โอ๊ย…ปวดท้อง อาการโรคกระเพาะถามหาหรือเปล่า ?

          โรคกระเพาะอาหาร โรคฮิตของคนในยุคนี้ อาการปวดท้องแบบไหนถึงเข้าข่ายโรคกระเพาะ วินิจฉัยง่าย ๆ ด้วยตัวคุณเอง
โรคกระเพาะอาหาร

          มีปัจจัยมากมายที่ทำให้คนในยุคสมัยนี้กินอาหารไม่ค่อยตรงเวลากันสักเท่าไร เมื่อรู้สึกปวดท้องทางด้านซ้ายหลายคนเลยเข้าใจว่าโดนโรคกระเพาะเล่นงานเข้าให้แล้ว ถ้าอย่างนั้นอย่าให้อาการปวดท้องมัวสับขาหลอก มาเช็กให้ชัดกันไปข้างเลยดีกว่าค่ะว่า อาการโรคกระเพาะจริง ๆ แล้วต้องปวดท้องแบบไหนถึงใช่เป๊ะ

โรคกระเพาะอาหาร เกิดจากอะไร

          โรคนี้จริง ๆ แล้วมีชื่อเต็มว่า โรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคกระเพาะก็มีทั้งสาเหตุด้านร่างกาย อย่างเป็นคนขี้โรคอยู่แล้ว อาจทำให้ความสามารถในการป้องกันกรดน้ำย่อยและเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะด้อยประสิทธิภาพลง เสี่ยงต่อโรคกระเพาะได้ง่าย หรืออาจมีสาเหตุจากด้านจิตใจ มีความเครียด ความกังวลบ่อย ๆ จนส่งผลให้กระเพาะสร้างกรดย่อยออกมามากขึ้น จนอาจเป็นโรคเครียดลงกระเพาะ และสุดท้าย สาเหตุโรคกระเพาะที่มาจากการใช้ชีวิตในสังคมเร่งด่วน กินอาหารได้ไม่ตรงเวลา หรือบางมื้อก็ข้ามไปซะเฉย ๆ วิถีชีวิตเช่นนี้ก็ทำให้เสี่ยงต่อโรคกระเพาะอาหารมากเลยนะจะบอกให้

          นอกจากนี้โรคกระเพาะอาหารยังเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีความผิดปกติภายในกระเพาะอาหารเลย แต่เกิดขึ้นได้จากการทำงานผิดปกติของส่วนกระเพาะอาหารเอง เช่น การบีบตัวของกระเพาะกับลำไส้ไม่ประสานกัน หรือจากสภาพกรดในกระเพาะที่มากเกินไปแต่ไม่ทำให้เกิดแผล ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากถึงร้อยละ 70-75 ต้องมาพบแพทย์

โรคกระเพาะอาหาร

 อาการโรคกระเพาะอาหาร แบบนี้สิใช่ !

          อย่างที่บอกว่าคนส่วนใหญ่มักคิดว่าอาการปวดท้องของตัวเองอาจเป็นสัญญาญของโรคกระเพาะ ถ้าอย่างนั้นมาเช็กความชัวร์กันว่า คุณมีอาการอาการปวดท้องลักษณะดังนี้หรือเปล่า ?

          - ปวดท้องแบบจุก แสบ แน่นบริเวณเหนือสะดือกลางท้องหรือบริเวณลิ้นปี่ อาจปวดฉับพลันหรือเป็น ๆ หาย ๆ ก็ได้

          - รู้สึกปวดท้องด้านขวาส่วนบนขณะหิวหรืออิ่ม ลักษณะอาการปวดยังพอทนไหว และเมื่อได้กินอาหารหรือยาลดกรดแล้วอาการปวดจะหายไป

          -  ปวดท้องแบบแสบ และเจ็บบริเวณยอดอกหรือลิ้นปี่ หลังกินอิ่มแล้ว หรือบางรายมีอาการปวดแสบไปทั่วบริเวณช่องท้องและลิ้นปี่ ไม่ว่าจะหิวหรือรู้สึกอิ่มก็ตาม

          - ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากหลับไปแล้ว

          - ในรายที่อาการรุนแรงอาจปวดท้องหนักมาก อาเจียน และถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย

          - บางคนอาจมีอาการกำเริบเวลากินยาแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ ดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ของมัน ๆ ของหวาน ๆ อาหารที่ย่อยยาก หรือกำเริบในช่วงที่กินอาหารผิดเวลาหรือปล่อยให้หิวนาน ๆ หรือเวลามีความเครียด

โรคกระเพาะอาหาร
   
          ทว่าอาการปวดท้องบางทีก็ไม่ได้เป็นสัญญานโรคกระเพาะอาหารเสมอไป แต่อาการปวดท้องยังบอกอะไรกับเราได้หลายอย่าง ที่สำคัญอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ได้ด้วย โดยนายแพทย์สิริวัฒน์ อนันตพันธุ์พงศ์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้อธิบายไว้ว่า โดยทั่วไปแล้วอาการปวดท้องสามารถจำแนกตามบริเวณที่ปวดได้เป็น 2 ส่วน คือ
   
          - ปวดท้องส่วนบน มีอาการปวดบริเวณเหนือสะดือซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร ตับ ถุงน้ำดี ม้าม หรือตับอ่อน
   
          - ปวดท้องส่วนล่าง อาการปวดจะเกิดขึ้นบริเวณต่ำกว่าสะดือ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ไส้ติ่ง ไต มดลูก หรือปีกมดลูก

          นอกจากนี้อาการปวดท้องแบบรู้สึกจุกลิ้นปี่อาจไม่ได้หมายถึงโรคกระเพาะอาหารเสมอไป แต่อาจเป็นสัญญาณของโรคดังต่อไปนี้ได้ด้วย
   
          - ตับอักเสบ มีอาการอ่อนเพลีย จุกแน่นลิ้นปี่ ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลือง) อาจมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย และอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อน
   
          - ตับแข็ง มีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ ดีซ่าน อาจมีประวัติดื่มสุราจัดมานาน
   
          - นิ่วในถุงน้ำดี มีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ ตรงใต้ลิ้นปี่และใต้ชายโครงขวาหลังกินอาหารมัน ๆ เป็นบางมื้อในบางวัน บางครั้งอาจปวดรุนแรงจนแทบเป็นลม นานครั้งละ 30 นาที อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
   
          - ไส้ติ่งอักเสบระยะแรกเริ่ม มีอาการปวดรอบ ๆ สะดือเป็นพัก ๆ คล้ายท้องเสีย อาจเข้าห้องน้ำบ่อยแต่ถ่ายไม่ออก หรือถ่ายแบบท้องเสีย ปวดนานหลายชั่วโมง แล้วต่อมาจะย้ายมาปวดตรงท้องน้อยข้างขวา แตะถูกหรือขยับเขยื้อนตัวจะเจ็บ ต้องนอนนิ่ง ๆ หากไม่รักษาจะปวดรุนแรงขึ้นนานข้ามวันข้ามคืน
   
          - โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่และปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร ไหล่ หรือต้นแขน นานครั้งละ 2-5 นาที มักมีอาการกำเริบ เวลาออกแรง เดินขึ้นบันได ทำอะไรรีบร้อน หลังกินข้าวอิ่ม หลังอาบน้ำเย็น มีอารมณ์เครียด หรือขณะสูบบุหรี่ อาการจะปวดนาน ๆ ครั้ง เวลามีเหตุกำเริบดังกล่าว บางคนอาจเข้าใจว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการกำเริบหลังกินข้าว
   
          ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจมีประวัติสูบบุหรี่จัด ขาดการออกกำลังกาย อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือไขมันในเลือดสูง หรืออาจมีอายุมาก (ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป, หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป)
   
          - มะเร็งตับ หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนัดลด จุกแน่นท้อง อาจมีคลื่นไส้อาเจียน ดีซ่าน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ หรือหน้าตาซีดเซียวร่วมด้วย
      
          - โรคกรดไหลย้อน อาการจะคล้ายโรคกระเพาะ โดยมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาจมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ แสบลิ้นเรื้อรัง จุกแน่นแถว ๆ หน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย อาการนี้มักจะเป็นมากขึ้นหลังอาหารมื้อหลัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย

โรคกระเพาะอาหาร

วิธีรักษาโรคกระเพาะ

          เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ แพทย์จะให้กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหาร ติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ รวมทั้งให้ยากำจัดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ในกรณีที่ตรวจพบเชื้อจากการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร
   
          แต่หากสาเหตุเกิดจากโรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล และมักเป็น ๆ หาย ๆ แพทย์จะให้คำแนะนำในการหลีกเลี่ยงอาหารและสิ่งที่ทำให้อาการกำเริบ เช่น เลี่ยงของเผ็ด ของมัน เลิกสูบบุหรี่ ดื่มสุรา รวมทั้งแนะนำให้ผ่อนคลายความเครียด ออกกำลังกาย
   
          ทั้งนี้ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย อาหารอ่อน ๆ ในช่วงทำการรักษา จนเมื่อมีอาการดีขึ้นแล้วจึงค่อย ๆ กลับมารับประทานอาหารที่ใกล้เคียงปกติได้
   
          ทว่าสิ่งที่ต้องระวังก็คือ โรคกระเพาะอาหารนี้มักเป็นเรื้อรัง เมื่อรักษาแผลหายแล้วก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง หรือยังไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารให้หมดไปได้

โรคกระเพาะอาหาร

วิธีป้องกันโรคกระเพาะอาหาร
         
          ไม่อยากปวดท้องโรคกระเพาะ หรือไม่อยากกลับมาเป็นอีก ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันตามนี้เลย

          - รับประทานอาหารจำนวนน้อย ๆ แต่ให้บ่อยมื้อ ไม่ควรรับประทานจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ

          - ทานอาหารให้ตรงเวลา หากหิวก่อนเวลาให้ดื่มน้ำ

          - หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง น้ำอัดลม กาแฟ ของทอด ของมัน และของขบเคี้ยว เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากกว่าปกติ

          - งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะมีส่วนกระตุ้นให้กรดในกระเพาะหลั่งออกมา

          - งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยารักษาโรคข้อกระดูกอักเสบทุกชนิด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์

          - อย่าเครียด ให้หาวิธีผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวล รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอ

          - อย่านอนดึก พอยิ่งดึกเราก็จะยิ่งหิว เพราะกรดถูกหลั่งออกมาในท้องมากเกินไป ดังนั้นถ้าหิวเมื่อไรก็ให้เข้านอนไปเลย อย่าทานอาหาร

          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเลือกการเดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เพื่อขจัดความเครียด และยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงด้วย

          โรคกระเพาะอาหารอาจไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรง แต่ก็เป็นโรคที่เรื้อรัง ที่สำคัญรักษาให้หายขาดไม่ได้ง่าย ๆ ดังนั้นการป้องกันตัวเองจากโรคกระเพาะด้วยการดูแลตัวเองให้ดีน่าจะเป็นทางที่ดีที่สุดนะคะ ขณะที่การปวดท้องในแต่ละลักษณะเช่น ปวดท้องน้อย หรือปวดท้องข้างซ้าย ก็อาจจะเป็นอาการที่บ่งชี้ถึงการเจ็บป่วยอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โอ๊ย…ปวดท้อง อาการโรคกระเพาะถามหาหรือเปล่า ? อัปเดตล่าสุด 1 มีนาคม 2566 เวลา 16:38:04 958,649 อ่าน
TOP
x close