น้ำมันปลาแซลมอน ช่วยอะไร เลือก Salmon Fish oil ยี่ห้อไหนดี ปี 2024

           น้ำมันปลา ช่วยอะไร ถ้าสนใจอยากรับประทานน้ำมันปลาแซลมอน จะเลือกยี่ห้อไหนดี มีเรื่องอะไรที่ควรรู้ก่อนรับประทานบ้าง
น้ำมันปลาแซลมอน

           น้ำมันปลา หรือ Fish oil เป็นอาหารเสริมที่ได้รับความนิยมมากในช่วง 2-3 ปีมานี้ ด้วยสารอาหารสำคัญอย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ มีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพหลายด้าน โดยเฉพาะหากเป็นน้ำมันปลาแซลมอนที่มีปริมาณโอเมก้า 3 ค่อนข้างสูง ตามมาอ่านกันว่า ถ้าอยากรับประทาน Salmon Fish oil ควรกินตอนไหนดี หรือไม่ควรกินคู่กับอะไร และจะเลือกซื้ออย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด

น้ำมันปลา กับ น้ำมันตับปลา
ต่างกันยังไง

น้ำมันปลา กับ น้ำมันตับปลา

          เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เรามาเคลียร์กันก่อนว่า น้ำมันปลา กับ น้ำมันตับปลา เป็นคนละชนิดกัน โดยมีความแตกต่างกันดังนี้

  • น้ำมันปลา : สกัดน้ำมันมาจากส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ หนัง หางของปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง จึงมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง แต่ไม่มีวิตามินเอ ไม่มีวิตามินดี เหมาะกับคนที่ต้องการบำรุงเรื่องสมองและหัวใจ

  • น้ำมันตับปลา : สกัดมาจากตับของปลาทะเล เช่น ปลาคอด แม้จะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 อยู่บ้าง แต่น้อยกว่าน้ำมันปลา ทว่าน้ำมันตับปลาจะมีวิตามินเอและวิตามินดีสูง เหมาะกับคนที่ต้องการดูแลเรื่องสายตาและกระดูก

น้ำมันปลา ช่วยอะไร

          ในน้ำมันปลามีกรดไขมันโอเมก้า 3 ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยกรดไขมันโอเมก้า 3 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  • กรดไขมัน EPA (Eicosatetraenoic Acid) พบมากในปลาทะเล เป็นกรดไขมันที่ช่วยเรื่องลดการอักเสบ ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด จึงป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด และลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง

  • กรดไขมัน DHA (Docosahexaenoic Acid) พบมากในปลาทะเล เป็นกรดไขมันที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองและสายตา ช่วยเรื่องการจดจำ การเรียนรู้ รวมถึงการมองเห็น

  • กรดไขมัน ALA (Alpha-Linolenic Acid) เป็นกรดไขมันที่มักพบในพืช เช่น ถั่ว เมล็ดพืชต่าง ๆ ร่างกายสามารถเปลี่ยน ALA ให้เป็น EPA และ DHA ได้ แต่ไม่มากเท่ากับได้รับจากการรับประทานปลาทะเล

น้ำมันปลา สรรพคุณมีอะไรบ้าง

น้ํามันปลา ช่วยอะไร

          จากประโยชน์ของกรดไขมันโอเมก้า 3 ทำให้น้ำมันปลามีสรรพคุณเด่น ๆ ดังนี้

  • ช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น เนื่องจากโอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ที่ช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ทำงานร่วมกันได้

  • มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองและระบบประสาท ช่วยเสริมสร้างความจำ ลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม

  • ดีต่อสุขภาพดวงตา โดยมีงานวิจัยพบว่า คนที่รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง จะมีโอกาสเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมลดลง

  • มีส่วนช่วยลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ 

  • มีส่วนช่วยลดความดันโลหิต ซึ่งส่งผลดีต่อการไหลเวียนของเลือด 

  • กรดไขมันโอเมก้า 3 มีคุณสมบัติช่วยลดอาการอักเสบ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบ รวมทั้งข้ออักเสบรูมาตอยด์

  • อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคซึมเศร้า เพราะโอเมก้า 3 มีบทบาทในการปรับสมดุลสารเคมีในสมองและลดความเครียดในสมอง

น้ำมันปลาแซลมอน กับ น้ำมันปลาทั่วไป
แตกต่างกันอย่างไร

          น้ำมันปลาทั่วไปส่วนใหญ่จะสกัดมาจากปลาทะเลหลายชนิด เช่น ปลาทูน่า ปลาแอนโชวี่ ปลาเฮอริ่ง ฯลฯ แต่น้ำมันปลาแซลมอนจะผลิตมาจากแซลมอนล้วน ๆ หรือมีแซลมอนเป็นส่วนประกอบหลัก โดยจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) พบว่า ในน้ำมันปลาแซลมอน 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิด EPA และ DHA รวมกัน 4.25 กรัม ซึ่งมากกว่าที่พบในน้ำมันปลาชนิดอื่น ๆ เช่น น้ำมันปลาเมนฮาเดน มี 2.9 กรัม, น้ำมันปลาซาร์ดีน มี 2.8 กรัม, น้ำมันตับปลาคอด มี 2.4 กรัม เท่ากับว่าการรับประทานน้ำมันปลาแซลมอนจะได้โอเมก้า 3 ในปริมาณที่สูงกว่า

          นอกจากนี้รสชาติและกลิ่นของน้ำมันปลาแซลมอนจะค่อนข้างอ่อนกว่าน้ำมันปลาทั่วไป ไม่ค่อยมีกลิ่นคาว อาจช่วยให้บางคนรับประทานได้ง่ายขึ้น ด้วยคุณลักษณะเช่นนี้จึงทำให้น้ำมันปลาแซลมอนมักจะมีราคาสูงกว่าน้ำมันปลาทั่วไป

วิธีเลือกซื้อน้ำมันปลาแซลมอน

น้ํามันปลาแซลมอน

          สำหรับคนที่สนใจน้ำมันปลาแซลมอน ลองมาดูว่าควรเลือกซื้ออย่างไร

  • เลือกชนิดของปลาที่เป็นส่วนผสม โดยบางยี่ห้อสกัดมาจากปลาแซลมอน 100% ขณะที่บางยี่ห้อจะมีส่วนผสมของปลาชนิดอื่นด้วย แต่ใช้ปลาแซลมอนเป็นส่วนผสมหลัก

  • พิจารณาปริมาณของ EPA และ DHA ที่ระบุไว้บนฉลาก ดังนี้

    • ในปริมาณ 1,000 มิลลิกรัม ควรมี EPA + DHA มากกว่า 200 มิลลิกรัม 

    • เปรียบเทียบสัดส่วน EPA:DHA โดยส่วนใหญ่จะเป็น 3:2 เช่น มี EPA 180 มิลลิกรัม และ DHA 120 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ดีต่อสุขภาพหัวใจและเหมาะกับการดูแลสุขภาพโดยรวม 

    • แต่หากต้องการเน้นดูแลเรื่องสมอง ควรเลือกน้ำมันปลาที่มี DHA ในปริมาณที่มากกว่า EPA

  • พิจารณาสารอาหารอื่น ๆ ที่ผสมมาในน้ำมันปลาแซลมอน เช่น วิตามินอี วิตามินดี สารสกัดจากสาหร่าย เป็นต้น ว่าให้คุณประโยชน์ตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ หรือต้องการรับประทานน้ำมันปลาแซลมอนแบบเพียว ๆ 100% เลย

  • อ่านส่วนผสม คำเตือนต่าง ๆ บนฉลากอย่างละเอียด โดยเฉพาะคนที่แพ้อาหาร แพ้ถั่วเหลือง หรือกลูเตน เนื่องจากน้ำมันปลาบางยี่ห้อมีส่วนผสมของวิตามินอีจากถั่วเหลือง

  • อาจพิจารณาที่มาของปลาแซลมอนร่วมด้วย โดยมีทั้งปลาแซลมอนในทะเลธรรมชาติและปลาแซลมอนเพาะเลี้ยง

    • ปลาแซลมอนธรรมชาติ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย จึงมีสารอาหารที่แตกต่างจากปลาแซลมอนเพาะเลี้ยง ปริมาณโอเมก้า 3 สูง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะสะสมสารปนเปื้อนในทะเลได้มากกว่าปลาแซลมอนเพาะเลี้ยง จึงควรเลือกแบรนด์ที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ได้รับการรับรองคุณภาพว่าปราศจากสารปนเปื้อน

    • ปลาแซลมอนเพาะเลี้ยง มีการควบคุมอาหารและอุณหภูมิของน้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม อาจมีไขมันสูงกว่าปลาธรรมชาติ และมีสารอาหารบางชนิดน้อยกว่า ทั้งนี้ แม้จะเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนในทะเลน้อยกว่า แต่บางฟาร์มอาจใช้สารเคมีในการเลี้ยง ดังนั้น จึงควรเลือกแบรนด์ที่ได้รับการรับรองคุณภาพเช่นเดียวกัน

  • เลือกน้ำมันปลาแซลมอนที่เติมแต่งน้อย เช่น ไม่มีสารเติมแต่ง ไม่มีสารกันเสีย ไม่มีน้ำตาล ปราศจากสารปนเปื้อน

  • เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการรับรองมาตรฐานและคุณภาพจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษ เช่น ปรอท ซึ่งอาจมีผลเสียต่อสุขภาพ

  • เลือกตามงบประมาณที่มีเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากน้ำมันปลาแซลมอนแต่ละแบรนด์

น้ำมันปลาแซลมอน
ยี่ห้อไหนดี ปี 2024

1. น้ำมันปลาแซลมอน Carlson

น้ำมันปลาแซลมอน Carlson

ภาพจาก : carlsonlabs

          น้ำมันปลาแบรนด์ดังในต่างประเทศขวดนี้สกัดมาจากปลาแซลมอนนอร์เวย์ ซึ่งให้กรดไขมันโอเมก้า 3 ในปริมาณสูง บรรจุมาในรูปแบบซอฟต์เจล กลืนง่าย ปริมาณแคปซูลละ 500 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล (1,000 มิลลิกรัม) จะได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิด EPA 220 มิลลิกรัม และ DHA 180 มิลลิกรัม

  • วิธีรับประทาน : ผู้ใหญ่รับประทานวันละ 2 ซอฟต์เจล พร้อมมื้ออาหาร

  • ปริมาณ : 50 แคปซูล (แคปซูลละ 500 มิลลิกรัม รับประทานได้ 25 ครั้ง)

  • ราคาประมาณ : 500 บาท (เฉลี่ยแคปซูลละ 10 บาท)

2. น้ำมันปลาแซลมอน Pure Alaska Omega-3 Wild Alaskan Salmon Oil

น้ำมันปลาแซลมอน Pure Alaska Omega-3

ภาพจาก : purealaskaomega

          น้ำมันปลาแซลมอนนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ขวดนี้สกัดมาจากปลาแซลมอนธรรมชาติจากอะแลสกา ด้วยกรรมวิธีสกัดเย็น เพื่อคงคุณค่าของสารอาหารต่าง ๆ เอาไว้ ทั้งกรดไขมันโอเมก้า 3, DHA 220 มิลลิกรัม, EPA 180 มิลลิกรัม รวมทั้งวิตามิน D3 บรรจุมาในซอฟต์เจลที่รับประทานง่าย ไร้สารปรอท

  • วิธีรับประทาน : รับประทานวันละ 2 แคปซูล พร้อมอาหาร

  • ขนาด : 210 แคปซูล 

  • ราคาประมาณ : 990-1,200 บาท (เฉลี่ยแคปซูลละ 4.70-5.70 บาท)

3. น้ำมันปลาแซลมอน SUPURRA

น้ํามันปลาแซลมอน สุเพอร์ร่า SUPURRA

ภาพจาก : topsvita

          สุเพอร์ร่า น้ำมันจากปลาแซลมอนเพาะเลี้ยง ที่ให้กรดไขมันโอเมก้า 3 ปริมาณ 350 กรัม พร้อมด้วยสารสกัดจากสาหร่ายฮีมาโตคอกคัส พลูวิเอลิส เทียบได้กับแอสต้าแซนทินที่มีส่วนช่วยดูแลผิวพรรณและดวงตา นอกจากนี้ยังเสริมด้วยสารสกัดจากบิลเบอร์รี ลูทีน และซีแซนทิน ซึ่งล้วนดีต่อสุขภาพดวงตาโดยตรง

  • วิธีรับประทาน : ผู้ใหญ่รับประทาน 1 แคปซูลต่อวัน

  • ปริมาณ : 20 แคปซูล (แคปซูลละ 1,000 มิลลิกรัม) 

  • ราคาปกติ : 299 บาท (เฉลี่ยแคปซูลละ 14.95 บาท)

4. น้ำมันปลาแซลมอน Innobic PRO SALMON OIL

น้ำมันปลาแซลมอน Innobic PRO SALMON OIL

ภาพจาก : innobicnutrition

          อินโนบิก โปร แซลมอน ออยล์ น้ำมันปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ Non GMO ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3, 6, 9 แบบครบถ้วน รวมถึง DHA 58.35 มิลลิกรัม, EPA 40.59 มิลลิกรัม และ DPA ที่มีส่วนช่วยป้องกันไขมันอุดตันในหลอดเลือด แบรนด์นี้ใช้เทคโนโลยีการสกัดด้วยเอนไซม์และความร้อนต่ำไม่เกิน 80 องศาเซลเซียส จึงช่วยคงคุณค่าสารอาหารต่าง ๆ เอาไว้

  • วิธีรับประทาน : รับประทานวันละ 1 แคปซูล พร้อมมื้ออาหาร

  • ขนาด : 30 แคปซูล 

  • ราคาปกติ : 390 บาท (เฉลี่ยแคปซูลละ 13 บาท)

5. น้ำมันปลาแซลมอน BEWEL Salmon Fish Oil 1000 mg Plus vitamin E

น้ำมันปลาแซลมอน BEWEL

ภาพจาก : bewel

          บีเวล น้ำมันปลาแซลมอนผสมวิตามินอี สกัดมาจากปลาแซลมอนที่นำเข้าจากประเทศไอซ์แลนด์ โดยใน 1 แคปซูล (1,000 มิลลิกรัม) ให้กรดไขมันโอเมก้า 3 ทั้ง EPA 180 มิลลิกรัม และ DHA 120 มิลลิกรัม ตามสัดส่วน 3:2 ที่เหมาะกับการดูแลสุขภาพโดยรวม

  • วิธีรับประทาน : วันละ 1-2 แคปซูล พร้อมอาหารเช้า-เย็น

  • ขนาด : 30 แคปซูล 

  • ราคาปกติ : 120 บาท (เฉลี่ยแคปซูลละ 4 บาท)

6. น้ำมันปลาแซลมอน Well U

น้ำมันปลาแซลมอน Well U

ภาพจาก : well-u

          เวล ยู น้ำมันปลาแซลมอน พลัส เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาแซลมอนสกัดเข้มข้นจากแปซิฟิก แซลมอนสายพันธุ์ชินูก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และสามารถสกัดกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้สูงถึง 90 เท่า (เมื่อเทียบกับน้ำมันที่ได้จากสารสกัดจากพืช) ให้ปริมาณ EPA 194 มิลลิกรัม และ DHA 172 มิลลิกรัม มาพร้อมกับน้ำมันสาหร่าย (Algae Oil) และวิตามินอี บรรจุมาใน Liquid Cap นวัตกรรมที่ช่วยรักษาคุณค่าทางสารอาหาร เพื่อให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เม็ดเล็ก รับประทานง่าย ไม่มีกลิ่นคาว

  • วิธีรับประทาน : วันละ 1 แคปซูล 

  • ขนาด : 30 แคปซูล 

  • ราคาปกติ : 990 บาท (เฉลี่ยแคปซูลละ 33 บาท)

7. น้ำมันปลาแซลมอน VISTRA Salmon Fish Oil 1000 mg Plus Vitamin E

น้ํามันปลา vistra วิสทร้า แซลมอน

ภาพจาก : vistra

         วิสทร้า น้ำมันปลาแซลมอน 1,000 มิลลิกรัม ให้กรดไขมันโอเมก้า 3 ทั้งกรดไขมัน EPA 180 มิลลิกรัม และ DHA 120 มิลลิกรัม แถมยังมีวิตามินอีจากถั่วเหลืองผสมมาด้วย ซึ่งวิตามินอีมีส่วนช่วยในกระบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของกรดไขมันโอเมก้า 3

  • วิธีรับประทาน : รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล พร้อมมื้ออาหาร

  • ขนาด : 45 แคปซูล 

  • ราคาปกติ : 220 บาท (เฉลี่ยแคปซูลละ 4.8 บาท)

น้ำมันปลา กินตอนไหน

           การรับประทานน้ำมันปลาช่วงท้องว่างอาจทำให้บางคนมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสียได้ เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จึงแนะนำให้รับประทานน้ำมันปลาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารไม่เกิน 30 นาทีจะดีกว่า อีกทั้งไขมันจากอาหารที่รับประทานเข้าไปจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้ดีขึ้นด้วย

น้ำมันปลา กินได้แค่ไหน

           ปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทานน้ำมันปลาคือ วันละประมาณ 500-1,000 มิลลิกรัม แต่หากเป็นเด็ก วัยรุ่น ควรรับประทานน้ำมันปลาในปริมาณที่น้อยกว่านี้ และสำหรับผู้ป่วยบางกลุ่ม แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานในปริมาณที่มากขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนัก สุขภาพโดยรวม รวมถึงวัตถุประสงค์ในการบริโภค ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน

น้ำมันปลา ไม่ควรกินคู่กับอะไร

น้ํามันปลา กินตอนไหน ไม่ควรกินคู่กับอะไร

          น้ำมันปลาไม่ควรกินคู่กับอาหารที่มีไขมันสูง รวมทั้งน้ำมันตับปลา เพราะอาจได้รับไขมันในปริมาณมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังไม่ควรกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสไขมันพอกตับ

          ส่วนคนที่รับประทานยาลดความดันโลหิต ยาคุมกำเนิด ยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ยาลดการดูดซึมไขมัน ควรเว้นระยะห่างจากการรับประทานน้ำมันปลา เนื่องจากน้ำมันปลาอาจไปเสริมฤทธิ์หรือลดฤทธิ์ของยาบางตัวได้

ข้อควรระวังในการกินน้ำมันปลา

  • อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค

  • การรับประทานน้ำมันปลาอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ได้ในบางคน

  • ผู้ที่แพ้ปลา อาหารทะเล หรือน้ำมันปลา ไม่ควรรับประทาน

  • ผู้ที่เลือดแข็งตัวช้า หรือผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือแอสไพริน ไม่ควรรับประทาน

  • รับประทานในปริมาณที่ระบุบนฉลาก หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรรับประทานเกินขนาดที่กำหนด เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์

  • หากกำลังรับประทานยาอื่น ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานน้ำมันปลา โดยเฉพาะผู้ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด น้ำมันปลาจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น 

  • เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับระทาน

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน

  • น้ำมันปลาไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค

           น้ำมันปลาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพก็จริง แต่ควรรับประทานอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือกำลังรับประทานยาบางชนิดอยู่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและปลอดภัย

บทความที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปลา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำมันปลาแซลมอน ช่วยอะไร เลือก Salmon Fish oil ยี่ห้อไหนดี ปี 2024 อัปเดตล่าสุด 20 กันยายน 2567 เวลา 17:01:27 18,689 อ่าน
TOP
x close