เตือนคุณสาว ๆ ใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ไม่ถูกหลักเสี่ยงอันตราย อาจเกิดภาวะ Toxic shock syndrome เสี่ยงตายได้ !
สุขภาพคุณสาว ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนต้องดูแลกันให้ดี ๆ นะคะ ยิ่งคุณผู้หญิงที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เคสนี้ขอเตือนดัง ๆ ว่าเสี่ยงภาวะ Toxic shock syndrome ที่อาจทำให้ถึงตาย หรือสูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไปได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับผู้หญิงบางคนมาแล้ว
โดยขอยกตัวอย่างเป็นเคสอุทาหรณ์ให้กับสาว ๆ เมื่อลอเรน แวซเซอร์ นางแบบสาวชาวอเมริกัน วัย 27 ปี จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เกือบเสียชีวิตจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด แต่โชคยังดีที่เธอแค่สูญเสียขาของเธอหนึ่งข้างเท่านั้น
เช่นเดียวกับ โจแอนนา คาร์ทไรท์ วัย 27 ปี คุณแม่ลูกสามผู้อาศัยอยู่ในเมืองเซาท์ยอร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ ที่เกือบเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อันเนื่องมาจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเช่นกัน
โดยแพทย์ได้ทำการวินิจฉัยว่าเธอเป็นภาวะ Toxic Shock Syndrome (TSS) ซึ่งเป็นภาวะช็อกเฉียบพลันจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายมาก สามารถทำให้ระบบการทำงานในร่างกายอย่างน้อย 3 ระบบเกิดการล้มเหลว แต่ผู้ป่วยจะไม่สามารถรู้ตัวได้เลยในเบื้องต้น เพราะมีอาการคล้ายกับคนเป็นไข้สูงธรรมดา ๆ เท่านั้น กระทั่งแสดงอาการรุนแรงหนักจนเกือบเสียชีวิตเลยทีเดียว
ทั้งนี้จากเคสตัวอย่างดังกล่าวทำให้เราอยากขยายความภาวะ Toxic Shock Syndrome (TSS) ให้สาว ๆ ได้รู้จักความเสี่ยงจากภาวะนี้มากขึ้นอีกสักนิด โดยเฉพาะกับคนที่ชอบใช้ผ้าอนามัยแบบสอด มาดูกันดีกว่าว่าภาวะ Toxic Shock Syndrome (TSS) เกิดได้อย่างไร อาการบ่งชี้สังเกตได้จากอะไรบ้าง แล้วมีวิธีป้องกันและรักษา Toxic Shock Syndrome (TSS) อย่างไร
Toxic Shock Syndrome (TSS) เกิดจากอะไร ?
ขออธิบายให้เข้าใจตั้งแต่แรกเลยว่า ภาวะ Toxic Shock Syndrome เกิดจากการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย และลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างกายมีบาดแผล หรือรอยถลอกมากพอให้เจ้าแบคทีเรียชนิด Staphylococcus และ Streptococcus Pyogenes ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ตามปากและผนังช่องคลอดผ่านเข้าสู่เนื้อเยื่อเข้าไปถึงกระแสเลือดได้
ซึ่งการสอดใส่ผ้าอนามัยแบบสอดอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดแผลถลอกกับผนังช่องคลอดด้านใน ยิ่งกับคนที่สอดผ้าอนามัยแบบไม่ถูกวิธี โอกาสที่จะเกิดรอยแผลบริเวณด้านในช่องคลอดก็จะยิ่งสูงขึ้น หรือคนที่ไม่รักษาความสะอาด ใส่ผ้าอนามัยแบบสอดข้ามคืน หรือเป็นเวลานาน ๆ ภาวะที่ร่างกายต้องโอบอุ้มประจำเดือนอาจก่อให้เกิดการอักเสบภายในช่องคลอด ทำให้เจ้าเชื้อแบคทีเรียที่รออยู่แล้วเคลื่อนที่เข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายดายขึ้นนะคะ
อาการบ่งชี้ภาวะ Toxic Shock Syndrome
อาการเริ่มแรกของผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่อาการจะไม่หนักมาก ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าตัวเองเป็นไข้หวัด แต่จริง ๆ แล้วเสี่ยงภาวะ Toxic Shock Syndrome อยู่ ซึ่งหากเป็นคนที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอด แล้วรู้สึกเหมือนเป็นไข้ ร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ อย่าชะล่าใจดีกว่าค่ะ
เหมือนเป็นไข้ ปวดเนื้อ ปวดตัว
ความดันเลือดต่ำ
ปวดหัวหนักมาก
สับสน ไม่ค่อยรู้สึกตัว (หากเชื้อเข้ากระแสเลือดแล้วอาการจะทรุดค่อนข้างเร็ว ภายใน 4-8 ชั่วโมง)
หนาวสั่น ไข้สูง
ตัวร้อน แต่มือ-เท้า เย็น
มีภาวะไตวาย ปัสสาวะออกน้อย
ตับทำงานช้าลง หรือหยุดทำงาน
ระบบหายใจล้มเหลว
เข้าสู่ภาวะโคม่า
หากเป็นผู้ที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอยู่แล้วและมีอาการเหล่านี้หลาย ๆ ข้อ ควรรีบไปพบแพทย์นะคะ หรือคนที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด หรือมีแผลฉกรรจ์บริเวณปากช่องคลอดแล้วสังเกตได้ชัดถึงอาการเบื้องต้น หรือแม้จะมีไข้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรวางใจ รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กให้แน่ใจดีกว่า
การรักษา Toxic Shock Syndrome
Toxic Shock Syndrome เป็นภาวะฉุกเฉินของร่างกาย มีความคล้ายคลึงกับภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมาก ดังนั้นการรักษาเบื้องต้นแพทย์จะพยายามยับยั้งการแพร่เชื้อแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นอาจทำการถ่ายหนองออกจากแหล่งติดเชื้อเพื่อตัดวงจรของแบคทีเรีย ร่วมกับการประคับประคองความดันโลหิต การหายใจ สมดุลน้ำและเกลือแร่ ระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งระดับออกซิเจนในเลือดและปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทว่าในเคสที่อาการโคม่า แพทย์อาจจำเป็นต้องให้อิมมูโนโกลบูลิน ยาฉีดเพื่อต้านสารพิษของแบคทีเรียซึ่งจะสามารถลดอัตราการตายได้ แต่ยาตัวนี้ก็มีราคาค่อนข้างแพงเลยทีเดียวล่ะ
อย่างไรก็ตาม การถ่ายหนองเพื่อกำจัดเชื้ออาจต้องทำซ้ำและต้องล้างทำความสะอาดแผลต่อไปอีกนาน หรือหากอวัยวะที่ติดเชื้อเสียหายเกินจะเก็บรักษาไว้ได้ และไม่ใช่ส่วนสำคัญต่อการอยู่รอด แพทย์อาจวินิจฉัยตัดอวัยวะที่ติดเชื้อนั้นทิ้ง เพื่อรักษาชีวิตไว้ ดังเคสของนางแบบชาวอเมริกันนั่นเองค่ะ
การป้องกันภาวะ Toxic Shock Syndrome
แม้ภาวะ Toxic Shock Syndrome จะดูมีความรุนแรงและอันตรายมาก ทว่าเราก็สามารถป้องกันได้ดังวิธีต่อไปนี้
ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดให้ถูกวิธี
เปลี่ยนผ้าอนามัยแบบสอดทุก ๆ 4-8 ชั่วโมง
เลือกใช้ผ้าอนามัยแบบสอดที่ซึมซับได้น้อยแทนชนิดซึมซับประจำเดือนได้มาก ยอมเสียเวลาเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เพื่อลดโอกาสสะสมเชื้อแบคทีเรียจากประจำเดือนที่ผ้าอนามัยโอบอุ้มไว้นาน ๆ ดีกว่า
ใส่ผ้าอนามัยแบบสอดในวันที่อากาศโปร่งสบาย ไม่อับชื้น
หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสอดใส่ผ้าอนามัยหรือแม้ตอนเปลี่ยนผ้าอนามัย
ดูแลสุขอนามัยของตนเองให้ดี
หากมีความจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ก็อย่าลืมทำตามวิธีป้องกันเหล่านี้ให้ครบถ้วนนะคะ โดยเฉพาะการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด หากยังไม่รู้วิธีที่ถูกต้อง ตามมาดูนี่ก่อนเลย
วิธีใส่ผ้าอนามัยแบบสอดที่ถูกต้อง
ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบผ้าอนามัยแบบสอด เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ช่องคลอด
แกะผ้าอนามัยออกมาจากซองพลาสติก (แนะนำให้เลือกซื้อแบบที่มีซองพลาสติกหุ้มไว้ เพราะจะได้มั่นใจว่าสะอาด)
ก่อนสอดเข้าไป ให้จับปลายของผ้าอนามัยด้านที่มีเชือกห้อยไว้ (บางยี่ห้อจะมีก้านให้เราดันผ้าอนามัยเข้าไป เพื่อง่ายแก่การสวมใส่)
จากนั้นค่อย ๆ ดันผ้าอนามัยเข้าไปให้สุดแล้วก็ดึงก้านออกมา แต่ถ้าเป็นผ้าอนามัยแบบที่ไม่มีก้าน ให้ใช้นิ้วดันเข้าไปประมาณ 2 ข้อนิ้ว ซึ่งจะเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดที่ใส่แล้วสบาย และไม่เจ็บ
เมื่อใส่เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเห็นว่ามีเชือกห้อยออกมา ตรงนี้จะมีไว้เพื่อสำหรับดึงผ้าอนามัยออกมาเมื่อถึงเวลาที่ต้องการจะเปลี่ยน
เมื่อดึงผ้าอนามัยออกมาแล้วให้ห่อกระดาษทิ้งให้เรียบร้อย
อย่างไรก็ดี แม้ในบ้านเราจะไม่ค่อยมีใครนิยมใช้ผ้าอนามัยแบบสอดสักเท่าไร เนื่องจากสภาพอากาศบ้านเรามีความร้อนชื้น ไม่เอื้อให้ใส่ผ้าอนามัยแบบสอดได้อย่างสบายตัว แต่ก็ยังมีสาว ๆ บางกลุ่มที่อาจจำเป็นต้องใช้เพื่อความคล่องตัวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น นักกีฬาว่ายน้ำ นางแบบ นักแสดง ซึ่งหากรู้จักใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างถูกวิธี และรักษาสุขอนามัยของตัวเองอยู่เสมอ ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงภาวะ Toxic Shock Syndrome นี้ได้นะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
mutualselfcare.org
Healthline
WebMd