นมโอ๊ต ยี่ห้อไหนดี ปี 2025 ส่องให้ชัด นมข้าวโอ๊ตกล่องไหนที่สายคลีนห้ามพลาด !

          นมโอ๊ต ยี่ห้อไหนดี 2025 เจาะลึกประโยชน์ Oat milk พ่วงวิธีเลือกนมข้าวโอ๊ตให้โดนใจ พร้อมเช็กยี่ห้อไหนที่ต้องลอง !
นมโอ๊ต

          นมข้าวโอ๊ต หรือ Oat milk แม้จะเป็นนมเพื่อสุขภาพของสายคลีน แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปได้ไม่ยาก โดยเฉพาะกับสายเครื่องดื่มที่เอานมโอ๊ตไปมิกซ์เป็นเมนูที่อร่อยลงตัวได้หลายสูตรเลยทีเดียว ซึ่งวันนี้เรามาอัปเดตกันหน่อยว่า นมโอ๊ต นมข้าวโอ๊ต หรือ Oat milk ยี่ห้อไหนเราที่เราอยากแนะนำในปี 2025

นมโอ๊ต ดียังไง ทำไมถึงฮิต

Oat milk ข้อดี

          นมโอ๊ต เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มาแรงทั้งในกลุ่มคนดูแลสุขภาพ หรือในวงการกาแฟและเครื่องดื่มต่าง ๆ ก็นิยมใช้ Oat milk อยู่เหมือนกัน ด้วยข้อดีของนมโอ๊ตตามนี้เลย

  • รสชาติและเนื้อสัมผัส : นมโอ๊ตมีรสชาติที่ค่อนข้างเป็นกลาง ออกหวานเล็กน้อยตามธรรมชาติ และมีเนื้อสัมผัสที่ creamy คล้ายนมวัว ทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับกาแฟ ชา หรือซีเรียล โดยไม่ทำให้รสชาติของเครื่องดื่มหรืออาหารเปลี่ยนไปมากนัก

  • ปราศจากแล็กโทสและกลูเตน (สำหรับบางยี่ห้อ) : นมจากพืชอย่างนมโอ๊ต เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่แพ้แล็กโทสจากนมวัว หรือผู้ที่แพ้นมถั่วเหลือง และสำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนก็สามารถเลือกนมโอ๊ตที่ระบุว่า "ปราศจากกลูเตน" (gluten-free) ได้ค่ะ

  • ดีต่อสุขภาพหัวใจ : นมโอ๊ตมีใยอาหารชนิดละลายน้ำที่เรียกว่า เบต้า-กลูแคน (beta-glucan) ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และส่งเสริมสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

  • มีวิตามินและแร่ธาตุ : ในตัวนมโอ๊ตเองก็มีโปรตีนอยู่พอประมาณ มีไฟเบอร์อยู่เล็กน้อย และยังมีธาตุเหล็กอยู่บ้าง ดังนั้นเพื่อให้มีสารอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ผู้ผลิตจึงมักเติมวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญอื่น ๆ เสริมลงไปด้วย เช่น วิตามินดี วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินบี 12 แคลเซียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย

  • เป็นต่อเรื่องพลังงานและแคลอรี : แม้นมโอ๊ตจะมีพลังงานและไขมันใกล้เคียงกับนมวัวพร่องมันเนย หรืออาจจะสูงกว่าเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและส่วนผสม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าไขมันอิ่มตัว อีกทั้งรสหวานของนมโอ๊ตก็เป็นน้ำตาลที่ได้จากข้าวโอ๊ต แต่ก็มีบางยี่ห้อที่มีการเติมน้ำตาลเพิ่มเข้าไป ดังนั้นควรอ่านฉลากก่อนซื้ออย่างละเอียด

  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : การผลิตนมโอ๊ตโดยทั่วไปใช้ทรัพยากรน้ำและที่ดินน้อยกว่าการผลิตนมวัว และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า รวมทั้งปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า

  • เป็นมิตรกับคนกินเจ-มังสวิรัติ : คนที่กินมังสวิรัติ หรือกินเจก็สามารถดื่มนมโอ๊ตได้สบาย เพราะเป็นนมจากพืช ไม่มีส่วนผสมของนมวัว

Oat milk กับ Almond milk 
แบบไหนดีกว่ากัน

นมโอ๊ต VS นมอัลมอนด์

          ข้อดีของนมโอ๊ตก็มี ข้อดีของนมอัลมอนด์ก็ไม่น้อย แต่ความแตกต่างบางประการของนม Plant-based สองชนิดนี้อาจทำให้หลายคนตัดสินใจยากว่าแบบไหนดีกว่ากัน ซึ่งลองมาดูกันเลยว่า Oat milk VS Almond milk ต่างกันตรงไหนบ้าง

  • กลิ่นแตกต่างกันชัดเจน : นมโอ๊ตจะมีกลิ่นข้าวโอ๊ต แต่นมอัลมอนด์จะได้กลิ่นอัลมอนด์ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน

  • ความนัว : นมโอ๊ตจะออกครีมมี่ นัว ๆ แต่นมอัลมอนด์จะรสชาติเบากว่า เนื้อสัมผัสก็ค่อนข้างเหลวกว่านมโอ๊ตพอประมาณ

  • โปรตีน : นมโอ๊ต 1 ถ้วย (8 ออนซ์ หรือประมาณ 240 มิลลิลิตร) จะให้โปรตีนราว ๆ 3-4 กรัม ส่วนนมอัลมอนด์ 1 ถ้วย ให้โปรตีนเพียง 1 กรัม

  • คาร์โบไฮเดรต : นมโอ๊ตมีคาร์โบไฮเดรตสูงกว่านมอัลมอนด์ เพราะ 1 ถ้วยให้คาร์บถึง 14 กรัม ในขณะที่นมอัลมอนด์มีคาร์บ 8 กรัม 

  • ปริมาณน้ำตาล : ในกรณีที่เลือกดื่มนมโอ๊ตและนมอัลมอนด์แบบไม่เติมน้ำตาล ปริมาณน้ำตาลจากธรรมชาติของนมโอ๊ตอาจมีมากกว่านมอัลมอนด์ 

  • แคลอรี : นมโอ๊ตมีความนัวจึงมักมีแคลอรีสูงกว่านมอัลมอนด์ที่รสชาติค่อนข้างเบา

  • สัดส่วนของใยอาหาร : นมโอ๊ตจะมีไฟเบอร์มากกว่านมอัลมอนด์ แถมไฟเบอร์ในนมโอ๊ตยังเป็นเบต้า-กลูแคนอีกด้วย

  • ปริมาณธาตุเหล็ก : นมข้าวโอ๊ตมีธาตุเหล็กตามธรรมชาติสูงกว่านมอัลมอนด์ และบางยี่ห้อยังอาจเสริมธาตุเหล็กเพิ่มเข้าไปด้วย ส่วนนมอัลมอนด์นอกจากจะมีธาตุเหล็กตามธรรมชาติในปริมาณที่น้อยมากแล้ว ผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เติมธาตุเหล็กเสริมเข้าไป  

  • ปริมาณแคลเซียม : นมอัลมอนด์มีแคลเซียมสูงกว่านมโอ๊ต และมักมีการเติมแคลเซียมลงไปในผลิตภัณฑ์ด้วย

  • ปริมาณออกซาเลต : สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องนิ่วในไตจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีออกซาเลตสูง และนมโอ๊ตถือเป็นเครื่องดื่มที่มีออกซาเลตต่ำกว่านมพืชชนิดอื่น ๆ อย่างนมอัลมอนด์ หรือนมเม็ดมะม่วงหิมพานต์

           สรุปแล้วก็อย่างที่บอกว่าเป็นความชอบของแต่ละคน หากเน้นรสชาติครีมมี่ ต้องการไฟเบอร์ และพลังงานที่มากขึ้น นมโอ๊ตอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า แต่หากเน้นนมพืชแคลอรีต่ำ น้ำตาลต่ำ ดื่มแบบเบา ๆ ไม่เน้นความนัว และมีแคลเซียมสูงกว่า นมอัลมอนด์ชนิดไม่เติมน้ำตาลก็น่าจะตอบโจทย์ หรือถ้าจะให้ดีก็สามารถดื่มสลับกันได้ เพื่อจะได้รับสารอาหารที่หลากหลายขึ้น

วิธีเลือกนมโอ๊ตให้ตรงใจ

          สำหรับคนที่ลงรักปักใจอยู่กับนมโอ๊ต ก่อนไปเลือกซื้อ ลองแวะมาดูข้อควรพิจารณาก่อนซื้อ Oat milk ว่าควรเช็กอะไรบ้าง เช่น

  • เช็กปริมาณน้ำตาล : เลือกนมโอ๊ตที่ไม่เติมน้ำตาล (Unsweetened) หรือมีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุด เพราะนมโอ๊ตมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว

  • ปริมาณไขมัน : สังเกตปริมาณไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไขมันไม่อิ่มตัว แต่ก็ควรเลือกปริมาณที่เหมาะสม ไม่สูงมากจนเกินไป

  • เช็กชนิดและปริมาณน้ำมัน : นมโอ๊ตส่วนใหญ่มีการเติมน้ำมันพืชลงไปด้วย เพื่อให้รสชาติเข้มข้นและเนื้อสัมผัสเนียนนุ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะใช้น้ำมันคาโนล่า น้ำมันดอกทานตะวัน หรือน้ำมันรำข้าว เราควรเลือกแบรนด์ที่ไม่เติมน้ำมันหรือเติมน้ำมันในปริมาณน้อย ในกรณีที่ต้องการควบคุมปริมาณไขมัน

  • มองหาวิตามินและแร่ธาตุที่เพิ่มเข้ามา : หากต้องการสารอาหารเพิ่มเติม ให้เลือกยี่ห้อที่มีการเสริมวิตามินดี แคลเซียม และวิตามินบี 12 เป็นต้น

  • อ่านฉลากให้ชัดเจน : ตรวจสอบส่วนผสมว่ามีสารเติมแต่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่ เช่น สารเพิ่มความหนืด สารกันเสีย รวมทั้งระวังสารที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ในบางคน เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง มะพร้าว เป็นต้น

  • เลือกให้เหมาะสมกับสไตล์การดื่ม : สำหรับคนที่อยากดื่มนมโอ๊ตเปล่า ๆ ก็สามารถเลือกนมโอ๊ตสูตรที่ชอบได้เลย แต่หากต้องการนมโอ๊ตไปเป็นส่วนผสมในการชงเครื่องดื่ม ควรเลือกนมโอ๊ตชนิด Barista Blend หรือ Barista Edition เพราะเป็นสูตรที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ตีฟองนมขึ้นสวยงาม และไม่แยกชั้นเมื่อผสมกับกาแฟร้อน

  • หลีกเลี่ยงกลูเตน : หากมีอาการแพ้กลูเตน หรือเป็นโรค Celiac Disease ต้องเลือกนมโอ๊ตที่ระบุว่า Gluten-Free เท่านั้น เพราะข้าวโอ๊ตอาจปนเปื้อนกลูเตนในกระบวนการผลิตได้

  • ความชอบส่วนตัว : นมโอ๊ตแต่ละยี่ห้ออาจมีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย ลองซื้อขนาดเล็กมาทดลองดูก่อนว่าชอบยี่ห้อไหนมากที่สุด

  • ตรวจสอบวันผลิต-วันหมดอายุ : เลือกซื้อนมโอ๊ตที่มีวันหมดอายุที่นานที่สุด หรือวันผลิตที่ใหม่ที่สุด เพราะนมที่ใกล้ถึงวันหมดอายุมาก ๆ อาจเริ่มมีเนื้อสัมผัสและกลิ่นเปลี่ยนไปจากเดิม 

  • ตรวจสอบสภาพบรรจุภัณฑ์ : เช็กกล่องหรือขวดนมโอ๊ตให้ดีว่าฝายังปิดสนิท กล่องไม่บุบ ไม่รั่วซึม ไม่มีร่องรอยความเสียหาย หรือบวมผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่านมหมดอายุแล้ว

Oat milk ยี่ห้อไหนดี ปี 2025

ได้เวลามาอัปเดตกันแล้วว่านมโอ๊ตยี่ห้อไหนน่าสนใจ และรีวิวของแต่ละแบรนด์เป็นยังไงกันบ้าง

1. OATLY โอ๊ตลี่ โอ๊ตดริ้งค์ สูตรออริจินอล

oatly โอ๊ตลี่ โอ๊ตดริ้งค์

ภาพจาก : gourmetmarketthailand.com

          Oatly เป็นแบรนด์นมโอ๊ตที่ได้รับความนิยมสูง ด้วยรสชาติที่เป็นกลางและเนื้อสัมผัสแบบครีมมี่ กล่องนี้เป็นสูตรออริจินอลที่ไม่เติมน้ำตาล จะได้ความหวานจากข้าวโอ๊ตตามธรรมชาติ และมีความเข้มข้นกำลังดี สามารถดื่มเปล่า ๆ หรือจะนำไปผสมชา-กาแฟ ก็ได้เช่นกัน โดย 1 หน่วยบริโภค (250 มิลลิลิตร) ให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี, ไขมัน 7 กรัม, โปรตีน 2 กรัม, คาร์บ 20 กรัม, ไฟเบอร์ 2 กรัม, น้ำตาล 8 กรัม 

  • ขนาดบรรจุ : 1,000 มิลลิลิตร

  • ราคาปกติ : 129 บาท

2. OATSIDE บาริสต้า เบลนด์

นมโอ๊ต OATSIDE

ภาพจาก : oatside.com

          สำหรับสายบาริสต้า ที่ไม่ว่าจะเปิดร้านกาแฟหรือชงดื่มเองที่บ้านเป็นประจำก็มักจะมี OATSIDE บาริสต้า เบลนด์ ติดตู้เย็นไว้ เพราะสูตรนี้เป็นนมโอ๊ตที่ให้ความครีมมี่กำลังดี ไม่ข้นเกินไป ไม่จางเกินไป ที่สำคัญยังหอมกลิ่นมอลต์ แต่ไม่กลบกลิ่นและรสชาติของชา-กาแฟ ให้ดรอป หรือจะนำไปตีฟองนมนุ่ม ๆ ก็ได้ จะดื่มนมโอ๊ตเปล่า ๆ ก็ดี และสูตรนี้มีส่วนผสมของน้ำมันคาโนล่า 2.5% ให้พลังงาน 65 กิโลแคลอรีต่อ 100 มิลลิลิตร, โปรตีน 0.6 กรัม, คาร์บ 8.1 กรัม และน้ำตาล 2.8 กรัม, ไขมัน 3.2 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร

  • ขนาดบรรจุ : 1,000 มิลลิลิตร

  • ราคาปกติ : 115 บาท

3. OATBEDIENT Oat Milk Zero

OATBEDIENT Oat Milk Zero

ภาพจาก : Oatbedient Thailand

Oatbedient Oat Milk Zero (โอทบีเดียนท์) นมโอ๊ตสูตรไม่มีน้ำมัน มาพร้อมรสชาติกลมกล่อม แม้จะไม่เติมน้ำตาลก็ดื่มง่าย อร่อย ไม่เลี่ยน แต่งรสด้วยเกลือหิมาลัย แถมยังไม่ใส่สารกันบูด ไม่เจือสีและแต่งกลิ่นสังเคราะห์ ไม่มีสารเพิ่มความเข้าหนืด เหมาะสำหรับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพหรือควบคุมไขมัน 1 กล่องปริมาณ 250 มิลลิลิตร ให้พลังงาน 140 กิโลแคลอรี ไขมัน 3 กรัม, โปรตีน 4 กรัม, คาร์บ 26 กรัม, น้ำตาล 9 กรัม 

  • ขนาดบรรจุ : 250 มิลลิลิตร (บรรจุ 4 กล่อง)

  • ราคาปกติ : 155 บาท

4. Alpro นมโอ๊ต รสออริจินอล

นมโอ๊ต Alpro

ภาพจาก : alpro.com

          Alpro นมโอ๊ตรสออริจินอล เป็น Oat milk รสชาติกลมกล่อม มีรสหวานตามธรรมชาติจากข้าวโอ๊ต และเนื้อสัมผัสที่ค่อนข้างครีมมี่ ทำให้ดื่มง่าย จะดื่มเปล่า ๆ ผสมซีเรียล หรือใส่ในกาแฟก็เข้ากันได้ดี พลิกดูฉลากหลังกล่องจะเห็นว่า ในปริมาณ 180 มิลลิลิตร จะให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี, ไขมัน 3 กรัม, คาร์บ 15 กรัม, ใยอาหาร 3 กรัม, น้ำตาล 4 กรัม มาพร้อมกับแคลเซียม 25% ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน 

  • ขนาดบรรจุ : 180 มิลลิลิตร และ 1,000 มิลลิลิตร

  • ราคาปกติ : 26 บาท (180 มิลลิลิตร) และ 131 บาท (1,000 มิลลิลิตร)

5. So Good Oat No Added Sugar

นมโอ๊ต So Good

ภาพจาก : sanitarium.com

          So Good นมโอ๊ต สูตรไม่เติมน้ำตาล ผลิตจากข้าวโอ๊ตออสเตรเลียที่ได้รับการบดอย่างพิถีพิถันและผสมผสานกับส่วนผสมคุณภาพดี ทำให้ได้นมโอ๊ตที่มีรสชาติเนียนนุ่มและกลมกล่อม ส่วนความหวานก็จะได้จากธรรมชาติของข้าวโอ๊ตเท่านั้น แถมยังเติมวิตามินเอ วิตามินบี2 วิตามินบี12 และวิตามินดีมาให้ด้วย โดยในปริมาณ 1 หน่วยบริโภค (250 มิลลิลิตร) ให้พลังงาน 116 กิโลแคลอรี, โปรตีน 2.1 กรัม, ไขมัน 4.8 กรัม, คาร์บ 15.8 กรัม, ไฟเบอร์ 1 กรัม, วิตามินเอ 13%, วิตามินบี2 25%, วิตามินบี12 50%, วิตามินดี 12%, แคลเซียม 37% และฟอสฟอรัส 25% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน 

  • ขนาดบรรจุ : 1,000 มิลลิลิตร

  • ราคาปกติ : 128 บาท

6. Goodmate Zero Sugar Oat Milk

นมโอ๊ต Goodmate

ภาพจาก : Goodmate Official

          Oat milk ยี่ห้อที่หลายคนคุ้นเคยกันดี เพราะนมโอ๊ต Goodmate ชาวเน็ตต่างรีวิวว่าอร่อยดื่มง่ายกันเยอะมาก แม้จะเป็นสูตรไม่เติมน้ำตาลก็ยังดื่มง่าย หอมนัว แถมยังเติมวิตามินอย่างบี1, บี6, บี12, วิตามินอี และแคลเซียมมาให้ด้วย ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของกล่องนี้ ในปริมาณ 200 มิลลิลิตร จะให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี, ไขมัน 4.5 กรัม, โปรตีน 1 กรัม, คาร์บ 9 กรัม และวิตามินต่าง ๆ อย่างที่ได้บอกไปตอนต้น ที่สำคัญเขาไม่ได้เติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวาน ไม่ใส่สี ไม่แต่งกลิ่น ไม่มีวัตถุกันเสีย ปราศจากนมวัว กลูเตน และถั่วทุกชนิด

  • ขนาดบรรจุ : 1,000 มิลลิลิตร

  • ราคาปกติ : 129 บาท

7. LUV Unsweetened Oat Milk

นมโอ๊ต Luv

ภาพจาก : Heritage Official

          Oat Milk ยี่ห้อ LUV (ลัฟ) รสจืด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่แพ้ง่าย เพราะเป็นนมโอ๊ตสูตรปราศจากทั้งแล็กโทสและกลูเตน แต่มีปริมาณน้ำนมข้าวโอ๊ตสูงถึง 94% จึงได้รสชาติและเนื้อสัมผัสของนมโอ๊ตเต็มคำ โดยใน 1 หน่วยบริโภค (180 มิลลิลิตร) จะให้พลังงาน 90 กิโลแคลอรี, น้ำตาล 2 กรัม, ไขมัน 4 กรัม, คาร์บ 5 กรัม, ไฟเบอร์ 2 กรัม พร้อมทั้งเสริมแคลเซียมและวิตามินอีเพิ่มมาให้ด้วย

  • ขนาดบรรจุ : 946 มิลลิลิตร

  • ราคาปกติ : 119 บาท
          แม้ว่านมโอ๊ตจะมีประโยชน์และเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับหลายคน แต่ก็มีข้อเสียที่ควรระมัดระวังหรือกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงอยู่เหมือนกัน ว่าแล้วก็ตามมาอ่านกันเลย

Oat milk ข้อเสียและข้อควรระวัง

          อาจปฏิเสธไม่ได้ว่านมโอ๊ตดีต่อสุขภาพหลายประการ แต่ก็มีด้านที่ควรระวัง เช่น

1. น้ำตาลแฝง

          นมโอ๊ตหลายยี่ห้อ โดยเฉพาะชนิดที่มีรสชาติ หรือชนิดที่ไม่ระบุว่า "Unsweetened" มักมีปริมาณน้ำตาลส่วนที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งอาจทำให้ได้รับน้ำตาลเกินความจำเป็นในแต่ละวัน

2. คาร์โบไฮเดรตสูง

          ข้าวโอ๊ตเป็นธัญพืชที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง และคาร์โบไฮเดรตเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาล ซึ่งสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นได้ง่าย จึงควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม

3. มีไขมันและพลังงานที่อาจสูงกว่าที่คิด

          แม้ว่านมโอ๊ตจะมีไขมันดี (ไขมันไม่อิ่มตัว) แต่บางยี่ห้อ โดยเฉพาะสูตรที่เน้นความครีมมี่ อาจมีปริมาณไขมันและแคลอรีสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อน้ำหนักตัวได้

4. อาจมีสารเติมแต่ง

          นมโอ๊ตบางสูตรอาจมีสารเติมแต่ง เช่น อิมัลซิไฟเออร์ (emulsifiers), สารทำให้คงตัว (stabilizers), สารเพิ่มความข้น (gums) หรือน้ำมันพืช เพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัส รสชาติ และยืดอายุการเก็บรักษา ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพลำไส้ในบางคน

5. ปริมาณโปรตีนต่ำ

          เมื่อเทียบกับนมวัวหรือนมถั่วเหลือง นมโอ๊ตมีปริมาณโปรตีนค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่ต้องการโปรตีนสูง เช่น นักกีฬา หรือผู้ที่กำลังสร้างกล้ามเนื้อ

6. สารอาหารน้อยกว่านมวัว

          แม้นมโอ๊ตบางสูตรจะเสริมวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แคลเซียม วิตามินบี 12 หรือวิตามินดี แต่ก็ยังไม่เทียบเท่ากับนมวัว ซึ่งเป็นแหล่งของสารอาหารที่หลากหลาย ซึ่งนอกจากนมวัวจะมีแคลเซียมสูง มีวิตามินบี 12 วิตามินดีแล้ว ก็ยังมีโพแทสเซียม ไอโอดีน หรือกรดไขมันบางชนิดที่นมโอ๊ตไม่มี

7. ราคาสูง

          นมโอ๊ตมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับนมวัวหรือนมพืชชนิดอื่น ๆ เพราะมีต้นทุนการผลิตที่สูง อีกทั้งด้วยกระแสความนิยมในวงกว้าง ทำให้เป็นที่ต้องการในตลาดเฉพาะกลุ่มและร้านกาแฟ จึงสามารถตั้งราคาได้สูงขึ้น ซึ่งบางคนก็ไม่ค่อยมายด์เท่าไร แต่กับบางคนอาจรู้สึกว่าแพงเกินไป จึงมองว่าหันไปเลือกดื่มนมวัวหรือนมพืชชนิดอื่นแทนได้

Oat Milk อ้วนไหม

          นมข้าวโอ๊ตอาจะมีแคลอรีสูงกว่านมพืชชนิดอื่นก็จริง แต่ก็ยังให้พลังงานน้อยกว่านมวัวชนิดไขมันเต็ม ส่วนไขมันในนมโอ๊ตก็มีพอประมาณและเป็นไขมันไม่อิ่มตัว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังคือ ในนมโอ๊ตมีคาร์โบไฮเดรตสูงกว่านมชนิดอื่น และมักมีการเติมน้ำตาลเพื่อให้มีรสชาติอร่อยขึ้น บางยี่ห้อก็ใส่น้ำมันพืชเพิ่มความนัวลงไปด้วย หากดื่มมากเกินไปย่อมทำให้น้ำหนักขึ้นได้แน่นอน ดังนั้นสำหรับคนที่อยากดื่มนมโอ๊ตแบบไม่อ้วน แนะนำให้เลือก Oat Milk รสจืด ชนิดไม่เติมน้ำตาล (Unsweetened) และดื่มในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป

ใครไม่ควรดื่มนมโอ๊ต

Oat milk ข้อเสีย

          ผู้ที่ควรระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการดื่มนมโอ๊ต เช่น

1. ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

          เนื่องจากนมโอ๊ตมีคาร์โบไฮเดรตสูงและมีค่าดัชนีน้ำตาล (GI) สูง ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก่อนบริโภค และควรเลือกนมโอ๊ตชนิดไม่เติมน้ำตาล (Unsweetened) เสมอ

2. ผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก หรืออยู่ในช่วงลดน้ำหนัก

           นมโอ๊ตบางยี่ห้อมีพลังงานและไขมันค่อนข้างสูง หากบริโภคในปริมาณมากอาจทำให้ได้รับแคลอรี่เกินความจำเป็น ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักควรเลือกนมโอ๊ตชนิด Low Fat หรือ Low Calorie และควรตรวจสอบฉลากโภชนาการอย่างละเอียด

3. ผู้ที่มีภาวะแพ้กลูเตน หรือแพ้โปรตีนในกลูเตน

          นมโอ๊ตบางสูตรอาจมีสารก่อให้เกิดการแพ้สำหรับบางคน เช่น กลูเตน ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเหลือง  ดังนั้นควรสังเกตสัญลักษณ์ Gluten-Free และอ่านส่วนผสมบนฉลากให้ดี ๆ

4. ผู้ที่แพ้ข้าวโอ๊ต

          แม้จะพบได้น้อย แต่บางคนอาจมีอาการแพ้ข้าวโอ๊ต โดยเฉพาะโปรตีนอะเวนิน (avenin) ในข้าวโอ๊ต หากมีอาการแพ้ เช่น ผื่น คัน บวม หรือหายใจลำบาก ควรหลีกเลี่ยง

5. ผู้ที่มีปัญหาทางเดินอาหาร หรือภาวะลำไส้แปรปรวน (IBS)

          นมโอ๊ตมีใยอาหารชนิดละลายน้ำ (เบต้า-กลูแคน) ซึ่งดีต่อสุขภาพ แต่ในบางรายที่ระบบย่อยอาหารไวต่อใยอาหาร หรือมีภาวะลำไส้แปรปรวน (IBS) อาจมีอาการท้องอืด แก๊สในกระเพาะ หรือท้องเสียได้ โดยเฉพาะหากดื่มนมโอ๊ตในปริมาณที่มากจนเกินไป

6. ทารกและเด็กเล็ก

          นมโอ๊ตไม่เหมาะที่จะใช้แทนนมแม่หรือนมผงสำหรับทารก เนื่องจากมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะโปรตีนและไขมัน
          ใครกำลังมองหานมโอ๊ตและไม่รู้จะเลือกดื่มยี่ห้อไหนดี ก็หวังว่ารีวิวนมโอ๊ตฉบับอัปเดตในปี 2025 นี้จะช่วยให้ตัดสินใจเลือก Oat milk ได้ง่ายขึ้นนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับนม

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : gourmetmarketthailand.com, oatside.comOatbedient Thailandalpro.com
sanitarium.com
Goodmate OfficialHeritage Officialhealth.comhealthline.com
เรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นมโอ๊ต ยี่ห้อไหนดี ปี 2025 ส่องให้ชัด นมข้าวโอ๊ตกล่องไหนที่สายคลีนห้ามพลาด ! โพสต์เมื่อ 30 มิถุนายน 2568 เวลา 17:16:32
TOP
x close