ฝีดาษลิง กับ 10 เรื่องที่ควรเข้าใจ ทำไมคนเกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ถึงเสี่ยงกว่ากลุ่มอายุอื่น

          ฝีดาษลิง หรือ Mpox คือโรคอะไร ชวนมาทำความรู้จักหลังกลับมาระบาดใหม่ จนทำให้ WHO ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก พร้อมเช็กอาการที่พอสังเกตได้ แบบไหนเสี่ยงเป็น !
ฝีดาษลิง

          ฝีดาษลิง เป็นอีกหนึ่งโรคที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2565 กระทั่งในช่วงกลางปี 2567 ก็ยังพบการระบาดอย่างหนักในทวีปแอฟริกา ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เชื้อเอ็มพอกซ์ (Mpox) หรือฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เนื่องจากสายพันธุ์เคลด 1 (Clade I) มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยจากข้อมูลทั่วโลก (ปี 2022-2024) พบผู้ป่วยสะสม 99,176 ราย เสียชีวิตสะสม 208 ราย

          ขณะที่ในประเทศไทย ณ ปี 2567 ยังไม่พบการระบาดที่รุนแรงเหมือนในทวีปแอฟริกา เนื่องจากสายพันธุ์ที่ระบาดคือ เคลด 2 (Clade II) มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยข้อมูลตั้งแต่ปี 2565-2567 มีผู้ป่วยสะสมในประเทศไทย จำนวน 827 ราย เสียชีวิตสะสม 11 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย

          อย่างไรก็ตาม แม้ในประเทศไทยจะพบผู้ติดเชื้อไม่มากนัก แต่เพื่อไม่ให้เป็นการประมาทหรือวิตกจนเกินไป เราอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจโรคฝีดาษลิงให้มากขึ้น

1. ฝีดาษลิง คืออะไร

          โรคฝีดาษลิง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Monkeypox คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ และสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ โดยลิงไม่ใช่แหล่งรังโรค แต่พาหะคือ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ เพราะมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 หรือ พ.ศ. 2493 ที่ค้นพบไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกในลิง จึงถูกตั้งชื่อว่า "ฝีดาษลิง" ก่อนที่ปัจจุบันจะใช้ชื่อว่า โรคเอ็มพอกซ์ (Mpox) คือ โรคที่เกิดจากไวรัสฝีดาษลิง

          ทั้งนี้ มีรายงานพบฝีดาษลิงในมนุษย์ครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เมื่อปี พ.ศ. 2513 ก่อนจะพบการระบาดใน 11 ประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก กระทั่งมาพบโรคนี้นอกพื้นที่แอฟริกาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ

          ขณะที่ในปี พ.ศ. 2565 กลับพบการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงกระจายอยู่ในประเทศอื่น ๆ นอกเขตแอฟริกา ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เบลเยียม ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส เป็นต้น รวมทั้งในประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่เป็นชาวต่างชาติมาก่อน

          อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 พบโรคฝีดาษลิงแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในพื้นที่แอฟริกากลางและตะวันออก ทำให้องค์การอนามัยโลกประกาศให้การระบาดของโรคเอ็มพอกซ์มีสถานะเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

2. ฝีดาษลิง เกิดจากอะไร

ฝีดาษลิง

          ฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) จัดอยู่ในจีนัสไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) ซึ่งเป็นเชื้อในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษในอดีต โดยมีไวรัส 2 สายพันธุ์หลัก คือ

  • สายพันธุ์แอฟริกากลาง หรือเคลด 1 (Clade I) ที่มีความรุนแรงมาก อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 10% 
  • สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก หรือเคลด 2 (Clade II) มีอาการไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิต 1%
          นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ย่อย ๆ เช่น เคลด 2 เอ (Clade IIa), เคลด 2 บี (Clade IIb) ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลก และล่าสุดยังมีอีกสายพันธุ์ที่พัฒนาความรุนแรงขึ้นคือ สายพันธุ์เคลด 1 บี (Clade IB) พบผู้ป่วยสะสมในประเทศดีอาร์คองโกมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 และมีอัตราการเสียชีวิต 3.2% โดยรอบนี้พบผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจติดจากสัตว์ป่า เนื่องจากสายพันธุ์เคลด 1 บี สามารถติดจากสัตว์สู่คนได้ 

3. ฝีดาษลิง ติดต่อสู่คนยังไง

           การติดต่อของโรคฝีดาษลิงสู่คน สามารถติดโรคได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
  • สัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ

  • การแพร่เชื้อจากคนสู่คนผ่านสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ เช่น การสูดละอองฝอยจากการไอ จาม ในระยะใกล้ ๆ รวมไปถึงการกอด จูบ และการมีเพศสัมพันธ์ 

  • การสัมผัสข้าวของเครื่องใช้ที่มีการปนเปื้อนเชื้อหรือปนเปื้อนสารคัดหลั่งอยู่ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย

  • การติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์

  • ติดต่อจากสัตว์ป่า หรือถูกสัตว์มีเชื้อกัดข่วน

  • การกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

          ทั้งนี้ การติดต่อจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ตอนเริ่มมีอาการ คือเริ่มมีตุ่มขึ้นจนถึงตอนตุ่มตกสะเก็ด แต่ถ้าตุ่มตกสะเก็ดแล้วก็จะไม่แพร่ต่อ และมีข้อมูลที่แสดงว่าผู้ป่วยในมนุษย์ส่วนใหญ่อาจจะติดจากสัตว์ตระกูลฟันแทะจำพวกหนู กระรอก ที่ติดต่อกันเอง แล้วมาแพร่สู่มนุษย์จนเกิดการแพร่ระบาดต่อ ๆ กัน มากกว่าจะไปติดเชื้อฝีดาษมาจากลิงด้วยนะคะ

4. ฝีดาษลิง อาการเป็นยังไง

ฝีดาษลิง

          หากได้รับเชื้อฝีดาษลิงมา เชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 5-14 วัน และอาจนานถึง 21 วัน จากนั้นจะเริ่มมีอาการ ดังนี้
  • มีไข้ 
  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ 
  • ปวดกล้ามเนื้อ 
  • ปวดหลัง 
  • ต่อมน้ำเหลืองโต 
  • หนาวสั่น 
  • อ่อนเพลีย
  • ภายใน 1-3 วัน หลังมีไข้ จะมีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า และกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แขน ขา แต่ก็อาจพบในบริเวณช่องปาก อวัยวะเพศได้ด้วย 
  • ลักษณะผื่นจะพัฒนาไปตามระยะ คือ มีผื่นนูนแดง ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองสีขาวเหลือง มีรอยบุ๋มตรงกลาง จนกระทั่งในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดหลุดออกมา 
         การแพร่เชื้ออาจจะเริ่มตั้งแต่มีอาการไข้ และจะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้มากที่สุดในช่วงระยะเวลาที่มีตุ่มน้ำตามตัว  ดังนั้น ผู้ป่วยควรกักตัวแยกจากคนอื่น สวมหน้ากากอนามัย และใส่เสื้อคลุมปิดผื่นทั้งหมด เพื่อรักษาแผลให้หายดี โดยจะพ้นระยะติดต่อก็ต่อเมื่อแผลทุกแผลตกสะเก็ดหมดแล้ว ส่วนใครที่สัมผัสโรคมาจะต้องกักตัวดูอาการ 21 วัน

          ทั้งนี้ ผศ. ดร. นพ.ปวิน นำธวัช อาจารย์ประจำภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการให้ข้อมูลถึงลักษณะอาการและการดำเนินโรคของโรคฝีดาษลิง ผ่านทวิตเตอร์@Pawin Numthavaj โดยอ้างอิงจากรายงานของทีมนักวิจัยระหว่างประเทศที่มีการรายงานไว้ในงานวิจัยรวม 528 เคส จากการรายงานใน 16 ประเทศ ซึ่งพบว่าอาการหลัก ๆ ของโรคฝีดาษลิง มีดังนี้

  • มีผื่น 95% (ที่บริเวณในร่มผ้า 73% แขนขา 55% หน้า 25%) โดยส่วนใหญ่มีน้อยกว่า 5 จุด (39%) มีผื่นเกิน 20 จุด แค่ 11% ผื่นส่วนใหญ่เป็นแบบตุ่มหนอง (Vesiculopustular) รองลงมาคือเป็นแบบหลุม (Ulcer)
  • มีไข้ 62%
  • มีต่อมน้ำเหลืองโต 56%
  • มีอาการเจ็บคอ 21% 

5. ฝีดาษลิง รุนแรงไหม อัตราการตายสูงหรือเปล่า

          สำหรับโรคฝีดาษลิง ผู้ป่วยมักจะมีอาการป่วยอยู่ราว ๆ 2-4 สัปดาห์ ส่วนใหญ่จะหายได้เอง โรคนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าฝีดาษคน 3-10 เท่า แต่ทั้งนี้ก็มีเคสที่อาการรุนแรงจนทรุดและเสี่ยงเสียชีวิตได้เหมือนกัน โดยเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อในปอด การขาดน้ำและภาวะสมองอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดในเด็กได้มากกว่าผู้ใหญ่ รวมทั้งคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

          ขณะที่อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคฝีดาษลิง จากสถิติของทางแถบแอฟริกาพบว่า อัตราเสียชีวิตในเด็กมีอยู่ราว ๆ 3-10% อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 3.6%  

6. ฝีดาษลิง ใครเสี่ยงบ้าง

ฝีดาษลิง

           กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวังการติดโรคฝีดาษลิง ได้แก่
  • ผู้ที่ต้องทำงานกับสัตว์ เช่น ลิง วัว กระรอก หนู หรือสัตว์ที่สามารถติดเชื้อก่อโรคฝีดาษได้
  • ผู้ที่ต้องทำงานโดยสัมผัสเชื้อพวกนี้โดยตรง เช่น ในห้องแล็บ ห้องเพาะเชื้อ ห้องทดลองต่าง ๆ 
  • ผู้ที่จำเป็นจะต้องไปทำงานในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอยู่
  • เด็ก เพราะเสี่ยงติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง
  • คนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 
          ขณะที่องค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่พบจากการระบาดในช่วงปี พ.ศ. 2565 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายรักชาย จึงเป็นไปได้ว่าการติดเชื้ออาจเกิดจากการสัมผัสกันระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ด้วย 

7. คนเกิดหลังปี พ.ศ. 2523
ยิ่งเสี่ยงมากกว่าอายุอื่น เพราะอะไร

          อย่างที่บอกว่าโรคฝีดาษไม่ใช่โรคใหม่ แต่พบมากว่า 200 ปีแล้ว และในช่วงที่มีการระบาดในอดีต เด็กทุกคนจะต้องได้รับการปลูกฝี หรือก็คือการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ ที่จะช่วยป้องกันโรคฝีดาษได้ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป การระบาดเริ่มมีแววควบคุมได้และหยุดการแพร่กระจายเชื้อ จึงเริ่มทยอยลดการปลูกฝีในประเทศไทย โดยเริ่มชะลอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 

          หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2523 ทาง WHO ได้ประกาศว่าสามารถระงับการระบาดของโรคฝีดาษได้แล้ว ทั่วโลกจึงยกเลิกการปลูกฝีตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา ซึ่งเท่ากับว่าคนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 แทบจะไม่ได้รับการปลูกฝีกันเลย จึงไม่มีภูมิคุ้มกันของโรคฝีดาษ แต่อาจจะมีบางคนที่แม้จะเกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ก็เคยปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษอยู่เหมือนกัน

8. ฝีดาษลิง รักษายังไง

ฝีดาษลิง

          ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงอย่างเฉพาะเจาะ ต้องรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ด้วยยาที่ใช้ในการรักษาโรคฝีดาษ คือ ยา Tecovirimat (ST-246) ยาต้านไวรัส Cidofovir และ Brincidofovir รวมทั้งการให้แอนติบอดีเสริมภูมิต้านทานสำเร็จรูปชื่อ Vaccinia Immune Globulin (VIG) สำหรับรักษาผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ หรือผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรุนแรง
ฝีดาษลิง รักษายังไง

ภาพจาก : สคร.5 ราชบุรี กรมควบคุมโรค

9. ฝีดาษลิง มีวัคซีนป้องกันไหม

          เราสามารถฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ หรือการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ประมาณ 85% และวัคซีนตัวนี้ยังสามารถป้องกันโรคไข้ทรพิษได้ด้วยค่ะ แต่ทั่วโลกแทบไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้ว

         อย่างไรก็ดี วัคซีนก็ยังมีการผลิตขึ้นเพื่อป้องกันการใช้เป็นอาวุธชีวภาพและป้องกันโรคฝีดาษลิง ซึ่งสหรัฐอเมริกามีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคฝีดาษคน 2 ตัว และได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจากสหรัฐอเมริกา (FDA) แล้ว คือ

  • วัคซีน Imvamune (Imvanex หรือ Jynneos) ของบริษัท Bavarian Nordic 
  • วัคซีน ACAM2000 ของบริษัท Acambis  
          ส่วนในประเทศไทย ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้เปิดให้บริการฉีดวัคซีน Jynneos ป้องกันโรคฝีดาษวานร (MPOX VACCINE) โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน สำหรับผู้มีความเสี่ยงหรือเคยสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งการศึกษาพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้มากกว่า 80-85% หลังจากฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 ไปแล้ว 2 สัปดาห์
วัคซีนฝีดาษลิง

ภาพจาก : ศูนย์วิจัยโรคเอดส์

วัคซีนฝีดาษลิง

ภาพจาก : สภากาชาดไทย Thai Red Cross Society

10. ฝีดาษลิง ป้องกันอย่างไรได้อีกบ้าง

          เราสามารถลดความเสี่ยงโรคฝีดาษลิงได้โดยวิธีดังต่อไปนี้ 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก ลิง เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ  
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ป่า เนื้อสัตว์ชนิดแปลก ๆ
  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเมื่อเดินทางเข้าไปในป่า 
  • ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค  
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัตว์ป่าป่วย 
  • หลีกเลี่ยงการเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์ป่าจากต่างประเทศที่ไม่ทราบประเทศต้นทาง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการป่วย
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน
  • กรณีเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน  
  • หากมีอาการเจ็บป่วย คือ มีผื่น มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณรอบ ๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ประกอบกับมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักตัวเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ
          อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปยังไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะผู้ติดเชื้อเกือบ 100% เป็นผู้ชายที่มีความเสี่ยงทางเพศ หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศอย่างประชาชนทั่วไปโอกาสติดเชื้อมีน้อยมาก แต่ทั้งนี้โรคฝีดาษลิงยังสามารถติดต่อกันผ่านทางสารคัดหลั่งหรือการสัมผัสผู้ป่วยได้ด้วย เราจึงควรระมัดระวังตัวให้ดีด้วยการล้างมือบ่อย ๆ กินอาหารที่ปรุงสุก อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เพื่อความปลอดภัย

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคฝีดาษ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝีดาษลิง กับ 10 เรื่องที่ควรเข้าใจ ทำไมคนเกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ถึงเสี่ยงกว่ากลุ่มอายุอื่น อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2567 เวลา 16:02:46 99,233 อ่าน
TOP
x close