x close

Brownout Syndrome อาการของคนหมดใจ Passion หดหาย ไม่อยากทำงาน หรือเรากำลังเป็นอยู่

          Brownout Syndrome อีกหนึ่งภาวะทางสุขภาพจิตของวัยทำงาน ที่ทำให้รู้สึกหมดแพสชั่นกับงาน หมดใจ และอาจเป็นสาเหตุที่พาสุขภาพกายป่วยง่ายไปด้วย
Brownout Syndrome

          วัยทำงานอาจพอจะรู้จักกับภาวะ Burnout Syndrome หรืออาการหมดไฟ ทว่าหลังจากผ่านช่วงโควิด 19 มาก็มีอีกภาวะหนึ่งที่อาการรุนแรงกว่า นั่นคือ Brownout Syndrome หรือภาวะหมดใจในการทำงาน หมด Passion และทำให้คนลาออกจากงานกันเป็นว่าเล่น และมันไม่ได้จบแค่การว่างงานด้วยนะคะ เพราะหากปล่อยให้ตัวเอง Brownout เรื่อย ๆ อาจเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิตลามไปถึงปัญหาสุขภาพกายได้มากกว่าที่คิดเลยทีเดียว

Brownout Syndrome คืออะไร เกิดจากอะไร

Brownout Syndrome

          Brownout Syndrome คือ ภาวะทางสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในคนวัยทำงาน โดยคำว่า Brownout เป็นศัพท์ที่ยืมมาจากวงการไฟฟ้า ที่เมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักเกินไปก็จะถึงจุดที่ไฟตก (Brownout) ทำงานต่อไปไม่ไหว จึงนำมาอธิบายกับคนที่มีภาวะหมดใจ หมด Passion จนไม่อยากไปต่อกับการทำงานนั่นเอง และจะบอกว่าภาวะนี้อาการหนักกว่า Burnout Syndrome ด้วยนะคะ

Brownout Syndrome สาเหตุเกิดจากอะไร

          สาเหตุที่ทำให้คนทำงานเกิดภาวะ Brownout Syndrome เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • ความเครียดสะสม
  • การทำงานหนักเกินไปจนไม่มี Work life Balance
  • สภาพแวดล้อมในองค์กรไม่ดีต่อใจ เข้มงวดจนเกินไป ไม่ยืดหยุ่น
  • การมีปัญหากับหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงาน จนบรรยากาศในการทำงานเสียไป
  • การได้รับค่าตอบแทนหรือการโปรโมตที่ไม่เหมาะสมกับแรงกายแรงใจที่ทุ่มเทไป
  • องค์กรไม่มีทิศทางการทำงานที่แน่ชัด ทำให้พนักงานไม่ทราบว่าทำงานไปเพื่ออะไรในแต่ละวัน

Brownout Syndrome ต่างจาก

Burnout Syndrome อย่างไร

Brownout Syndrome

          แม้ว่าจะเป็นภาวะทางสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในคนวัยทำงานเหมือนกัน แต่ Brownout Syndrome จะแตกต่างจาก Burnout Syndrome ตรงที่จะไม่ใช่แค่การหมดไฟในการทำงานที่แสดงออกเป็นอาการทำงานได้น้อยลง หรือมีอารมณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเท่านั้น แต่ Brownout จะเป็นฟีลที่หมดอาลัยตายอยากกับงานแบบหมดใจไปเลย แม้ได้พักผ่อนก็อาจจะยังไม่หาย

          นอกจากนี้ ส่วนใหญ่คนที่มีภาวะนี้มักไม่รู้ตัวว่าเป็น รวมไปถึงในองค์กรก็อาจมองไม่ออกด้วยว่าพนักงาน Brownout เพราะเขายังสามารถทำงานได้ตามปกติ อาจจะมีผลงานโดดเด่นด้วยซ้ำ เพียงแต่ข้างในก็อาจหมดพลังลงไปเรื่อย ๆ หรืออาจหลบเลี่ยงงานบ่อยขึ้น ลาป่วยบ่อย เพราะ Brownout Syndrome อาจก่อปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยเนื้อตัว ออฟฟิศซินโดรมจากภาวะเครียดสะสม หรืออยู่ดี ๆ ก็อาจจะลาออกไปเลยในที่สุด

Brownout Syndrome อาการเป็นอย่างไร

Brownout Syndrome

          เช็กกันหน่อยว่าคุณมีอาการเหล่านี้ไหม ถ้าใช่หลาย ๆ ข้อ นี่แหละอาการ Brownout Syndrome

  • หมด Passion ในการทำงาน ความกระตือรือร้นในการทำงานลดลง
  • รู้สึกว่าต้องทำงานหนักขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพ หรือต้องใช้ความพยายามในการทำงานมากกว่าแต่ก่อน
  • ไม่อยากทำงานเกินเวลา ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนอาจไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลย
  • ประสิทธิภาพในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของการทำงานลดลง รวมไปถึงความสนใจในอาชีพที่ทำอยู่ก็อาจหมดลงไปด้วยเช่นกัน
  • รู้สึกกดดันจากการทำงาน รู้สึกโดนจ้องจับผิด
  • มีพฤติกรรมปลีกตัวออกจากสังคมเพื่อนร่วมงาน
  • เริ่มเฉยชากับคนรอบกาย ซึมลง ป่วยบ่อย เพราะใส่ใจตัวเองน้อยลง
  • ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทน้อยลง
  • หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียกับเรื่องเล็ก ๆ ทั้งที่ไม่เคยเป็น หรือในบางคนอาจมีปัญหาสุขภาพ เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำลง เป็นหวัดง่าย เป็นภูมิแพ้ ปวดเมื่อยตามตัว เป็นออฟฟิศซินโดรม 

Brownout Syndrome

แก้อาการไม่อยากทำงานอย่างไรได้บ้าง

          หากอยากหลุดพ้นจากภาวะหมดใจในการทำงาน เอาตัวเองที่เคยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกลับคืนมา ก่อนตัดสินใจยื่นใบลาออก ลองปรับตัวตามนี้ดู

  • พูดคุยกับหัวหน้างานถึงสาเหตุที่ทำให้รู้สึก Brownout เช่น การขึ้นเงินเดือน การปรับตำแหน่งงาน หรือภาระงานในความรับผิดชอบที่คุณอยากให้องค์กรปรับให้เหมาะสมกว่านี้ หรือลองหาทางออกร่วมกัน
  • พูดคุยหรือร่วมกิจกรรมกับเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น
  • อาจหาโอกาสลาพักใจตัวเองสักพัก เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
  • พยายามจัดเวลาในชีวิตให้ดี ให้มี Work life Balance ที่เหมาะสม
  • หางานใหม่ เผื่อจะเจอ Passion ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้
  • หากยังไม่ดีขึ้น ลองปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อหาเป้าหมายชีวิต
          อย่างไรก็ตาม ภาวะ Brownout Syndrome ต้องแก้ที่องค์กรหรือหัวหน้างานด้วย ดังนั้นถ้ายังอยากไปต่อกับองค์กรเดิม ลองพิจารณาให้ดีว่าสาเหตุของการ Brownout คืออะไร แล้วลองหาวิธีปรับจูนเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุข

บทความที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต

ขอบคุณข้อมูลจาก : Thai PBS, jobs DB, bia.ro
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Brownout Syndrome อาการของคนหมดใจ Passion หดหาย ไม่อยากทำงาน หรือเรากำลังเป็นอยู่ อัปเดตล่าสุด 30 มิถุนายน 2566 เวลา 14:57:40 8,674 อ่าน
TOP