เดินหลังกินข้าว กับ 6 ประโยชน์ดี ๆ ต่อสุขภาพ พร้อมเช็กหลังกินข้าวควรเดินย่อยกี่นาที

          หลังกินข้าวอย่าเพิ่งนั่งไถฟีดเล่นชิล ๆ แต่ควรเดินย่อยหลังอาหารสักหน่อย แค่นี้ก็ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพแบบง่าย ๆ แล้ว
เดินหลังกินข้าว

          เดินหลังกินข้าวเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ ที่ดีต่อร่างกายไม่น้อย ไม่ว่าจะกินมื้อใหญ่หรือแม้แต่มื้อเล็กที่กินแล้วไม่ได้รู้สึกตึงท้องมากก็ตาม เพราะการเดินจะช่วยส่งเสริมการย่อยอาหาร แถมด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพอีกหลายประการ ลองมาอ่านกันเลย

เดินหลังกินข้าว 
ดีต่อสุขภาพด้านไหนบ้าง

          เดินหลังกินข้าวไม่ว่าจะมื้อใหญ่หรือมื้อเล็กที่อิ่มเบา ๆ ก็ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

1. ช่วยย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

เดินย่อยหลังกินข้าว

          การเดินหลังอาหารช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ช่วยขับลม ขับแก๊ส ลดอาการอาหารไม่ย่อย และอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อีกทั้งยังมีการศึกษาพบว่า การเดินสัก 10-15 นาที หลังกินข้าวในทุก ๆ มื้อ เป็นเวลา 1 เดือน จะช่วยลดอาการกรดไหลย้อน อย่างการเรอ การมีกรดแก๊สในกระเพาะอาหารเกิน และอาการแน่นท้อง ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการรับประทานยาช่วยย่อยเลยทีเดียว

2. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

          หลังกินข้าวร่างกายจะได้รับน้ำตาลและแคลอรีจากอาหารที่เรากินเข้าไป และระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้นสูงสุดหลังอาหาร 30-60 นาที ดังนั้น การเดินเบา ๆ หลังมื้ออาหารทันทีก่อนน้ำตาลจะขึ้นสูงสุดจะช่วยให้กล้ามเนื้อดึงน้ำตาลจากกระแสเลือดไปใช้เป็นพลังงาน และน้ำตาลส่วนเกินยังไม่ถูกกักเก็บเป็นไขมัน จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลินหรือเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 ควรจะเดินเบา ๆ นาน 10 นาทีขึ้นไป หรือถ้าไหวก็สัก 30 นาที ก็จะดีกับการไหลเวียนโลหิตและการทำงานของหัวใจด้วย

3. ลดความดันโลหิต ดีต่อหัวใจ

สุขภาพหัวใจ

          การเดินเป็นวิธีออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอชนิดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดความดันโลหิต และลดระดับไขมันในเลือด โดยหากเดินหลังกินข้าวก็จะได้ประโยชน์นี้เช่นกัน และถ้าเดินออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 10 นาที หรือเดินให้ได้วันละ 10,000 ก้าว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้อีก

4. ช่วยลดน้ำหนัก

          การเดินหลังอาหารจะช่วยเร่งการเผาผลาญพลังงาน ลดการสะสมของไขมันส่วนเกินในร่างกาย ซึ่งมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักและป้องกันโรคอ้วนได้อีกทาง แต่ถ้าอยากลดน้ำหนักจริงจัง แนะนำให้ควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมด้วย

5. ดีต่อสุขภาพจิต

สุขภาพจิต

          การเดินช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า การเดินระยะสั้น ๆ เป็นเวลา 1.25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่ได้ 18% และหากเดินเป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่ได้ 25% เลยทีเดียว

6. ช่วยส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับ

          การเดินหลังกินข้าวเป็นประจำ หรือเดินให้ได้วันละ 7,000 ก้าว เป็นอย่างน้อย จะช่วยส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับ คือช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและนอนหลับได้สนิทมากขึ้น แต่หากเดินได้วันละ 10,000 ก้าว จะช่วยให้รู้สึกง่วงนอนและนอนหลับได้ง่ายขึ้นด้วย 
          อย่างไรก็ตาม การเดินหลังกินข้าวอาจใช้เวลาแค่ช่วงสั้น ๆ พอให้ร่างกายได้ขยับเพิ่มการใช้พลังงานสักหน่อย โดยหลังกินข้าวควรเดินย่อยกี่นาที มาอ่านกันต่อได้เลย

เดินหลังกินข้าวกี่นาทีดี

เดินหลังกินข้าวกี่นาที

          หลังกินข้าวควรเดินย่อยกี่นาทีอาจไม่มีคำตอบตายตัว เนื่องจากระบบร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การใช้เวลาย่อยอาหารก็ต่างกัน รวมไปถึงสิ่งที่กินเข้าไปย่อยง่ายหรือยากก็เป็นปัจจัยสำคัญ ทว่าหากอิงตามเวลามาตรฐานแล้ว มนุษย์เราจะใช้เวลาย่อยอาหารจนจบกระบวนการราว ๆ 2-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ได้กล่าวไป
          อย่างไรก็ตาม สามารถเดินเบา ๆ ได้ตั้งแต่ 10-30 นาที หรือใครมีกำลังและมีเวลาจะเดินชิล ๆ สัก 1 ชั่วโมงก็ไม่ผิดอะไร แต่นอกจากเวลาที่เหมาะสมแล้ว ควรมีเคล็ดลับสักหน่อยเพื่อให้การเดินหลังกินข้าวได้ประโยชน์สูงสุดด้วย

เดินหลังกินข้าวยังไง
ให้ได้ประโยชน์สูงสุด  

          ไหน ๆ จะเดินหลังกินข้าวแล้ว อย่าลืมทำตามนี้กันด้วย
  • หลังกินข้าวอิ่มแล้วสามารถเริ่มเดินได้เลย
  • อย่าลืมวอร์มอัพและคูลดาวน์ โดยทำตามนี้
    • วอร์มอัพก่อนเริ่มเดิน : ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเบา ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย และคลายความตึงเครียดก่อนเริ่มเดิน 
    • คูลดาวน์หลังเดิน : ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้ออีกครั้งเพื่อคลายความตึงเครียด และลดการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย
  • เดินเบา ๆ และเดินช้า ๆ ไม่ต้องเร่งความเร็ว ถ้ารู้สึกเหนื่อยหรือจุกควรหยุดพัก 
  • ใส่รองเท้าผ้าใบที่ใส่สบาย ช่วยลดแรงกระแทกที่ข้อต่อ
  • เลือกเดินบนพื้นเรียบเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ
  • เดินในที่อากาศถ่ายเทสะดวก เช่น สวนสาธารณะ หรือทางเดินในบ้าน
  • ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูงมาก อาจเดินในบ้านหรือบนลู่วิ่ง โดยเลือกใช้ความเร็วต่ำ ๆ ก็ได้
  • ควรเดินหลังอาหารให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ยิ่งทำได้เป็นประจำยิ่งดีต่อสุขภาพ
          เคล็ดลับการเดินเหล่านี้นอกจากจะช่วยส่งเสริมด้านสุขภาพ ยังช่วยลดอาการข้างเคียงจากการเดินอย่างไม่ระวังด้วยเช่นกัน

ข้อควรระวังในการเดินหลังกินข้าว

ข้อควรระวังในการเดินหลังกินข้าว

          การเดินหลังกินข้าวจะไม่เกิดปัญหา ถ้าทำตามข้อควรระวังเหล่านี้ได้
  • หากรู้สึกอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ หลังรับประทานอาหาร ควรพักสักครู่ก่อนเริ่มเดิน
  • หลีกเลี่ยงการเดินเร็วหรือออกกำลังกายหนัก ๆ เพราะอาจทำให้เกิดอาการจุกเสียด
  • หากมีอาการไม่สบายท้องควรหยุดพัก เมื่อรู้สึกดีขึ้นแล้วค่อยเดินต่อ
  • ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนควรเดินช้า ๆ และหลีกเลี่ยงการก้มตัว ที่อาจทำให้อาการกำเริบได้
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคข้อต่อ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มเดินหลังอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการเดินในสภาพอากาศที่ร้อนจัด และดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • ถ้าฝุ่น PM2.5 เยอะควรหลีกเลี่ยงการรออกกำลังกายกลางแจ้ง
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือวิงเวียนศีรษะ ควรหยุดเดินและปรึกษาแพทย์
          การเดินหลังอาหารเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ทั้งระบบย่อยอาหาร ช่วยควบคุมน้ำตาล ส่งเสริมการเผาผลาญพลังงาน และเสริมสร้างสุขภาพหัวใจ เพียงเดินช้า ๆ วันละ 10-30 นาที ก็สามารถช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้ ว่าแล้วก็มาเริ่มเดินกันเถอะ !

บทความที่เกี่ยวข้องกับการเดินออกกำลังกาย

ขอบคุณข้อมูลจาก : verywellhealth.com, womenshealthmag.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เดินหลังกินข้าว กับ 6 ประโยชน์ดี ๆ ต่อสุขภาพ พร้อมเช็กหลังกินข้าวควรเดินย่อยกี่นาที อัปเดตล่าสุด 6 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 11:32:48 3,973 อ่าน
TOP
x close