10 อาการที่ผู้ป่วยข้ออักเสบไม่ควรละเลย


ข้ออักเสบ

10 อาการที่ผู้ป่วยข้ออักเสบไม่ควรละเลย (อาหาร&สุขภาพ)
เขียนโดย Mary Ann Dunkin แปลโดย ฉัตรตระกูล เจียจันทร์พงษ์, M.P.H.

          ปัญหาสุขภาพเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของคนที่เป็นโรคข้ออักเสบก็ได้

          การที่ต้องมีชีวิตอยู่กับโรคข้ออักเสบ อาจทำให้คุณต้องตัดสินใจดูว่าจะรอดูอาการเจ็บต่อไปหรือควรจะพบแพทย์เมื่อไร แต่ถ้าหากคุณเกิดมีปัญหาอะไรบางอย่างที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงล่ะ จะทำอย่างไร? เช่น คุณหายใจติดขัด หรือการกระแทกเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้เกิดแผลถลอก หรือน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ได้ทำอะไรเลย?

          เชื่อหรือไม่ว่า อาการเหล่านี้และอีกมากที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับข้อต่อตามร่างกายของคุณเลยอาจเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับโรคข้ออักเสบของคุณก็ได้ และอาการบางอย่างก็ต้องการไปพบแพทย์ในทันที

          ต่อไปนี้เป็นอาการ 10 อย่างที่คุณไม่ควรละเลย รวมถึงเหตุผลว่าทำไม และเมื่อไรถึงควรจะพบแพทย์

1. อ่อนเพลียมากขึ้น

          การอ่อนเพลียมากกว่าแต่ก่อนอาจหมายถึงการเป็นโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบ, อาการปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย (fibromyalgia), โรคซึมเศร้า หรือโลหิตจาง อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเนื่องจากโรคปวดข้อรูมาตอยด์ และบางทีก็อาจเกิดจากยาบางอย่างที่ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตรอยด์ (nonsteroidal anti-inflam matory drugs-NSAIDs) เช่น ibuprofen และ naproxen รวมทั้งฮอร์โมนพวกคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเลือดออกในทางเดินอาหารแล้วทำให้โลหิตจางได้

          ยา methotrexate ซึ่งเป็นยาต้านรูมาติซึ่มที่ปรับเปลี่ยนไปตามการดำเนินของโรค (disease-modifying antirheumatic drug-DMART) ก็อาจไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดแดง แล้วทำให้โลหิตจางได้

          แม้จำนวนวันที่อ่อนเพลียจะมีมากขึ้น แต่บางทีก็อาจเป็นเพียงวิธีที่ร่างกายจะบอกให้เราทำอะไรให้ช้าลงและพักผ่อนให้มากขึ้นก็ได้ นายแพทย์พอล ฮาวเวิร์ด, M.D. แพทย์โรครูมาตอยด์จากเมืองสก๊อตเดล มลรัฐแอริโซน่า กล่าวว่า คุณควรบอกให้แพทย์ที่รักษารูมาตอยด์ของคุณทราบเอาไว้หากอาการอ่อนเพลียเกิดขึ้นบ่อย ๆ, รุนแรง หรือเกิดติดต่อกันนานกว่าสัปดาห์

2. เกิดแผลถลอกหรือเลือดออกง่าย

          หากคุณเดินไปชนขอบโต๊ะเบา ๆ แล้วยังเกิดรอยแผลช้ำ สาเหตุอาจเกิดจากโรคข้ออักเสบหรือยาที่คุณใช้อยู่ก็ได้

          นายแพทย์แดเนียล คลอว์, M.D. ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย Chronic Pain and Fatigue Research Center ของมหาวิทยาลัย University of Michigan Health System ในแอน ฮาร์เบอร์ กล่าวว่า อาการจากความผิดปกติจากการที่ภูมิคุ้มกันจดจำตัวเองไม่ได้หรือหันมาเล่นงานตัวเอง อย่างเช่นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และลูปัส ทำให้จำนวนเพล็ตเลท (platelet count) ในเลือดต่ำลง ทำให้เกิดแผลถลอกได้อย่างไม่มีเหตุผลหรือทำให้เลือดออกตามไรฟัน

          การมีระดับเพล็ตเลทต่ำยังอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาพวก DMARO เช่น methotrexate และ biologics ยาแอสไพริน และยาพวก NSAIDs ก็มีผลต่อการแข็งตัวของโลหิตได้เช่นกัน การใช้คอร์ติโคสเตอรอยด์ก็ทำให้หลอดเลือดฝอยเปราะบางและแตกหักง่าย ทำให้เกิดแผลถลอกเลือดซึมหากคุณไปชนกับอะไรเข้า

          หากเกิดแผลถลอกช้ำบ้างนาน ๆ ครั้ง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวลอะไร แต่หากคุณสังเกตว่าร่างกายคุณช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย ดร.คลอว์แนะนำให้บอกให้แพทย์ที่รักษารูมาตอยด์ของคุณทราบโดยเร็วที่สุด


สุขภาพ

3. หายใจติดขัด

          หากมีอาการนี้ โดยเฉพาะมีการไอแบบแห้ง ๆ แบบไม่ค่อยจะมีแรงหรือไม่มีแรงเลย อาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่ร้ายแรงได้ เช่น เลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism) หรือเนื้อเยื่อปอดเป็นแผล (interstitiallung disease) อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หนึ่งในสิบคน

          หากคุณใช้ยา methotrexate อยู่ อาจเป็นไปได้ที่จะเกิดอาการปอดอักเสบเมโธเทรเสท (methotresate pneumontits หรือรู้จักกันในอีกชื่อว่า methotrexate lung) ซึ่งเป็นการอักเสบในเนื้อเยื่อปอด คาดว่าเกิดขึ้นราว 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ใช้ยานี้ การเกิด methotrexate lung, หายใจติดขัด อาจมีอาการไอแห้ง ๆ และมีไข้ตามมาด้วยก็ได้

          แน่นอนที่ว่าหากคุณกำลังเริ่มการออกกำลังกายหลังจากที่นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่เฉย ๆ มาสักระยะ คุณก็จะต้องเหนื่อยหอบขึ้นมาบ้าง ดร.คลอว์ กล่าวว่า นอกเหนือไปจากสาเหตุที่ว่านี้แล้ว หากคุณรู้สึกหายใจหอบสั้น ก็ควรรีบไปพบแพทย์ที่ดูแลคุณอยู่เพื่อประเมินผลต่อไป

4. รู้สึกเจ็บเวลาถ่ายปัสสาวะ

          ถ้าเกิดอาการนี้ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีไข้ตามมาด้วย นั่นคือสัญญาณของการมีไข้ "การติดเชื้อเป็นผลข้างเคียงหลักของการใช้ยาประเภท DMARD-ทั้งแบบดั้งเดิม และแบบที่เป็น biologics" ดร.ฮาวเวิร์ด กล่าว "เพราะยาเหล่านี้ไปกดระบบภูมิคุ้มกัน บางครั้งการติดเชื้อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง"

          หากคุณใช้ยาที่กดภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว มีอาการของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือกระเพาะปัสสาวะ ดร.ฮาวเวิร์ด แนะนำให้ติดต่อแพทย์ที่รักษารูมาตอยด์ของคุณโดยทันที

5. ไฝมีการเปลี่ยนรูปร่าง

          ไฝที่เปลี่ยนขนาดหรือรูปร่าง หรือมีแผลฟกช้ำที่ไม่หายสักทีอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งที่ผิวหนัง แม้ว่าโรคนี้ใคร ๆ ก็เป็นได้ โดยเฉพาะคนที่มีผิวขาวที่มักจะตากแดดเสมอ ๆ

          แต่คุณก็อาจมีความเสี่ยงสูงขึ้น หากคุณรับประทานยายับยั้ง TNF (TNF inhibitors-คือ tumer necrosis factor เป็นตัวที่ทำให้เกิดการอักเสบและนำไปสู่อาการภูมิคุ้มกันจดจำตัวเองไม่ได้และหันมาเล่นงานตัวเอง เช่น โรครูมาตอยด์-ผู้แปล) ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม biologic เช่น adalimumad (Humira) และ etanercept (Enbrel) แต่ยังโชคดีที่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้มีเพียงเล็กน้อยสำหรับมะเร็งชนิด melanoma ซึ่งเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่อันตรายที่สุด

          อย่างไรก็ตาม สำหรับมะเร็งผิวหนังชนิดอื่นที่ไม่ใช่ melanoma การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร annals of the Rheumatic Diseases ในเดือนธันวาคม 2012 ระบุว่า คนที่รับประทานยายับยั้ง TNF มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 45 เปอร์เซ็นต์ ดร.ฮาวเวิร์ด กล่าวด้วยว่า สำคัญมากที่คุณต้องรายงานความผิดปกติของผิวให้แพทย์ผิวหนังทราบทันที ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งชนิดใดก็ตาม ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไรก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น


น้ำหนักลด


6. น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง โดยบอกสาเหตุไม่ได้

          ดร.ฮาวเวิร์ด บอกว่า น้ำหนักตัวเพิ่มเป็นผลข้างเคียงที่พบได้มากจากการใช้คอร์ติโคสเตอรอยด์, ยาต้านอาการซึมเศร้าบางชนิด และยาบางชนิด แต่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่สามารถบอกได้ อาจหมายความว่าร่างกายกำลังบวมน้ำ แสดงให้เห็นถึงปัญหาอย่างเช่นโรคไต หรือโรคหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง (congestive heart failure) ซึ่งทั้งคู่นี้พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบบางชนิด และต้องให้ความสนใจในทันที

          ส่วนน้ำหนักตัวที่ลดลงโดยหาเหตุผลไม่ได้ก็อาจเป็นสัญญาณของอาการร้ายแรงบางอย่าง สาเหตุที่เป็นไปได้อาจเกิดจากการอักเสบที่เพิ่มมากขึ้น เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ ซึ่งพบได้มากในผู้ป่วยด้วยข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคแผลในกระเพาะอาหารเนื่องจากการใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs และโรค celiac disease (ความเสียหายของเยื่อบุในลำไส้ ทำให้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้-ผู้แปล) หรือ Crohn’s disease (การอักเสบในลำไส้ มักเกิดขึ้นในลำไส้เล็ก-ผู้แปล) ซึ่งทั้งคู่ทำให้ร่างกายไม่สามารถจัดการกับสารอาหารที่รับประทานเข้าไป


          อาการทั้งสองนี้พบได้ทั่วไปในผู้ที่ป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันจดจำตัวเองไม่ได้ หากน้ำหนักตัวของคุณลดลง 10 ปอนด์ หรือมากกว่าโดยไม่ได้ทำอะไรเลย ดร.คลอว์ แนะนำให้ไปพบแพทย์

7. เจ็บหน้าอก

          มีสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้เจ็บหน้าอก ซึ่งมีบางอย่างที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคข้ออักเสบหรือยาที่คุณกำลังใช้อยู่ ตัวอย่าง เช่น NSAIDs ที่ใช้ระงับปวด และ bisphosphonates ที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนทำให้เกิดอาการร้อนที่หน้าอก (heartbum), หรือระคายเคืองต่อหลอดอาหาร ซึ่งจะมีความรู้สึกออกมาที่บริเวณหน้าอก

          ที่ต้องกังวลและต้องรีบดูแลทันทีก็คือ การเจ็บหน้าอกที่เกิดจากหัวใจพิบัติ (heart attack) ในการศึกษาเมื่อปี 2010 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Internal Medicine พบว่าผู้ที่ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์นั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจพิบัติมากขึ้นถึง 60 เปอร์เซ็นต์หลังจากทีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นรูมาตอยด์สักหนึ่งถึงสี่ปี

          ส่วนคนที่เป็นโรคข้ออักเสบจากการอักเสบในรูปอื่น ๆ เช่น ลูปัส หรือ ankylosing spondylites (โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดยืดติด) ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเช่นกัน และการใช้ยา NSAIDs ก็อาจยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงยิ่งขึ้นไปอีก

          หากการเจ็บหน้าอกมีอาการบางอย่างตามมาด้วย เช่น รู้สึกหนักหรือแน่นหน้าอก, อาหารไม่ย่อย, มีอาการเจ็บแผ่นไปถึงหลัง, แขน, กรามหรือลำคอ, อ่อนเพลียอย่างรุนแรง, หายใจติดขัด และมีการเต้นของหัวใจผิดปกติ แสดงว่าคุณอาจเป็นหัวใจพิบัติแล้ว ให้เรียกรถพยาบาลโดยทันที


สุขภาพ


8. มีเลือดออกมาพร้อมอุจจาระ

          ดร.ฮาวเวิร์ด กล่าวว่า นี่อาจเป็นสัญญาณของโรค diverticuitis (เป็นการอักเสบของถึงเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในผนังของลำไส้ใหญ่), มะเร็งลำไส้ใหญ่, Crohn’s disease หรือการตกเลือดในทางเดินอาหาร เนื่องจากการใช้ยาพวก NSAIDs หากเลือดที่ออกมีสีแดงสดใส ก็มีแนวโน้มว่าจะมาจากทางเดินอาหารส่วนล่าง (ลำไส้ใหญ่, ลำไส้ใหญ่ ส่วนล่างหรือทวารหนัก) ส่วนการตกเลือดจากการใช้ยา NSAIDs มักจะเกิดขึ้นที่กระเพาะอาหาร และส่วนบนของลำไส้เล็ก มักจะทำให้อุจจาระมีสีดำ

          ดร.คลอว์ กล่าวว่า "ถ้ามีอุจจาระที่มีเลือดปน หรือมีเลือดออกมาชัด ๆ ก็ต้องรีบเข้ารับการตรวจทันที" ในทางตรงกันข้าม การมีเลือดอยู่เล็กน้อยเปื้อนมาบนกระดาษชำระอาจจะเนื่องมาจากริดสีดวง และก็ไม่ต้องกังวลอะไรหากอาการหายไปในไม่กี่วัน

9. เจ็บที่เอ็นร้อยหวาย

          การเจ็บและบวมเหนือส้นเท้าอาจเกิดจากกิจกรรมการเคลื่อนไหวของเรา อาจเกิดจากการบาดเจ็บหรือสวมรองเท้าที่รองรับส้นเท้าได้ไม่ดีพอ แต่หากการเจ็บมีอาการอื่นตามมาด้วย เช่น มีการเจ็บหลังส่วนล่างหรือมีการบวมตามข้อต่อ ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดยืดติด (ankylosing spondylitis) หรือโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (psoriatic arthritis)

          การอักเสบของเอ็นร้อยหวาย ซึ่งเป็นเอ็นที่แข็งแรงที่ยึดกล้ามเนื้อน่องเข้ากับกระดูกส้นเท้ามักจะพบได้บ่อยจากโรคทั้งสองดังกล่าว สำคัญมากที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ให้บอกแพทย์ หากคุณมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นและเกิดการเจ็บเพิ่มขึ้นที่บริเวณเอ็นร้อยหวาย

10. ซึมเศร้าหรือสิ้นหวังอยู่เสมอ

          ความรู้สึกเหล่านี้ รวมไปถึงการขาดสมาธิหรือไม่สนใจกิจกรรมต่าง ๆ ที่คุณเคยรู้สึกสนุกกับมัน เป็นอาการของอาการซึมเศร้า

          ดร.ฮาวเวิร์ด กล่าวว่า การรู้สึกซึมเศร้าพบได้มากเมื่อผู้ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบต้องทนทุกข์กับอาการบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง และไปรบกวนการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน แต่ในบางราย อาการซึมเศร้าก็เกิดจากผลข้างเคียงของตัวโรคเอง หรือจากการใช้ยารักษาโรคข้ออักเสบ โดยเฉาพะยาพวกคอร์ติโคสเตอรอยด์รักษาได้อย่างถูกต้อง

          ในการศึกษาเมื่อปี 2012 จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Center for Disease Control and Prevention) พบว่าจากการสำรวจผู้ใหญ่จำนวนเกือบ 1,800 คนที่ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบนั้น 31 เปอร์เซ็นต์มีอาการวิตกกังวล และ 18 เปอร์เซ็นต์มีอาการซึมเศร้า ยังมีอีกหลายคนที่มีอาการก้ำกึ่งกันระหว่างอาการทั้งสองนี้

          ดร.ฮาวเวิร์ด กล่าวว่า "สำคัญมากที่ต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการซึมเศร้านี้ เพราะหากอาการข้ออักเสบรูมาตอยด์ของคุณดีขึ้น แต่ยังคงมีอาการซึมเศร้าอยู่ มันจะไปทำให้คุณภาพชีวิตของคุณด้อยลง" และหากคุณเคยคิดที่จะฆ่าตัวตาย ก็จำเป็นต้องพูดคุย และต้องรับความช่วยเหลือทันที



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 อาการที่ผู้ป่วยข้ออักเสบไม่ควรละเลย อัปเดตล่าสุด 26 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15:42:53 30,593 อ่าน
TOP
x close