x close

ป้องกัน...ก่อนกระดูกป่วย





ป้องกัน...ก่อนกระดูกป่วย (ประชาชาติธุรกิจ)

          รู้หรือไม่ว่า อวัยวะที่แข็งที่สุดในร่างกายคืออะไร คำตอบ คือ กระดูก
         
          กระดูกในร่างกายของคนเรามีมากถึง 206 ชิ้น และแต่ละชิ้นก็มีหน้าที่แตกต่างกันออกไป มีหน้าที่ตั้งแต่เป็นโครงสร้างให้กับร่างกายแล้ว เป็นตัวป้องกันอวัยวะภายใน และยังเป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดอีกด้วย
         
         
เนื้อกระดูกของคนเรามีการสร้างและเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา ยิ่งอายุมากขึ้นการเสื่อมสลายของกระดูกก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื้อกระดูกของเราค่อย ๆ บางลง ๆ จนถึงภาวะที่เรียกกันว่า กระดูกพรุน
        
          ภาวะกระดูกพรุน นี้ส่วนใหญ่จะปรากฏออกมาให้เห็น ในภาพที่ผู้สูงอายุมักจะข้อสะโพกหัก หลังงอโค้งเกิดจากกระดูกหลังยุบ หรืออาจจะมีอาการปวดหลังมาก
       
          มีการพบว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ ต้องเผชิญกับภาวะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ชายที่อายุเกิน 60 ปี ผู้ที่เป็นเบาหวาน ไทรอยด์ หรือได้รับยาบางชนิด ผู้ที่ใช้ยาสมุนไพร ยาจีนที่มีส่วนผสมของสเตอรอยด์ รวมไปถึงผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา กาแฟ และน้ำอัดลมประจำก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะนี้เช่นกัน
       
          เมื่อทราบปัจจัยเสี่ยงแล้ว ก็ควรจะหลีกเลี่ยงวิธีที่จะเป็นการเร่งทำให้กระดูกสลาย ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบหมู่ โดยเน้นผักสดให้มาก ส่วนคอกาแฟก็ควรดื่มได้ ไม่เกินวันละ 2 แก้ว ควรงดดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ และพักผ่อนให้พอเหมาะ ออกกำลังกายตามความเหมาะสมครั้งละ 15 - 30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์
         
          สำหรับผู้ที่อยากรู้ว่า เนื้อกระดูกของเรายังจะคงความแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน ก็สามารถไปตรวจสอบได้ ปัจจุบัน มีหลายวิธีในการตรวจสอบ
         
          อาจเลือกตรวจด้วยการ "วัดมวลกระดูก" วิธีดั้งเดิม ยอดฮิต ที่วัดมวลกระดูกจากกระดูกสะโพก กระดูกหลัง ส่วนเอว และกระดูกข้อมือ แล้วนำค่ามาเปรียบเทียบกับ ค่ามาตรฐานก็จะสามารถบอกมวลกระดูกได้ว่าปกติหรือไม่ วิธีนี้ต้องใช้เวลาวัดหาค่าการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 1 ปี
         
          ตรวจได้ โดยการใช้เลือดไปเป็นตัววัดหาค่าที่เรียกว่า "โบนมาร์กเกอร์" วิธีนี้จะเป็นการหาเศษองค์ประกอบ เนื้อกระดูกที่ละลายเข้าไปในเลือดขณะที่มีการสลาย หรือสร้างกระดูก โดยจะหาดูว่า เศษกระดูกนั้นมีค่าเกินค่าปกติหรือไม่ ซึ่งแต่ละค่าจะแสดงถึงสถานภาพของกระดูก ในขณะที่ตรวจได้ว่าอยู่สภาพใด
         
          นอกจากจะเป็นการตรวจสอบกระดูกแล้วยังสามารถ นำมาใช้ติดตามผลสำหรับผู้ที่รับยาบำรุงกระดูก ว่าได้ผล หรือไม่เพียงใด หากยาที่ได้รับไม่เหมาะสมก็จะสามารถเปลี่ยนยาได้ทันท่วงที วิธีนี้รวดเร็วได้ผลดี สามารถตรวจสอบได้วันต่อวัน แต่ราคายังสูงอยู่มาก
         
          หากใครเคยได้รับการตรวจมาแล้ว หรือเคยมีประวัติกระดูกหักไม่ทราบสาเหตุ หรืออยู่ในกลุ่มสุ่มเสี่ยงจาก พันธุกรรมเคยเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์ครวจเช็กกระดูกเสียแต่เนิ่น ๆ ไม่ต้องรอจนถึงเวลาที่กระดูกพรุนหรือเสื่อมไปแล้ว
         
          แม้การเสื่อมสลาย จะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ แต่ก็สามารถที่จะชะลอหรือยืดเวลาการเสื่อมสลายได้ เพียงแค่ใส่ใจ ป้องกัน ดูแลกันไว้ เสียก่อนจะสาย ดีกว่ามารอแก้ มาตามรักษาเอาตอนปลายเหตุ


                  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

                             คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ป้องกัน...ก่อนกระดูกป่วย อัปเดตล่าสุด 27 ธันวาคม 2556 เวลา 11:46:27
TOP