ใส่บาตรดูแลสุขภาพพระสงฆ์ อาหารไขมันน้อยและครบ 5 หมู่ (ไทยโพสต์) "การตักบาตรพระภิกษุสงฆ์" นั้น นอกจากการเลือกสรรอาหารที่มีรสชาติดีแล้ว พุทธศาสนิกชนควรคำนึงถึงเรื่องอาหารที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง และมีส่วนประกอบของน้ำตาลอยู่ในปริมาณที่เกินกำหนด เพราะอาหารเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวต่อพระภิกษุสงฆ์ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคหัวใจตีบตัน
ดังนั้น ในแต่ละวันพุทธศาสนิกชนทุกคนไม่ควรมองข้ามในการถวายอาหารที่มีประโยชน์ และถูกหลักโภชนาการให้กับพระสงฆ์ และเพื่อให้การตักบาตรในแต่ละครั้งนั้นได้บุญอย่างแท้จริง นพ.ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เผยให้ทราบถึงอาหารที่เหมาะสำหรับพระสงฆ์ว่า

ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันจนเกินไป เน้นอาหารจำพวกเนื้อปลา ไข่ขาว เต้าหู้

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เนย เนยแข็ง ครีม ไอศกรีม

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ได้แก่ เค้ก พาย คุกกี้ ไส้กรอก แฮม เบคอน หรืออาหารที่ทอดในน้ำมันมาก เช่น ปลาท่องโก๋ มันฝรั่งทอด ไก่ทอด

สำหรับผลไม้ควรเลือกที่รสไม่หวานจัดจนเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ในระยะยาวได้

อาหารที่จะนำไปถวายพระควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิ ข้าวต้มปลาทรงเครื่อง น้ำเต้าหู้ทรงเครื่อง แซนด์วิชทูน่า โฮลวีต ผลไม้ หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
นอกจากนี้ อาหารที่เหมาะสำหรับพระภิกษุควรประกอบไปด้วยสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ มีไขมันน้อย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น
1. "อาหารจากธัญพืช" ธัญพืช คือ พืชจำพวกหญ้าที่เรานำมาเพาะปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ด นั่นคือข้าวประเภทต่าง ๆ อย่างข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ โฮลวีท รำข้าว งาดำ ลูกเดือย เห็ด และพืชตระกูลถั่ว
ธัญพืชที่ไม่ขัดสีจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งอาหารจำพวกธัญพืชนั้นจะมีเส้นใยสูง สารอาหารครบ 5 หมู่ มีวิตามินบี อี ช่วยให้หลอดเลือดมีสุขภาพดี ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ ให้พลังงานแก่ร่างกาย ป้องกันโรคเหน็บชา ตะคริว มีใยอาหารมากช่วยป้องกันมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง กระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก เพิ่มแคลเซียม ช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอล ช่วยบำรุงระบบประสาทในสมอง ป้องกันโรคหัวใจ และมีสารแอนติออกซิแดนต์ช่วยต่อต้านมะเร็ง ช่วยบำรุงม้าม ปอด ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก ลดความดันโลหิต ช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ
2. "อาหารที่มีแร่ธาตุ" ส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกพืชผักซึ่งมีวิตามินและแร่ธาตุสูง แถมยังมีเส้นใยที่ช่วยให้ขับถ่ายเป็นปกติ อาหารที่มีแร่ธาตุสูงจะมีประโยชน์ในการป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรือเกาะผนังหลอดเลือด ลดคอเลสเตอรอล ดังนั้นแร่ธาตุที่สำคัญในอาหาร ได้แก่
แคลเซียม ที่มีคุณสมบัติช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง หากขาดแคลเซียมจะทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน การแข็งตัวของเลือดไม่ดี อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ตำลึง คะน้า ใบขึ้นฉ่าย นมสด ไข่ เนย กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ปลาไส้ตัน เป็นต้น
ฟอสฟอรัส ทำหน้าที่ร่วมกับแคลเซียม ดังนั้น อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงมักจะมีแคลเซียมสูงด้วย โดยเฉพาะในผักใบเขียว นม ไข่ ถั่ว เนื้อสัตว์ต่าง ๆ
แมกนีเซียม ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาท การสร้างโปรตีน การใช้กำมะถันและฟอสฟอรัสในร่างกาย ซึ่งมีในพืชใบเขียว เยื่อหุ้มเมล็ดพืช เช่น รำข้าว ถ้าขาดธาตุนี้จะทำให้กล้ามเนื้อกระตุก
ธาตุเหล็ก เป็นองค์ประกอบอยู่ในเลือด ควรทานอาหารที่มีวิตามินสูง ๆ จะช่วยดูดซึมธาตุเหล็กดียิ่งขึ้น เช่น ตับ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ไข่แดง กุยช่าย เป็นต้น
โซเดียม ทำหน้าที่ร่วมกับโปแตสเซียมในการควบคุมน้ำในร่างกาย และการนำประสาท ถ้าขาดธาตุนี้จะเป็นตะคริว ชัก หมดสติและเสียชีวิตได้ แต่หากทานโซเดียมมากไปอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ ธาตุนี้พบมากในเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว นม เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผักและผลไม้ต่าง ๆ
โปแตสเซียม ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหดตัวของกล้ามเนื้อ และนำกระแสประสาท จังหวะการเต้นของหัวใจ รักษาระดับของเหลวในเซลล์ ส่วนมากอยู่ในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ นม กล้วย และผักใบเขียวต่าง ๆ
วิตามิน เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงานแต่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ แบ่งออกเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค กับวิตามินที่ละลายน้ำได้แก่ วิตามินบีต่าง ๆ และวิตามินซี พบมากในผักและผลไม้ตระกูลส้ม
กรดโฟลิก มีความสำคัญในกระบวนการสร้าง DNA ซึ่งสร้างเม็ดเลือดแดง การพัฒนาสมองและไขสันหลัง พบมากในตับ เนื้อ นม เห็ด ถั่วชนิดต่าง ๆ ข้าวโพด บรอกโคลี อะโวคาโด
3. "ผักเพื่อสุขภาพ" ผักที่จะนำไปประกอบอาหารควรเลือกซื้อตามฤดูกาล เพราะจะได้ผักที่สดและราคาถูก โดยเฉพาะผักที่มีเครื่องหมาย "ผักอนามัย" หรือผักจากโครงการผักปลอดสารพิษ และเนื่องจากผักบางชนิดมีสรรพคุณทางยาที่ถือได้ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น
กระเทียม มีฤทธิ์รักษาโรคหัวใจ วัณโรค ไทฟอยด์ โรคปอด หืด ช่วยลดคอเลสเตอรอลและความดัน
ใบกะเพรา มีเบต้าแคโรทีน ป้องกันโรคมะเร็งและโรคหัวใจขาดเลือด มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
ขิง ข่า มีสรรพคุณทางยาคล้ายกัน ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด เฟ้อ แน่นจุกเสียด
มะระ มีวิตามินซีและเบต้าแคโรทีน น้ำคั้นจากผลมะระใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
หัวปลี มีกากใยอาหารมาก จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ มีธาตุเหล็กไปบำรุงเลือด ทำให้ผิวพรรณดี
นอกจากนี้ คุณหมอยังกล่าวทิ้งท้ายว่า "เพียงแค่เราใส่ใจในการเลือกอาหารใส่บาตร และคำนึงถึงสุขภาพของพระสงฆ์ให้มากขึ้นอีกนิด ก็จะช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่งได้แล้วครับ"
ขอขอบคุณข้อมูลจาก