อัพเดทด่วน 23 โรคติดต่ออันตราย เจอแล้วต้องรีบแจ้งความ


โรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ

           โรคติดต่อ ได้ยินแล้วยิ่งต้องระวัง ได้คราวอัพเดทโรคติดต่ออันตราย เจอแล้วต้องรีบแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย

 

          นับวันโรคภัยต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้นมากมายจนทำให้เราต่างก็หวาดหวั่นกับความอันตรายและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้ เพราะโรคบางชนิดก็เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนไปไม่น้อย อย่างเช่น 23 โรคนี้ ที่กระปุกดอทคอมจะนำมาอัพเดทให้ทราบกัน โดยทั้งหมดนี้เป็นโรคที่ร้ายแรงจนกระทรวงสาธารณสุขต้องประกาศให้เป็นโรคติดต่อที่พบแล้วต้องทำการแจ้งความในทันที เพื่อความปลอดภัย ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะว่า โรคเหล่านี้มีอะไรบ้าง


          โรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 ถือเป็นโรคที่มีความรุนแรงและอันตราย สามารถติดต่อกันได้ง่าย รวมทั้งถ้าหากเกิดการติดต่ออาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ไว้เพื่อเป็นการระวังไว้ก่อน โดยโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความนั้น ปัจจุบัน (ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559) มีทั้งหมด 23 โรค ดังนี้

          
1. อหิวาตกโรค

           2. กาฬโรค

           3. ไข้ทรพิษ

           4. ไข้เหลือง

           5. ไข้กาฬหลังแอ่น

           6. คอตีบ

           7. โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด

           8. โปลิโอ

           9. ไข้หวัดใหญ่

           10. ไข้สมองอักเสบ

           11. โรคพิษสุนัขบ้า

           12. ไข้รากสาดใหญ่
         
           13. วัณโรค

           14. แอนแทร็กซ์

           15. โรคทริคิโนซิส

           16. โรคคุดทะราด เฉพาะในระยะติดต่อ

           17. โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลันในเด็ก

           18. โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง

           19. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา (ประกาศ ณ วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552)

           20. ไข้เลือดออก (ประกาศ ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552)

           21. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (ประกาศ ณ วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ 2557)

           22. โรคเมอร์ส (MERS) (ประกาศ ณ วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ 2558)

           23. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา



โรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ

 

1. อหิวาตกโรค (Cholera)

 

          อหิวาตกโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่ อหิวาตกโรคชนิดแท้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ คอเลอเร ส่วน อหิวาตกโรค ชนิดเทียม เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เอลเทอร์ วิบริโอ (EL Tor Cholera) ซึ่งจะอาศัยอยู่ในอุจจาระหรืออาเจียนของผู้ป่วย และแพร่กระจายอยู่ในอาหารและน้ำดื่มได้ โดยมีแมลงวันเป็นตัวพาหะ

 

          ทั้งนี้ผู้ป่วย อหิวาตกโรคจะมีอาการสังเกตได้แต่ไม่ชัดเจน อาทิ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วงวันละหลายครั้ง ประมาณ 1-2 วัน แต่ในผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการรุนแรงได้แก่ ถ่ายอุจจาระเหลวคล้ายน้ำซาวข้าว มีกลิ่นคาว อาเจียน ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่จนเกิดอาการอ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเบาลง หากทำการรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเสียชีวิตในที่สุด วิธีการป้องกัน คือรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุก รวมทั้งหมั่นล้างมือบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

 

2. กาฬโรค (Plague)

 

          มีสาเหตุเกิดจากมาจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่มีความร้ายแรงสูง พาหะของกาฬโรคมาจากสัตว์ฟันแทะจำพวกหนู เช่น หนู กระรอก กระแต กระต่าย โดยหากหมัดของสัตว์เหล่านี้มากัดคน ก็จะปล่อยเชื้อเข้าทางรอยแผล จนทำให้เกิดโรคได้ ซึ่งเมื่อเชื้อกาฬโรคเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการอักเสบบวม โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ รักแร้ และอาจมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโตบวม ระยะต่อมาเชื้อจะแพร่กระจายเข้าไปในกระแสเลือด เข้าสู่ปอด ตับ ม้าม บางรายเชื้ออาจจะกระจายเข้าไปยังเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง (Septicaemic plague) จนหัวใจวายและเสียชีวิตในที่สุด

 

3. ไข้ทรพิษ (Smallpox)

 

          ไข้ทรพิษ หรือมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า ฝีดาษ มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส วาริโอลา (Variola) โดยเชื้อดังกล่าวสามารถแพร่กระจายได้ในอากาศและเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ หรือไปสัมผัสกับแผลที่ผิวหนัง มีระยะฟักตัว 7-17 วัน เมื่อเชื้อฟักตัวแล้วผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดตามเนื้อตัว ปวดศีรษะ ปวดหลัง อ่อนเพลีย บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย 


          จากนั้นในระยะต่อมาจะมีผื่นขึ้น และมีอาการคล้ายจะเป็นไข้หวัดใหญ่ จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง และจะตกสะเก็ดไปในที่สุด โดยระยะนี้จะกินเวลา 3-4 สัปดาห์ นอกจากนี้เมื่อหายแล้วอาจจะมีแผลเป็นเป็นรอยบุ๋ม ผู้ป่วยบางคนอาจอาการมีแทรกซ้อนจนทำให้พิการหรือตาบอดไปในที่สุด


4. ไข้เหลือง (Yellow fever)

 

          ไข้เหลือง เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัส มียุงเป็นพาหะของโรค โดยที่เรียกว่าไข้เหลืองนั้นก็มาจากอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน (Jaundice) ที่มักพบในผู้ป่วยโรคนี้ นอกจากนี้ยังมีไข้สูงร่วมกับชีพจรเต้นช้าผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปวดหลัง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เบื่ออาหาร ต่อมาผู้ป่วยจะมีเลือดออกจากปาก จมูก ตา กระเพาะอาหาร อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด จนถึงไตวาย หรือมีโปรตีนปัสสาวะ (albuminuria) ปัสสาวะไม่ออก (anuria)

 

          มีการพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะโลหิตเป็นพิษจะเสียชีวิตภายใน 10-14 วัน แต่หากรักษาอย่างถูกต้องจนหายก็จะไม่มีความผิดปกติใด ๆ และไข้เหลืองไม่มีวิธีรักษาเฉพาะทำได้เพียงฉีดวัคซีนป้องกันและรักษาตามอาการเท่านั้น


โรคไข้กาฬหลังแอ่น

ภาพจาก webmd.com 

 

5. ไข้กาฬหลังแอ่น  (Meningococcal Meningitis)

 

          เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเชื้อ miningococci แบบเฉียบพลัน สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลาย จากปาก จมูกของผู้ที่เป็นพาหะ บางรายอาจจะมีอาการแทรกซ้อนร่วมด้วยเช่นอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือถ้ามีอาการรุนแรง ก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในเวลา 24 ชั่วโมง

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไข้กาฬหลังแอ่นได้ที่  ไข้กาฬหลังแอ่น เช็กอาการโรคติดต่ออันตราย อาจตายได้เฉียบพลัน 

 

6. คอตีบ (Diphtheria)

 

          โรคคอตีบเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบลักษณะเป็นแผ่นเยื่อในลำคอ จนอาจทำให้เกิดการตีบตันของทางเดินหายใจ และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิต นอกจากนี้จากพิษของเชื้อก็มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลายอีกด้วย โดยโรคคอตีบนี้ในปัจจุบันสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนโรคคอตีบ

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคคอตีบได้ที่ โรคคอตีบ โรคติดต่อตัวร้าย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

 

7. บาดทะยักในทารกแรกเกิด

 

          บาดทะยักเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium tetani) ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถพบได้ทั่วไปในดินและฝุ่นละออง นอกจากนี้ยังอาจพบได้ในลำไส้ของคนอีกด้วย โดยเชื้อมีความทนทานต่อความร้อนและยาฆ่าเชื้อบางชนิด รวมทั้งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางบาดแผล ซึ่งมักจะเข้าสู่ทารกได้ผ่านการตัดสายสะดือด้วยอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดในระหว่างการคลอด

 

          อาการของโรคบาดทะยักในทารกจะเกิดขึ้นเมื่อทารกอายุได้ 4-10 วัน โดยจะมีอาการเริ่มแรกคือขากรรไกรแข็งทำให้เด็กดูดนมได้ลำบาก ต่อมาอาจมีอาการเกร็งตามตัว หลังแอ่นแข็ง หากมีอาการรุนแรงก็อาจมีอาการชัก หน้าเขียว หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเกิดการเสียชีวิตได้

 

8. โปลิโอ (Poliomyelitis)

 

          เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของไขสันหลัง จนทำให้เป็นอัมพาตช่วงกล้ามเนื้อแขนและขา ในรายที่อาการรุนแรงจะส่งผลให้เกิดความพิการตลอดชีวิต หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วผู้ป่วยจะมีอาการที่แตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรงและไม่มีอาการแสดงออกมีเพียงส่วนน้อยท่านั้นที่จะมีอาการแบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบและพิการในที่สุด วิธีการป้องกันก็คือควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอตั้งแต่เด็ก และเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรคด้วยการรักษาสุขอนามัยที่ดี


โรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ

 

9. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

 

          ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย และสามารถติดต่อกันง่าย เกิดการระบาดได้ตลอดทั้งปี แต่มักเกิดได้บ่อยในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ปลายฝนต้นหนาว ปัจจุบันสามารถป้องกันได้เบื้องต้นด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง


 

10. ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis)

 

          อาการโรคไข้สมองอักเสบนั้นมีความอันตรายและมีอัตราเสียชีวิตสูง โดยมีสาเหตุเกิดได้จากเชื้อไวรัสหลายชนิด แต่ในประเทศไทยนั้นมักพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัส Japanese encephalitis หรือเรียกว่า เจอี (JE) ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในเด็กอายุตั้งแต่ 5-10 ปี และมักพบได้บ่อยในฤดูฝน สามารถป้องกันได้โดยการรับวัคซีนตั้งแต่ยังเด็ก และเลี่ยงการไม่ให้ถูกยุงกัดค่ะ

 

          อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไข้สมองอักเสบได้ที่ ไข้สมองอักเสบ โรคร้ายต้อนรับปี 2010

 

11. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)     

           

          โรคพิษสุนัขบ้า เป็น โรคติดต่อ จากสัตว์มาสู่คนที่มีความรุนแรง โดยมีสาเหตุมาจากผู้ป่วยได้รับพิษสุนัขบ้าผ่านทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน ไม่ว่าจะมาจาก สุนัข แมว สุนัขจิ้งจอก สกั้งค์ แรคคูน พังพอน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะหากไม่ได้รับการรักษาแบบประคับประคองก็สามารถเสียชีวิตได้ภายในเวลา 2-6 วัน 


          วิธีป้องกันคือควรหลีกเลี่ยงการเล่นกับสัตว์ที่ไม่คุ้นเคย หรือ ถ้าหากโดนกัดหรือข่วน ควรรีบไปล้างแผลและใส่ยารักษาแผลสดเพื่อกำจัดเชื้อไวรัส จากนั้นควรไปพบแพทย์ ทั้งนี้ควรติดตามอาการของสัตว์ที่กักอีกด้วย

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าได้ที่ โรคพิษสุนัขบ้า โรคติดต่อร้ายแรงที่อยู่ไม่ไกลตัว

 

12.ไข้รากสาดใหญ่ (Typhus)

 

          ไข้รากสาดใหญ่ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ไข้ไทฟัส (Typhus) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ในกลุ่มริคเกตเซีย โดยมีแมลงปรสิตเป็นพาหะ โรคไข้รากสาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ

 

 1. ไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด มักระบาดหลังสงครามหรือภัยพิบัติ อาการคือ ปวดศีรษะรุนแรง มีผื่นตามลำตัว แขนขา ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตตก ซึม ไวต่อแสงและเพ้อ ไข้สูง สามารถรักษาได้โดยให้ยาปฏิชีวนะ

 

 2. ไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่น มีหมัดเป็นพาหะ โดยจะนำเชื้อมาจากการไปกัดหนู อาการที่เห็นได้ชัดคือปวดศีรษะ เป็นไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน รักษาให้หายได้ แต่กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจเสียชีวิตได้

 

 3. ไข้รากสาดใหญ่จากป่า มีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยมีพาหะเป็นไรอ่อนซึ่งพบมากตามป่าละเมาะ


โรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ

 

13. วัณโรค (TB)

 

          วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบในปอด มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis รับเชื้อผ่านทางการไอ จาม ทำให้เชื้อกระจายในอากาศ อาการที่เห็นได้ชัดคืออาการไอเรื้อรัง บางคนมีไอซ้อน ๆ กันคล้ายไอกรน ปัจจุบัน วัณโรค สามารถรักษาให้หายได้ 


          โดยการรักษาจะให้ยาร่วมกันอย่างน้อย 3 ชนิด เพื่อลดอัตราการดื้อยา และเพิ่มประสิทธิภาพของยา การป้องกัน ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังมีอาการไอ รวมทั้งให้วัคซีน BCG ป้องกันวัณโรค

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวโรควัณโรคได้ที่ รับมือกับ วัณโรค คืนชีพ

 

14. แอนแทรกซ์ (Anthrax)

 

          โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคที่ระบาดในสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่กินหญ้า แต่ก็สามารถแพร่กระจายมาสู่คนได้ มีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความทนทานต่อความร้อนและความเย็นสูง และยาฆ่าเชื้อ สามารถอยู่ในธรรมชาติได้นานนับ 10 ปี 


          โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคเชื้อแอนแทรกซ์ จะมีอาการไข้ และมีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจจะเกิดอาการโลหิตเป็นพิษ ระบบการหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้มีสูงถึง 50-60 % เลยทีเดียว

 

15. ทริคิโนซิส (Trichinosis)

 

          โรคทริคิโนซิส หรือ โรคทริคิเนลโลซิส เป็นโรคพยาธิที่ติดต่อถึงคนโดยการบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ อาการที่สำคัญของผู้ป่วย คือ ปวดกล้ามเนื้อ หนังตาบนบวม ตาแดงอักเสบ มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากมักจะป่วยอยู่นานหลายเดือน บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ วิธีการป้องกันที่ง่ายที่สุดคือคือ รับประทานอาหารที่ปรุงให้สุกแล้ว

 

16. โรคคุดทะราด เฉพาะในระยะติดต่อ

 

          โรคคุดทะราด เป็นโรคติดต่อที่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ มีสาเหตุเกิดจากเชื้อ Treponema สามารถแพร่กระจายได้ง่ายด้วยการสัมผัสกับน้ำเหลืองของผู้ป่วยในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เนื่องจากในระยะที่สามนั้นจะเป็นระยะที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อได้จากการโดนวัสดุต่าง ๆ ทิ่ม หรือตำ 


          นอกจากนี้หากแมลงวันที่สัมผัสกับแผลเปิดของผู้ป่วยมาเกาะบริเวณแผลของผู้ที่ติดเชื้อก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน อาการที่สำคัญได้แก่ แปลตามผิวหนัง มีตุ้มคล้ายหูด บางรายอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต หากไม่ได้รับการรักษาอาการจะเข้าสู่ระยะหลัง ๆ และทำให้เกิดความพิการได้

 

17. โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลันในเด็ก

 

          โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลันในเด็กเป็นโรคที่อาการคล้ายคลึงกับโรคโปลิโอ แต่ไม่ใช่โรคเดียวกัน โดยโรคนี้เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัยโดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตอย่างเฉียบพลัน หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและใกล้ชิดก็สามารถหายเป็นปกติได้


โรคซาร์ส

 

18. โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง

 

          โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือที่รู้จักกันในชื่อว่าโรค ซาร์ส (SARS) เป็นโรคที่เคยเกิดการระบาดในประเทศแถบทวีปเอเชียในช่วงปี พ.ศ. 2545 โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสซาร์ส (SARS หรือ Severe Acute Respiratory Syndrome) และสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ผ่านสารคัดหลั่งของผู้ป่วย อาการที่สามารถสังเกตได้คือ ครั่นเนื้อ ครั่นตัว ปวดกล้ามเนื่อง ไอ หายใจลำบาก บางรายอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย วิธีการป้องกันคือควรเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วย แยกของใช้กับผู้ป่วยจนกว่าจะหายเพื่อไม่ให้เชื้อติดต่อกันได้ค่ะ

 

19. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

 

          โรคนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นที่เดิมมีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เกิดจากเชื้อไวรัส ชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) และมียุงลายเป็นพาหะ ในประเทศไทยสามารถพบได้ในทุกภูมิภาค


          อาการของโรคที่สังเกตได้ชัดเจนคือจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน หรือมีผื่นแดงตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดกระบอกตา หรือมีเลือดออกทางผิวหนัง ดูผิวเผินแล้วอาจคล้ายไข้เลือดออก หรือหัดเยอรมัน แต่มีอาการไม่รุนแรงเท่า แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจจะเรื้อรังและหรือทำให้ช็อกจนเสียชีวิตได้

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้ที่ ชิคุนกุนยา มารู้จัก โรคชิคุนกุนยา 


โรคไข้เลือดออก

 

20. ไข้เลือดออก

 

          ไข้เลือดออก เป็นโรคที่มักระบาดในฤดูฝนเนื่องจากมีน้ำขังเป็นจำนวนมาก เอื้ออำนวยต่อการแพร่พันธุ์ของยุงลายอันเป็นพาหะของโรค โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส หน้าแดง และมีเลือดออกเป็นจุดตามตัว ตับโต บางรายมีอาการปวดท้องและช็อกได้ ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยการเฝ้าระวังภาวะช็อก และเลือดออก วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และระวังไม่ให้ถูกยุงกัดค่ะ

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไข้เลือดได้ที่ โรคไข้เลือดออก อาการไข้เลือดออก เป็นอย่างไร คลิกเลย



21.โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (EBOLA)

 

          อีโบลา เป็นโรคที่มีความอันตรายสูงสุด เพราะมีอาการแทรกซ้อนสูง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ติดเชื้อและป่วยด้วยโรคอีโบลามักเสียชีวิต แต่ถ้าหากรักษาได้ทันท่วงทีก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูร่างกายอยู่นาน โรคอีโบลามีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสอีโบลา และสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และถึงแม้ว่าบางประเทศจะสามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถหาทางรักษาได้ ทำได้เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคอีโบลาได้ที่ อีโบลา รู้ไว้ใช่ว่า หยุดไวรัสร้าย ก่อนจะแพร่มาไทย 


โรคเมอร์ส

 

 22. โรคเมอร์ส (MERS)

 

          โรคเมอร์สหรือโรคไข้ไวรัสโคโรน่า มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบตะวันออกกลาง สามารถเกิดได้กับทุกช่วงวัย มีสาเหตุมาจากอูฐและค้างคาว เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ โดยอาการที่สังเกตได้คือ ไอ มีไข้ หายใจลำบาก บางรายแม้จะติดเชื้อแต่ก็จะแสดงอาการไม่มากนัก แต่บางรายก็อาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ การรักษาจะต้องรักษาแบบประคับประคองตามอาการเท่านั้น

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเมอร์สได้ที่ ไวรัสเมอร์สตัวร้าย ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องรู้จักก่อนเป็นเหยื่อ

23. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus disease)

          แม้โรคไวรัสซิกาจะระบาดหนักในแถบทวีปอเมริกา แต่ในประเทศไทยก็เฝ้าระวังโรคนี้อย่างเข้มข้น เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากยุงลาย และยังไม่มีวัคซีนรักษา โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะโรคนี้จะทำให้เด็กทารกในครรภ์มีศีรษะลีบผิดปกติ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไวรัสซิกาได้ที่ ไวรัสซิกา โรคติดต่อที่ไร้วัคซีนป้องกัน ภัยอีกขั้นจากยุงลาย

           ได้ทราบข้อมูลกันแบบนี้แล้ว ก็อย่าลืมสังเกตอาการคนใกล้ตัวและหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงนะคะ ที่สำคัญคือถ้าหากพบผู้ป่วยละก็ ควรรีบทำการแจ้งความอย่างเร่งด่วนนะคะ เพื่อที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขจะได้เข้ามาทำการควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดไปมากกว่านี้ค่ะ

***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 10.21 น. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 


สถาบันบำราศนราดูร

ราชกิจจานุเบกษา
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อัพเดทด่วน 23 โรคติดต่ออันตราย เจอแล้วต้องรีบแจ้งความ อัปเดตล่าสุด 26 กรกฎาคม 2562 เวลา 10:46:44 124,545 อ่าน
TOP
x close