
เริ่มแล้ว ! ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลฟรี ภายใน 72 ชั่วโมง ย้ำชัดโรงพยาบาลทุกแห่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
จากมติคณะรัฐมนตรี (28 มีนาคม 2560) มีมติอนุมัติให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีสิทธิ์รักษา ตามที่มีรายงานไปแล้วนั้น (อ่านข่าว : มติ ครม. อนุมัติให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้าได้ทุกโรงพยาบาล ใน 72 ชั่วโมง)

สำหรับกลุ่มอาการป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่จะสามารถใช้สิทธิ แบ่งเป็น 6 กลุ่มดังนี้ ...
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

ทั้งนี้ ผู้ป่วยวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลในทุกแห่ง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งหากทางโรงพยาบาลใดปฏิเสธการให้การรักษาจะต้องมีความผิดปรับ 20,000 บาท หรือถึงขั้นสั่งปิดสถานพยาบาลทันที รวมถึงห้ามสถานพยาบาลกักตัวผู้ป่วยเพื่อเพิ่มค่าใช้จ่าย เว้นเสียแต่ผู้ป่วยมีความประสงค์จะรับการรักษาต่อที่โรงพยาลเอง ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายตามปกติ


ภาพและข้อมูลจาก รายการข่าวอมรินทร์ สุดสัปดาห์