Thailand Web Stat

น้ำอัดลมไม่ควรกินกับอะไร เช็กก่อนดื่มมีอาหารที่ไม่ควรกินคู่กันเมนูไหนบ้าง

           น้ำอัดลมไม่ควรกินกับอะไรบ้าง สำหรับใครที่ติดเครื่องดื่มชนิดนี้ แถมชอบจับคู่กินกับอาหารบางอย่าง ก็ไม่อยากให้มองข้ามข้อควรระวัง
น้ำอัดลมไม่ควรกินกับอะไร

           อาหารที่ไม่ควรกินคู่กันถึงคิวของน้ำอัดลมแล้วค่ะ และแม้ว่าการดื่มน้ำอัดลมจะช่วยให้สดชื่นซาบซ่า ทว่าหลังดื่มน้ำอัดลมคู่กับอาหารบางอย่างไปแล้ว อาจก่อให้เกิดอาการไม่สบายตัวได้ หรือบางเคสก็อาจกระตุ้นอาการของโรคที่เป็นอยู่ให้กำเริบเลยก็มี ที่สำคัญหากติดน้ำอัดลมแบบกินทุกวัน ก็ลองมาดูกันว่า โทษของน้ำอัดลมเป็นยังไง ร่างกายจะได้รับความเสี่ยงอะไรบ้าง

น้ำอัดลมไม่ควรกินกับอะไร

          อาหารที่ไม่ควรกินคู่กันกับน้ำอัดลม มีอยู่หลายเมนูด้วยกัน อาทิ

1. น้ำอัดลมกับทุเรียน

น้ำอัดลมทุเรียน

          ทั้งทุเรียนและน้ำอัดลม ต่างก็เป็นดาวเด่นในหน้าร้อน เพราะดื่มน้ำอัดลมแล้วชื่นใจ ส่วนทุเรียนก็ออกในฤดูนี้กันซะมาก ทว่าหากกินทุเรียนกับน้ำอัดลม จะส่งผลให้ร่างกายได้รับน้ำตาลแบบทวีคูณ อีกทั้งการที่ทุเรียนมีไขมันสูง ในขณะที่น้ำอัดลมมีกรดคาร์บอนิกสูง ก็เพิ่มอาการแน่นท้องจากภาวะอาหารย่อยยากด้วย
 

5 อาหารที่ควรจำไว้ว่าอย่ากินคู่กับทุเรียน

2. น้ำอัดลมกับลำไย

           กินลำไยกับน้ำอัดลมได้ไหม ประเด็นนี้ก็มีคนสงสัย ซึ่งถ้าดูจากปริมาณน้ำตาลของทั้งน้ำอัดลมและผลไม้อย่างลำไย ก็ต้องบอกว่าเป็นคู่ที่ควรกินแยกกันจะดีกว่า อย่าหาได้มาผสมกันหรือกินคู่กันให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งกระฉูดเลย

3. น้ำอัดลมกับอาหารย่อยยากต่าง ๆ

น้ำอัดลม

           เช่น อาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงอย่างพิซซ่า เบเกอรีชนิดต่าง ๆ ซึ่งกว่าร่างกายจะย่อยได้จบกระบวนการก็ใช้เวลานาน ส่งผลให้เกิดกรดแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ และหากดื่มน้ำอัดลมที่มีกรดคาร์บอนิกเพิ่มเข้าไปก็จะยิ่งทำให้เกิดกรดแก๊สเพิ่มขึ้นไปอีก แถมยังอาจมีส่วนให้การย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ เสี่ยงจะเกิดอาการแสบร้อนกลางอกเพราะกรดที่มากเกินไปได้

4. น้ำอัดลมกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

           ถ้ากินน้ำอัดลมแล้วต่อด้วยกาแฟ หรือดื่มชาแก้วแรกต่อด้วยน้ำอัดลม ร่างกายอาจได้รับคาเฟอีนมากขึ้น ซึ่งคาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุมากขึ้นได้ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ใจสั่น เวียนศีรษะ หรือนอนหลับยากได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อคาเฟอีนของร่างกายแต่ละบุคคลด้วย

5. น้ำอัดลมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          เครื่องดื่มสูตรนี้ก็ฮิตไม่เบา เพราะการผสมน้ำอัดลมกับเหล้า เบียร์ หรือโซจูก็ช่วยให้ดื่มง่ายขึ้น ทว่าถ้าเลี่ยงได้ก็จะดี เพราะมีการศึกษาพบว่า ไดเอตโซดา (น้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาล) สามารถเพิ่มระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ (BrAC) ได้มากกว่าน้ำอัดลมทั่วไปเมื่อดื่มคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเท่ากัน 

          อีกทั้งการดื่มคู่กันจะทำให้ร่างกายได้รับโทษคูณสอง จากทั้งน้ำตาลและสารต่าง ๆ จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำอัดลมยังส่งผลให้แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วขึ้น เราจึงเมาได้เร็วขึ้น

6. น้ำอัดลมกับยาบางชนิด

อาหารที่ไม่ควรกินคู่กัน

          เช่น ยาขยายหลอดลม เพราะคาเฟอีนอาจกระตุ้นการเต้นของหัวใจ หรือยาลดกรด ที่หากดื่มน้ำอัดลมที่มีกรดเข้าไป อาจทำให้ยาลดกรดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมไปถึงการดื่มน้ำอัดลมกับยาคุมกำเนิด ที่แม้จะไม่ได้มีข้อห้ามอย่างชัดเจน แต่ทั้งกรดคาร์บอนิก และคาเฟอีนในน้ำอัดลม อาจขัดขวางการดูดซึมยาคุมกำเนิด จนทำให้ยาถูกดูดซึมช้าและส่งผลต่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิดได้
 

กินยาคุมกับน้ำอัดลม ส่งผลอะไรไหม ป้องกันท้องไม่พร้อมได้หรือเปล่า

           ลองสังเกตตัวเองดูก็ได้ว่าดื่มน้ำอัดลมคู่กับอาหารชนิดไหนแล้วรู้สึกไม่สบายตัว เพราะจริง ๆ แล้วร่างกายของแต่ละคนก็ตอบสนองต่อสารที่ได้รับไม่เท่ากัน แต่อย่างไรก็ตาม น้ำอัดลมไม่ได้อยู่ในหมวดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ดังนั้นก็ไม่ควรดื่มบ่อย ๆ เพราะหากเสพติดน้ำอัดลม ก็อาจได้รับโทษของเครื่องดื่มชนิดนี้จนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

น้ำอัดลม โทษมากมาย
อันตรายต่อสุขภาพ

โทษของน้ำอัดลม

          น้ำอัดลมรสชาติซาบซ่า ดื่มแล้วรู้สึกฟิน แต่ภายใต้ความหวานอร่อยนั้น แฝงภัยสุขภาพนานาประการ เช่น

  • น้ำตาลสูงเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน โดยน้ำอัดลมขนาด 325 ซี.ซี. มีน้ำตาลประมาณ 8.5 ช้อนชา ส่วนน้ำอัดลมขนาด 375 ซี.ซี. มีน้ำตาลประมาณ 9.5 ช้อนชา ซึ่งเกินเกณฑ์ 6 ช้อนชา ที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน รวมน้ำตาลจากอาหารจานอื่น ๆ ตลอดทั้งวันด้วย

  • เสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หากดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

  • ในน้ำอัดลมมีกรดคาร์บอนิกเยอะ และหากสารนี้สะสมเป็นเวลานาน ก็จะเสี่ยงทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ และอาจลุกลามเป็นโรคกระเพาะได้ในภายหลัง

  • ฟันผุง่าย เพราะน้ำตาลจากน้ำอัดลมที่สะสมในช่องปากจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรียที่จะกัดกร่อนสารเคลือบฟันของเรา

  • คาเฟอีนในน้ำอัดลมส่งผลให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น ทำให้กระดูกและฟันได้รับแคลเซียมน้อยลงไป จนเสี่ยงที่ฟันและกระดูกจะผุง่าย หากดื่มน้ำอัดลมในปริมาณมาก ๆ และต่อเนื่องเป็นเวลานาน

  • คาเฟอีนในน้ำอัดลมมีส่วนกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ และระบบประสาท ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการใจสั่น และนอนไม่หลับ

  • การกินอาหารน้ำตาลสูงมาก ๆ ผิวพรรณจะยิ่งเหี่ยวเร็วได้ ดูแก่ลงกว่าอายุจริงได้หลายปี 

          นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่า แค่ดื่มน้ำอัดลมวันละ 1 กระป๋อง ก็เสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลวได้เหมือนกัน ฉะนั้นถ้าจะพูดว่าน้ำอัดลมมีโทษมากกว่าประโยชน์ก็คงไม่ผิดนัก
 

โทษของน้ำอัดลม ดื่มมาก ๆ ดื่มทุกวัน เสี่ยงป่วยโรคเรื้อรังไปอีกยาว

           การดื่มน้ำอัดลมคู่กับอาหารบางอย่างอาจส่งผลต่อร่างกายได้มากกว่าที่คิด ดังนั้นหากเป็นไปได้ พยายามลดการบริโภคน้ำอัดลมลงสักหน่อย แล้วหันมาดื่มน้ำเปล่า หรือเลือกเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพคู่กับมื้ออาหาร เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์มากกว่าได้รับโทษจะดีกว่า

บทความที่เกี่ยวกับน้ำอัดลม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำอัดลมไม่ควรกินกับอะไร เช็กก่อนดื่มมีอาหารที่ไม่ควรกินคู่กันเมนูไหนบ้าง อัปเดตล่าสุด 31 มีนาคม 2568 เวลา 17:43:33 2,428 อ่าน
TOP
x close