x close

5 โรคเกี่ยวกับรังไข่ ภัยสุขภาพไม่ใกล้ไม่ไกล ที่ผู้หญิงต้องรู้

          ภัยสุขภาพที่ผู้หญิงควรรู้ โรคเกี่ยวกับรังไข่ไม่ได้มีแค่เพียงมะเร็งรังไข่ แต่ยังมีอีกหลายอาการที่ควรระมัดระวังและป้องกันตัวเองให้มากขึ้น


รังไข่

          รังไข่ ถือเป็นส่วนสำคัญในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง เพราะเป็นแหล่งกำเนิดของไข่ที่จะนำไปสู่การปฏิสนธิ อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง และด้วยความสำคัญที่มากล้น ทำให้เราต้องคอยดูแลและระมัดระวังโรคที่อาจเกิดกับรังไข่มากขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งหากรังไข่เกิดความผิดปกติก็อาจเกิดปัญหาที่ระบบสืบพันธุ์ หรือทำให้เกิดการแปรปรวนของระดับฮอร์โมนจนนำไปสู่ความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกายได้ วันนี้กระปุกดอทคอมจะขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับโรคที่เกี่ยวข้องกับรังไข่ที่พบได้บ่อย ซึ่งคุณผู้หญิงควรรู้ เพื่อที่จะสามารถเตรียมรับมือกับอาการเหล่านี้ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้อย่างมีสติ และนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีค่ะ

รังไข่
 
 1. มะเร็งรังไข่

          โรคมะเร็งรังไข่เป็นโรคที่สามารถพบได้เป็นอันดับต้น ๆ ในผู้หญิงไทย โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดกับผู้หญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้มักจะเป็นผู้หญิงที่มีประวัติครอบครัวเคยเป็นมะเร็งรังไข่ หรือมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก อีกทั้งผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนก็มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ด้วยเช่นกัน ซึ่งการตรวจหาโรคมะเร็งรังไข่ สามารถทำได้ด้วยการตรวจภายใน การอัลตราซาวด์ การทำซีทีสแกน และการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

          ทั้งนี้ อาการของโรคมะเร็งรังไข่ก็ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง มีอาการท้องอืดเป็นประจำ รู้สึกแน่นหรือปวดท้องผิดปกติ รู้สึกปวดถ่วง มีอาการท้องผูกเรื้อรัง หากก้อนเนื้อเริ่มใหญ่ขึ้นก็จะไปเบียดกระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดปัญหาปัสสาวะขัดหรือปัสสาวะบ่อย หากอยู่ในระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย ท้องอาจจะโตขึ้นผิดปกติทำให้ดูเหมือนอ้วนขึ้น เกิดความผิดปกติของการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น เสียงห้าวขึ้น มีหนวด หรือขนขึ้นตามลำตัวคล้ายผู้ชาย ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการอะไรดังกล่าวแสดงให้เห็นเลยก็เป็นได้

          วิธีการรักษาโรคมะเร็งรังไข่ สามารถทำได้ 3 วิธี คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัด โดยการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง แต่ในการผ่าตัดนั้นหากอยู่ในระยะแพร่กระจายก็จำเป็นจะต้องได้รับเคมีบำบัดร่วมด้วยหลังจากผ่าตัด เพื่อควบคุมการแพร่กระจาย แต่ถ้ายังอยู่ในระยะแรก ๆ ก็ต้องมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดค่ะ

 2.  ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

          โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือโรค PCOS เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนที่พบได้มากที่สุดคือภาวะดื้ออินซูลิน แต่นอกจากนี้ก็ยังอาจเกิดได้จากการใช้ยาคุมกำเนิด การทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ต่ำเกินไป การขาดวิตามินดี ความเสียหายของฮอร์โมน รวมทั้งแบคทีเรียในลำไส้บางชนิดที่ส่งผลถึงโปรตีนของฮอร์โมน ทำให้ฮอร์โมนเกิดความผิดปกติได้

          อาการของโรคถุงน้ำในรังไข่มีหลายอย่างแต่ไม่ใช่อาการที่รุนแรง ได้แก่ มีสิวขึ้นมากกว่าปกติ ขนขึ้นตามใบหน้า ผมร่วง รอบเดือนผิดปกติ ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูงขึ้น น้ำหนักเพิ่ม รวมทั้งอาจมีปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์อีกด้วย โดยอาการเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว คืออาจมีอาการให้เห็นแค่เพียงในระหว่างรอบเดือน แต่จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

          การรักษาสามารถทำได้ด้วยการใช้ยาเพื่อปรับระดับฮอร์โมนให้กลับสู่ภาวะปกติ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการควบคุมน้ำหนัก และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการขึ้นบ่อย ๆ อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและไขมันอีกด้วย

รังไข่
   
 3. ซีสต์ในรังไข่

          ซีสต์ในรังไข่ คือ ถุงน้ำที่มีส่วนประกอบของเส้นผม เส้นขน หรือไขมัน ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และไม่สามารถกลายเป็นมะเร็งได้ อีกทั้งยังไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น แต่ตรวจพบได้จากการตรวจอัลตราซาวด์เท่านั้น ซีสต์แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ซีสต์แบบธรรมดา และช็อกโกแลตซีสต์ ทั้ง 2 ชนิดแตกต่างกันที่สีของถุงน้ำ โดยช็อกโกแลตซีสต์จะมีสีน้ำตาล ซึ่งเหมือนช็อกโกแลตนั่นเอง

          อาการซีสต์ในรังไข่ส่วนใหญ่แล้วน้อยรายที่จะมีอาการแสดงออกมาให้เห็น แต่ก็สามารถมีการสำแดงของอาการได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ปวดหน่วง ปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย หรือประจำเดือนมาผิดปกติ ทั้งนี้ ซีสต์ในรังไข่เป็นอาการที่ไม่อันตราย และบางรายอาจไม่ต้องทำการรักษาหากขนาดของซีสต์ไม่ใหญ่ขึ้น แต่ถ้าขนาดของซีสต์ใหญ่จนผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดออกค่ะ

 4. เนื้องอกในรังไข่

          ต้องขอบอกก่อนว่าเนื้องอกในรังไข่และมะเร็งนั้นไม่ใช่โรคเดียวกัน การเกิดเนื้องอกในรังไข่มีสาเหตุจากโรคอ้วน การมีประจำเดือนก่อนวัย ประวัติครอบครัวที่เคยเป็นโรคนี้ การรับประทานยาต้านฮอร์โมน การสูบบุหรี่ และภาวะมีบุตรยาก เนื้องอกรังไข่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจทางการแพทย์ หรือการคลำหาด้วยตัวเองบริเวณท้องน้อย

          ทั้งนี้ สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาและเฝ้าติดตามอาการ โดยเนื้องอกขนาดเล็กจะสามารถยุบไปได้ในเวลา 1/2-3 เดือน แต่ถ้าหากเป็นเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่ หรือขนาดของเนื้องอกเพิ่มขึ้นรวดเร็วผิดปกติ ก็อาจจะต้องทำการตัดชิ้นเนื้อไปวินิจฉัย เพราะนั่นอาจเป็นเนื้อร้ายที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง แต่สบายใจได้เลยค่ะ โอกาสที่เนื้องอกจะกลายเป็นเนื้อร้ายค่อนข้างน้อยมากเลยทีเดียว

รังไข่

 5. รังไข่อักเสบ (Oophoritis)

          รังไข่อักเสบเป็นอาการที่คล้ายกับการอักเสบโดยทั่วไป ซึ่งโดยปกติแล้วจะเกิดจากการติดเชื้อ ที่อาจมาจากเพศสัมพันธ์ หรือการสวนล้างช่องคลอด รวมถึงผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคผิดปกติก็สามารถเกิดอาการได้ ไม่เพียงเท่านั้นภาวะรังไข่อักเสบยังเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของผู้ที่เป็นโรคคางทูมด้วย

          อาการของรังไข่อักเสบที่เห็นได้ชัดคือ อาการปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาผิดปกติ มีภาวะตกขาวที่ผิดปกติ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย อาการรังไข่อักเสบเป็นอาการที่ไม่ควรละเลย เพราะหากไม่ทำการรักษาอย่างถูกวิธี ก็อาจจะนำไปสู่การสูญเสียการทำงานของรังไข่แบบถาวรได้เช่นกัน

          ในการรักษาแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้ป่วยจะต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง ก็จะทำให้อาการดีขึ้น อีกทั้งยังทำให้เสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนน้อยลง

          คุณสาว ๆ ได้ทราบถึงโรคที่เกี่ยวกับรังไข่กันไปแล้ว ซึ่งวิธีป้องกันโรคเหล่านี้ได้ดีที่สุดก็คือ การมีสุขภาพที่แข็งแรง หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ขณะที่สุขอนามัยก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ควรรักษาความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้น และหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดกับตัวเองอยู่เสมอ เพื่อจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
mutualselfcare.org
rightdiagnosis.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 โรคเกี่ยวกับรังไข่ ภัยสุขภาพไม่ใกล้ไม่ไกล ที่ผู้หญิงต้องรู้ อัปเดตล่าสุด 30 มิถุนายน 2565 เวลา 13:12:19 80,261 อ่าน
TOP