เรื่องของการแปรงฟัน เข้าใจกันแค่ไหน



แปรงฟัน

 

การแปรงฟันเข้าใจกันแค่ไหน (หมอชาวบ้าน)
โดย ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล คณะทันตแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัย

          มาพบกับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการแปรงฟัน ที่คนทั่ว ๆ ไปมักจะเข้าใจผิด

1. แปรงฟันเพื่อกำจัดเศษอาหาร จริงหรือ

          ยังมีคนส่วนหนึ่งเข้าใจว่าเมื่อกินอาหารแล้วควรจะแปรงฟัน เพี่อกำจัดเศษอาหารที่หลงเหลือออก

          แท้ที่จริงแล้ว เป้าหมายของการแปรงฟันไม่ได้อยู่ที่การเอาเศษอาหารออกจากช่องปากเรา เพราะถ้าเป็นเศษอาหารเราสามารถบ้วนน้ำแรง ๆ เพื่อกำจัดเอาเศษอาหารออกได้ง่าย ๆ เป้าหมายของการแปรงฟันมี 2 ประการคือ เพื่อกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ (คราบพลัค) และเป็นการพาฟลูออไรด์ในยาสีฟัน ให้สัมผัสกับผิวฟันเพื่อป้องก้นฟันผุ

          หากลองไม่แปรงฟันสัก 3-5 วัน แล้วตรวจดูที่ผิวฟัน จะเห็นว่ามีคราบเหลือง ๆ เหนียว ๆ ติดอยู่ที่ฟันเกือบทุกซี่ คราบเหล่านี้ไม่ใช่เศษอาหาร แต่เป็นคราบที่ประกอบไปด้วยเชื้อโรคจำนวนมาก เป็นเชื้อโรคที่เมื่อสะสมอยู่นาน ๆ ก็จะปล่อยสารพิษออกมาทำลายเหงือกให้เหงือกป่วยหรือที่เราว่าเหงือกอักเสบ และจะทำให้ฟันบริเวณนั้นผุอีกด้วย

          แผ่นคราบจุลินทรีย์นี้จะเกิดขึ้นทุกวัน ใช้เวลาสะสมประมาณ 24 ชั่วโมง จึงจะพอมองเห็นด้วยตาเปล่า และถ้าสะสมไปนาน 3-5 วันก็จะเห็นได้อย่างชัดเจน ดั้งนั้น เราควรจะแปรงฟันอย่างตั้งใจเพื่อกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกให้หมดอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง สำหรับคนที่แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ควรจะเลือกสัก 1 ครั้ง (แนะนำให้เป็นช่วงก่อนนอน) ที่ต้องแปรงฟันอย่างประณีตเพื่อกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออก


2. ทำไมต้องแปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์นาน 2 นาที วันละ 2 ครั้ง

          เป็นที่ทราบกันว่าฟลูออไรด์ในยาสีฟันทำให้ฟันแข็งแรง ผุได้ยาก จากงานวิจัยยอมรับกันว่า ต้องให้ฟลูออไรด์สัมผัสกับผิวฟัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง จึงจะป้องกันฟันผุได้ดี นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

          กรณีคนที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุหรือเกิดฟันผุได้ง่าย ก็จะแนะนำให้แปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์เพิ่มเป็นวันละ 3 ครั้ง เพื่อให้ผิวฟันสัมผัสกับฟลูออไรด์ได้บ่อยขึ้น ผลการป้องกันฟันผุ จะได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

          อีกประการหนึ่งที่จะทำให้ฟลูออไรด์ในยาสีฟันออกฤทธิ์ป้องกันฟันผุได้เต็มประสิทธิภาพ จะต้องแปรงฟันให้นานอย่างน้อย 2 นาที เพื่อให้มีเวลาพอที่ฟลูออไรด์จะไปจับบนผิวฟันได้แน่นหนาและทั่วถึง ถ้าใช้เวลาแปรงฟันสั้นมาก ฟลูออไรด์ยังไม่ได้ทันจะสัมผัสกับผิวฟันก็ถูกบ้วนออกมา ประสิทธิภาพการป้องกันฟันผุก็จะลดลง


3. ควรบ้วนน้ำหลังแปรงฟันครั้งเดียวหรือหลายครั้ง

          ควรจะบ้วนน้ำหลังแปรงฟันเพียงครั้งเดียว เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า ถ้าบ้วนน้ำหลาย ๆ ครั้งจนหมดแก้วประสิทธิภาพการป้องกันฟันผุจะลดน้อยลง เมื่อเทียบกับการบ้วนน้ำเพียงครั้งเดียว

          เรื่องบ้วนน้ำครั้งเดียวเป็นคำแนะนำที่ใหม่มากสำหรับคนไทย บางคนที่คุ้นเคยกับการบ้วนน้ำหลาย ๆ ครั้งเมื่อมาบ้วนครั้งเดียวจะรู้สึกแปลก ๆ เหมือนยังมียาสีฟันตกค้างอยู่ในปาก

          ขอแนะนำให้ใช้วิธีบ้วนฟองออกก่อนโดยไม่ต้องใช้น้ำ เมื่อฟองหมดแล้วจึงบ้วนน้ำตามเพียงครั้งเดียว ทดลองทำดูสักพักก็จะคุ้นเคย

          ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น หลังแปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์แล้ว ไม่ดื่มน้ำหรือกินอาหารใด ๆ นาน 30 นาที ทั้งนี้เพื่อให้ฟลูออไรด์ได้ออกฤทธิ์ป้องกันฟันผุได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกชะล้างออกไป


แปรงฟัน



4. ถ้าแปรงฟันบ่อย ๆ จะทำให้ฟันสึก

          ฟันสึกไม่เกี่ยวกับการแปรงฟันบ่อยเกินไป เพราะไม่ว่าจะแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง หรือ 4 ครั้งอาจทำให้ฟันสึกหรือไม่ก็ได้

          สาเหตุที่แท้จริงของการสึกของฟัน (ที่คอฟัน) มาจากการใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งและแปรงฟันแรงเกินไป ยิ่งถ้าใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดหยาบ เช่น ยาสีฟันที่ใช้เฉพาะผู้สูบบุหรี่หรือยาสีฟันชนิดผงก็จะทำให้สึกเร็วขึ้นไปอีก

          ปกติแล้ว "เคลือบฟัน" คือส่วนที่เคลือบตัวฟันไว้ เป็นส่วนที่แข็งแรงมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ มีความแข็งมากกว่ากระดูกเสียอีก การทำให้เคลือบฟันสึกได้นั้นทำได้ยาก ต้องเป็นการขัดสีที่แรง ๆ ทุก ๆ วันติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเป็นปี ๆ เราจึงไม่ค่อยพบตัวฟันสึก แต่เราจะพบ "คอฟันสึก" เพราะบริเวณคอฟันไม่มีเคลือบฟันปกปิดไว้ มีแต่ "เคลือบรากฟัน" เท่านั้น ซึ่งเคลือบรากฟันจะแข็งแรงน้อยกว่าและสึกง่ายกว่าเคลือบฟัน

          ดังนั้น เมื่อใช้แปรงสีฟันขนแปรงแข็ง แปรงฟันแรง เหงือกบริเวณคอฟันจะถูกทำลาย หรือที่เรียกว่าเหงือกร่น จากนั้นคอฟันจะค่อย ๆ สึกเป็นรูปลิ่ม

          สัญญาณที่เตือนว่าคอฟันสึกคือ อาการเสียวฟัน เพราะเมื่อฟันสึกไปจนถึงชั้นของ "เนื้อฟัน" ที่มีเสันประสาทมาเลี้ยงแล้ว ถ้ามีอะไรมาสัมผัสเนื้อฟันบริเวณนั้น เช่น ขนแปรงไปเขี่ย หรือสัมผัสกับน้ำเย็น ก็จะมีอาการเสียวฟันได้

          แนะนำให้ใช้แปรงสีฟันขนแปรงอ่อนนุ่ม (ให้อ่านที่ฉลากของแปรงสีฟัน เพราะกฎหมายบังคับให้ระบุว่า ขนแปรงอ่อนแข็งแค่ไหน) ถ้าใช้แล้วไม่ชอบ รู้สึกว่าแปรงแล้วฟันไม่สะอาด อนุโลมให้ใช้แปรงสีฟันขนแปรงแข็งปานกลางได้ แต่ต้องแปรงฟันด้วยแรงที่พอเหมาะ อย่าแปรงแรงจนเกินไป


5. จำเป็นหรือไม่ที่ต้องแปรงลิ้นหลังแปรงฟันทุกวัน

          การแปรงลิ้นมีเป้าหมายในเพี่อกำจัดเชื้อโรคบนลิ้น ซึ่งถ้ามีเชื้อโรคอยู่บนหลังลิ้นมาก ๆ ก็จะสังเกตเห็นได้เป็นฝ้าขาวหรือฝ้าเหลือง บนหลังลิ้นค่อนไปทางโคนลิ้น

          การมีฝ้าขาวบนลิ้นเป็นสาเหตุหลักในการทำให้เกิดกลิ่นปาก ดังนั้น การแปรงลิ้นจะทำให้ลดกลิ่นปากได้

          โดยทั่วไปจะแนะนำให้แปรงลิ้นเพียงวันละครั้ง แปรงให้ลึกถึงโคนลิ้น แปรงเบา ๆ จากโคนลิ้นมาที่ปลายลิ้น ถ้ารู้สึกจะอาเจียนแนะนำให้แปรงลิ้นก่อน การแปรงฟันและแปรงโดยไม่ใช้ยาสีฟัน ไม่ควรแปรงแรง เพราะถ้าแปรงลิ้นแรง จะทำให้มีการถลอกของลิ้นแบบเล็ก ๆ ที่เรามองไม่เห็น การมีเลือดออกน้อย ๆ แบบนี้จะกลับทำให้กลิ่นปากมากขึ้น

          ส่วนคนที่ส่องกระจกดูแล้วไม่มีฝ้าบนลิ้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแปรงลิ้นแต่อย่างใด ให้แปรงฟันอย่างเดียวก็เพียงพอ 

          จากงานวิจัยพบว่า คนที่มีกลิ่นปาก และมีฝ้าบนลิ้นเท่านั้นที่ควรจะแปรงลิ้น ก่อนการแปรงฟันวันละ 1 ครั้ง และเมื่อฝ้าบนลิ้นหายไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแปรงลิ้นอีก


แปรงสีฟัน


6. จริงหรือที่ต้องเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 เดือน

          คำตอบคือ ไม่จริง เพราะเกณฑ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนแปรงสีฟัน คือ จะเปลี่ยนแปรงสีฟันเมื่อขนแปรงบาน เนื่องจากขนแปรงที่บานจะกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ได้ไม่ดี ทำให้แปรงฟันได้ไม่สะอาด นอกจากนี้ขนแปรงที่บานอาจจะบาดเหงือกด้วยซ้ำไป

          ถ้าใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรงอ่อนนุ่มและแปรงฟันไม่แรงจนเกินไป เมื่อใช้งานไปเรื่อย ๆ แปรงก็จะบานเสื่อมคุณภาพ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนพอดี ดังนั้นจึงเกิดความเข้าใจที่ว่าควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 เดือน

          ใครที่ใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรงแข็งปานกลาง ขนแปรงก็อาจจะบานช้า อาจใช้งานได้ 5-6 เดือนจึงจะบาน ในทางกลับกันถ้าใช้แปรงขนแข็งปานกลาง แล้วขนแปรงบานใน 3 เดือนก็แสดงว่าแปรงฟันแรงเกินไป


7. ถ้าแปรงฟันแล้วเลือดออก ต้องพยายามอย่าแปรงให้เลือดออกอีก

          เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนทั่วไปเมื่อแปรงฟันแล้วมีเลือดออกก็จะไม่กล้าแปรงฟัน หรือพยายามไม่ให้ขนแปรงสีฟันไปโดนเหงือก เพราะกลัวว่าจะมีเลือดออกมากขึ้น

          ในความเป็นจริงแล้วการที่มีเลือดออกเวลาแปรงฟันเกิดมาจากเหงือกบริเวณนั้นมีการอักเสบ เนื่องจากมีแผ่นคราบจุลินทรีย์เกาะอยู่ที่คอฟันใกล้กับเหงือกอยู่เป็นระยะเวลานาน ๆ คราบจุลินทรีย์เหล่านี้จะปล่อยสารพิษที่ทำให้เหงือกอักเสบ ถ้าอยากให้เหงือกหายเป็นปกติ ไม่มีอาการอักเสบ ก็ต้องกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกให้หมด

          โดยทั่วไปถ้าแปรงฟันแล้วเลือดออกบริเวณใด ให้แปรงฟันบริเวณนั้นให้มาก ๆ แปรงให้ถึงคอฟัน และให้รู้สึกว่าขนแปรงสัมผัสกับเหงือก ใน 1-2 วันแรกจะมีเลือดออกเวลาแปรงฟันแต่จะน้อยลงเรื่อย ๆ และเมื่อเข้าสู่วันที่ 3 จะมีไม่เลือดออกเวลาที่แปรงฟันอีกต่อไป เพราะเหงือกบริเวณนั้นเริ่มหายเป็นปกติแล้ว

          ถ้ามีเลือดออกเวลาแปรงฟันแล้วเราหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้ขนแปรงสีฟันโดนเหงือก ก็จะทำให้แผ่นคราบจุลินทรีย์ที่อยู่ติดกับขอบเหงือกยังคงอยู่ เหงือกก็จะอักเสบอยู่ตลอดไป เพียงแต่ไม่มีเลือดออกให้เห็นเพราะไม่มีขนแปรงไปสัมผัสถูก ดังนั้น อาการเลือดออกเวลาแปรงฟันเป็นสัญญาณเตือนว่า เราแปรงฟันไม่สะอาดเพียงพอถึงขอบเหงือก






ขอขอบคุณข้อมูลจาก


 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องของการแปรงฟัน เข้าใจกันแค่ไหน อัปเดตล่าสุด 28 มกราคม 2559 เวลา 14:43:35 48,318 อ่าน
TOP
x close