เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าร่างกายของเราที่ตัวเราเองมั่นใจว่ารู้จักมันดีทุกซอกทุกมุม ก็ยังคงมีเรื่องแปลก ๆ ให้ได้พบได้แปลกใจ และชวนให้ค้นคว้าหาคำตอบอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น เท้าใหญ่ขึ้นจริงไหมเมื่อแก่ตัวลง คนแก่มีกลิ่นเฉพาะตัวจริงหรือเปล่า ทำไมเราถึงมีลายนิ้วมือ ฯลฯ และอีกนานาสารพันเรื่องแปลกเกี่ยวกับร่างกายที่รอให้คุณได้ค้นหาความจริงกัน
วันนี้กระปุกดอทคอมก็ได้นำ 13 เรื่องน่าพิศวงของร่างกายที่คุณอาจเคยสงสัยแต่ยังไม่รู้คำตอบมาฝากกันจากเว็บไซต์ reader digest ไปติดตามกันดูเลยค่ะ
1. เท้าใหญ่ขึ้นเมื่อแก่ตัวลงจริงหรือ?
เท้าใหญ่ขึ้นได้เมื่อแก่ตัวลง...เป็นเรื่องจริง! ก็ในเมื่อมันทนรับใช้และพาคุณเดินทางไปไหนต่อไหนมาไม่ถ้วน เส้นเอ็นที่ทำหน้าที่ยึดกล้ามเนื้อและกระดูกก็เริ่มคลายตัว ทำให้ส่วนโค้งของฝ่าเท้าแบนราบมากขึ้น เท้าจึงดูใหญ่ (หรือบานออก ^^") ทั้งด้านความกว้างและความยาว แต่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ กับทุกคนหรอกนะ ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ซึ่งจะมีอาการบวมที่เท้าและข้อเท้า ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นเบาหวานก็สามารถเกิดอาการนี้ได้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่เท้าจะใหญ่ขึ้นประมาณ 1 ไซส์ ในช่วงอายุ 70-80 ปี
2. ความรู้สึกหวิว ๆ เหมือนท้องไส้ไหลมาจุกที่คอตอนเล่นรถไฟเหาะตีลังกาคืออะไร?
จะบอกให้ว่าที่จริงอวัยวะภายในของคุณก็เกิดการยักย้ายเปลี่ยนตำแหน่งตอนที่คุณกำลังถูกเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาในรถไฟตีลังกาจริง ๆ นั่นแหละ ตอนที่รถไฟเหาะกำลังตีโค้งหมุนให้คุณหัวกลับไปค้างอยู่ที่จุดสูงสุด และค้างไว้เพื่อความเสียวสักอึดใจก่อนจะค่อย ๆ ทิ้งตัวลงมา แม้ว่าก้นคุณจะยังติดอยู่กับที่นั่งเพราะว่ามีเข็มขัดคาดเอาไว้ แต่รู้ไหมว่าอวัยวะภายในที่ไม่ได้ถูกยึดแน่นหนาไว้กับที่ โดยเฉพาะกระเพาะอาหารและลำไส้ได้เกิดการแปรปรวนขึ้นนิดหน่อย โดยมันไหลเลื่อนจากตำแหน่งเดิมไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก ตอนที่คุณกำลังห้อยหัวมันจึงไหลมาจุกอยู่แถว ๆ อก ทำให้คุณรู้สึกจุก ๆ แน่น ๆ หน้าอกไล่มาจนถึงคอหอยนั่นเอง แต่ไม่ต้องห่วงนะ พอมันกลับมาสู่ระนาบปกติ ท้องไส้คุณก็จะกลับไปเข้าที่ประจำการ ณ ตำแหน่งเดิม
3. ทำไมผู้หญิงถึงหนาวง่ายกว่าผู้ชาย?
จากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า เมื่อชายและหญิงอยู่ในอุณหภูมิความหนาวเย็นเท่า ๆ กัน เส้นเลือดฝอยที่นิ้วของผู้หญิงจะหดตัวมากกว่าผู้ชาย ทำให้พวกเธอดูหนาวซีดกว่าผู้ชายนั่นเอง
4. จริงหรือที่คนแก่มีกลิ่นเฉพาะตัว?
หลาย ๆ ครั้งที่เข้าไปสวมกอดปู่ย่าตายายแล้วมักจะโดนท่านถามกลับมาว่า ไม่เหม็นสาบคนแก่หรือ? .. เอ คนแก่มีกลิ่นเฉพาะตัวด้วยงั้นเหรอ คำตอบก็คือ ใช่ค่ะ คนแก่มีกลิ่นเฉพาะตัว แต่ไม่ใช่เฉพาะคนแก่เท่านั้น แม้แต่วัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ที่กำลังวังชาแข็งแรงที่สุด ก็ยังมีกลิ่นแห่งวัยด้วยเหมือนกัน แถมยังเป็นกลิ่นที่เข้มข้นกว่าคนแก่ด้วยนะ
5. ทำไมกาแฟวางทิ้งไว้จนเย็นเท่าอุณหภูมิห้องจึงรสชาติแย่?
อุณหภูมิมีผลต่อรสชาติได้จริง ๆ นะ แต่อย่างไรน่ะหรือ? ... นักวิจัยจากเบลเยียมพบว่า ต่อมรับรสของคนเราจะอ่อนไหวกับโมเลกุลของอาหารมากที่สุดก็ต่อเมื่ออาหารนั้นอยู่ที่อุณหภูมิห้อง หรือสูงกว่าอุณหภูมิห้องเล็กน้อย การดื่มกาแฟที่วางทิ้งไว้จนเย็นที่อุณหภูมิห้องจึงรู้สึกว่ามันขมปี๋ แถมยังออกเปรี้ยวแหลม ๆ นั่นก็เป็นเพราะต่อมรับรสขมทำหน้าที่รับรสชาติของกาแฟได้เต็มที่ ต่างกับตอนที่ดื่มตอนมันยังร้อนอยู่ที่ต่อมรับรสขมไม่สามารถจะจับโมเลกุลของกาแฟได้มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก
นอกจากนี้ กลิ่นก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อรสชาติ คุณจะรู้สึกพึงใจในรสชาติเมื่อได้ดื่มกาแฟร้อน ๆ ที่ยังกรุ่นกลิ่นหอมเป็นไอโชยแตะจมูก แต่กาแฟที่เย็นชืดนั้นหาได้มีกลิ่นกรุ่นชวนหลงใหลไม่ จึงทำให้คุณรู้สึกว่ามันอร่อยน้อยว่ายามที่ดื่มตอนร้อน ๆ นั่นเอง
6. ทำไมดึก ๆ เราถึงต้องตื่นมาเพราะปวดฉี่ ตื่นมาเพราะปวดอึบ้างไม่ได้หรือ?
จะบอกให้ว่าที่คุณตื่นมาฉี่ได้อย่างเดียวโดยไม่เคยตื่นมาเพราะปวดอึเลยแม้สักคืน เป็นเพราะเซลล์ประสาทในลำไส้ ซึ่งควบคุมการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ (อันผลักดันให้คุณปวดหนัก และอยากจะอึ) นั้น ถูกควบคุมแบบพ่วงไปกับวงจรรอบวันของร่างกาย (body’s circadian rhythm) ซึ่งมันคือวงจรที่ทำให้คุณกระปรี้กระเปร่าในยามกลางวัน และง่วงเหงาหลับใหลในเวลากลางคืน คุณจึงไม่รู้สึกปวดอึจนต้องตื่นกลางดึกเลยแม้สักครั้งเดียว
ในทางกลับกัน กระเพาะปัสสาวะซึ่งเป็นถุงเก็บน้ำปัสสาวะ อันได้มาจากการทำงานกลั่นกรองของเสียจากไต ที่ทำงานได้แทบตลอดเวลา สามารถบีบตัวได้ทุกเมื่อที่มีของเหลวมากถึงจุดกำหนด และของเหลวนั้นก็เอ่อขึ้นมาได้ในยามค่ำคืนหากว่าคุณดื่มน้ำก่อนนอนมากเกินไป หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางตัวก็ได้ เพราะฉะนั้นหากไม่อยากลุกมาฉี่ตอนดึก ๆ อีก ก็อย่าดื่มน้ำเยอะเกินไปภายใน 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอนนะจ๊ะ
7. ทำไมเราจึงมีลายนิ้วมือ?
ที่จริงแล้วนี่ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่นะ หากดูจากสิ่งที่เรารู้กันมานานแสนนาน และก็เชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นั่นคือ ลายนิ้วมือช่วยให้เราหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ได้ถนัดถนี่ขึ้น แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษออกมาแย้งสิ่งที่ใคร ๆ ก็ต่างเชื่อเกี่ยวกับลายนิ้วมือในข้อนี้ว่า มันไม่ได้ช่วยให้หยิบจับอะไรง่ายขึ้นเลย โดยเฉพาะวัสดุที่มีพื้นผิวเรียบ เพราะรอยหยักเล็ก ๆ ของลายนิ้วมือนั้นกลับลดพื้นที่ผิวที่ปลายนิ้วจะได้สัมผัสกับวัตถุ และได้เสนอว่า ลายนิ้วมือนั้นมีไว้เพื่อช่วยให้นิ้วสามารถเก็บความชื้นและดูดซึมน้ำได้ดีต่างหาก โดยผิวที่อิ่มน้ำจะมีความยืดหยุ่นดี ยืดหดได้ง่าย ทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดตุ่มพองอันเกิดจากการเสียดสีได้ดีกว่าผิวหนังเรียบ ๆ ด้วย
ก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อความคิดแบบไหนดี แต่ที่ชัวร์ ๆ คือเราทุกคนต่างมีลายนิ้วมือที่มีความเฉพาะตัวไม่เหมือนกันเลยแม้แต่คนเดียว แม้แต่พี่น้องฝาแฝดจากไข่ฟองเดียวกันก็ตาม
8. อาการปวดข้อพยากรณ์อากาศได้จริงหรือ?
คำตอบก็คือ "อาจจะใช่" เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อความกดอากาศลดลง ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่มักเกิดขึ้นก่อนจะตามมาด้วยสภาพอากาศที่เลวร้ายอย่างพายุเข้า (เพราะมันเกิดจากการถ่ายเทมวลอากาศ จากที่ที่มีความกดอากาศสูงไปหาต่ำ ซึ่งแน่นอนว่าปลายทางที่มีความกดอากาศต่ำกว่า จะอ่วมด้วยถูกภาวะอากาศเลวร้ายเข้าโจมตีในไม่ช้านั่นเอง) เนื้อเยื่อบางส่วนในร่างกายจะขยายออกเล็กน้อย (นิดเดียวเท่านั้นจริง ๆ) ทำให้เกิดอาการบวม หรือเจ็บได้ แต่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้สึก
คนที่จะเกิดอาการเจ็บที่ข้อ มักเป็นผู้ที่มีอาการข้ออักเสบอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ทำให้อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงภายในข้อได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากความกดอากาศแล้วก็ยังพบว่าอุณหภูมิเองก็ส่งผลถึงอาการปวดข้อได้เช่นกัน โดยพบว่าอุณหภูมิที่ลดลงทุก ๆ 10 องศา ทำให้เกิดอาการปวดโดยเฉพาะที่ข้อเข่าในผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมด้วย
9. ทำไมการกลั้นหายใจจึงช่วยให้หายสะอึก?
เชื่อกันว่าการกลั้นลมหายใจช่วยให้หายสะอึกได้ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมันช่วยหยุดกระบังลมจากอาการชักกระตุก ซึ่งเป็นสาเหตุของการสะอึก นอกจากนี้การกลั้นลมหายใจยังไปหยุดไม่ให้เกิดการหายใจผิดจังหวะ ที่ทำให้ลมหายใจเข้าถูกกักอย่างกะทันหันด้วยลิ้นปิดหลอดลมที่ปิดฉับลง ซึ่งเป็นที่มาของเสียงสะอึกนั่นเอง
10. ทำไมจึงรู้สึกว่าฟันค่อย ๆ เคลื่อนตำแหน่งไปจากเดิมได้ ทั้ง ๆ ที่เคยจัดฟันมาแล้ว?
ที่จริงไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยจัดฟันมาก่อนหรือไม่ต่างก็ประสบกับเหตุการณ์ฟันค่อย ๆ เลื่อน เคลื่อนจากตำแหน่งที่เคยอยู่ประจำได้เหมือน ๆ กัน มันเกิดจากการเสื่อมของกระดูกที่อยู่ด้านหลังเหงือก ซึ่งจะค่อย ๆ เสื่อมลงไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปัจจัยบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ หรือ โรคเหงือกอักเสบ ก็สามารถเร่งให้มันเสื่อมลงเร็วกว่าเดิมด้วย ...เพราะเหตุนี้ฟันของคุณจึงสามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้ทีละเล็กน้อยนั่นเอง
11. เสียงท้องร้องเกิดจากอะไร?
เสียงคำรามจากในท้องของคุณเกิดจากน้ำย่อยที่ไหลเวียนอยู่ภายใน และการบีบรัดตัวของกระเพาะอาหารเพื่อเตรียมตัวที่จะย่อยอาหารนั่นเอง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เสียงท้องร้องโครกครากเกิดขึ้นบ่อย ๆ ลองหาของว่างกินง่าย ๆ ให้พลังงานต่ำไว้ใกล้มือ หยิบใส่ปากหย่อนลงท้องไม่ให้ร้อง หรือจะเปลี่ยนจากการกินอาหารมื้อใหญ่ มาเป็นการกินมื้อย่อยหลาย ๆ มื้อแทนก็ได้
12. ทำไมจึงเกิดอาการเจ็บเสียดขณะวิ่ง?
อาการเจ็บเสียดขณะวิ่งเกิดจากสองปัจจัยประกอบกัน ประการแรกคือกระบังลมที่ขยายออก และสองคือน้ำหนักตัวนับสิบ ๆ กิโลกรัมในขณะที่คุณเคลื่อนไหวร่างกายให้ออกวิ่งไป เมื่อทั้งสองสิ่งนี้มาเจอกัน จึงทำให้คุณเกิดอาการเจ็บเสียดปลาบ ๆ เหมือนมีอะไรมาทิ่มแทงที่ใต้โครงกระดูกทรวงอก และโดยมากมักเป็นฝั่งขวา เพื่อที่จะบรรเทาอาการนี้ให้หายไปโดยไว จงวิ่งให้ช้าลง จำกัดการเคลื่อนไหวร่างกาย และหายใจเข้าออกลึก ๆ แต่ช้าลงนะ
13. ทำไมเหงื่อออกที่รักแร้จึงเหม็นกว่าที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย?
ต่อมเหงื่อในร่างกายมีอยู่สองแบบ แบบที่อยู่ตามร่างกายทั่วไป อย่างที่แขน ขา ใบหน้า เป็นต่อมเหงื่อที่ผลิตออกมาแต่น้ำกับเกลือเท่านั้น แต่ต่อมเหงื่อซึ่งอยู่ที่รักแร้ (และขาหนีบด้วย) นั้นเป็นอีกแบบหนึ่งซึ่งผลิตสารประเภทน้ำมันออกมาด้วย และน้ำมันก็เป็นอาหารโปรดของเหล่าแบคทีเรียทั้งหลาย กลิ่นเหม็นหรือกลิ่นเต่าที่เรียกกัน ก็มาจากกระบวนการกินและย่อยอาหารของบรรดาแบคทีเรียนั่นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสบู่อาบน้ำระงับกลิ่นเหงื่อถึงโฆษณาตัวเองจังว่าสามารถฆ่าเชื้อ และปกป้องผิวจากการรุกรานของแบคทีเรียได้ยาวนาน
เรื่องเกี่ยวกับร่างกายของตัวเราเองยังมีเรื่องที่น่ารู้น่าศึกษา และชวนให้พิศวงอีกหลายเรื่องเลยทีเดียวค่ะ ถ้ามีโอกาสจะนำเรื่องดี ๆ อ่านสนุก และได้ความรู้แบบนี้มาฝากกันอีกนะคะ :)
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ