โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจคร่าชีวิตผู้คนมานับไม่ถ้วน และเชื่อไหมว่ามีปัจจัยหลายต่อหลายอย่างที่ทำให้เราทุกคนเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้ ไม่ว่าจะพฤติกรรมการบริโภค หรือวิถีชีวิตประจำวันบางอย่าง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพหัวใจ สิ่งหนึ่งที่อยากให้ลองทำตามมาก ๆ คือดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี โดยเริ่มต้นจากการรับประทาน 20 สุดยอดอาหารล้างหลอดเลือดหัวใจ ไล่คอเลสเตอรอลในหลอดเลือดเหล่านี้ก่อน
1. อะโวคาโด
ผลไม้มีไขมันดีอย่างอะโวคาโดช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดเลวและกระตุ้นการผลิตไขมันดีในร่างกาย ซึ่งผลการศึกษาจากประเทศเม็กซิโกก็พบว่า การรับประทานอะโวคาโดเป็นประจำทุกวันจะช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดเลวได้มากถึง 17% ซึ่งก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไขมันอุดตันเส้นเลือด โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้อีกทาง
2. โฮลเกรน
ทั้งโฮลวีท ข้าวซ้อมมือ และข้าวโอ๊ต ต่างก็มีไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ในปริมาณมาก ซึ่งข้อดีของไฟเบอร์ตัวนี้ก็คือช่วยพาเอาคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีออกไปจากร่างกายโดยการขับถ่าย และเมื่อระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลวในหลอดเลือดลดลง ก็เท่ากับว่าช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ด้วย
3. น้ำมันมะกอก
ผลการศึกษาเมื่อปี 2011 พบว่า ผู้ที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า ที่รับประทานน้ำมันมะกอกเป็นประจำ ไม่ว่าจะด้วยการนำน้ำมันมะกอกไปทำอาหารหรือจะปรุงรสให้อาหารก็ตาม เขาเหล่านี้จะมีโอกาสลดความเสี่ยงต่อโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดมากถึง 41% โดยประมาณ เพราะน้ำมันมะกอกมีสรรพคุณช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลวได้นั่นเอง
4. ถั่ว
ถั่วเป็นอาหารกินเล่นชนิดหนึ่งซึ่งมีไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ อีกทั้งถั่วยังมีกรดอัลฟาไลโนเลนิก (Alpha-linoleic Acid) กรดไขมันโอเมก้า 3 และไขมันอิ่มตัวเชิงเดี่ยว วิตามินอี และไฟเบอร์สูง ซึ่งทางสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาก็บอกว่า ไขมันอิ่มตัวเชิงเดี่ยวสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลวในเส้นเลือดได้ จึงช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองอุดตันได้อีกทาง
5. หน่อไม้ฝรั่ง
นับเป็นผักที่มีสรรพคุณล้างหลอดเลือดได้อย่างแท้จริงอีกชนิดหนึ่ง หน่อไม้ฝรั่งสามารถขจัดลิ่มเลือดซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการอักเสบต่าง ๆ ได้อย่างหมดจด แถมยังมีไฟเบอร์สูง ช่วยในการขับถ่ายอีกด้วย
6. บรอกโคลี
บรอกโคลีเป็นผักที่มีวิตามินเคสูง ซึ่งวิตามินเคก็เป็นวิตามินสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ช่วยปกป้องวิตามินซีไม่ให้ถูกทำลาย อีกทั้งบรอกโคลียังอุดมด้วยไฟเบอร์ ส่วนประกอบดี ๆ ที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดเลว ความดันโลหิต ทว่าควรปรุงสุกก่อนรับประทานนะคะ เพราะบรอกโคลีก็เป็น 1 ในผัก 9 ชนิดที่ไม่ควรกินดิบ และหากอยากรู้ว่าทำไม ก็ตามนี้เลย คิดให้ดี ผักดิบ 9 ชนิดนี้ กินมากไปอาจได้โทษ
7. ขมิ้น
สมุนไพรไทยอย่างขมิ้นมีสรรพคุณต้านการอักเสบ ด้วยเพราะมีเคอร์คิวมิน (curcumin) สารชนิดหนึ่งที่ผลการศึกษาเมื่อปี 2009 ได้ค้นพบว่า เคอร์คิวมินสามารถลดไขมันที่ตกค้างอยู่ในหลอดเลือดหัวใจได้ประมาณ 26% ดังนั้นขมิ้นจึงเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงโรคที่มีสาเหตุมาจากปัญหาของหลอดเลือดหัวใจได้นั่นเอง
8. ทับทิม
ทับทิมมีไฟโตเคมีคอลที่มีสรรพคุณเดียวกันกับสารต้านอนุมูลอิสระ อันจะช่วยปกป้องหลอดเลือดหัวใจจากการถูกปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทำลาย ทั้งนี้ Dr.Gregg Schneider ทันตแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ผสมผสาน ได้แนะนำว่า ทับทิมมีสารกระตุ้นร่างกายให้ผลิตไนตริกออกไซด์ เคมีชีวภาพที่ช่วยให้หลอดเลือดเปิดกว้าง ทำให้เลือดไหลเวียนผ่านได้อย่างสะดวก สิ่งตกค้างหรือไขมันชนิดเลวจึงถูกขับถ่ายออกได้ง่ายขึ้น
9. ลูกพลับ
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ลูกพลับมีโพลีฟีนอลที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลว พร้อมทั้งลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายได้ ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรรับประทานลูกพลับเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ลูกก็ยังดี
10. น้ำส้มคั้น
วารสาร American Journal of Clinical Nutrition ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเมื่อปี 2011 ไว้ว่า เพียงแค่ดื่มน้ำส้มคั้นสดวันละ 2 แก้ว ก็จะช่วยลดอัตราความดันหัวใจช่วงคลาย (diastolic) ได้ อีกทั้งน้ำส้มคั้นยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมการทำงานของหลอดเลือดหัวใจได้อีกต่างหาก ทว่าน้ำส้มคั้นแก้วที่ดื่มก็ต้องมั่นใจก่อนว่าเป็นส้มคั้นสด ๆ 100% จริงนะจ๊ะ
11. สาหร่ายสไปรูลินา
รับประทานสาหร่ายสไปรูลินาประมาณ 4,500 มิลลิกรัมต่อวันจะช่วยผ่อนคลายการทำงานของผนังหลอดเลือดหัวใจ และช่วยคงระดับความดันโลหิตในร่างกายให้สมดุล และยังอาจช่วยคงระดับไขมันในตับให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี ส่งผลให้ตับกำจัดคอเลสเตอรอลชนิดเลวลงได้ประมาณ 10% และเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีได้ประมาณ 15% เป็นอย่างต่ำ
12. อบเชย
อบเชยอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยลดระดับไขมันในหลอดเลือด ช่วยป้องกันการอุดตันในหลอดเลือด แถมยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลวได้ราว ๆ 26% เลยทีเดียว
13. แครนเบอร์รี
ผลการศึกษาพบว่าแครนเบอร์รีอุดมไปด้วยโพแทสเซียม ตัวช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลว และกระตุ้นการผลิตคอเลสเตอรอลชนิดดี และหากรับประทานแครนเบอร์รีได้ทุกวัน แม้เพียงปริมาณเล็กน้อย ก็อาจจะช่วยลดทุกความเสี่ยงของโรคหัวใจได้ประมาณ 40% เลยล่ะ
14. กาแฟดำ
ผลการวิจัยจากเนเธอร์แลนด์พบว่า คนที่ดื่มกาแฟดำประมาณ 2-4 แก้วต่อวัน (ไม่เกินนี้) ติดต่อกันนาน 13 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ราว 20% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มกาแฟ หรือดื่มกาแฟน้อยกว่า 2 แก้วต่อวัน นั่นก็เพราะว่าคาเฟอีนในกาแฟจะช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้สูบฉีดเลือดเป็นปกติ ไร้ปัญหาติดขัดจนก่อให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดยังไงล่ะ
15. ชีส
เชื่อหรือไม่ว่าชีสช่วยลดระดับความดันเลือดได้ โดยผลการศึกษาจาก Brigham, Women\'s Hospital และ Harvard Medical School เห็นพ้องต้องกันว่า คนที่กินชีสไขมันต่ำประมาณ 3 แผ่นต่อวันจะมีอัตราความดันช่วงหัวใจบีบตัวลดลง เมื่อเทียบกับคนที่กินชีสน้อยกว่านี้ แล้วรู้ไหมล่ะว่า 5 ประโยชน์ของชีส ที่ชีสเลิฟเว่อร์รู้แล้วต้องฟิน ! มีอะไรบ้าง
16. ชาเขียว
ชาเขียวอุดมไปด้วยสารที่เรียกว่า คาเทชิน โดยสารชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งก็แน่นอนว่าน่าจะช่วยทั้งป้องกันโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจและช่วยในเรื่องลดน้ำหนักได้พร้อม ๆ กัน อ๊ะ ! แต่รู้ยังว่า ชาเขียว ดื่มอย่างไรให้ได้ประโยชน์เต็ม ๆ
17. แตงโม
แตงโมไม่ใช่แค่มิตรที่ดีต่อคนลดน้ำหนักเท่านั้น แต่ยังช่วยปกป้องหัวใจให้ห่างไกลโรคได้อีกด้วยนะ โดยผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดาพบว่า ในแตงโมมี L-citrulline ค่อนข้างสูง และคนที่ได้รับเจ้าสารตัวนี้ประมาณ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดความดันโลหิตได้ภายใน 6 สัปดาห์ ทั้งนี้นักวิจัยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า กรดอะมิโน L-citrulline จะช่วยร่างกายผลิตไนตริกออกไซด์ ทำให้หลอดเลือดขยายขึ้น การไหลเวียนของเลือดจึงดีตามไปด้วย
18. ผักโขม
โพแทสเซียมและโฟเลตที่พบในผักโขม สามารถช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ โดยการศึกษายังแนะนำมาด้วยว่าควรกินผักโขมประมาณ 1 ถ้วยตวงทุกวัน เพราะผักชนิดนี้ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ประมาณ 11% เลยนะ
19. แซลมอน
ปลาแซลมอนเป็นปลาที่มีไขมันดี ๆ อยู่เยอะ ซึ่งไขมันดีเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการผลิตคอเลสเตอรอลชนิดดี ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และลดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้ ทำให้เสี่ยงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง
20. ไขมันจากพืชและอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันจากพืช
ไขมันจากพืชจัดเป็นไขมันตามธรรมชาติที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้งานได้โดยทันที และผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ไขมันจากพืชมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลวได้ ซึ่งไขมันจากพืชที่ว่าสามารถหาได้จากแยมผลไม้ มาการีน หรือนมรสผลไม้นั่นเองค่ะ
อาหารทั้ง 20 ชนิดนี้เป็นเพียงตัวช่วยลดระดับไขมันและสารที่อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพหัวใจได้บ้างเท่านั้น ทว่าหากเราเสริมความเฮลธ์ตี้ให้ร่างกายด้วยการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพในส่วนอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะโรคร้ายชนิดไหนก็คงมาเคาะประตูสุขภาพของเราได้ยากนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
Shape
SIMPLE HOUSEHOLD TIPS