x close

ไวรัสโรต้า (Rotavirus) อย่าไว้ใจ ทำท้องร่วงเสี่ยงตาย ผู้ใหญ่ก็เป็นได้

ไวรัสโรต้า

          อาการท้องร่วงอย่างรุนแรงจากไวรัสโรต้า ที่ว่ากันว่ายังไม่มียารักษาไวรัสโรต้า และหากติดเชื้อจนมีอาการท้องร่วงค่อนข้างหนัก รักษาไม่ทันก็อาจถึงแก่ชีวิตได้จริงหรือ ?

          ในช่วงเปลี่ยนฤดูคนจะเริ่มป่วยกันเยอะเนื่องจากอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่นอกจากโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ เสี่ยงเป็นหวัด คัดจมูก หรือเป็นไข้กันแล้ว เรายังอยากให้ทุกคนระมัดระวังเรื่องอาหารการกินอย่างจริงจังมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโรต้า ไวรัสที่เป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงในช่วงฤดูหนาว และไม่ใช่แค่เพียงเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่ต้องระวังเท่านั้น แต่ไวรัสโรต้าอาจเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน กระปุกดอทคอมจึงอยากพาทุกคนมารู้จักไวรัสชนิดนี้กันก่อน

ไวรัสโรต้า
ไวรัสโรต้าคืออะไร

          ไวรัสโรต้า มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Rotavirus ไวรัสโรต้าคือเชื้อชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคลำไส้อักเสบในทารกแลเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ขวบ) พบการระบาดมากในช่วงฤดูหนาว ที่สำคัญไวรัสโรต้าเป็นไวรัสชนิดที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก เพราะชอบแฝงตัวอยู่ตามสิ่งของ เช่น ของเล่นเด็ก และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายชั่วโมง หรืออาจอยู่ได้เป็นวัน ๆ โดยเชื้อจะแสดงอาการหลังจากเข้าสู่ร่างกายคนไปแล้วประมาณ 1-2 วัน

ไวรัสโรต้า

ไวรัสโรต้า ผู้ใหญ่ก็เป็นได้ ?

          ส่วนใหญ่เรามักจะพบการติดเชื้อไวรัสโรต้าในเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพราะเชื้อมักแฝงอยู่กับสิ่งของ ของเล่นเด็ก ของรอบตัว และติดต่อได้ด้วยการรับเชื้อเข้าทางปาก (เด็กจับของเล่นแล้วอมมือ หรือจับของเล่นมาอม เป็นต้น) หรือคนอื่นไปสัมผัสเชื้อโรคแล้วมาจับตัวเด็ก ทว่าก็สามารถพบการติดเชื้อไวรัสโรต้าในผู้ใหญ่ได้บ้าง แต่พบได้ไม่บ่อยนัก เพราะผู้ใหญ่จะมีภูมิต้านทานที่แข็งแรงพอจะกำจัดไวรัสโรต้าได้ ทว่าหากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น อดนอน หรือป่วยอยู่ เชื้อไวรัสโรต้าก็อาจเล่นงาน ก่อให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงได้เช่นกัน

ไวรัสโรต้า

ไวรัสโรต้า อาการเป็นอย่างไร

          อาการเริ่มแรกของการติดเชื้อไวรัสโรต้าคือ อาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการท้องเสียตามมา (ถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวัน) ซึ่งโดยปกติแล้วอาการจะเป็นอยู่ประมาณ 1-5 วัน โดยร่างกายจะกำจัดเชื้อไวรัสโรต้าออกมาทางอุจจาระนั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม อาการท้องร่วงจากไวรัสโรต้าอาจมีความรุนแรงได้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงตลอดปี 2560 จำนวน 985,544 ราย เสียชีวิต 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นการป่วยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 226,909 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 ของผู้ป่วยทั้งหมด และเสียชีวิต 3 ราย ซึ่งจากการสำรวจของกรมควบคุมโรค เมื่อ ปี 2544-2546 พบว่า การป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ประมาณร้อยละ 43 เลยทีเดียว

ไวรัสโรต้า

ไวรัสโรต้า อันตรายแค่ไหน

          ในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสโรต้าและมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง มีไข้สูง ถ่ายเหลวเกินกว่า 3 ครั้งต่อวัน อีกทั้งยังมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ในเคสแบบนี้ผู้ป่วยจะตกอยู่ในสภาวะร่างกายขาดน้ำ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ให้น้ำเกลือเพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป ทว่าหากได้รับการรักษาไม่ทันหรือไม่เหมาะสม อาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ทั้งในเด็กเล็กและผู้ใหญ่เลยล่ะค่ะ

ไวรัสโรต้า รักษาได้ไหม

          อาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อไวรัสยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่อาการท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าควรได้รับการรักษาตามอาการ เช่น ให้เกลือแร่ชดเชยการเสียน้ำ ซึ่งไม่เกิน 3-5 วันอาการท้องร่วงก็จะหายได้เอง โดยในผู้ที่มีภูมิต้านทานดี แข็งแรง อาจมีอาการท้องร่วงเพียงวันเดียวก็ได้ 

          อย่างไรก็ตาม หากท้องร่วงหนักมาก ถ่ายเหลวเกินกว่า 3 ครั้งต่อวัน ติดต่อกันหลายวัน มีอาการเพลียมาก หรือถ่ายมีมูก มีเลือดปนมา ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนนะคะ

          ที่สำคัญคือ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อมาทานเอง เพราะโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส การทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงไม่ช่วยรักษาอาการที่เป็น แถมยังจะทำให้ดื้อยาอีกต่างหาก

ไวรัสโรต้า

ท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า ดูแลอย่างไรดี

          เนื่องจากปัจจุบันไม่มียารักษาการติดเชื้อไวรัสโรต้า เพราะโดยปกติภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของเราจะช่วยกำจัดเชื้อไวรัสโรต้าให้เอง ทว่าเมื่อติดเชื้อไวรัสโรต้าและมีอาการท้องร่วงแล้ว ควรดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นการพยาบาลเบื้องต้นค่ะ

          - ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป โดยอาจใช้เกลือแร่ชนิดน้ำหรือชนิดผงละลายกับน้ำต้มสุกก็ได้

          - ให้ผู้ป่วยจิบน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรดื่มเกลือแร่ครั้งละมาก ๆ เพราะอาจอาเจียนหรือถ่ายเหลวออกมาหมดได้

          - ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอัดลมหรือเกลือแร่ชนิดขวดสำหรับนักกีฬา เพราะปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียหรือท้องร่วง

          - เกลือแร่ แก้ท้องเสีย VS ออกกำลังกาย ต่างกันตรงไหน ?

ไวรัสโรต้า

เชื้อไวรัสโรต้า วัคซีนป้องกันได้


          วัคซีนไวรัสโรต้าเป็นวัคซีนชนิดหยอด ซึ่งในประเทศไทยวัคซีนไวรัสโรต้ามีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน โดยจะเริ่มหยอดครั้งแรกในเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 6 สัปดาห์ ครั้งต่อไปให้ห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หยอดทั้งหมด 2 หรือ 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีน ดังนี้

          - ชนิดแรก Live attenuated human rotavirus vaccine มีชื่อการค้าว่า RotarixTM เป็นวัคซีนจากเชื้อสายพันธุ์เดียว หยอดทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน ครั้งสุดท้ายควรให้เสร็จก่อนอายุ 6 เดือน

          - ชนิดที่สอง Bovine-human reassortant rotavirus vaccine มีชื่อการค้าว่า RotaTeqTM เป็นวัคซีนที่ได้จากเชื้อ 5 สายพันธุ์ หยอดทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน ครั้งสุดท้ายควรให้เสร็จก่อนอายุ 8 เดือน

          ทั้งนี้วัคซีนไวรัสโรต้าจะช่วยลดความรุนแรงของอาการท้องเสียจากเชื้อไวรัสโรต้าได้ประมาณ 80-90% และจากสถิติโดยรวมพบว่า การฉีดวัคซีนไวรัสโรต้าตามกำหนดอายุ จะช่วยป้องกันโรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าได้ถึง 70% เลยทีเดียว

ไวรัสโรต้า

ไวรัสโรต้า ป้องกันได้แม้ไม่ได้ฉีดวัคซีน


          ในเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนด ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ง่าย ๆ ด้วยการรักษาสุขอนามัยให้ดี โดยควรปฏิบัติดังนี้

          - หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลล้างมือทั้งก่อนปรุงและประกอบอาหาร โดยเฉพาะภายหลังการใช้ห้องน้ำทุกครั้ง

        - กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน ช่วยป้องกันการแฝงตัวของเชื้อไวรัสได้อีกทางหนึ่ง

        - รับประทานอาหารที่ปรุง "สุก ร้อน สะอาด"

        - หลีกเลี่ยงการประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม

        - หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง

        นอกจากนี้การเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ก็ควรแยกออกจากอาหารหรือวัตถุดิบที่ยังไม่ปรุงสุก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ และที่สำคัญผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากเริ่มมีความผิดปกติ มีอาการซึม เป็นไข้ ท้องเสีย อาเจียน ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊กชัวร์ก่อนแชร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, กรมควบคุมโรค, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไวรัสโรต้า (Rotavirus) อย่าไว้ใจ ทำท้องร่วงเสี่ยงตาย ผู้ใหญ่ก็เป็นได้ อัปเดตล่าสุด 11 มกราคม 2561 เวลา 09:18:04 49,610 อ่าน
TOP