แพ้ฝุ่น PM2.5 มักแสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็น แต่สัญญาณไหนที่บอกว่าน่ากังวล ร่างกายเริ่มไม่โอเคกับเจ้าฝุ่นพิษเหล่านี้แล้วบ้าง
ฝุ่น PM2.5 ที่มีขนาดเล็กเพียง 2.5 ไมครอน จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่กลับลอยอยู่ในอากาศได้นาน สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์เราได้สบาย ๆ ทั้งผ่านกระแสเลือด ถุงลมฝอยในปอด ซึ่งล้วนไปรบกวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ แถมฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ยังสามารถจับกับสารพิษต่าง ๆ อย่างโลหะหนักได้อีก ยิ่งสะสมนานวันเท่าไรก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากเท่านั้น หลายคนก็เริ่มมีอาการป่วยจากฝุ่นพิษกันบ้างแล้ว แต่อาการแพ้ฝุ่น PM2.5 ที่เราเป็นอยู่จัดว่าเสี่ยงอันตรายแค่ไหน ลองมาเช็กสัญญาณเตือนในระดับต่าง ๆ กันดู
สัญญาณเตือนแพ้ฝุ่น PM2.5
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แบ่งอาการป่วยที่เป็นผลมาจากฝุ่น PM2.5 ไว้เป็นระดับขั้น ดังนี้
อาการระดับเล็กน้อย
1. ระคายเคืองตา
เมื่อฝุ่นละอองเข้าสู่ดวงตาจะไปสัมผัสกับเยื่อบุตา ทำให้เกิดการระคายเคือง คันตา และอาจนำพาเชื้อโรคอื่น ๆ เข้าสู่ดวงตาได้
2. ผื่นที่ผิวหนัง
ฝุ่น PM2.5 สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง ส่งผลให้มีผื่นขึ้น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผื่นแดง ผิวลอก ผิวหนังบวม ตุ่มน้ำใส นอกจากนี้ในคนที่ผิวหนังบอบบางหรือแพ้ฝุ่นจะเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้น ทำให้รู้สึกคัน หากไปเกามาก ๆ ยิ่งจะเกิดแผลตามมา กรณีนี้ควรใช้ยาทาบรรเทาอาการ
อาการระดับปานกลาง
3. ไอ
ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก ๆ สามารถเข้าสู่ปอดได้อย่างง่ายดาย และจะไปสัมผัสกับเยื่อบุในปอด กระตุ้นให้เกิดอาการไอเพื่อขับสิ่งแปลกปลอมออกมา โดยพบได้ทั้งไอแห้ง ไอมีเสมหะ เจ็บคอ แสบคอ คันคอ น้ำมูกไหล เราสามารถบรรเทาเบื้องต้นได้ด้วยการดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ หรืออมยาแก้เจ็บคอ ใช้สเปรย์พ่นคอ แต่หากมีอาการไอเรื้อรัง หรือไอเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล กรณีนี้ควรรีบพบแพทย์
4. มีเสมหะตลอดเวลา
เสมหะติดคอก็เป็นอีกอาการที่เล่นงานหลายคนในช่วงมลพิษทางอากาศสูง เนื่องจากฝุ่น PM2.5 ทำให้เยื่อบุในหลอดลมระคายเคือง ร่างกายจึงพยายามสร้างเสมหะเพื่อขับสิ่งแปลกปลอมออก หรือบางคนอาจมีอาการติดเชื้อซ้ำซ้อน ร่างกายจึงมีเสมหะมากกว่าปกติ หากกินยาละลายเสมหะแล้วยังไม่หายควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
5. ตาแดง
ฝุ่นละอองที่เข้าสู่ดวงตาอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อขึ้นมาได้ นำไปสู่อาการตาแดง น้ำตาไหล แสบตา กรณีนี้ห้ามขยี้ตาเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้ตาระคายเคืองมากขึ้น แต่แนะนำให้ปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากหากปล่อยไว้นานอาจมีอาการเยื่อบุตาอักเสบเรื้อรังหรือกระจกตาอักเสบได้เลย
อาการระดับรุนแรงต้องรีบพบแพทย์
6. แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
ฝุ่นละอองมีผลกับระบบทางเดินหายใจโดยตรง เมื่อเข้าสู่ปอดจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ทำให้หลอดลมตีบแคบลง หายใจไม่สะดวก เราจึงรู้สึกได้ถึงอาการแน่นหน้าอก ซึ่งควรไปพบแพทย์ทันที
7. หอบ
เมื่อหายใจลำบากจากหลอดลมหดเกร็งและตีบแคบลงยังส่งผลให้เกิดอาการหอบขึ้นมาได้ โดยเฉพาะคนที่มีโรคหอบหืดเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว ยิ่งต้องระวังการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ให้ดี เพราะฝุ่นจิ๋วเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้อาการหอบกำเริบหนักขึ้น
8. เจ็บหน้าอก
นอกจากฝุ่น PM2.5 จะทำลายปอดแล้วยังทำร้ายหัวใจได้เช่นกัน โดยหากฝุ่นละอองเข้าสู่กระแสเลือดเป็นเวลานานอาจทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตัน จึงมีอาการเจ็บหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น ส่วนในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ฝุ่นเหล่านี้จะเข้าไปกระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น
9. เหนื่อยมากจนต้องนั่งพักหรือทำงานไม่ได้
อาการเหนื่อยง่ายจนต้องนั่งพัก หรือทำงานไม่ได้ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากฝุ่น PM2.5 และต้องรีบพบแพทย์ทันที เพราะเสี่ยงต่อการเป็นลม หมดสติ หรือเสียชีวิต
วิธีดูแลสุขภาพตัวเอง
ในวันที่เมืองเปื้อนฝุ่น PM2.5
- เช็กค่าฝุ่น PM2.5 อยู่เสมอ หากวันไหนคุณภาพอากาศไม่ดีควรเลี่ยงการออกนอกบ้าน
- งดทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่ค่าฝุ่นสูง รวมถึงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก
- ปิดประตู-หน้าต่างในบ้านให้มิดชิด เพื่อไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามา
- ใช้เครื่องฟอกอากาศที่ใช้ตัวกรอง HEPA เพราะมีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอนได้ดี ช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านได้ และหมั่นทำความสะอาดบ้านบ่อย ๆ
5. เมื่อต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากอนามัย N95 ทุกครั้ง
6. ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพื่อชะล้างสารพิษออกจากร่างกาย
7. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยปกป้องและฟื้นฟูการทำงานของปอด เช่น ผักตระกูลกะหล่ำ ผลไม้ที่มีวิตามินเอ วิตามินซีสูง
6. ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพื่อชะล้างสารพิษออกจากร่างกาย
7. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยปกป้องและฟื้นฟูการทำงานของปอด เช่น ผักตระกูลกะหล่ำ ผลไม้ที่มีวิตามินเอ วิตามินซีสูง
8. งดสูบบุหรี่ที่จะยิ่งทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น
9. ใช้น้ำเกลือล้างจมูกหลังจากกลับบ้านหรือในวันที่ค่าฝุ่นสูง เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นที่เข้าสู่ร่างกาย และการล้างจมูกยังเป็นการบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น
9. ใช้น้ำเกลือล้างจมูกหลังจากกลับบ้านหรือในวันที่ค่าฝุ่นสูง เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นที่เข้าสู่ร่างกาย และการล้างจมูกยังเป็นการบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น
10. สังเกตอาการป่วยของตัวเอง หากมีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น คันคอ ไอ เจ็บคอ สามารถรักษาตามอาการก่อนได้ เช่น จิบยาน้ำแก้ไอ ใช้ยาอมแก้เจ็บคอ หรือสเปรย์พ่นคอ แต่ในกรณีที่มีอาการระดับปานกลางขึ้นไป เช่น ไอเรื้อรัง เลือดกำเดาไหล ตาแดง แน่นหน้าอก ควรรีบพบแพทย์ทันที
ปัญหาฝุ่น PM2.5 อาจจะยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน ดังนั้น การป้องกันและดูแลสุขภาพตัวเองในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 สูงจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
บทความที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมอนามัย (1), (2), สสส., โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ, ThaiPBS