บริจาคเลือด ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง บริจาคหลายครั้งได้รักษาฟรีจริงไหม ?

           บริจาคเลือดได้สิทธิอะไรบ้าง รักษาพยาบาลฟรีจริงไหม หรือต้องบริจาคกี่ครั้งถึงได้ส่วนลดค่ารักษาพยาบาล
บริจาคเลือดได้สิทธิอะไรบ้าง 2567

          บริจาคเลือด ไม่ใช่เพียงแค่การให้เลือด แต่เป็นการให้โอกาสมีชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วยที่ต้องการเลือดเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิประโยชน์ของการบริจาคเลือด ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน มาดูกันว่าการบริจาคเลือดครั้งหนึ่ง จะมอบอะไรให้เราบ้าง และถ้าบริจาคหลายครั้งจะได้รักษาพยาบาลฟรีจริงไหม

          นอกจากหยดเลือดของเราจะช่วยต่อชีวิตคนอื่นได้แล้ว เรายังได้สุขภาพดีกลับมาอีกด้วย

บริจาคเลือดดีต่อสุขภาพหลายอย่าง

ข้อดีของการบริจาคเลือด

           การบริจาคเลือดนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด นอกจากหยดเลือดของเราจะช่วยต่อชีวิตคนอื่นได้แล้ว เรายังได้สุขภาพดีกลับมาอีกด้วย อาทิ

ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่

          โดยทั่วไปในการบริจาคโลหิต 1 ครั้ง จะได้เลือดครั้งละ 350-450 ซี.ซี. คิดเป็นประมาณ 10% ของปริมาณโลหิตทั้งหมดในร่างกาย จึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงชุดใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิมขึ้นมาทดแทนชุดเก่า ทำให้เม็ดเลือดแดงลำเลียงออกซิเจนได้เต็มที่ ระบบไหลเวียนโลหิตจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ลดความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

           การบริจาคเลือดเป็นประจำจะช่วยลดระดับธาตุเหล็กในร่างกาย ซึ่งการมีธาตุเหล็กมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งการเจาะเลือดออกเป็นประจำยังช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดแดงตีบ

ผิวพรรณดูเปล่งปลั่ง

           เนื่องจากโลหิตในร่างกายไหลเวียนได้ดีขึ้น เม็ดเลือดแดงก็จะนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงผิวหนังด้วย ทำให้ผิวก็จะได้รับออกซิเจนและสารอาหารอย่างเพียงพอ จึงดูสดใส เปล่งปลั่ง

ได้ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

           ในการบริจาคเลือดแต่ละครั้ง ผู้บริจาคจะได้ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจภาวะโลหิตจาง อีกทั้งยังมีการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ซี ตรวจหาเชื้อซิฟิลิสและเอดส์ จึงเหมือนได้ตรวจสุขภาพไปในตัว

ทราบหมู่เลือดของตัวเอง

           การบริจาคโลหิตทำให้ผู้บริจาคได้ทราบหมู่โลหิตของตนเองในระบบ ABO และ Rh ซึ่งในกรณีเป็นกรุ๊ปเลือดที่หาได้ยาก เช่น Rh- จะได้ดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น รวมถึงระมัดระวังตัวจากอุบัติเหตุต่าง ๆ และยังสามารถวางแผนบริจาคโลหิตเพื่อช่วยชีวิตคนที่มีกรุ๊ปเลือดหายากเช่นเดียวกันได้

บริจาคเลือดได้สิทธิอะไรบ้าง
รักษาฟรีจริงไหม

บริจาคเลือดกี่ครั้งรักษาฟรี

           บางคนอาจมีคำถามว่า บริจาคเลือดกี่ครั้งรักษาฟรี ? แต่จริง ๆ แล้วกรณีบริจาคโลหิต ณ สภากาชาดไทย ผู้บริจาคจะได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องค่ารักษาพยาบาลเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ใช่การรักษาฟรีทั้งหมด โดยจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะส่วนเกินจากสิทธิพื้นฐานที่ตัวเองมีอยู่แล้ว เช่น สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรทอง ดังนี้
โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
  • ผู้บริจาคโลหิต 1 ครั้งขึ้นไป : ช่วยเหลือค่าห้องพิเศษ และค่าอาหารพิเศษ ตามสิทธิพื้นฐานที่สามารถเบิกได้ก่อน ส่วนที่เกินสิทธิให้เรียกเก็บ 50%  

  • ผู้บริจาคโลหิต 18 ครั้งขึ้นไป : ช่วยเหลือค่าห้องพิเศษ และค่าอาหารพิเศษ เรียกเก็บ 50% ของอัตราที่กำหนดไว้

โรงพยาบาลในสังกัดสภากาชาดไทย

          ประกอบด้วย 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

  • ผู้บริจาคโลหิต 7 ครั้งขึ้นไป : ถ้าอยู่ห้องพิเศษ ผ่าตัด คลอดบุตร เสีย 50% จากอัตราที่กำหนด ยกเว้นการผ่าตัดด้วยอุปกรณ์พิเศษไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ยังคงต้องชำระค่ารักษาประเภทผู้ป่วยสามัญ

  • ผู้บริจาคโลหิต 24 ครั้งขึ้นไป : ถ้าอยู่ห้องพิเศษ ผ่าตัด คลอดบุตร เสีย 50% จากอัตราที่กำหนด ยกเว้นการผ่าตัดด้วยอุปกรณ์พิเศษไม่สามารถใช้สิทธิได้ โดยผู้ป่วยไม่ต้องชำระค่ารักษาประเภทผู้ป่วยสามัญ
เงื่อนไขการใช้สิทธิ
  1. ต้องใช้สิทธิพื้นฐานของตัวเองก่อน เช่น บัตรทอง บัตรข้าราชการ ประกันสังคม ส่วนเกินของสิทธิที่มี จึงใช้สิทธิส่วนลดผู้บริจาคโลหิตได้
  2. สามารถใช้สิทธิได้เมื่อเป็นผู้ป่วยในเท่านั้น 
  3. ผู้บริจาคโลหิตต้องเป็นคนใช้สิทธิเอง เนื่องจากเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นได้
  4. ผู้ใช้สิทธิต้องมีหนังสือรับรองจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ โดยสามารถนำบัตรประจำตัวผู้บริจาคโลหิตหรือบัตรประจำตัวประชาชนมาขอหนังสือรับรองได้เมื่อรู้วันนอนโรงพยาบาลที่แน่นอนได้ที่

          ​​◆ กทม. : ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภาชาดไทย ชั้น 1 ในวัน-เวลาราชการ

          ​​◆ ต่างจังหวัด : ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ และโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตแห่งชาติ ในวัน-เวลาราชการ

ทั้งนี้ หนังสือรับรองสามารถใช้ลดหย่อนการรักษาพยาบาลได้เป็นครั้ง ๆ ไป

สิทธิประโยชน์ของการบริจาคเลือด สภากาชาดไทย

ภาพจาก : ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

          สำหรับการบริจาคโลหิตกับหน่วยงานอื่น ๆ ก็จะมีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันไป

สิทธิประโยชน์
บริจาคเลือด รพ.ศิริราช

           ผู้บริจาคโลหิตกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ 30 ครั้งขึ้นไป จะได้รับการยกเว้นค่ารักษาพยาบาลเมื่อเป็นผู้ป่วยนอก 15% ของจำนวนเงินที่จ่ายจริง โดยสามารถใช้สิทธิได้ ณ สถานพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช, ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช

เงื่อนไขการใช้สิทธิ

     1. ค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับส่วนลด ได้แก่ ค่าหัตถการ ค่าผ่าตัด ค่าบริการวิสัญญี ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ค่าตรวจทางรังสีวิทยา ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ทั่วไป และค่าบริการอื่น ๆ (อ้างอิงตามรายการที่กรมบัญชีกลางกำหนดให้เบิกได้)

     2. ค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ได้รับส่วนลด คือ การบริการรักษาพยาบาล ณ คลินิกพิเศษ, ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ทั่วไป และค่าบริการอื่น ๆ ที่เบิกไม่ได้ตามรายการของกรมบัญชีกลาง, ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค, การตรวจพิเศษที่จำเป็นต้องส่งไปทำที่อื่นที่ไม่มีบริการในคณะฯ

     3. ผู้บริจาคโลหิตที่ใช้สิทธิข้าราชการได้ส่วนลดส่วนเกินเพดานสิทธิ เฉพาะรายการที่กรมบัญชีกลางกำหนดให้เบิกได้

     4. สิทธิประโยชน์ของผู้บริจาคโลหิตจะเริ่มภายหลังจากการบริจาคโลหิตครบจำนวนครั้งที่กำหนดไว้แล้ว 30 วัน

     5. สิทธิประโยชน์ของผู้บริจาคโลหิตถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว โอนต่อให้บุคคลอื่นไม่ได้

     6. กรณีผู้บริจาคโลหิตมีสิทธิรักษาพยาบาลอื่น ๆ เช่น สิทธิต้นสังกัดจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกันสังคม บัตรทอง ประกันชีวิต ให้พิจารณาใช้สิทธิดังกล่าวก่อน แล้วจึงใช้สิทธิผู้บริจาคโลหิต

          หากใครเคยบริจาคโลหิตกับหน่วยงานหรือโรงพยาบาลอื่น ๆ สามารถสอบถามถึงสิทธิประโยชน์ในด้านการรักษาพยาบาลจากหน่วยงานนั้น ๆ ได้โดยตรง

           การบริจาคเลือดเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการแสดงออกถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความเสียสละต่อสังคม แม้จะกระทำโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน แต่หากวันใดวันหนึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ก็เหมือนกับการได้รับสิ่งตอบแทนความดีเล็ก ๆ น้อย ๆ กลับมาเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้องกับบริจาคเลือด

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย (1), (2), โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บริจาคเลือด ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง บริจาคหลายครั้งได้รักษาฟรีจริงไหม ? โพสต์เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567 เวลา 18:18:24 25,498 อ่าน
TOP
x close