โพรไบโอติกไม่ควรกินคู่กับอะไร หรือควรกินโพรไบโอติกตอนไหนให้ร่างกายได้ประโยชน์มากที่สุด
โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ชนิดดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน ทั้งช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ ช่วยในการย่อยอาหาร เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในจุดซ่อนเร้น ด้วยเหตุนี้โพรไบโอติกจึงเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งมักจะเลือกกินโพรไบโอติกในรูปอาหารเสริมกัน แต่ทราบไหมคะว่าเราควรกินโพรไบโอติกตอนไหนดีที่สุด หรือโพรไบโอติกไม่ควรกินคู่กับอาหารประเภทไหนบ้าง
โพรไบโอติกไม่ควรกินกับอะไร
โพรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์มีชีวิตที่ถูกลดทอนประสิทธิภาพได้ง่าย หากเจอกับสภาพแวดล้อมหรือปัจจัยที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานร่วมกับอาหารต่อไปนี้
1. เครื่องดื่มหรืออาหารที่มีอุณหภูมิสูง
เช่น น้ำร้อน เครื่องดื่มร้อน ข้าวต้ม หรือเมนูน้ำ ๆ ที่อุ่น ๆ หรือค่อนไปทางร้อน เพราะความร้อนอาจทำลายโพรไบโอติกได้ ดังนั้น จึงควรกินโพรไบโอติกกับน้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำเย็น เพื่อคงประสิทธิภาพโพรไบโอติกไว้ให้ได้มากที่สุด
2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์อาจทำลายโพรไบโอติกได้ จึงไม่ควรกินโพรไบโอติกร่วมกับเครื่องดื่มหรือยาที่มีแอลกอฮอล์ รวมไปถึงอาหารที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ เช่น ข้าวหมาก เนื้อหมักไวน์ เนื้อหมักเบียร์ เป็นต้น
3. เครื่องดื่มและอาหารที่ผสมน้ำตาลเทียม
สารให้ความหวานอย่างแอสปาแตม, ซอร์บิทอล, ซูคราโลส ซึ่งมักจะอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าปราศจากน้ำตาล รวมไปถึงเครื่องดื่ม Zero ต่าง ๆ ก็ไม่ควรรับประทานร่วมกับอาหารเสริมโพรไบโอติก เพราะน้ำตาลเทียมดังกล่าวมีส่วนเพิ่มจำนวนแบคทีเรียชนิดไม่ดีให้ลำไส้ หากกินโพรไบโอติกเข้าไปตอนนี้ก็อาจเจอภาระหนักจนทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร
4. อาหารแปรรูป
เช่น ไส้กรอก แหนม กุนเชียง หมูยอ ที่อาจเป็นสาเหตุให้แบคทีเรียในลำไส้เสียสมดุล โดยไปลดจำนวนแบคทีเรียชนิดดี การรับประทานโพรไบโอติกไปพร้อมกับอาหารเหล่านี้ก็อาจได้ผลลดน้อยลงไปด้วย
5. ยาฆ่าเชื้อ
เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อรา หรือยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ เช่น โคลไตรมาโซล (Klotrimazol/Clotrimazole), คีโตโคนาโซล (Ketokonazol/Ketoconazole), กริซีโอฟูลวิน (Grisofunvin/Griseofulvin), นิสแตติน (nistatin/nystatin) เพราะยาเหล่านี้จะกำจัดทั้งแบคทีเรียชนิดไม่ดีและแบคทีเรียชนิดดี ดังนั้น การกินโพรไบโอติกพร้อมกับยาฆ่าเชื้อจึงอาจจะเรียกได้ว่าสูญเปล่า อย่างไรก็ดี หากจำเป็นต้องกินทั้งโพรไบโอติกและยาฆ่าเชื้อ แนะนำให้เว้นระยะห่างประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยอาจจะกินโพรไบโอติกก่อน หรือกินยาก่อนโพรไบโอติกก็ได้
โพรไบโอติกกินกับยาได้ไหม
ถ้าเป็นยาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ยารักษาโรคประจำตัว ยารักษาเบาหวาน ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาแก้ปวด ยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะ ฯลฯ ไม่แนะนำให้กินพร้อมกับโพรไบโอติกเช่นกันค่ะ เพราะโพรไบโอติกบางชนิดอาจส่งผลต่อการดูดซึมยาได้ และในกรณีที่มีโรคประจำตัวที่ต้องกินยาต่อเนื่อง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้งหากต้องการกินอาหารเสริมเพิ่มเติม
โพรไบโอติกกินกับกาแฟได้ไหม
ประเด็นนี้หลายคนสงสัยว่าโพรไบโอติกกับกาแฟกินพร้อมกันได้ไหม แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าคาเฟอีนส่งผลต่อโพรไบโอติกอย่างไร ทว่าหากปกติดื่มกาแฟร้อนเป็นประจำ อุณหภูมิจากน้ำร้อนก็อาจทำลายโพรไบโอติกได้ รวมทั้งน้ำตาลที่ใส่ในกาแฟก็อาจเพิ่มแบคทีเรียชนิดไม่ดีให้มากขึ้นได้เช่นกัน
ฉะนั้นเพื่อความสบายใจว่าร่างกายได้รับโพรไบโอติกอย่างเต็มที่จริง ๆ แนะนำให้กินห่างกันสัก 2-3 ชั่วโมงจะดีกว่า และถ้าเป็นไปได้ควรลดปริมาณน้ำตาลในกาแฟลงมาหน่อยค่ะ
โพรไบโอติกกินตอนไหนดี
โพรไบโอติกควรกินช่วงท้องว่าง เช่น ก่อนอาหาร ก่อนนอน เพราะเป็นช่วงที่ความเป็นกรดในกระเพาะอาหารต่ำ โอกาสที่โพรไบโอติกจะถูกทำลายจากน้ำย่อยจึงลดลง ทว่าในปัจจุบันโพรไบโอติกในรูปอาหารเสริมหลายยี่ห้อก็มีนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันโพรไบโอติกจากกรดในกระเพาะอาหาร ให้มีความสามารถในการทนกรดในกระเพาะอาหารได้ดีขึ้น จึงสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ทั้งนี้ ควรอ่านคำแนะนำบนฉลากของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกแต่ละยี่ห้อ แล้วกินตามวิธีที่ระบุไว้จะดีที่สุดค่ะ
ถ้าต้องการประโยชน์จากโพรไบโอติกเน้น ๆ ควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ไปก่อน แต่หากมีเหตุจำเป็นให้ต้องกินอาหารข้างต้นร่วมกับโพรไบโอติกจริง ๆ ก็เว้นระยะห่างประมาณ 2-3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้องกับโพรไบโอติก
- โพรไบโอติกแบบเม็ด-แคปซูล ยี่ห้อไหนดี พกสะดวก กินง่าย ปรับสมดุลจุลินทรีย์ดีในลำไส้
- โพรไบโอติกแบบผง ยี่ห้อไหนดี เพิ่มจุลินทรีย์ดีในลำไส้ ช่วยในการขับถ่าย
- โยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกยี่ห้อไหนดี ไขมันต่ำ แถมช่วยในการขับถ่าย
- คอมบูชา (Kombucha) ประโยชน์ดียังไง กินตอนไหนดี
- แจกสูตรขิงดอง พร้อมประโยชน์ของขิงดองที่อยากให้ลองทำกิน