โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน-เส้นเลือดในสมองแตก (Stroke) รู้ทันก่อนก็รอด ปลอดจากอัมพาต

          โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน อาการเฉียบพลันอันตรายถึงชีวิต อาจเปลี่ยนคนปกติให้กลายเป็นคนพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต ได้ในชั่วพริบตา แต่ถ้ารู้ตัวเร็วก็รอด !

โรคหลอดเลือดสมอง
         
          พฤติกรรมการใช้ชีวิตรวมทั้งการเผชิญกับมลภาวะรอบตัวในทุก ๆ วัน ได้สร้างโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มาทำร้ายเรา หนึ่งในนั้นก็คือ โรคหลอดเลือดสมอง ที่หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่านิสัยที่ตัวเองทำเป็นประจำก่อให้เกิดภาวะเสี่ยงโรคนี้อยู่ ทั้งความเครียด การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า การไม่ออกกำลังกาย สุดท้ายก็เกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ นำพาต่อไปยังโรคหลอดเลือดสมองที่หากตีบ อุดตัน หรือหลอดเลือดแตกขึ้นมาในวันใด ความพิการจะมาเยือนเรา หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต


โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร

          โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) บางคนอาจเรียกว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะในบางกรณีโรคหลอดเลือดสมองอาจไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยมีความพิการ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต สร้างความทุกข์ทรมานใจให้กับทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนในครอบครัว และยังทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตนั้น เป็นเพราะสมองขาดเลือด หรือมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้เซลล์ในสมองและการทำงานของสมองหยุดชะงัก

          ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า "โรคหลอดเลือดสมอง" คือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรทั่วโลก ขณะที่ในประเทศไทย โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประชากรเพศหญิง และเป็นอันดับ 3 ของประชากรไทยทั้งหมด จึงนับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมาก แต่หลายคนกลับมองข้ามโรคนี้ ทั้งที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุเกิดจากอะไร

          โรคหลอดเลือดสมอง เกิดได้จากสาเหตุ 2 ประการคือ หลอดเลือดสมองแตก (พบผู้ป่วยประมาณ 20-30%) และหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน (พบผู้ป่วยประมาณ 70-80%)

โรคหลอดเลือดสมอง

1. หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhage Stroke)

          คืออาการที่หลอดเลือดในสมองฉีกขาด จึงทำให้เกิดเลือดออกในสมอง หรือที่มักได้ยินจากข่าวว่า "เส้นเลือดในสมองแตก" ซึ่งเมื่อมีอาการขึ้นมาอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ทันที หรือหากไม่เสียชีวิตก็อาจพิการ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้

          - ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะความดันโลหิตสูงจะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะหลอดเลือดขนาดเล็กที่อยู่ลึก ทำให้เกิดเป็นหลอดเลือดโป่งพองขนาดเล็ก เมื่อหลอดเลือดนี้แตกออกก็จะเกิดเลือดออกในสมอง

          - การมีหลอดเลือดสมองโป่งพอง มักอยู่ที่บริเวณหลอดเลือดที่ฐานกะโหลกศีรษะ เมื่อแตกออกจะทำให้เกิดเลือดออกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง

          - การมีหลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด

          - โรคปรสิต โดยเฉพาะพยาธิตัวจี๊ด เมื่อไชเข้าไปในสมองจะทำให้เกิดเลือดออกในชั้นเยื่อหุ้มสมองหรือในเนื้อสมอง

          - การเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือดโดยมีการสะสมของสารแอมเมอลอยด์ (amyloid) โดยมักพบในผู้สูงอายุที่หากมีสารสะสมที่ผนังหลอดเลือดก็จะทำให้เกิดเลือดออกในสมองหลาย ๆ ตำแหน่ง

          - ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดเลือดออกในโพรงกะโหลกศีรษะในตำแหน่งต่าง ๆ

          - หลอดเลือดอักเสบ เกิดขึ้นได้ในบางกรณี เช่น ติดเชื้อราในสมอง หรือใช้ยาแอมเฟตามีน

          - การตกเลือดในก้อนเนื้องอก หรือเนื้องอกไปแทรกแซงหลอดเลือด

          ทั้งนี้อาการหลอดเลือดในสมองแตก อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

          - หลอดเลือดแตกในเนื้อสมอง โดยเลือดที่ออกจะไปกดเบียดเนื้อสมอง ทำให้สมองทำงานผิดปกติ และเกิดความดันในโพรงกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทขึ้นมาทันที หรืออาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนเป็นสัญญาณบอกเหตุ แต่หากมีเลือดออกที่ก้านสมอง ผู้ป่วยอาจหมดสติจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

          - หลอดเลือดแตกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง เกิดจากหลอดเลือดสมองบริเวณฐานกะโหลกศีรษะโป่งพอง ทำให้มีเลือดออก ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดศีรษะอย่างรุนแรงมาก อาจถึงขั้นหมดสติหรือเสียชีวิตได้เช่นกัน

หลอดเลือดสมอง

2. หลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน (Ischemic Stroke)

          เมื่อเกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ จะทำให้สมองขาดเลือด สาเหตุอาจเกิดได้จาก

          - การมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง นับเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของภาวะสมองขาดเลือด โดยภาวะหลอดเลือดแดงแข็งนี้อาจเกิดขึ้นที่หลอดเลือดใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมอง ไม่ว่าจะเป็นส่วนคอหรือหลอดเลือดในสมองเอง มักพบในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุมาก โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ และไขมันในเลือดสูง ทำให้ไขมันไปเกาะผนังหลอดเลือด

          - โรคหัวใจ เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดในผู้ป่วยอายุน้อย โดยจะทำให้มีลิ่มเลือดหลุดลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ผนังหัวใจรั่ว หรือเกิดจากการฉีกของผนังหลอดเลือดด้านใน

          - โรคของหลอดเลือดขนาดเล็กที่อยู่ลึกในสมองที่เรียกว่า Lacunar infarction เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดเล็กที่เป็นแขนงที่อยู่ลึกของหลอดเลือดสมอง มักเกิดได้จากภาวะความดันโลหิตสูงและเบาหวาน

          - โรคหลอดเลือดสมองอุดตันที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การมีหลอดเลือดอักเสบ, หลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด รวมถึงการแข็งตัวของเลือดที่เร็วเกินไป หรือเกล็ดเลือดมากเกินไป เป็นต้น

หลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง อาการไหนเสี่ยง มีสัญญาณเตือนไหม

          โรคหลอดเลือดสมองเป็นภัยจ้องคร่าชีวิตเราอยู่เงียบ ๆ เพราะมีหลายคนที่กว่าจะรู้ตัวว่าป่วยก็มีอาการหนักจนต้องหามส่งโรงพยาบาลแล้ว ขณะที่อีกหลายคนไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า มารู้อีกทีก็เส้นเลือดในสมองก็แตกหรือตีบไปแล้ว ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้คือ หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเอง โดยหากมีอาการแปลก ๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง

          - มีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือชา อาจเป็นที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
          - มีอาการชาหรืออ่อนแรงของใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ปากเบี้ยว เป็นทันทีทันใด
          - ตาพร่ามัว ตาข้างใดข้างหนึ่งมืดหรือมองไม่เห็นไปชั่วครู่ หรือมองเห็นภาพซ้อน
          - มีอาการวิงเวียน บ้านหมุน เดินเซ ทรงตัวไม่ได้ บางรายอาจเดินไม่ได้
          - พูดลำบาก พูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจภาษา เป็นแบบทันทีทันใด
          - กลืนอาหารลำบาก สำลักบ่อย ๆ
          - รู้สึกสับสน
          - ปวดศีรษะอย่างรุนแรงในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มักเกิดขึ้นขณะมีอารมณ์เคร่งเครียดหรืออยู่ในอารมณ์รุนแรง ร่วมกับอาเจียนหรือหมดสติ

          หากจำไม่ได้ กระทรวงสาธารณสุขก็แนะนำให้จำ 4 ตัวอักษรง่าย ๆ คือ FAST หากพบอาการเหล่านี้ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล คือ

          F - Face ใบหน้าเบี้ยว หรืออ่อนแรง
          A - Arm แขนขาชา หรืออ่อนแรง
          S - Speech พูดไม่ชัด พูดไม่ได้
          T - Time หากพบอาการให้รีบรักษาภายใน 270 นาที โดยสามารถโทรแจ้งที่สายด่วนกรมการแพทย์ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง


          อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อย่างไรก็ตามในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว (transient ischemic attack: TIA) อาจมีอาการเตือนเหล่านี้เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนมีอาการแบบถาวร ดังนั้นหากมีอาการดังที่กล่าวมานี้ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

หลอดเลือดสมอง


ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

          ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

1. ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

          - อายุ : ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนอายุน้อย

          - เพศ : มักพบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง

          - เชื้อชาติ : จากการศึกษาพบว่าคนผิวสีมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนผิวขาว และมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้สูงกว่า

          - พันธุกรรม : ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป

หลอดเลือดสมอง

2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงและป้องกันได้

          พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตของเรานี่แหละที่เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง และแน่นอนว่าเราสามารถควบคุม หลีกเลี่ยง และป้องกันได้

          - ภาวะความดันโลหิตสูง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากอายุ โดยจากการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า ผู้ชายที่มีความดัน systolic อยู่ระหว่าง 160-180 มิลลิเมตรปรอท มีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงเป็น 4 เท่าของผู้ที่มีความดันน้อยกว่า 160 มิลลิเมตรปรอท และหากมีความดันสูงกว่า 180 มิลลิเมตรปรอท มีอัตราเกิดโรคถึง 6 เท่า

          นอกจากนี้การศึกษาวิจัยยังพบว่าโรคความดันโลหิตสูงทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนปกติสูงถึง 4-6 เท่า และผู้ป่วยโรคอัมพาตร้อยละ 40-90 จะมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาก่อน

          ดังนั้นการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองได้มาก

          - โรคหัวใจ : เป็นสาเหตุที่สำคัญโดยตรงอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะโรคที่เกิดกับลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ฯลฯ

          - โรคเบาหวาน : หากเป็นเบาหวานนาน ๆ แล้วไม่ได้รับการรักษา จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบได้สูง เพราะโรคเบาหวานจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งได้ง่าย ซึ่งการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเกิดอัมพาตได้สูงกว่าผู้ป่วยปกติถึง 2-4 เท่า

ไขมันในเลือดสูง

          - ไขมันในเลือดสูง : ระดับคอเลสเตอรอล และ LDL (ไขมันเลว) สูง แต่ HDL (ไขมันดี) ต่ำ รวมทั้งไตรกลีเซอไรด์สูง มีส่วนสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และไขมันเหล่านี้ยังไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็ง ทำให้เกิดอัมพาตได้ง่าย

          - การสูบบุหรี่ : บุหรี่ก่อโรคร้ายได้สารพัด หนึ่งในนั้นก็คือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง, หลอดเลือดสมองตีบ และหลอดเลือดสมองแตกในเนื้อสมอง ซึ่งจากการศึกษาพบผู้ที่สูบบุหรี่จัดมากกว่า 40 มวนต่อวันมีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงถึง 2 เท่าของผู้ที่สูบบุหรี่น้อยกว่า 10 มวนต่อวัน ดังนั้นจึงควรเลิกบุหรี่

          - การดื่มสุรา : การศึกษาในระยะหลังพบว่าอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับปริมาณของแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป โดยพบว่าผู้ที่ดื่มปานกลางจนถึงดื่มจัดมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนปกติ

          - ไม่ออกกกำลังกาย : ผู้ที่ออกกำลังกายมากมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่าผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย

          - ความผิดปกติด้านการนอน : คนที่นอนกรนจะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนที่ไม่นอนกรน

          - ยาคุมกำเนิด : ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนที่ไม่ใช้ยาคุมกำเนิด

หลอดเลือดสมอง

การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง

          เมื่อมาพบแพทย์แล้ว แพทย์จะประเมินคัดแยกอาการโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันที พร้อมซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประเมินอาการทางระบบประสาท แล้วตรวจวินิจฉัยอย่างเร่งด่วน โดยใช้เครื่องทางการแพทย์ช่วยวินิจฉัย เช่น การตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI และ MRA) การตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดในสมอง (Transcranial Doppler : TCD) และการตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดบริเวณคอ เป็นต้น เพื่อแยกอาการว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดใด

โรคหลอดเลือดสมอง รักษาอย่างไร

          - หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน : แพทย์จะต้องทำให้เลือดไหลเวียนสมองได้อย่างปกติและทันเวลา คือภายใน 270 นาที โดยให้ยาสลายลิ่มเลือดเพื่อให้เนื้อสมองบริเวณนั้นฟื้นตัวได้เร็ว และทำให้เซลล์สมองเสียน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ แต่หากผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อน แพทย์จะให้ยารักษาอาการนั้น หรือในรายที่เป็นอัมพาต แพทย์จะใช้การกายภาพบำบัดเข้าช่วย

          - เส้นเลือดสมองแตก มีเลือดออกในสมอง : กรณีนี้แพทย์ต้องควบคุมปริมาณเลือดที่ออกมาด้วยการรักษาความดันโลหิต แต่หากเลือดออกมาก แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อรักษา ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูง

ความดันโลหิตสูง

โรคหลอดเลือดสมอง ป้องกันได้

          โรคหลอดเลือดสมองสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากมีพฤติกรรมเสี่ยง ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เราควรปฏิบัติตัวดังนี้

          1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
          2. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่าปล่อยให้อ้วน
          3. ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
          4. จำกัดหรือหลีกเลี่ยงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (มาดูวิธีเลิกเหล้า)
          5. งดสูบบุหรี่ (มาดูวิธีเลิกบุหรี่)
          6. ลดการบริโภคอาหารรสเค็มจัด เพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง
          7. บริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ อาหารที่มีเส้นใยสูง
          8. ตรวจสุขภาพร่างกายเพื่อหาความเสี่ยง เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน โรคหัวใจ
          9. หากเป็นผู้ป่วยโรคเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องดูแลตัวเองให้ดี ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และต้องรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้หายจากโรค
          10. เรียนรู้ สัญญาณเตือนของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและแนวทางการป้องกัน
          11. หากมีอาการผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก เวียนศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะเซลล์สมองขาดเลือดเพียง 1 นาที จะมีเซลล์สมองตายประมาณ 1 ล้านเซลล์ ถ้าได้รับการรักษาช้า อาจทำให้เกิดความพิการมากขึ้น

          โรคหลอดเลือดสมองเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่า ในวันนี้ที่เรายังดูแข็งแรง พูดคุย ทำกิจกรรมอะไรได้ตามปกติ แต่ในวันรุ่งขึ้นเราอาจกลายเป็นคนพิการจากการคุกคามของโรคหลอดเลือดสมอง เช่นนั้นแล้วอย่าปล่อยปละละเลยสุขภาพร่างกายของตัวเองเด็ดขาด พยายามเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อจะได้อยู่กับคนที่คุณรักไปได้อีกนาน ๆ และหากพบอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะโรคนี้รักษาเร็วก็รอด ปลอดจากอัมพาตได้

 *หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 25 กรกฎาคม 2559

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- สสส.
- มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- โรงพยาบาลศรีนครินทร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน-เส้นเลือดในสมองแตก (Stroke) รู้ทันก่อนก็รอด ปลอดจากอัมพาต อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2565 เวลา 15:39:10 176,686 อ่าน
TOP
x close