วิธีเลิกยาเสพติด ตั้งใจให้มั่น ระงับอาการอยากยาให้ได้

          แม้จะรู้อยู่แล้วว่า "ยาเสพติด" มีพิษร้าย แต่น่าตกใจจริง ๆ ที่ตัวเลขผู้ติดยากลับเพิ่มขึ้นทุกปี และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คนที่ติดยาเสพติดกลับมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ทุกวันนี้มีเด็กชั้นประถมหลายคนตกเป็นทาสของยาเสพติดเสียแล้ว และนั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดคดีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นมาเป็นเงาตามตัว


          อย่างไรก็ตาม หลายคนติดยาเพราะเพื่อนยุ บ้างก็แค่อยากลอง อยากสัมผัส ไม่ได้คิดจะเสพยาจริง ๆ แต่เมื่อลองไปแล้ว อยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้ เพราะมีอาการลงแดง ไม่สามารถทนต่อความทรมานที่ไม่ได้ใช้ยาได้ แม้จะใช้วิธี "หักดิบ" เลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดไปอย่างเด็ดขาด กลับยิ่งทำให้กลับมาเสพซ้ำอีก หากเป็นแบบนี้ เราจะมีวิธีไหนที่จะช่วยบำบัดการติดยาเสพติดได้บ้าง ลองมาดูข้อมูลเหล่านี้กัน


วิธีเลิกยาเสพติด

          ในการเลิกยาเสพติดให้ได้ผลนั้น ผู้เสพยาจะต้องตั้งใจและอดทนว่าจะเลิกยาให้ได้ อย่าไปคิดถึงเรื่องการเสพยา หรือสัมผัสยาเสพติดอีกเด็ดขาด ต้องทิ้งอุปกรณ์การเสพยาให้หมด และหากมีเพื่อนที่ใช้ยาเสพติดอยู่ อย่าเพิ่งไปเจอ หรือพูดคุย เพราะเพื่อนที่เสพยาอยู่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ความตั้งใจของเราล้มเหลวได้

          นอกจากนี้ ต้องตระหนักรู้ถึงความอยากยาของตัวเองให้เร็วที่สุด และหยุดความคิดไว้ตั้งแต่ก่อนจะรู้สึกอยากยา เพราะหากคิดถึงยา จะทำให้เกิดความรู้สึกอยากยา และมีโอกาสจะหันกลับไปใช้ยาเสพติดได้มาก ดังนั้นแล้ว ควรจะฝึกหยุดความคิดถึงยาเสพติด เพื่อปราบอาการอยากยา ซึ่งอาจทำได้โดย

วิธีการจัดการกับอาการอยากยา

          - พยายามควบคุมจิตใจตนเอง ค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดอาการอยากยา และต้องหลบเลี่ยงให้ได้ด้วยความอดทน

          - หากเริ่มมีอาการอยากยา ให้หยุดคิดทันที แล้วใช้การจินตนาการ นึกถึงเรื่องดี ๆ ที่ทำให้คุณมีความสุขแทนที่จะคิดถึงการใช้ยา

          - เปลี่ยนสภาพแวดล้อม หรือหันไปหางานอดิเรกอื่น ๆ ทำ เพื่อจะได้ใช้สมาธิกับงานนั้น จะได้ไม่คิดถึงยาอีก เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ฟังเพลง เล่นดนตรี ดูโทรทัศน์ ฯลฯ

          - คล้องหนังยางไว้ที่แขน หากคิดถึงยาให้ดีดหนังยางแรง ๆ และบอกตัวเองว่า "ไม่" เพื่อจะได้เตือนตัวเอง และหยุดความคิดนั้น

          - สวดมนต์ หรือนั่งสมาธิ ให้จิตสงบ เพ่งสมาธิไปที่ลมหายใจเข้า-ออกของตัวเอง

          - โทรศัพท์หาคนที่ให้คำปรึกษาได้ คนที่เราไว้เนื้อเชื่อใจ ให้กำลังใจเราได้

          - ฝึกให้ตัวเองผ่อนคลาย ด้วยการสูดหายใจเข้าลึก ๆ ให้เต็มปอด จากนั้น หายใจออกช้า ๆ จนรู้สึกผ่อนคลาย

          เมื่อเราไม่คิดถึงยาเสพติดได้แล้ว ก็จะช่วยให้สามารถเลิกยาได้ง่ายขึ้น แต่ถึงกระนั้น กว่าจะผ่านด่านนี้ หลายคนก็ต้องเผชิญอาการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากถอนยา ซึ่งในคนที่เพิ่งเสพยาใหม่ ๆ ก็อาจจะมีแค่อาการนอนหลับยาก กินเก่ง ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งผู้เสพสามารถเลิกไปได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาอะไร

          แต่หากเสพยามานานหน่อย ก็อาจมีอาการอ่อนเพลียมาก ไม่มีแรง กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ เหงื่อแตก และยิ่งในคนที่ติดยามานานมาก ๆ แล้ว อาจเกิดอาการทุรนทุราย เอะอะอาละวาด ทำร้ายผู้ที่อยู่ใกล้เคียง หรือบางคนมีอาการตรงข้าม คือกลายเป็นคนซึมเศร้า จนถึงฆ่าตัวตายได้เลย ซึ่งผู้ที่เลิกยาควรจะต้องมีคนคอยดูแลใกล้ชิด แต่หากผ่านไปได้ ก็จะมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น กระทั่งเลิกยาได้ระยะหนึ่งจึงจะปรับตัวได้

          อย่างไรก็ตาม หากรายที่ใช้ยาเสพติดมานาน โดยเฉพาะแอมเฟตามีน หรือยาบ้า จนมีอาการหนัก และมีโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนเรื้อรัง ก็จำเป็นเข้ารับการบำบัดในสถานบำบัดอย่างถูกวิธี เพื่อลดความทรมานจากอาการขาดยาและจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งแพทย์จะประเมินอาการผู้ป่วยก่อนหาวิธีบำบัดที่เหมาะสมต่อไป โดยพิจารณาจาก

          - ชนิดของสารเสพติดที่ใช้

          - ปริมาณที่ใช้เป็นประจำ

          - ระยะเวลาที่เคยเสพยา

          - สารเสพติดอื่นที่ผู้ป่วยใช้ร่วมด้วย เช่น ผงขาว, แอลกอฮอล์, ยานอนหลับ หรือ สารระเหย เป็นต้น

          - ความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจ ขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา

          - ปัญหาพื้นฐาน, บุคลิกภาพ, ลักษณะของครอบครัว, สังคม, การศึกษาของผู้ป่วย เพื่อเป็นแนวทางในการให้การรักษาโดยรวมต่อไป

วิธีเลิกยาเสพติด

          จากนั้น การรักษาจะใช้ 3 แนวทาง ดังนี้

      1. Biological Treatment คือการรักษาโดยใช้ยา

          เนื่องจากผู้ป่วยที่ใช้ยาบ้ามักมีอาการเสพติดทางจิตใจมากกว่าทางร่างกาย การให้ยาจึงเป็นแบบการรักษาประคับประคองตามอาการ (Symptomatic Supportive Treatments)

          - อาการทางจิต ได้แก่ หวาดกลัว ประสาทหลอน หูแว่ว ให้ยากลุ่มต้านโรคจิต (Antipsychotics) และติดตามผลการรักษา

          - อาการวิตกกังวล, กระสับกระส่าย, หงุดหงิด, นอนไม่หลับ ให้ยากลุ่มกล่อมประสาท (Anxiolytics) และติดตามผลการรักษา

          - อาการซึมเศร้า อ่อนเพลีย ให้ยากลุ่มต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressants) และติดตามผลการรักษา

          - อาการมึนงง, วิงเวียนศีรษะ, ความรู้สึกไม่ปลอดโปร่ง ให้ยากลุ่มบำรุงประสาท เช่น วิตามิน B ยากลุ่มบำรุงสมอง เพิ่มการไหลเวียน เลือดในสมอง เป็นต้น 

          นอกจากนี้ แพทย์จะให้ยาบำรุงร่างกาย หรือรักษาโรคทางร่างกายต่าง ๆ ที่พบในขณะรับการรักษา เพราะผู้ที่ใช้ยาเสพติดนาน ๆ เข้า มักจะมีโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนด้วย

      2. Psychological Treatment ให้การรักษาทางด้านจิตใจ

          หรือที่เรียกว่า จิตบำบัด (Psychotherapy) จะใช้แบบใดขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนใหญ่จะใช้แบบ Supportive Psychotherapy คือเน้นให้ผู้ป่วยมีความรับรู้ด้วยตนเองใน 3 ประการ คือ

          - อันตรายจากการใช้ยาบ้า

          - กิจกรรมทดแทน เมื่อเลิกเสพยาบ้า

          - เป้าหมายในอนาคตที่ผู้ป่วยหวังได้ ได้แก่ อาชีพ ฐานะการเงิน สถานะในสังคม การมีครอบครัว ฯลฯ

      3. Social Treatment คือ การให้คนใกล้ตัวมีส่วนร่วมด้วย

          หมายถึง ให้คนในครอบครัว และผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย เช่น ที่ทำงาน ที่โรงเรียน เข้าใจอาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ด้วย จะได้ดูแลได้อย่างถูกวิธี ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก

          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เลิกยาเสพติดได้ผลก็คือ ผู้ป่วยต้อง "ตั้งใจ" และ "เต็มใจ" ที่จะเลิกยาให้ได้ และเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะหาก "ตั้งใจ" ก็จะมีแรงจูงใจให้สามารถเลิกยาได้ แต่หากผู้ป่วยไม่มีแรงจูงใจ หรือกำลังใจที่จะเลิก คนใกล้ชิดก็ต้องหาแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้ว่าเป้าหมายของการเลิกยาคืออะไร จะได้เข้าสู่กระบวนการเลิกยาได้

          เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว คนใกล้ตัวก็ต้องเอาใจใส่ผู้ป่วยต่อไป ทั้งในเรื่องของอาหารการกินที่ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยบำรุงสุขภาพ และช่วยบำบัดจิตใจ ให้ความรัก ความใกล้ชิด ชักชวนไปทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ หรือหางานอดิเรกให้ทำ จะได้ไม่มีเวลาว่างจนเกินไป และที่สำคัญก็คือ หาเวลาพักผ่อนหย่อนใจบ้าง ให้จิตใจสงบ สบาย เพื่อเป็นการป้องกันมิให้กลับไปใช้ยาเสพติดอีก

วิธีเลิกยาเสพติด

สำหรับผู้ติดยาสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่

          - สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนี (สถาบันธัญญารักษ์) โทรศัพท์ สายด่วน 1165 หรือเว็บไซต์ pmnidat.go.th

          - สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านพิชิตใจ สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2354-4233/0-2354-4241 เว็บไซต์ bangkok.go.th 

          - สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี โทรศัพท์ แผนกรักษายาเสพติด 036-266292 หรือ เฟซบุ๊ก thamkrabokfanpage 

          - ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกยาเสพติดทุกแห่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร

          - โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

          ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสถานที่บำบัดยาเสพติดทุกจังหวัด ได้ที่นี่ pmnidat.go.th


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
   
- สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สถาบันธัญญารักษ์)
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์ สงขลา 
- โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์
- thailabonline.com
- yalannanbaru.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีเลิกยาเสพติด ตั้งใจให้มั่น ระงับอาการอยากยาให้ได้ อัปเดตล่าสุด 26 มิถุนายน 2562 เวลา 09:54:11 433,326 อ่าน
TOP
x close