กินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มา สาว ๆ หลายคนก็กังวลว่าจะท้องหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้วสาเหตุที่ประจำเดือนขาดก็เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ ไม่ใช่แค่ตั้งครรภ์
ประจำเดือนไม่มาทั้ง ๆ ที่ก็กินยาคุมกำเนิดไม่เคยขาด ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดกับสาวคนไหนก็คงวิตกกังวลไปต่าง ๆ นานาอย่างห้ามความคิดไม่ได้ ทว่าอย่าเพิ่งเครียดกันไปว่าประจำเดือนไม่มาแล้วจะท้องแน่ ๆ เพราะสาเหตุที่ประจำเดือนไม่มาทั้งที่กินยาคุมอยู่ก็อาจเป็นเพราะแบบนี้ก็ได้
ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดบางตัวกินแล้วก็อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ทำให้ประจำเดือนขาดไปราว ๆ 3-4 เดือน โดยเฉพาะกับคนที่มีประวัติประจำเดือนมาน้อย หรือมาไม่สม่ำเสมออยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นหากในช่วงหยุดกินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มา และทดสอบการตั้งครรภ์แล้วปรากฏว่าไม่ท้อง ก็ลองปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อหาวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะกับสภาพร่างกายของเราที่สุด หรือปรึกษาเภสัชกรเพื่อเลือกกินยาคุมกำเนิดตัวใหม่ที่เข้ากับร่างกายเราได้มากกว่า
กินยาบางอย่างที่ต่อต้านการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิด
ยาบางอย่างมีฤทธิ์ต่อต้านการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิด เช่น ยากันชัก หรือยารักษาวัณโรค ซึ่งหากกินยาเหล่านี้ในระหว่างที่กินยาคุมกำเนิดด้วย ก็เป็นไปได้ว่าฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดจะถูกลดประสิทธิภาพลง ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนปรวนแปรได้ ประจำเดือนก็ขาดได้ และอาจมีสิทธิ์ตั้งครรภ์ได้ด้วยนะคะ ดังนั้นให้รอดูประจำเดือนอีกสักเดือน ถ้าประจำเดือนยังไม่มาอีกก็ลองทดสอบการตั้งครรภ์ หรือปรึกษาการวางแผนครอบครัวกับแพทย์ประจำทางให้ชัดเจนไปเลย
กินยาคุมติดต่อกันนาน ๆ
ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต (รีเซอร์ฟิน) ยาเสพติดชนิดต่าง ๆ หรือแม้แต่ยาคุมกำเนิด ถ้ากินติดต่อกันนาน ๆ ก็อาจทำให้ประจำเดือนไม่มาได้เช่นกัน และเคสนี้ก็มักจะเกิดกับคนที่ประจำเดือนมาค่อนข้างน้อย มาไม่ปกติบ่อย ๆ อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งก็แปลได้ว่าการที่กินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มา ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะท้องเสมอไป
อย่างไรก็ตาม หากประจำเดือนของคุณไม่มาเพราะสาเหตุนี้ก็ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงค่ะ นอกเสียจากต้องรอให้ร่างกายปรับฮอร์โมนให้ได้เสียก่อน ซึ่งก็อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ หรือบางคนอาจต้องปรับฮอร์โมนกันเป็นปี ๆ เลยก็มี ที่สำคัญถ้ายังไม่พร้อมมีบุตรก็อย่าหยุดกินยาคุมเด็ดขาดนะคะ ให้กินยาคุมตามรอบไปปกติ หรือเพื่อความมั่นใจจะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก็ได้
ระดับฮอร์โมนของยาคุมกำเนิด
สำหรับคนที่กินยาคุมแล้วมีเลือดออกกะปริบกะปรอย กินยาคุมแล้วประจำเดือนมาน้อยมาก จนแทบจะเข้าข่ายกินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มา อาจเป็นผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในตัวยาคุมกำเนิดก็ได้ และหากมั่นใจว่าเรากินยาคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีไม่มีบกพร่อง แนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์เพื่อเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดหรือยาคุมกำเนิดตัวใหม่ที่เหมาะกว่า
การปรับฮอร์โมนของร่างกาย
อาการกินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มาก็มักจะเกิดกับคนที่เพิ่งเริ่มกินยาคุมใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากร่างกายของผู้หญิงบางคนอาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับจูนฮอร์โมนให้เข้าที่เข้าทาง ซึ่งอาจกินเวลายาวนานไปจนถึงการรับประทานยาคุมแผงที่ 2-3 เลยทีเดียว และนี่ก็ไม่ใช่ว่ายาคุมกำเนิดไม่ถูกกับร่างกายของเราด้วยนะคะ แต่อาจเป็นระดับฮอร์โมนในร่างกายของเราเองที่เกิดการปรวนแปร ดังนั้นหากมั่นใจว่ากินยาคุมถูกต้องแน่ ๆ แนะนำให้รอร่างกายปรับฮอร์โมนสัก 2-3 เดือน หากพ้นจากนี้แล้วประจำเดือนยังไม่มาทั้ง ๆ ที่กินยาคุมอย่างสม่ำเสมออยู่ คราวนี้ค่อยไปปรึกษาแพทย์อีกที
กินยาคุมฉุกเฉิน
สาว ๆ บางคนอาจเลือกกินยาคุมฉุกเฉินในวันที่ลืมกินยาคุมกำเนิดแบบปกติ ซึ่งก็สามารถทำได้ ไม่เกิดอันตรายใด ๆ ทว่าก็อาจมีผลข้างเคียงอย่างประจำเดือนที่น่าจะมาตามรอบของยาคุมกำเนิด อาจเลื่อนออกไปทำให้ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ หรือบางคนที่ระดับฮอร์โมนในร่างกายแกว่งอยู่แล้ว ประจำเดือนอาจขาดไปเลยก็มี แต่หากกินยาคุมกำเนิดต่อไปอีก 1 แผงแล้วประจำเดือนก็ยังไม่มา แนะนำให้ตรวจสอบการตั้งครรภ์หรือปรึกษาแพทย์จะดีกว่าค่ะ
หยุดกินยาคุม
หากคุณหยุดกินยาคุมกลางคัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็อาจเจอกับอาการเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนคลาดเคลื่อนได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะกินยาคุมกำเนิดมาหลายแผงแล้ว ประจำเดือนก็มาตรงกำหนดไม่คลาดเคลื่อนมาก่อนเลย และหากกังวลใจว่าหยุดกินยาคุมแล้วจะท้องไหม ให้ลองทดสอบการตั้งครรภ์และปรึกษาแพทย์อีกทีนะคะ
อย่างไรก็ดีถ้าหยุดกินยาคุมแล้วประจำเดือนยังไม่มา นั่นก็อาจเป็นเพราะว่าการหยุดกินยาคุมส่งผลกระทบในรอบเดือนถัด ๆ ไปของเราเข้าแล้ว เนื่องจากตอนที่กินยาคุม ร่างกายจะถูกตัวยาควบคุมฮอร์โมน ทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ แต่เมื่อเราหยุดกินยาคุม ร่างกายไม่ได้รับฮอร์โมนจากตัวยาอีก ก็ถึงเวลาที่ฮอร์โมนเพศในตัวเราจะหลั่งตามธรรมชาติ จุดนี้จึงอาจทำให้บางคนหยุดกินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มาเพราะฮอร์โมนในร่างกายแกว่งไปบ้าง ทว่าหากประจำเดือนขาดไปเกิน 3 เดือนก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงด้วย
เปลี่ยนชนิดของยาคุม
สาว ๆ บางคนอาจเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด เช่น จากที่กินยาคุมกำเนิด ก็อาจเปลี่ยนไปใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด หรือวิธีคุมกำเนิดชนิดอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะในระยะแรก ๆ ที่เริ่มใช้วิธีคุมกำเนิดชนิดใหม่ แต่หากเปลี่ยนมาใช้วิธีคุมกำเนิดแบบใหม่ได้เกิน 2 เดือนแล้ว แต่ประจำเดือนยังคงไม่มา เคสนี้อาจต้องทดสอบการตั้งครรภ์หรือปรึกษาแพทย์แล้วล่ะค่ะ
อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน หรือก่อนหมดประจำเดือน
สำหรับสาวในช่วงวัยหมดประจำเดือนที่ยังกินยาคุมกำเนิดเป็นประจำ แต่ระยะหลัง ๆ ประจำเดือนเริ่มขาดหายไป นี่อาจเป็นเพราะกำลังจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็ได้นะคะ ถ้ายังไงให้ลองปรึกษาแพทย์ดูก็น่าจะดีกว่า
ความเครียด
ความเครียดเป็นตัวการร้ายที่ทำให้ประจำเดือนเราไม่มาตามนัดได้ และความเครียดก็ไม่สนใจว่าเราจะกินยาคุมอยู่หรือไม่ด้วยนะคะ เพราะความเครียดจะส่งผลกับอารมณ์และการหลั่งฮอร์โมนของเราโดยตรง ซึ่งอาจทำให้การตกไข่ และรอบเดือนของเราผิดปกติไปได้นั่นเอง
ผลข้างเคียงจากโรคบางอย่าง
แม้จะกินยาคุมกำเนิดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ แต่หากว่าคุณมีอาการของโรคบางชนิด เช่น โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง ไทรอยด์ ถุงน้ำรังไข่ โรคเครียด โรคไต หรือโรคซิสติกไฟโบรซิส (cystic fibrosis) ผลการศึกษาจาก Michigan\'s Health Center ก็บอกว่า อาการของโรคดังกล่าวอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาก็ได้ ดังนั้นหากประจำเดือนขาดไป 2 เดือนหรือมากกว่านั้นก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ แนะนำให้ไปตรวจเช็กร่างกายให้ละเอียดถี่ถ้วนจะดีกว่า
ตั้งครรภ์
แน่นอนว่าไม่มีวิธีคุมกำเนิดชนิดไหนที่ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% โดยเฉพาะหากคุณคุมกำเนิดไม่ถูกวิธี เช่น ลืมกินยาคุมบ้าง กินยาคุมไม่ตรงเวลาบ้าง เป็นต้น การใช้ยาคุมไม่ถูกวิธีเช่นนี้ก็อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาแบบกะปริบกะปรอย ประจำเดือนไม่มา หรืออาจเกิดการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน และถ้าหากกินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มา พร้อมทั้งมีอาการคนท้องอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็แปลว่าการคุมกำเนิดของเราไม่ประสบผลสำเร็จนะคะ
อย่างไรก็ตาม ภาวะกินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มายังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน รวมถึงยาคุมกำเนิดที่กิน หรือวิธีคุมกำเนิดที่ใช้ แถมการที่ประจำเดือนไม่มา ก็อาจเป็นเพราะไลฟ์สไตล์ของเราเองด้วย ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ
- ประจำเดือนไม่มา เป็นเพราะสาเหตุอะไรนะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
ศิริราชพยาบาล
healthline
livestrong
pregnancycorner