โรคเกาต์ห้ามกินผลไม้อะไร ไม่อยากปวดเกาต์ควรระวังผลไม้ชนิดไหนบ้าง

          โรคเกาต์ เป็นแล้วปวด ทรมาน และจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน แม้แต่กับผลไม้บางชนิดก็เช่นกัน
โรคเก๊าท์

           ผลไม้เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และควรกินให้ได้ทุกวันเพื่อให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์และวิตามินชนิดต่าง ๆ ทว่าหากป่วยด้วยโรคเกาต์ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการมีกรดยูริกในเลือดสูง จนไปสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดข้อ ก็จำเป็นต้องเลือกรับประทานอาหารและผลไม้ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งควรหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง หรือโรคเกาต์ห้ามกินผลไม้อะไร ลองมาดูกัน

โรคเกาต์
ต้องควบคุมอาหารประเภทไหน

          สาเหตุของโรคเกาต์ คือ มีกรดยูริกในเลือดสูง ดังนั้น อาหารที่ควรระวังคืออาหารที่มีพิวรีนสูง ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกสะสมในเลือดต่อไปได้ โดยอาหารดังกล่าว ได้แก่ เครื่องในสัตว์, สัตว์ปีก, เนื้อแดง, อาหารทะเล, อาหารที่มีไขมันสูง, ยอดผัก เช่น กระถิน, ชะอม, หน่อไม้, ยอดตำลึง, ยอดผักหวาน, ยอดผักคะน้า, เมล็ดพืช, ธัญพืชชนิดต่าง ๆ, กะปิ, ถั่วดำ, ถั่วแดง, เหล้า, เบียร์ เป็นต้น

          ส่วนผลไม้จะเป็นกลุ่มที่มีพิวรีนต่ำ หรือแทบไม่มีเลย ทว่าจะมีสิ่งที่ผู้ป่วยโรคเกาต์ต้องระวัง นั่นก็คือฟรักโทสที่อยู่ในผลไม้น้ำตาลสูง ดังนั้น จึงควรระวังการรับประทานผลไม้บางชนิด

เป็นโรคเกาต์
ทำไมต้องระวังฟรักโทส

           น้ำตาลฟรักโทสเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่พบได้มากในผลไม้รสหวานและในน้ำผึ้ง เมื่อร่างกายได้รับฟรักโทสแล้วจะต้องย่อยให้เป็นโมเลกุลเดี่ยวก่อน ร่างกายจึงจะดูดซึมได้ ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนโมเลกุลตรงนี้จะทำให้เกิดการออกซิเดชั่นออกมาเป็นยูเรต ซึ่งจะเพิ่มระดับกรดยูริกในเลือดต่อไป ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเกาต์ต้องระวังผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรักโทสสูงนั่นเอง

โรคเกาต์ห้ามกินผลไม้อะไรบ้าง

โรคเก๊าท์ห้ามกินผลไม้อะไร

           จริง ๆ แล้วไม่ถึงกับห้ามกินซะทีเดียว แต่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคเกาต์หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรักโทสสูง ได้แก่

1. ผลไม้ที่มีรสหวานจัด

           เช่น ทุเรียน, องุ่นเขียว, องุ่นแดง, มะขามหวาน, กล้วยน้ำว้าสุก, ลูกพลับ, น้อยหน่า, ลิ้นจี่, สาลี่ก้านยาว, มะม่วงสุก, อินทผลัม ซึ่งจริง ๆ ก็รับประทานได้ แต่ควรจำกัดปริมาณ

2. ผลไม้แปรรูป

            ในกลุ่มผลไม้ที่อบแห้ง แช่อิ่ม เชื่อม หรือกวน ก็มีน้ำตาลฟรักโทสสูงเช่นกัน เช่น ทุเรียนกวน, ลูกเกด, มะม่วงกวน, กล้วยกวน, พุทราจีนแห้ง-เชื่อม, พุทราไทยเชื่อม, พุทรากวน, มะเขือเทศแช่อิ่ม, ลูกพลับแห้ง, มะขามแช่อิ่ม, มะขามคลุกน้ำตาล, มะม่วงหยี, มะยมแช่อิ่ม

3. ผลไม้กระป๋อง

           ผลไม้กระป๋องมักจะใช้ความหวานจากน้ำตาลข้าวโพดสูง (High Fructose Corn Syrup-HFCS) ซึ่งจะใช้แป้งข้าวโพดนำไปผ่านกระบวนการให้กลายเป็นน้ำตาล แต่ปัญหาคือน้ำตาลที่ได้คือน้ำตาลฟรักโทสและน้ำตาลกลูโคสในปริมาณครึ่งต่อครึ่ง ดังนั้น คนเป็นโรคเกาต์จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้กระป๋อง หรือผลไม้ในน้ำเชื่อมจากน้ำตาลข้าวโพดสูง โดยสามารถดูที่ฉลากผลิตภัณฑ์กระป๋องนั้น ๆ ได้เลย

4. น้ำผลไม้

          น้ำผลไม้สำเร็จรูป บางยี่ห้อจะใช้ความหวานจากน้ำตาลข้าวโพดสูงด้วยเช่นกัน หรือมีส่วนผสมของฟรักโทสให้เห็นกันจะจะ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงน้ำผลไม้สำเร็จรูป แล้วไปรับประทานผลไม้สด ๆ ดีกว่า ซึ่งการรับประทานผลไม้สดยังได้รับไฟเบอร์ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย หรือถ้าอยากดื่มน้ำผลไม้จริง ๆ แนะนำให้คั้นเองและไม่ต้องเติมน้ำตาล

โรคเกาต์กินผลไม้อะไรได้บ้าง

           ผลไม้หลายชนิดไม่ส่งผลกระทบต่อระดับกรดยูริกเท่าไร โดยจะเป็นในกลุ่มผลไม้น้ำตาลต่ำ ยกตัวอย่างเช่น เชอร์รี, สตรอว์เบอร์รี, ส้ม, แตงโมแดง-แตงโมเหลืองส้ม, แคนตาลูป, ชมพู่, ฝรั่ง, แอปเปิลเขียว, แก้วมังกร, แตงไทย, เมล็ดบัวสด, กระจับ, ลูกหว้า, ระกำ เป็นต้น
           ป่วยโรคเกาต์สามารถกินผลไม้ได้หลายชนิด แต่ก็ควรระวังปริมาณและควบคุมอาหารให้ดี ร่วมกับปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อประคองอาการของโรคเกาต์และป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคเกาต์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคเกาต์ห้ามกินผลไม้อะไร ไม่อยากปวดเกาต์ควรระวังผลไม้ชนิดไหนบ้าง อัปเดตล่าสุด 9 ธันวาคม 2567 เวลา 14:35:00 18,522 อ่าน
TOP
x close