x close

วิธีรักษารำมะนาด หรือโรคปริทันต์ คืนความสุขสู่ฟันกันเถอะ !

          โรครำมะนาดหรือโรคปริทันต์ จัดเป็นปัญหาสุขภาพฟันที่ใหญ่ยิ่ง เพราะเกิดขึ้นทั้งกับเหงือก และอวัยวะรอบ ๆ ฟันเลยทีเดียว
รํามะนาด

          บางคนมีอาการเหงือกอักเสบ ปวดฟัน และคิดว่าตัวเองเป็นโรคเหงือกอักเสบ ทั้งที่จริง ๆ ไม่ใช่ แต่อาจเป็นโรครำมะนาด หรือโรคปริทันต์ ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดไม่ถึงว่าจะป่วยด้วยโรคนี้ค่ะ ฉะนั้นกระปุกดอทคอมจึงอยากนำเสนอโรครำมะนาดหรือโรคปริทันต์ให้ทุกคนได้รู้จัก พร้อมด้วยวิธีรักษาโรคปริทันต์ด้วย

โรคปริทันต์ หรือ รำมะนาด คือโรคอะไร
       
          โรคปริทันต์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่ารำมะนาด ภาษาอังกฤษคือ Periodontal Disease เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะรอบ ๆ ฟัน อันได้แก่ เหงือก กระดูกรองรับฟัน เอ็นยึดปริทันต์และผิวรากฟัน ซึ่งทำหน้าที่ยึดและพยุงฟัน เพื่อให้ฟันสามารถฝังอยู่ในขากรรไกรได้ ดังนั้นหากเป็นโรคปริทันต์ขึ้นมา ความเสี่ยงที่ฟันจะโยกจนสูญเสียฟันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

โรคปริทันต์ เกิดจากอะไร

          โรคปริทันต์หรือรำมะนาดเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ตกค้างอยู่ในช่องปาก อันเกิดจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่มากับอาหาร เพราะเราทำความสะอาดช่องปากได้ไม่ดีพอ ดังนั้นเมื่อมีการสะสมของเชื้อจุลินทรีย์บนผิวฟันมากขึ้น ก็จะเกิดแผ่นคราบจุลินทรีย์หรือที่เราเรียกกันว่าคราบพลัค ซึ่งส่วนใหญ่คราบพลัคเหล่านี้จะไปกองตัวกันอยู่บริเวณคอฟันส่วนที่ต่อกับเหงือก และจุลินทรีย์บางชนิดก็มีฤทธิ์ทำให้เหงือกอักเสบได้
     
          นอกจากนี้ในช่องปากของเรายังจะมีหินปูนหรือหินน้ำลายเกิดขึ้นบนตัวฟัน กลายเป็นแหล่งสะสมคราบพลัคมากขึ้น ๆ ซึ่งหากเราปล่อยให้ช่องปากอยู่ในสภาพเช่นนี้นาน ๆ เหงือกที่เกิดการอักเสบเพราะเชื้อจุลินทรีย์จะเริ่มแยกออกจากรอบ ๆ ตัวฟัน ทำให้เกิดอาการบวมแดง มีเลือดออก เกิดหนองในช่องระหว่างเหงือกและฟัน จนในที่สุดกระดูกรอบ ๆ รากฟันจะถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ ฟันก็จะเริ่มโยก กระทั่งหลุดออกไปในที่สุด

รํามะนาด

โรคปริทันต์ หรือรำมะนาด อาการเป็นอย่างไร

          เพราะอาการโรคปริทันต์ในระยะแรก ๆ จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เราจึงต้องหมั่นตรวจสุขภาพฟันและช่องปากอยู่เสมอ หรือจะลองสังเกตสัญญาณโรคปริทันต์จากอาการเหล่านี้ก็ได้

          - มีเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน

          - เหงือกบวมแดง

          - มีกลิ่นปาก

          - เหงือกร่น

          - ฟันโยก

          อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเพียงหนึ่งอย่างดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจด้วยประการทั้งปวงนะคะ ให้รีบไปหาทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วจะดีที่สุด เพราะโรคปริทันต์หากปล่อยให้อาการรุนแรง เนื้อฟันถูกทำลายอย่างถาวร จะไม่สามารถเรียกคืนฟันสวย ๆ ได้อีกต่อไป ทำได้เพียงแค่หยุดยั้งการทำลายอวัยวะรอบ ๆ ฟันเท่านั้น

รํามะนาด

รำมะนาด การรักษาทำอย่างไร
       
          การรักษาโรคปริทันต์หรือรำมะนาด ทันตแพทย์จะเริ่มจากการขูดหินปูนและเกลารากฟัน กล่าวคือ รักษาด้วยการทำให้ผิวรากฟันเรียบ ซึ่งก็จะช่วยกำจัดคราบพลัคและหินปูนที่เกาะอยู่บนผิวรากฟันออกไป โดยขั้นตอนนี้จำเป็นต้องใช้เวลานาน และอาจต้องทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เนื่องจากต้องกำจัดหินปูนและคราบจุลินทรีย์ให้หมด โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ร่องเหงือกลึก ๆ และตำแหน่งฟันหลังซึ่งมีรากฟันหลายรากรวมกัน

          ทั้งนี้ภายหลังการรักษาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะนัดกลับมาดูอาการอีกครั้งว่าโรคปริทันต์หายดีหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ายังมีร่องลึกปริทันต์หลงเหลืออยู่ เนื่องจากมีการละลายของกระดูกไปมาก ทันตแพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดอีกครั้ง ซึ่งกรณีนี้ก็ทำได้ในบางเคสเท่านั้นนะคะ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์

รํามะนาด

โรคปริทันต์หรือรำมะนาด รักษาหายขาดไหม

       
          อย่างที่บอกว่าโรคปริทันต์ ถ้ารู้เท่าทันก็ไม่เจ็บปวดมาก ยังสามารถรักษาฟันและเหงือก รวมทั้งกระดูกรากฟันเอาไว้ได้ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคปริทันต์หรือรำมะนาด ควรต้องพบทันตแพทย์ทุก ๆ 3 เดือน เพื่อให้ทันตแพทย์ขูดหินน้ำลาย และทำความสะอาดฟัน ป้องกันไม่ให้ปริทันต์มาเยือนอีกครั้ง ทว่าในกรณีที่โรคปริทันต์ทำลายกระดูกรากฟันและทำลายเนื้อฟันเราไปแล้ว ก็ไม่สามารถเรียกคืนฟันและเหงือกที่มีสุขภาพดีกลับมาได้ สิ่งที่จะทำได้ก็เพียงแต่ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้สุขภาพช่องปากและฟันมีปัญหารำมะนาด รวมทั้งปัญหาใด ๆ อีก

รํามะนาด

โรคปริทันต์ ป้องกันอย่างไร

          หากไม่อยากเป็นโรครำมะนาดหรือปริทันต์ เราควรป้องกันตัวเองดังนี้ค่ะ

          - รักษาความสะอาดในช่องปากด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี

          - ขัดฟันด้วยไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อช่วยกำจัดคราบพลัคอย่างหมดจด

          - เลิกบุหรี่

          - ตรวจเช็กสุขภาพช่องปากและฟันกับทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน

          ย้ำอีกครั้งว่าหากมีปัญหาสุขภาพช่องปากใด ๆ อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาดนะคะ เพราะความไม่ใส่ใจของเรานั้น อาจทำให้ปัญหาสุขภาพช่องปากบานปลาย เกินเยียวยาก็เป็นได้ ดังนั้นนอกจากจะต้องหมั่นรักษาความสะอาดของช่องปากอย่างที่ดีที่สุดแล้ว ก็ควรใส่ใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับช่องปากและฟันของเราด้วย เพราะหากรู้ทัน ปริทันต์ก็ป้องกันได้

บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปวดฟัน


ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีรักษารำมะนาด หรือโรคปริทันต์ คืนความสุขสู่ฟันกันเถอะ ! อัปเดตล่าสุด 28 เมษายน 2564 เวลา 11:49:35 296,559 อ่าน
TOP