รู้สึกเนือย ๆ ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไร อาจเข้าข่ายภาวะ Languishing ที่หลายคนเป็นอยู่

          อย่าเพิ่งกังวลว่าอาการเบื่อ ๆ เนือย ๆ ไร้ชีวิตชีวาที่เป็นอยู่จะเสี่ยงซึมเศร้าไปแล้ว เพราะเราอาจแค่รู้สึกว่างเปล่า ที่ภาวะทางจิตเรียกว่า Languishing อาการสุดฮิตของคนยุคโควิด 19
          เราใช้ชีวิตมูฟออนเป็นวงกลมกับโควิดมานานพอสมควร จนหลายคนบ่นว่าชีวิตหายไป ไม่ได้ไปเที่ยว ไม่ได้ออกไปไหนมาไหนอย่างสบายใจมาก็นาน เพื่อนหรือญาติ ๆ ก็ได้เจอกันน้อยครั้งมาก และพอใช้ชีวิตอยู่กับตัวเองมากขึ้นทุกวัน ก็กลับทำให้รู้สึกยิ่งเนือย ชีวิตดูไม่มีจุดมุ่งหมายอะไร แรงจูงใจที่อยากไปนั่นไปนี่ ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ค่อย ๆ เลือนหาย จนกระทั่งเริ่มกังวลใจว่านี่อาจเป็นสัญญาณของอาการซึมเศร้าหรือไม่ แต่ช้าก่อนอย่าเพิ่งตื่นตูมไป เพราะภาวะเนือย ๆ อย่างนี้มีชื่อเรียกว่า Languishing และเชื่อไหมว่าหลายเป็นคนเป็นอยู่
ภาวะ Languishing คืออะไร
ภาวะ Languishing

          ภาวะ Languishing หมายถึงภาวะว่างเปล่า อารมณ์ที่รู้สึกเนือย ๆ ไม่อยากทำอะไรเป็นพิเศษ รู้สึกขาดแรงจูงใจ ไร้จุดมุ่งหมายในชีวิต เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และภาวะนี้เหมือนจะเป็นอารมณ์ของปี 2021 หรือในยุคที่ทั่วโลกเจอวิกฤตโควิด 19 ด้วย
ภาวะ  Languishing สาเหตุเกิดจากอะไร

          ภาวะ Languishing ถูกนิยามขึ้นมาตั้งแต่ปี 1995 และการศึกษาจากสหราชอาณาจักรก็พบว่า Languishing จะพบมากในวัย 25-74 ปี โดยสาเหตุของภาวะ Languishing ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาก็อธิบายว่า เกิดจากอารมณ์เหนื่อยหน่ายกับการพยายามทำอะไรบางอย่างมานาน ๆ ที่ยิ่งทำก็ยิ่งพบว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เช่น แรก ๆ ที่มีโรคระบาด ทุกคนตื่นตัว เรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ แต่ดูแลตัวเองก็แล้ว ทำทุกอย่างก็แล้ว ทว่าก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไร ความรู้สึกเหนื่อยหน่าย ไร้จุดมุ่งหมายที่ว่าก็จะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เรื้อรัง จนเรารู้สึกว่างเปล่า และเฉยชากับทุกสิ่งทุกอย่างในที่สุด

          อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ยังพยายามศึกษาสาเหตุของภาวะ Languishing อยู่ตลอด เพื่อจะหาวิธีแก้ไขหรือวิธีรักษาได้อย่างตรงจุด

ภาวะ Languishing อาการเป็นยังไง
ภาวะ Languishing

          ความเบื่อ เนือย ๆ ที่เป็นอยู่อาจทำให้หลายคนคิดไปไกลว่าตัวเองมีภาวะซึมเศร้า ทว่าหากคุณมีเพียงอาการประมาณนี้ อาจเป็นแค่ภาวะ Languishing ก็ได้

     1. รู้สึกเนือย ๆ รู้สึกเหนื่อยแต่ไม่หมดไฟ เพราะยังรู้สึกอยากทำอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่แค่ยังไม่มีกะจิตกะใจจะทำเท่านั้น

     2. รู้สึกไม่สนุกเหมือนก่อน แต่ไม่ได้รู้สึกเศร้า หรือซึมลึก

     3. รู้สึกเหมือนชีวิตไม่มีจุดมุ่งหมาย แต่ไม่ถึงกับหมดหวัง

     4. ทำงานหรือเรียนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างที่เคย แต่ไม่ถึงกับทำงานไม่ได้ หรือเข้าเรียนไม่ได้

          อย่างไรก็ตาม ภาวะ Languishing ยังไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต หรือโรคจิตเวช แต่ก็นับเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่น่าเป็นห่วง เพราะหลายคนไม่รู้ตัวเองว่าเป็นภาวะ Languishing อยู่ ซึ่งอาจทำให้ไม่เข้าถึงการแก้ไข รักษา และภาวะ Languishing ก็อาจเพิ่มแนวโน้มการเกิดโรคซึมเศร้าได้ถึง 3 เท่า รวมไปถึงยังเพิ่มความเสี่ยงโรคแพนิก หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ภาวะ Languishing รับมือยังไงดี
ภาวะ Languishing

          หากเช็กอาการแล้วเราน่าจะมีภาวะ Languishing อยู่ ทางผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาก็แนะนะวิธีรักษาในเบื้องต้น ดังนี้

1. พยายามทำกิจกรรมที่สนุกท้าทาย

          เช่น ลองดูหนังหรือซีรี่ส์แนวใหม่ที่ไม่เคยเปิดใจดู ลองเรียนภาษาที่ 3 หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ให้ตัวเอง

2. ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในชีวิตและพิชิตให้ได้

           เช่น ลองเล่นเกมที่ต้องผ่านด่านต่าง ๆ เพื่อให้ได้เล่นต่อ หรืออาจตั้งเป้าหมายจัดห้องใหม่ เคลียร์ตู้เสื้อผ้าไปบริจาคหรือขาย ตั้งเป้าหมายในการลดน้ำหนัก เป็นต้น
 

7 Day Challenge...คุณกล้าไหม งดกินอาหารพาอ้วนให้ได้ แค่ 7 วัน

3. หาเวลาโฟกัสในสิ่งที่ต้องทำ

          แบ่งเวลาส่วนตัวของตัวเองให้ได้โฟกัสงาน โฟกัสการเรียน หรือทำกิจกรรมที่ชอบโดยไม่มีคนมาขัดจังหวะ เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้ชีวิตในแต่ละวัน

          หลายคนน่าจะมีอาการเนือย ๆ ติดตัวมานาน ดังนั้นหากรู้สึกเบื่อหน่าย ทำอะไรก็ไม่สนุกเหมือนที่เคย ลองปรับการใช้ชีวิตและหาความสุขของตัวเองให้เจอกันนะคะ หรือถ้าปรับแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น อยากลองปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ก็มีหลายช่องทางให้ติดต่อ
 

รวมศูนย์ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เครียด กังวลใจ พบจิตแพทย์ที่ไหนดี

บทความที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต

ขอบคุณข้อมูลจาก
nytimes.com
jstor.org
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้สึกเนือย ๆ ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไร อาจเข้าข่ายภาวะ Languishing ที่หลายคนเป็นอยู่ อัปเดตล่าสุด 23 สิงหาคม 2564 เวลา 14:00:57 68,136 อ่าน
TOP
x close