สำลักอาหาร อาหารติดคอทำไงดี ปฐมพยาบาลให้ถูกวิธี มีสิทธิ์รอด 100%

          หากสำลักอาหารควรต้องปฐมพยาบาลตัวเองยังไง หรือไปเจอใครอาหารติดคอ อาหารเข้าหลอดลมจะช่วยเขาให้รอดชีวิตยังไงดี เรามีวิธีที่ถูกต้องมาบอก

อาหารเข้าหลอดลม

          การสำลักอาหาร หากเกิดขึ้นมาก็อันตรายทุกเคสนะคะ โดยเฉพาะหากอาหารติดคอแล้วไปอุดกั้นหลอดลมจนหายใจไม่ออก ก็เสี่ยงเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที ดังนั้น ก่อนเหตุการณ์น่าสลดจะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม เรามาเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาล ไม่ว่าจะสำลักอาหารเอง หรือช่วยคนสำลักอาหาร เราควรช่วยเขายังไงดี ลองมาดูกันเลย

สำลักอาหาร ปฐมพยาบาลตัวเองอย่างไร


          ในกรณีที่เรากินอาหารอยู่ดี ๆ แต่ดันเกิดสำลักอาหารขึ้นมา แล้วก็อยู่คนเดียวหาคนช่วยไม่ได้ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ตัวเองได้ มีดังนี้

          1. กำมือหนึ่งข้างนำมาวางบริเวณเหนือสะดือ แล้วใช้มือข้างที่เหลือนำมากุมมือที่กำไว้

          2. ออกแรงกระทุ้งในแนวงัดขึ้นแรง ๆ เพื่อให้เกิดแรงดันจนร่างกายดันสิ่งแปลกปลอมที่หลุดอยู่ออกมา

          3. ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา

          4. ควรออกไปหาคนช่วยเหลือเพื่อให้เขาปฐมพยาบาล หรือโทร. เรียกหน่วยกู้ชีพ

          * ในกรณีตั้งครรภ์หรือเป็นคนอ้วน ให้เปลี่ยนตำแหน่งดันสิ่งแปลกปลอมจากเหนือลิ้นปี่มาที่หน้าอกแทน โดยวางมือไว้บริเวณร่องอก แล้วออกแรงกระทุ้งแรง ๆ เช่นกัน

อาหารเข้าหลอดลม

          นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว เพจ Drama-addict ซึ่งแอดมินเพจเป็นคุณหมอ ก็ได้โพสต์วิธีปฐมพยาบาลในกรณีสำลักอาหารและอยู่คนเดียว โดยเป็นวิธีปฐมพยาบาลที่ใช้ขอบโต๊ะ ขอบพนักเก้าอี้ หรือขอบวัสดุที่แข็งแรงมั่นคง เป็นตัวช่วย โดยวิธีปฐมพยาบาลดังกล่าวก็ตามนี้เลย

          1. พาตัวเองไปใกล้ ๆ ขอบโต๊ะหรือขอบพนักเก้าอี้

          2. ยืนให้ตำแหน่งใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือชนกับขอบโต๊ะหรือขอบแข็ง ๆ

          3. ออกแรงกระแทกตัวเองกับขอบโต๊ะหรือขอบเก้าอี้แรง ๆ เพื่อให้เกิดแรงดันที่กะบังลม จนร่างกายดันเอาอาหารที่อุดกั้นหลอดลมอยู่ออกมา

อาหารเข้าหลอดลม

วิธีช่วยเหลือผู้ที่มีอาการสำลักหรืออาหารติดคอ


          หากพบเห็นคนกุมมือที่คอ พูดไม่ได้ และเหมือนหายใจไม่ออก โดยเฉพาะหากเจอในร้านอาหาร หรือเห็นได้ชัดว่าเขาเพิ่งกินอาหารลงไปแล้วเกิดอาการสำลัก ให้รีบโทร. แจ้งหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน หรือ 1669 และสังเกตดูอาการของผู้ป่วย ถ้ามีอาการทุรนทุราย ไม่มีเสียง หายใจไม่ได้ แสดงว่าสิ่งแปลกปลอมนั้นอุดกั้นหลอดลม 100% ซึ่งจะมีเวลาช่วยเหลือภายใน 4 นาที ก่อนที่สมองจะขาดออกซิเจน แต่ถ้ายังมีเสียงอยู่บ้าง แสดงว่าสิ่งแปลกปลอมยังไม่อุดกั้น 100% ยังพอมีเวลาปฐมพยาบาล

          ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือสามารถใช้วิธีเฮมลิก แมนูเวอร์ (Heimlich Maneuver) เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้ดังนี้

          1. พยายามตั้งสติและถามเขาก่อนว่าสำลักอาหารใช่ไหม 

          2. หากเขาพยักหน้าหรือทำหน้านิ่ง ๆ อึ้ง ๆ ให้รีบไปประกบหลัง แล้วเอามือทั้งสองข้างโอบรอบเอวเขาไว้ 

          3. กำมือหนึ่งข้าง (เก็บนิ้วโป้ง) หันด้านนิ้วโป้งวางไว้เหนือสะดือ (บริเวณใต้ลิ้นปี่) แล้วเอามือที่เหลือมากำมือที่กุมไว้อีกที

อาหารเข้าหลอดลม

          4. ออกแรงกระทุ้ง ในลักษณะกระชากสองมือเข้าหาตัวเองแนวเฉียงขึ้นด้วยความเร็วและแรง ทำหลาย ๆ ครั้ง ให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา

          5. หากกระทุ้งที่ท้องแล้วไม่ได้ผล ให้โน้มตัวผู้ป่วยลง โดยให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าระดับหัวไหล่

          6. ออกแรงตบสะบักของผู้ป่วยด้วยสันมือประมาณ 5 ครั้ง สลับกับกระทุ้งที่ท้องจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา

อาหารเข้าหลอดลม

          7. ในกรณีที่สิ่งแปลกปลอมหรืออาหารหลุดออกจากหลอดลมแล้ว ผู้ป่วยหายใจได้พอสมควร แต่เรายังไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมที่ติดหลอดลมผู้ป่วย อย่าเอามือล้วงคอผู้ป่วยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปลึกมากขึ้น แต่พยายามทำให้เขาไอเอาเศษอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมออกมา

          8.  ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้รีบทำการ CPR โดยด่วน

          - วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง ช่วยคนหัวใจหยุดเต้น-หยุดหายใจ ให้รอดชีวิต


          หมายเหตุ : การช่วยเหลือด้วยวิธีเฮมลิก แมนูเวอร์ (Heimlich Maneuver) ควรใช้ในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจ 100% และผู้ช่วยเหลือควรมีความชำนาญพอสมควร เพราะหากช่วยไม่ถูกวิธีจะยิ่งทำให้อาหารอุดกั้นหลอดลมมากขึ้น ดังนั้น ถ้าพบเห็นคนที่มีอาหารติดคอ แต่ยังพอมีสติ หายใจเองได้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้คุณหมอช่วยเหลือ






          ในการช่วยเหลือคนสำลักอาหาร ควรกระทำอย่างรวดเร็วนะคะ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ได้ เนื่องจากมีสิ่งอุดกั้นหลอดลม ที่สำคัญตัวเราเองก็ควรมีสติ และพยายามโทร. แจ้งหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินให้เร็วที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม ระหว่างกินอาหารเราควรเคี้ยวให้ละเอียด ไม่ควรกินเร็วเกินไป มีสติในการกิน และพูดคุยให้น้อยหรือไม่พูดคุยกันระหว่างกิน ก็จะช่วยป้องกันภาวะสำลักอาหารได้


บทความที่เกี่ยวข้องกับการปฐมพยาบาล



* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 7 มิถุนายน 2565


ขอบคุณข้อมูลจาก : ชัวร์ก่อนแชร์, เพจ Drama-addict, เพจ หมอแล็บแพนด้า, สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สำลักอาหาร อาหารติดคอทำไงดี ปฐมพยาบาลให้ถูกวิธี มีสิทธิ์รอด 100% อัปเดตล่าสุด 7 มิถุนายน 2565 เวลา 09:41:01 165,648 อ่าน
TOP
x close