ใบชะพลู นอกจากจะมีสีเขียวจัดและกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ยังมีสรรพคุณทางยาที่น่าสนใจต่อสุขภาพหลายด้าน มาดูกันว่าใบชะพลูมีสรรพคุณอะไรบ้าง หรือมีข้อควรระวังอย่างไร
ใบชะพลู หรือช้าพลู นอกจากจะเป็นผักพื้นบ้านที่เรารู้จักกันดีแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาที่น่าสนใจมากมาย ใครที่ชอบกินใบชะพลูกับเมนูเมี่ยงต่าง ๆ หรือข้าวยำ ลองมารู้จักประโยชน์ของใบชะพลูให้มากขึ้นกันสักหน่อย ว่าตั้งแต่ใบไปยันราก ชะพลูมีสรรพคุณทางยาดีต่อสุขภาพของเราด้านไหน
ใบชะพลู กับหลากชื่อลือนาม
ชะพลู มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Piper sarmentosum Roxb. ส่วนภาษาอังกฤษของชะพลู คือ Wildbetal Leafbush นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกชะพลูแตกต่างกันไปในแต่ละภาค เช่น ผักปูนา ผักพลูนก พลูลิง (ภาคเหนือ), ผักแค ผักนางเลิด ผักอีเลิด (ภาคอีสาน) หรือทางภาคใต้จะเรียกกันว่า นมวา
ใบชะพลู ต่างกับใบพลูอย่างไร
ใบชะพลูและใบพลู ถึงแม้จะหน้าตาคล้ายกัน แต่ก็มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น ใบชะพลูมักมีสีเขียวเข้มกว่า ใบดูอ่อนนุ่มกว่า และมีเส้นใบที่ชัดเจนกว่าใบพลู อีกทั้งใบชะพลูจะมีขนาดใหญ่กว่าใบพลูเล็กน้อย ที่สำคัญกลิ่นของใบชะพลูจะชัด เพราะเป็นกลิ่นที่มีเอกลักษณ์ส่วนตัว
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ของใบชะพลู
ชะพลูเป็นไม้ล้มลุกชนิดไม้เถาและไม้เลื้อย มักเจอตามที่ชื้นและลุ่มต่ำ โดยลักษณะของชะพลูจะทอดลำต้นเลื้อยไปตามพื้นดิน ลำต้นสีเขียว ความสูงของต้นประมาณ 30-80 เซนติเมตร มีไหล (ลำต้นที่เติบโตในแนวนอน) งอกเป็นต้นใหม่ ส่วนรากจะงอกออกตามข้อ ใบชะพลูเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจ แผ่นใบบาง ขนาดใบโดยประมาณกว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเว้า มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่ชัดเจนติดอยู่กับใบ ดอกชะพลูมีสีขาว จะออกดอกอัดแน่นกันอยู่บนแกนช่อดอก ผลมีลักษณะกลม
คุณค่าทางโภชนาการของใบชะพลู
กองโภชนาการ กรมอนามัย แสดงคุณค่าทางโภชนาการของใบชะพลูต่อน้ำหนัก 100 กรัม ดังนี้
-
พลังงาน 54 กิโลแคลอรี
-
น้ำ 81.7 กรัม
-
โปรตีน 4.85 กรัม
-
ไขมัน 1.54 กรัม
-
คาร์โบไฮเดรต 1.72 กรัม
-
ใยอาหาร 7.2 กรัม
-
เถ้า 2.96 กรัม
-
แคลเซียม 405 มิลลิกรัม
-
แมกนีเซียม 105 มิลลิกรัม
-
โซเดียม 42 มิลลิกรัม
-
โพแทสเซียม 926 มิลลิกรัม
-
ธาตุเหล็ก 7.60 มิลลิกรัม
-
ทองแดง 0.29 มิลลิกรัม
-
สังกะสี 0.93 มิลลิกรัม
-
ไอโอดีน 7.48 ไมโครกรัม
-
เบต้าแคโรทีน 1,708 ไมโครกรัม
-
วิตามินเอ 142 ไมโครกรัม
-
วิตามินบี 1 (ไทอามีน) 0.02 มิลลิกรัม
-
วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) 0.28 มิลลิกรัม
-
วิตามินบี 3 (ไนอะซิน) 2.24 มิลลิกรัม
-
วิตามินซี 21 มิลลิกรัม
-
วิตามินอี 1.52 มิลลิกรัม
ดังที่เคยกล่าวไว้เบื้องต้นว่า ชะพลูจัดเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา โดยในตำรับยาโบราณระบุสรรพคุณของชะพลูไว้ตามนี้
-
รากชะพลู บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้บิด ขับเสมหะ
-
ผล ใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคหืด แก้บิด
-
ต้น แก้เสมหะ แก้อุระเสมหะ (เสมหะในหน้าอก)
-
ดอก ใบ ขับเสมหะ แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ
ทั้งนี้ ชะพลูเป็นสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน จึงช่วยเสริมธาตุไฟ ลดธาตุน้ำที่มีมากเกิน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงลดเมือกเสมหะ แต่ชะพลูสามารถลดน้ำส่วนเกินในร่างกายได้แทบทุกส่วน จึงเป็นหนึ่งในสมุนไพรสำคัญในตำรับยาเบญจกุล ยาปรับธาตุแพทย์แผนไทย ซึ่งมีส่วนผสมของสมุนไพร 5 ตัว ได้แก่ รากชะพลู ดอกดีปลี เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิงแดง และเหง้าขิงแห้ง เป็นยาที่ใช้ปรับธาตุทั้ง 5 ของร่างกายให้สมดุล
ใบชะพลู ประโยชน์ดียังไง
บรรเทาอาการอะไรได้บ้าง
ประโยชน์ของใบชะพลูดีต่อร่างกายของเราหลายด้าน เช่น
1. ดีต่อระบบย่อยอาหาร
จากสรรพคุณทางยาจะเห็นได้ว่า ใบชะพลูช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทำให้อาหารย่อยง่าย ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ปัญหาท้องอืด จุกเสียด
2. มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ
ใบชะพลูมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ด้วยเหตุนี้จึงมักจะพบใบชะพลูในเมนูแกงหอย แกงอ่อม แกงไก่ เพื่อให้ช่วยลดการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ลดอาการท้องเสียจากการรับประทานเมนูเหล่านี้
3. กระตุ้นการขับถ่าย
ใบชะพลูอุดมไปด้วยใยอาหาร การรับประทานใบชะพลูจึงช่วยเพิ่มกากใยในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้นไปในตัว
4. บำรุงกระดูกและฟัน
ชะพลูจัดเป็นผักที่มีแคลเซียมสูงเลยทีเดียว และยังมีฟอสฟอรัส วิตามินบี 1 และ 2 ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญต่อการบำรุงกระดูกและฟัน
5. ธาตุเหล็กสูง ช่วยบำรุงเลือด
ผักที่มีธาตุเหล็กสูงสังเกตได้จากผักใบเขียวจัด ซึ่งใบชะพลูก็เป็นหนึ่งในนั้น ใครที่อยากได้ธาตุเหล็กไปบำรุงร่างกายก็จัดใบชะพลูได้เลย
6. บำรุงระบบประสาทและสายตา
ชะพลูมีทั้งเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ จึงมีส่วนช่วยบำรุงสายตาและระบบประสาท อีกทั้งยังมีสารฟลาโวนอยด์ คลอโรฟิลล์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบในร่างกาย และชะลอความเสื่อมของเซลล์ได้อีกด้วย
7. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
จากงานวิจัยทางการแพทย์ พบว่า สารฟลาโวนอยด์ในใบชะพลูออกฤทธิ์คล้ายยาเบาหวานกลุ่ม Insulin secretagogues ซึ่งจะกระตุ้นการทำงานของอินซูลิน เพิ่มการดูดซึมกลูโคส และลดโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวานได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่แนะนำให้รับประทานใบชะพลูทดแทนยาเบาหวาน หรือการใช้ร่วมกันกับยาเบาหวานก็ต้องระมัดระวัง เพราะอาจเสริมฤทธิ์ยา ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวให้ชัดเจนว่าจะบริโภคใบชะพลูหรือสมุนไพรที่สกัดจากใบชะพลูอย่างไรจึงจะเหมาะสม
ใบชะพลู แก้ปวดฟันได้จริงไหม
จากข้อมูลที่ส่งต่อกันในโซเชียลว่า ใบชะพลูแก้ปวดฟันได้ ทางกรมอนามัยได้ออกมาชี้แจงว่า ข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง การป้องกันฟันผุที่ดีควรแปรงฟันอย่างถูกต้อง ด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันช่วยเคลียร์ช่องปากให้สะอาดอีกทาง
การดื่มน้ำต้มใบชะพลู จริง ๆ เป็นแนวทางตามตำรับยาแผนโบราณ มีอยู่หลายสูตร ยกตัวอย่างเช่น
สูตร 1 ขับเสมหะ
ใช้ใบชะพลู ราก หรือทั้งต้นของชะพลู จำนวน 7 ต้น ต้มกับน้ำ 3 ส่วน หรือพอท่วมใบ ค่อย ๆ ตั้งไฟและปล่อยให้ยาค่อย ๆ เดือด จากนั้นกรองเอาแค่น้ำ 1 ส่วน มาเป็นยาขับเสมหะ แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด โดยรับประทานครั้งละ 1/2-1 แก้ว ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น
สูตร 2 ลดน้ำตาลในเลือด
ใช้ชะพลูสดทั้ง 5 จำนวน 7 ต้น หรือใช้ใบชะพลูที่สดใหม่ 6-8 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด ใส่น้ำพอท่วม ต้มให้เดือดสักพัก กรองเอาแต่น้ำมาดื่มวันละครึ่งแก้วก่อนอาหาร 3 เวลา จะช่วยปรับสมดุลและลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่มีข้อควรระวังคือ น้ำใบชะพลูทำให้น้ำตาลลดลงเร็วมาก ถ้าเป็นไปได้ควรตรวจน้ำตาลในปัสสาวะก่อนดื่มและหลังดื่มทุกครั้ง ส่วนคนที่เป็นโรคเบาหวานอยู่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
ใบชะพลูกับประโยชน์ด้านอื่น ๆ
ใบชะพลูสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ นอกจากรับประทานได้ อย่างสารสกัดจากรากชะพลูก็มีฤทธิ์ไล่แมลง เช่น ผีเสื้อกลางคืน ด้วงงวงข้าว และมอดข้าวเปลือก หรืออาจเจอสารสกัดจากใบชะพลูในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหารเสริมบางอย่างได้เช่นกัน
แม้จะเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมาย แต่ใบชะพลูก็มีข้อควรระวังเช่นกัน โดยเฉพาะหากรับประทานในปริมาณมากเกินไปหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ ดังนี้
-
การรับประทานใบชะพลูในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจมีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น เวียนศีรษะ เป็นต้น
-
ใบชะพลูสดมีสารแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ซึ่งเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดนิ่วในไตได้ จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป หลังจากกินใบชะพลูแล้วให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ และรับประทานอาหารจำพวกโปรตีนร่วมด้วย ส่วนผู้ป่วยที่มีปัญหาตับและไตในระดับที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ควรรับประทานใบชะพลู
-
ผู้ที่มีระดับน้ำตาลต่ำอาจมีภาวะหน้ามืด ใจสั่น เป็นลม เหงื่อออกมือได้ เมื่อรับประทานน้ำต้มใบชะพลู ซึ่งมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
-
ผู้ป่วยเบาหวานควรระมัดระวังการรับประทานใบชะพลูในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจเสริมฤทธิ์ยาเบาหวาน
-
ไม่ควรใช้ใบชะพลูในขนาดที่เทียบเท่ากับยา โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
อย่างไรก็ดี สมุนไพรมีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้น แนะนำให้เลือกกินอย่างพอเหมาะ โดยกินใบชะพลูในเมนูต่าง ๆ เป็นอาหารปกติได้ แต่หากจะเลือกกินอาหารเสริมจากสารสกัดใบชะพลูแนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรก่อนนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้องกับใบชะพลู