษชนิดที่หาได้ยาก โดยอาการทั่วไปจะเหมือนกับโรคฝีดาษชนิดรุนแรง แต่จะมีเลือดออกมาใต้ผิวหนังและเนื้อเยื่อต่าง ๆ หลังจากนั้นก็จะมีจุดเลือดขึ้นตามอวัยวะต่าง ๆ ด้วย ฝีดาษชนิดนี้ถือว่ามีความรุนแรงสูง ซึ่งมีการพบว่า 95-100% ของผู้ป่วยด้วยฝีดาษชนิดนี้จะเสียชีวิตภายใน 5-7 วัน

4. ฝีดาษชนิดเนื้อร้าย (Malignant)


          อีกหนึ่งชนิดของฝีดาษที่พบได้น้อย แต่อัตราการเสียชีวิตสูงเกือบเทียบเท่า 100% ซึ่งอาการของฝีดาษชนิดนี้จะมีลักษณะเด่นที่ตุ่มที่ขึ้นตามผิวหนัง โดยตุ่มที่ขึ้นจะมีลักษณะเรียบและมีหนอง อีกทั้งยังมีลักษณะนุ่มกว่าตุ่มฝีดาษทั่วไป และตุ่มจะขึ้นช้ากว่าฝีดาษชนิดอื่น ๆ

ไข้ทรพิษ

ฝีดาษ อาการเป็นอย่างไร


          ลักษณะเด่นของฝีดาษก็คือตุ่มที่ขึ้นตามผิวหนัง แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะเกิดตุ่มขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย จะต้องมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่

          - มีไข้สูง 40 องศาเซลเซียส
          - ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลังอย่างรุนแรง หรืออาจมีอาการปวดภายในช่องท้อง
          - ปวดศีรษะ
          - อาเจียน
          - หนาวสั่น

          โดยอาการเบื้องต้นเหล่านี้จะกินเวลาที่ประมาณ 2-4 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลงและเริ่มมีตุ่มขึ้นตามลำตัว โดยจะเริ่มขึ้นที่บริเวณใบหน้าก่อนแล้วจะเริ่มกระจายไปส่วนปลายสุดของแขนและขา รวมทั้งฝ่ามือ ฝ่าเท้า จากนั้นจึงจะเกิดตุ่มขึ้นที่บริเวณลำตัว ซึ่งภายในตุ่มจะมีเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายได้ โดยตุ่มที่ขึ้นตามลำตัวนี้จะพัฒนาไปเป็นจุดด่างบนผิวหนัง ผื่นนูนแข็ง ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง ซึ่งตุ่มเหล่านี้จะสามารถแพร่เชื้อได้จนกว่าตุ่มที่ขึ้นจะแห้ง ตกสะเก็ดและสะเก็ดหลุดลอกออกไปจนหมด


          ทั้งนี้อาการตุ่มขึ้นของโรคฝีดาษมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นตุ่มน้ำอีสุกอีใส เนื่องจากระยะการเกิดและแพร่กระจายของตุ่มเหมือนกัน แต่จะสามารถสังเกตความแตกต่างได้โดยตุ่มของฝีดาษจะไม่เกิดขึ้นบริเวณซอกต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ บริเวณรักแร้ เป็นต้น ซึ่งตุ่มที่ขึ้นจะเป็นตุ่มที่มีลักษณะฝังลึก และเมื่อเกิดแผลเป็นจะกลายเป็นรอยบุ๋มค่ะ

ฝีดาษ
          ภาพถ่ายระยะใกล้ของผื่นโรคฝีดาษในวันที่ 6 รอยโรคจะเป็นตุ่มหนอง แล้วจึงตกสะเก็ดและลอกออกไป 

วิธีการวินิจฉัยโรคฝีดาษสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ?


          การวินิจฉัยโรคฝีดาษสามารถตรวจพบเชื้อฝีดาษได้ตั้งแต่ในช่วงที่เริ่มมีอาการ ทำได้โดยการเจาะเลือดตรวจ หรือหากมีตุ่มขึ้นแล้วแพทย์จะทำการขูดผิวหนังจากตุ่มผื่นที่ขึ้น หรือเจาะเอาน้ำที่ตุ่มไปตรวจ ซึ่งจะนำตัวอย่างที่ได้ไปทำการแยกเชื้อหรือเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต่อไป แต่ในปัจจุบันการตรวจหาโรคฝีดาษสามารถทำได้ง่ายขึ้นโดยใช้วิธีการตรวจทางโมเลกุล ซึ่งเป็นวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสในตระกูลออร์โธพ็อกซ์ไวรัส

ฝีดาษ รักษาด้วยวิธีใด ?


          ปัจจุบันนี้โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษยังไม่มียาที่สามารถรักษาอาการได้โดยตรง ทำได้แค่เพียงรักษาตามอาการ โดยจะต้องแยกผู้ป่วยไว้ในห้องปลอดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อน และควรเฝ้าระวังภาวะขาดน้ำและความผิดปกติของเกลือแร่ อีกทั้งยังควรระมัดระวังรอยโรคที่ปากและตา โดยการทำความสะอาดอวัยวะทั้ง 2 บ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำหรือนำสารใด ๆ มาทาบนผิวหนัง

วิธีป้องกันโรคฝีดาษ


          การป้องกันโรคฝีดาษที่ได้ผลที่สุดก็คือการใช้วัคซีน ซึ่งการให้วัคซีนโรคฝีดาษเรียกว่า "การปลูกฝี" วิธีการให้วัคซีนก็คือ แพทย์จะนำเข็ม 2 ปลายที่มีเชื้อไวรัสฝีดาษในวัวที่ผ่านกรรมวิธีให้เชื้ออ่อนแรงแทงเข้าไปในผิวหนัง และเมื่อผิวหนังบริเวณดังกล่าวได้รับเชื้อก็จะเกิดตุ่มฝีดาษ จากนั้นจะค่อย ๆ แห้งและตกสะเก็ดหายไปเอง
 
          วัคซีนชนิดนี้ป้องกันโรคฝีดาษได้ 3-5 ปี และจะยิ่งป้องกันได้นานขึ้นหากมีการให้วัคซีนซ้ำ โดยการให้วัคซีนฝีดาษจะทำให้เกิดแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นรอยบุ๋มที่บริเวณที่รับเชื้อฝีดาษ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นที่ต้นแขน หรือสะโพก เป็นต้น
 
          ทั้งนี้วัคซีนฝีดาษที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งก่อนได้รับเชื้อ หรือได้รับเชื้อแล้ว เพราะโรคฝีดาษเป็นโรคที่มีระยะในการฟักตัวค่อนข้างนาน จึงทำให้ผู้ติดเชื้อยังสามารถได้รับวัคซีนได้หลังได้รับเชื้อภายใน 4 วัน ซึ่งการฉีดวัคซีนให้ผู้ได้รับเชื้อในระยะเวลาที่กำหนดจะช่วยป้องกันหรือลดความรุนแรงของอาการป่วยลงได้

          ทว่าการใช้วัคซีนก็ยังมีผลข้างเคียงเช่นกัน โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนบางรายอาจจะได้รับผลข้างเคียงไม่ร้ายแรง หรือบางรายอาจลุกลามกลายเป็นโรคฝีดาษได้ จึงทำให้ในปัจจุบันได้มีการยกเลิกการให้วัคซีนไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีวัคซีนเก็บรักษาไว้ในกรณีที่อาจเกิดการระบาดอย่างไม่คาดคิด
 
          นอกจากนี้วิธีป้องกันที่ใกล้ตัวที่สุดคือการหลีกเลี่ยงจากผู้ที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคฝีดาษ และควรรีบแจ้งต่อสาธารณสุขโดยด่วน เนื่องจากโรคฝีดาษเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความค่ะ

          ได้รับความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับโรคฝีดาษกันไปแล้ว แต่ก็อย่าชะล่าใจและคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทางที่ดีควรติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่วันหนึ่งหากเกิดการระบาดขึ้นมาจะได้หาทางรับมือได้อย่างมีสตินะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อ



ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่, Centers for Disease Control and Prevention, healthline , World Health Organizations



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ โรคระบาดวายร้าย ที่เคยคร่าชีวิตผู้คนมากมายในอดีต อัปเดตล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13:41:47 61,537 อ่าน
TOP
x close