ผักโขมกับปวยเล้ง หลายคนยังสับสนว่าเป็นผักชนิดเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วแตกต่างกัน และทราบไหมว่าบางคนก็ควรระวังการกินผักโขมด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคประจำตัว

ลองมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่าผักโขมที่เคยรับประทานกัน อาจไม่ใช่ผักโขมอย่างที่คิดก็ได้ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นผักปวยเล้งที่นิยมกินกันมากกว่า ดังนั้น เพื่อความกระจ่างชัด มาแยกความแตกต่างระหว่างผักโขมกับปวยเล้งกันอีกที พร้อมเช็กให้ดี ๆ ว่าโรคอะไรห้ามกินผักโขมบ้าง
ผักโขม VS ปวยเล้ง ต่างกันยังไง

ผักโขม

ปวยเล้ง
จริง ๆ แล้วผักโขมและปวยเล้งเป็นผักที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน คือ ผักใบเขียวในวงศ์ Amaranthaceae ทว่ามีความแตกต่างกันตั้งแต่ชื่อภาษาอังกฤษ โดยผักโขมจะเรียกว่า Amaranth ส่วนปวยเล้งจะเรียกว่า Spinach โดยชื่อนี้ก็เป็นที่คุ้นหูคุ้นตากันมาตลอด
ในส่วนของหน้าตาก็มีความแตกต่างกันด้วย อย่างผักโขมจะมีรูปทรงคล้ายสามเหลี่ยมปลายมน ใบมีเนื้อหนาและมีรสชาติหวานปนขม นิยมรับประทานทั้งแบบสดเป็นสลัด และปรุงสุกคลุกงาเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ส่วนใบปวยเล้งจะมีสีเขียวสดกว่า บางกว่า ใบออกทรงกลมปลายมน รสหวานกว่าผักโขมเล็กน้อย นิยมนำมาทำเมนูครีมชีส อบชีส หรือนำมาผัดน้ำมันหอย คลุกน้ำมันงาก็อร่อยไปอีกแบบ
ประโยชน์ของผักโขม บำรุงอะไรบ้าง

ผักโขมเป็นผักใบเขียวที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น
- ช่วยบำรุงดวงตา : เพราะมีวิตามินเอที่ช่วยปกป้องจอประสาทตาจากความเสื่อม และช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็นในที่มืด
- ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน : ผักใบเขียวอย่างผักโขมมีแคลเซียมและวิตามินเคสูง ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
- บำรุงเลือด : เนื่องจากมีธาตุเหล็กสูง จึงช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงและป้องกันภาวะโลหิตจาง
- บำรุงสมอง : เพราะมีโฟเลตและวิตามินเค จึงช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท
- เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน : ผักโขมเป็นผักที่มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
- ช่วยในการขับถ่าย : มีใยอาหารสูง ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ป้องกันอาการท้องผูก
- ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง : สารต้านอนุมูลอิสระในผักโขมช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงโรคมะเร็งที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย
- บำรุงผิวพรรณ : วิตามินซีในผักโขมมีส่วนกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และสารต้านอนุมูลอิสระก็มีส่วนช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ จึงช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง
ป่วยโรคอะไรไม่ควรกินผักโขม
ผักโขมเป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุมากมาย แต่ในบางกรณีคนที่ป่วยด้วยโรคบางชนิดอาจต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานผักโขม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ มาดูกันว่า โรคอะไรห้ามกินผักโขม
1. โรคไต หรือนิ่วในไต

ผู้ที่มีปัญหาด้านไตไม่ควรกินผักโขมมากเกินไป เพราะผักโขมมีปริมาณออกซาเลตสูง ซึ่งอาจไปจับตัวกับแคลเซียม กลายเป็นผลึกออกซาเลตสะสมในไตและทำให้เกิดนิ่วในไตได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการกินผักโขม หรือปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานผักชนิดนี้
2. โรคเกาต์
ผักโขมมีพิวรีนสูง และสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกสะสมในร่างกาย ซึ่งอาจกระตุ้นการเกิดอาการปวดข้อและทำให้อาการของโรคเกาต์แย่ลง ผู้ที่เป็นโรคเกาต์จึงควรหลีกเลี่ยงการกินผักโขม หรือปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนรับประทาน
3. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

สารออกซาเลตในผักโขมอาจขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียมวลกระดูกอยู่แล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักโขมไปก่อน
4. โรคกระดูกพรุน
สำหรับคนที่เป็นโรคกระดูกพรุน รวมไปถึงคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน คนที่ต้องกินแคลเซียมเสริม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยทอง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักโขมที่มีผลกระทบต่อการดูดซึมแคลเซียมของร่างกาย เพราะอาจกระตุ้นความเสี่ยงกระดูกพรุนจากการขาดแคลเซียมได้นั่นเอง
5. คนที่มีภาวะไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroid)

ผักโขมมีสารกอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งจะไปรบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนไปใช้ได้น้อยลง จึงเสี่ยงต่อโรคคอพอกได้มากขึ้น ดังนั้น คนที่เป็นโรคไทรอยด์ต่ำ หรือมีภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงการกินผักโขมด้วย
6. ผู้มีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือด
สำหรับผู้ที่ต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักโขมในปริมาณมาก เนื่องจากผักชนิดนี้มีวิตามินเคสูงมาก ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพของยาได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้ป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพตามข้างต้น ก็ไม่อยากให้มองข้ามข้อควรระวังในการรับประทานผักโขม จนเผอเรอกินผักโขมมากเกินไปและส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนั้น มาดูกันว่ามีประเด็นอะไรที่เราควรระวังบ้าง
โทษของผักโขมหากกินอย่างไม่ระวัง

ต่อไปนี้คือผลข้างเคียงของการกินผักโขมที่ควรต้องระวัง เช่น
- ผักโขมมีสารซาโปนิน ที่หากร่างกายได้รับในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เป็นสาเหตุของอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ไม่สบายท้องได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานผักโขมในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรกินมากจนเกินไป
- แม้จะไม่ค่อยเจอคนแพ้ผักโขมให้เห็นมากนัก แต่ในคนที่มีประวัติแพ้อาหาร หรือมีแนวโน้มที่จะแพ้ง่าย ก็ควรสังเกตอาการตัวเองตอนกินผักโขมให้ดี หากมีอาการผิดปกติควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักโขมไปก่อน และไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกที
เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วก็หวังว่าทุกคนจะเข้าใจความแตกต่างของผักโขมกับปวยเล้ง และเรียกชื่ออย่างถูกต้องกันสักที ส่วนผักโขมก็เป็นผักชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หากเลือกรับประทานอย่างเหมาะสมร่วมกับรับประทานอาหารชนิดอื่น ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายนะคะ