วิกฤตวัยกลางคน ท้อแท้-สับสนกับชีวิตตัวเอง สาเหตุเสียคนตอนแก่ ?

          ปัญหาสุขภาพจิต เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย อย่างวิกฤตวัยกลางคนที่เมื่อเริ่มเป็นผู้ใหญ่ก็ควรจัดการสุขภาพจิตใจของตัวเองให้ดี

ปัญหาสุขภาพจิต

           ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตไม่ได้เกิดแค่กับเด็กวัยรุ่นกลุ่มเดียวหรอกนะคะ แต่ผู้ใหญ่ที่เริ่มเข้าสู่วัยกลางคนก็มีโอกาสสัมผัสและต้องจัดการกับอารมณ์ฉุนเฉียวหรือความคิดอยากทำอะไรหลุดโลกที่เกิดขึ้นกับตัวเองด้วยเหมือนกัน เป็นต้นว่า จู่ ๆ ก็อยากลาออกจากงานอันมั่นคงแล้วไปใช้ชีวิต Slow life เพียงลำพังด้วยเงินเก็บทั้งหมดที่มี รวมทั้งอาจรู้สึกอยากทำตัวเสเพลหลุดกรอบเหมือนวัยรุ่นบ้าง

          เอาล่ะ...ถ้าช่วงนี้คุณอยากจะลุกมาเปลี่ยนแปลงตัวเองขนานใหญ่ หรือคิดอยากทำอะไรพิเรนท์ ๆ เช่นนี้ แนะนำให้เตรียมใจไว้เลยว่า คุณอาจกำลังเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตวัยกลางคนเข้าให้แล้ว
   
วิกฤตวัยกลางคน คืออะไร ?

          วิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis)
คือ ภาวะทางสุขภาพจิตของวัยกลางคนอายุตั้งแต่ 35-50 ปี สามารถเกิดได้กับทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยส่วนมากอาจเริ่มจากการคิดทบทวนชีวิตตัวเอง รู้สึกท้อแท้กับสิ่งที่เป็นอยู่ เริ่มคิดว่าชีวิตตัวเองไม่เห็นมีอะไรที่ควรจะต้องมี และต้องการหาความสุขจากสิ่งที่ตัวเองรู้สึกขาด บวกกับความเสื่อมถอยของสภาพร่างกายในหลาย ๆ ด้าน จนอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าในภายหลัง
 
           ทว่าศาสตราจารย์ Calvin Colarusso คณบดีภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ได้กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องใหญ่ ๆ อย่างเคสที่ว่านี้อาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ส่วนมากแล้ววัยกลางคนอาจต้องเผชิญหน้ากับช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยกลางคน (Midlife Transition) ซะมากกว่า ซึ่งก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตเล็ก ๆ น้อย ๆ คล้ายอาการวัยทองนั่นเอง
 

           แต่ผลกระทบจากวิกฤตวัยกลางคน หรือช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยกลางคนอย่างที่กล่าวไปในเบื้องต้นอาจส่งผลกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยศาสตราจารย์ Dan Jones หัวหน้าและที่ปรึกษาภาควิชาจิตวิทยาจากสถาบันจิตวิทยาแห่ง Appalachian State University ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า เพศชายมักจะเป็นเพศที่ตั้งความหวังไว้กับความสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงาน และมีความต้องการอยากจะแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเองสูงกว่าผู้หญิง ส่วนผู้หญิงเป็นเพศที่คาดหวังกับชีวิตสมรสของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ชีวิตช่วงวัยกลางคนของผู้หญิงจึงมักจะกังวลไปกับบทบาทหน้าที่ของตัวเองในฐานะภรรยาและความเป็นแม่

ปัญหาสุขภาพจิต
 
วิกฤตวัยกลางคนเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ?
 
- ความเสื่อมถอยของร่างกาย

          เมื่ออายุมากขึ้น เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายชัดเจนขึ้น อย่างแรกที่ใครก็หนีไม่พ้นคือ สภาพร่างกายที่อ่อนแอลง โรคเริ่มรุมเร้า และภาวะฮอร์โมนที่ลดน้อยลงไป หรือที่เรียกว่าอาการวัยทอง ซึ่งก็จะทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียว อ่อนล้า สิ้นหวัง จนอาจทำให้รู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้นทุกวัน

- ความกดดันจากสภาพสังคม

          เมื่อมาถึงจุดที่คิดว่าโตเป็นผู้ใหญ่มากพอแล้ว แต่ชีวิตกลับไม่เป็นอย่างที่หวัง ความสำเร็จยังไม่เกิดขึ้นในชีวิต หรืออาจมีแรงกดดันและความคาดหวังจากสังคมที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตเรายังไม่ถูกเติมเต็ม จึงต้องการแสวงหาหนทางไปสู่ความสำเร็จนั้น ๆ จนบางครั้งความกดดันก็ผลักให้เราตัดสินใจทำอะไรที่เหนือความคาดหมายลงไป

ปัญหาสุขภาพจิต
 
- ความไม่พอใจกับชีวิตตัวเอง

          เมื่อรู้สึกว่ายังไม่พอสักทีกับชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้ ความสุขก็ไม่เกิด จนต้องดิ้นรนทำอะไรสักอย่างที่คิดว่าน่าจะช่วยเติมเต็มความสุขในชีวิตได้ และเมื่อทะเยอทะยานมาก ดิ้นรนมาก ๆ ก็อาจรู้สึกเหนื่อยกับชีวิตจนเกิดความรู้สึกท้อแท้หมดหวัง

- ต้องการรื้อฟื้นความสดใส อยากได้ความท้าทาย

          เมื่อชีวิตดำเนินมาถึงกลางทาง คนวัยนี้อาจรู้สึกว่าเวลาตัวเองเหลือไม่มากแล้ว ต้องรีบเติมความสดใสให้ชีวิต หาสิ่งท้าทายมาให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น คนวัยกลางคนบางรายจึงอาจมองหาคู่เดทที่อายุน้อยกว่า หรืออาจตัดสินใจลงทุนไปกับการศัลยกรรมยกเครื่องหน้าใหม่ เป็นต้น

วิกฤตวัยกลางคน

- สับสนจนไม่รู้ว่าชีวิตที่แท้จริงคืออะไร

          อย่างที่บอกไปยังไงล่ะคะว่า ช่วงชีวิตของวัยกลางคนก็ไม่ต่างอะไรจากโมเมนต์หัวเลี้ยวหัวต่อที่มักจะเกิดกับวัยรุ่น โดยเมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ อาจมานั่งทบทวนความเป็นไปของตัวเอง ไตร่ตรองว่าที่เหนื่อยมาเกือบจะทั้งชีวิตนี่เราได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันมาบ้าง ซึ่งในกรณีนี้หากไม่เข้าใจคำว่าแก่นแท้ของชีวิตอย่างแท้จริง อาจนำไปสู่ความรู้สึกนึกคิดในแง่ลบกับตัวเองได้อย่างไม่น่าจะเกิดเลยล่ะ

- ความรู้สึกผิดหวังเมื่อต้องเสียคนที่รัก

          หากเพื่อนสนิท คนรัก หรือพ่อแม่ทยอยเสียชีวิตลง ช่วงเวลาเหล่านี้คุณจะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มเขยิบมาอยู่ใกล้ความตาย และตระหนักรู้ว่า สิ่งใด ๆ ในโลกนี้ก็ไม่แน่นอน ฉะนั้นอยากทำอะไรต้องรีบลงมือทำก่อนจะสาย

- รู้สึกได้ถึงบทบาทและความสำคัญของตัวเองที่ลดน้อยลง

          หากต้องเป็นคุณปู่ คุณย่า หรืออาจจะเริ่มมีหลาน ๆ เป็นของตัวเอง หลายคนจะเริ่มรู้สึกถึงความแก่ชราที่มาเคาะประตูหัวใจ รวมไปถึงบางรายก็อาจจะถูกลดบทบาทจากที่ทำงานและสังคมรอบข้างกดดันเพิ่มมาด้วย จนนำไปสู่ภาวะเครียดและท้อแท้กับชีวิต

ปัญหาสุขภาพจิต
 
สัญญาณชี้ว่าคุณตกอยู่ในสภาวะวิกฤตวัยกลางคน

          - ตื่นตูมและเป็นกังวลอย่างมากกับปัญหาสุขภาพของตัวเอง

          - เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองแนว ๆ ว่า อายุป่านนี้แล้วเรามีอะไรเป็นของตัวเองบ้าง ทุกวันนี้ฉันกำลังทำอะไรอยู่ แล้วเป้าหมายในชีวิตฉันล่ะคืออะไร หรืออาจจะครุ่นคิดว่า ตัวเองอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง แบบวน ๆ ซ้ำ ๆ

          - เปรียบเทียบความสำเร็จของตัวเองกับความสำเร็จของเพื่อน รุ่นน้อง หรือคนที่เด็กกว่าอยู่บ่อยครั้ง

          - เหน็ดเหนื่อยกับชีวิตขั้นสูงสุด เกิดความทดท้อใจบ่อยครั้ง รู้สึกว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างแรง

          - อยากเติมความซาบซ่าให้ชีวิต คิดอยากกลับไปเป็นหนุ่มเป็นสาวอีกครั้ง บางทีอาจลองนัดเดทคนอายุน้อยกว่าหลาย ๆ ปี

          - รู้สึกว่าทุกอย่างที่มีในตอนนี้ไร้ความหมาย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ ครอบครัว งาน หรือเงิน

การป้องกันตัวเองจากภาวะวิกฤตวัยกลางคน
 
- พยายามแยกแยะอารมณ์ชั่ววูบกับความต้องการของตัวเองจริง ๆ

          อย่าปล่อยให้อารมณ์ชั่ววูบของตัวเองเป็นใหญ่ ณ ช่วงเวลาหนึ่งคุณอาจจะรู้สึกว่าตัวเองอยากลาออกจากงาน อยากหลบหนีความน่าเบื่อในครอบครัวไปเจออะไรใหม่ ๆ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่อารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่สติไม่ได้อยู่กับเราหรือเปล่า

- คิดบวกเข้าไว้

          จงขอบคุณตัวเองที่ทำให้ชีวิตเดินมาถึงจุดนี้ ขอบคุณครอบครัวที่อยู่เคียงข้างกัน และขอบคุณทุก ๆ อย่างรอบตัวแม้จะเป็นเรื่องที่เล็กน้อยมาก เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของความคิดในแง่บวกที่จะช่วยให้คุณไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะวิกฤตวัยกลางคน

- เมื่อมีปัญหา ปรึกษาคนใกล้ตัว

          พยายามอย่าคิดอะไรด้วยตัวเองคนเดียว มีปัญหาหรือรู้สึกแย่เมื่อไรให้แชร์ความหนักอกหนักใจนั้นกับคนรอบข้างโดยด่วน เชื่อเถอะว่าการระบายออกไปมันช่วยให้รู้สึกโล่งขึ้นเยอะ

ปัญหาสุขภาพจิต

- ทำในสิ่งที่สร้างสรรค์

          รู้สึกเบื่อจะแย่แล้วกับชีวิตก็ลองกลับไปเยี่ยมโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่ตัวเองเคยเรียนดูบ้าง นัดเจอเพื่อนเก่า ๆ ที่ไม่ได้เจอหน้ากันนาน หรืออยากได้ความท้าทายก็ลองลงทุนทำธุรกิจที่ตัวเองคิดว่าถนัดและน่าจะเหมาะดูสิ

- อย่าเหวี่ยงวีนใส่คนรอบข้าง

          เข้าใจว่าหลาย ๆ ปัจจัยอาจทำให้รู้สึกหงุดหงิด แต่พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะกับคนในบ้านและคนที่คุณรักจะดีกว่า เพราะหากทำอะไรตามอารมณ์ตัวเองโดยไม่ยั้งคิด อาจทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่

- ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

          ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดีอารมณ์ก็แจ่มใสไปด้วยได้ง่าย ๆ ฉะนั้นอย่าลืมดูแลสุขภาพของตัวเองให้ยังฟิตปั๋งเหมือนวัยหนุ่มสาวด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ

- พักผ่อนให้เพียงพอ

          นอนไม่พออาจเป็นสาเหตุให้รู้สึกหงุดหงิดได้ง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้นหากไม่อยากรู้สึกแย่ก็ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อีกทั้งการนอนหลับให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายยังช่วยชะลอริ้วรอยแห่งวัยได้อีกด้วยนะ

          อย่าปล่อยให้อายุและความชรามาจำกัดความสุขในชีวิตเราเลยนะคะ หากอยากผ่านช่วงวัยกลางคนไปได้อย่างชิล ๆ ก็พยายามทำตามคำแนะนำที่เราบอกไป รวมทั้งใส่ใจเรื่องอาหารการกินให้ครบทั้ง 5 หมู่ และดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพื่อช่วยบำรุงความแข็งแรงของร่างกายด้วยล่ะ เพราะแค่มีร่างกายที่แข็งแรงแจ่มใส อะไร ๆ ในชีวิตก็ดี๊ดีไปหมดแล้ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Huffington Post
WebMD

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิกฤตวัยกลางคน ท้อแท้-สับสนกับชีวิตตัวเอง สาเหตุเสียคนตอนแก่ ? อัปเดตล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2562 เวลา 08:25:12 56,982 อ่าน
TOP
x close