ละมุด เป็นผลไม้รสหวานฉ่ำ มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่ก็มีบางกลุ่มที่ควรระวังในการรับประทาน เพราะละมุดอาจให้ผลเสียมากกว่าผลดีได้
ละมุด เป็นผลไม้สุดโปรดของใครหลายคน ด้วยกลิ่นเฉพาะตัว และรสชาติที่หวานอร่อย ซึ่งหากใครชอบกินละมุดเหมือนกัน วันนี้จะพามาเจาะประโยชน์ของละมุด พร้อมกับเช็กกันอีกทีว่าป่วยโรคไหนไม่ควรกินผลไม้ชนิดนี้บ้าง
ละมุด ผลไม้หวานหอม
ละมุด ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Sapodilla เป็นผลไม้ในวงศ์ Sapotaceae และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manilkara achras Fosberg ส่วนต้นกำเนิดของละมุดอยู่ที่เม็กซิโก แคริบเบียน และอเมริกากลาง แต่ปัจจุบันแพร่พันธุ์ไปยังอินเดีย และประเทศไทย
ละมุด เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นสูงประมาณ 5-15 เมตร ใบเขียวชอุ่ม ผลสุกมีสีน้ำตาลเป็นรูปทรงไข่ ยาวรี หรือทรงกลม แล้วแต่สายพันธุ์ เนื้อในนุ่มลิ้น รสชาติหวานจัด และมีกลิ่นหอมคล้ายดอกมะลิ ในผลจะมีเมล็ดรูปยาวรี สีดำ ประมาณ 2-6 เมล็ด
ละมุดมีกี่สายพันธุ์
ละมุดมีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่ที่นิยมปลูกในไทย จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม หลัก ๆ ได้แก่
- ละมุดผลเล็ก เช่น ละมุดมะกอก, ละมุดสีดา, ละมุดปราจีนบุรี
- ละมุดผลกลาง เช่น ละมุดกระสวยมาเลย์, ละมุดดำเนิน, ละมุดนมแพะ
- ละมุดผลใหญ่ เช่น ละมุดกำนัน, ละมุด ทช01, ละมุด CM19, ละมุดสาลี่เวียดนาม, ละมุดตาขวัญ, ละมุดไข่ห่าน
ละมุด มีโพแทสเซียมไหม
มีสารอาหารอะไรบ้าง
ละมุดจัดเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง และยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ต่อปริมาณ 100 กรัม ดังนี้
- พลังงาน 93 กิโลแคลอรี
- น้ำ 77 กรัม
- โปรตีน 0.3 กรัม
- ไขมัน 0.8 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 21.2 กรัม
- ใยอาหาร 5.6 กรัม
- เถ้า 0.4 กรัม
- โพแทสเซียม 269 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 15 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 6 มิลลิกรัม
- เหล็ก 0.60 มิลลิกรัม
- เบต้าแคโรทีน 22 ไมโครกรัม
- วิตามินซี 18 มิลลิกรัม
- น้ำตาล 17 กรัม
ละมุดมีประโยชน์อะไรบ้าง
ละมุดเป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวานหอม ชื่นใจ และยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมาย เช่น
1. มีสารพฤกษเคมีที่ดีต่อสุขภาพ
ในละมุดมีสารฟลาโวนอยด์ และแทนนิน ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีที่ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์จากการถูกอนุมูลอิสระทำลาย และยังอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบ
2. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
นอกจากสารต้านอนุมูลอิสระข้างต้นแล้ว ละมุดยังเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซี และธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมกำลังภูมิคุ้มกันร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
3. มีไฟเบอร์ ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
ละมุดมีใยอาหารสูง ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ลดอาการท้องผูก ถ่ายยาก ลดความเสี่ยงโรคริดสีดวงทวาร
4. เป็นแหล่งของโพแทสเซียม
โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อระบบประสาท โดยมีส่วนสำคัญในการควบคุมศักย์ไฟฟ้าของเซลล์ประสาท ซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานในการส่งสัญญาณประสาทไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อีกทั้งโพแทสเซียมยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น กล้ามเนื้อในผนังลำไส้ และกล้ามเนื้อหัวใจ และมีส่วนควบคุมระดับความดันโลหิตด้วย ทว่าในคนที่มีโรคประจำตัวบางอย่างก็จำเป็นต้องระวังการรับประทานอาหารโพแทสเซียมสูงอย่างละมุดด้วยนะคะ
ละมุด กินยังไง
ละมุดเป็นผลไม้ที่ปอกเปลือกแล้วกินสด ๆ ก็จะได้รสชาติหวาน หอม อร่อยกลมกล่อม หรือบางคนก็นำละมุดมาหมักไวน์ ทำแยมละมุด ทำเบเกอรี หรือจะดัดแปลงละมุดเป็นเมนูคาว-หวาน อื่น ๆ เช่น ละมุดสอดไส้วุ้น ละมุดสมูทตี้ หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำซุปละมุด หรือเมนูผัดซอสละมุด ก็มีให้เห็นบ้างเช่นกัน
ป่วยโรคอะไรห้ามกินละมุด
คนที่ต้องระวังการรับประทานละมุด เพราะอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี ได้แก่
1. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
โดยเฉพาะคนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ เพราะละมุดมีปริมาณน้ำตาลสูง รสชาติหวานจัด หากรับประทานเข้าไปอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงควรจำกัดปริมาณการกินละมุด หรือหลีกเลี่ยงไปจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะคงที่
2. ผู้ป่วยโรคไต
โพแทสเซียมในละมุดคือปัญหาสำหรับคนที่เป็นโรคไต โดยเฉพาะในรายที่ต้องฟอกเลือด ซึ่งมักจะมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานละมุด หรือหากอยากกินจริง ๆ แนะนำให้ปรึกษากับแพทย์ประจำตัวว่ากินได้หรือไม่
ข้อควรระวังในการกินละมุด
การรับประทานละมุดก็มีข้อควรระวังเช่นกัน ดังนี้
- ระวังยางละมุด ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำสีขาว มักจะอยู่ที่ขั้วผล ซึ่งก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวได้ ดังนั้นควรล้างให้สะอาด และปอกเปลือกก่อนรับประทาน
- ระวังการรับประทานละมุดดิบ หรือละมุดที่ยังไม่สุกเต็มที่ เพราะในผลอาจมียางที่กัดเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากได้
- ระวังอาการแพ้ละมุด โดยเฉพาะคนที่แพ้อาหาร หรือเพิ่งจะมีอาการแพ้อาหาร เพราะอาจแพ้ละมุดได้เช่นกัน
- เมล็ดละมุดค่อนข้างเรียวแหลม ดังนั้นก่อนกินละมุดควรนำเมล็ดออกให้หมด เพื่อป้องกันการเผลอกลืนเมล็ดละมุดเข้าไป ซึ่งอาจเสี่ยงติดคอ ติดหลอดลม จนเกิดอันตรายได้
ละมุดไม่เพียงแต่รสชาติอร่อย ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงอีกด้วยนะคะ แต่ในคนที่มีความเสี่ยงก็เลี่ยงละมุดไปก่อน บ้านเรายังมีผลไม้อร่อย ๆ ชนิดอื่นให้เลือกกินหลากหลาย และต่างก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพของเราด้วยเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้องกับผลไม้
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, กรมวิชาการเกษตร, ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ, healthline.com