หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน โครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9 เพื่อชาวไทยมียิ้มสดใส

          หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน พระเมตตาอันใหญ่ยิ่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ที่ทรงห่วงใยปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล จึงมีพระราชดำริให้ทันตแพทย์ไปหาประชาชนแทน
โครงการพระราชดำริ

          สมัยก่อนทันตแพทย์ไม่ได้มีจำนวนมากเท่าสมัยนี้ การรับบริการทางทันตกรรมจึงถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของชาวบ้าน โดยเฉพาะประชาชนในถิ่นทุรกันดาร อยู่ห่างไกลชุมชนและตัวเมือง ดังนั้นเมื่อคณะทันตแพทย์ได้ทำพระทนต์ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งถามทันตแพทย์ผู้ถวายการรักษาว่า "เวลาที่เรามีปัญหาเกี่ยวกับฟัน มีทันตแพทย์มาช่วยกันดูแลรักษา แล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลความเจริญ มีหมอช่วยดูแลรักษาหรือเปล่า"

          และเมื่อทรงทราบจากทันตแพทย์ผู้ถวายการรักษาว่า ทันตแพทย์มีน้อย และบางพื้นที่ไม่มีทันตแพทย์เลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จึงรับสั่งว่า "โรคฟันเป็นโรคของทุกคน การที่จะให้ราษฎรผู้ยากไร้ และอยู่ห่างไกลความเจริญ ต้องทิ้งท้องไร่ท้องนา เข้ามารับการรักษาในเมือง คงเป็นไปไม่ได้ น่าที่ทันตแพทย์ จะเดินทางไปดูแลเป็นครั้งคราว"


          ด้วยพระราชดำรัสในครั้งนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้มีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยพระองค์ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟันครบ 1 คัน และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงเจิมรถทันตกรรมเคลื่อนที่คันแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2513 ที่พระราชวังไกลกังวล นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน หนึ่งในโครงการพระราชดำริด้านสาธารณสุขไทย ไว้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกลจากพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของในหลวง รัชกาลที่ 9

โครงการพระราชดำริ

หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน มีภารกิจอะไรบ้าง

          หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน เริ่มออกให้บริการประชาชนที่อำเภอทับสะแก ใกล้เขตแดนพม่าเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2513 โดยดำเนินกิจกรรมการตรวจรักษา ให้บริการทางทันตกรรมตามพระราชดำริ เพื่อให้ประชาชนผู้มีฐานะยากจน และด้อยโอกาสทางสังคมได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยงบประมาณในการดำเนินงานทั้งหมดได้มาจากเงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นการจัดซื้อเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ และการดูแลบำรุงรักษา รวมทั้งการให้บริการรักษาทางทันตกรรม

          ทั้งนี้ในระยะแรก ได้จัดให้มีหัวหน้าทีมทันตแพทย์คอยส่งทันตแพทย์อาสาสมัครครั้งละ 2 คน ออกไปช่วยเหลือ บำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียน และประชาชนที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า แต่ต่อมาได้มีการพัฒนา จากเดิมเคยให้บริการทางทันตกรรมได้วันละ 50-70 คน โดยเป็นการถอนฟันเป็นส่วนใหญ่ ทว่าในระยะหลังสามารถให้บริการทางทันตกรรมได้วันละ 1,200-1,500 คน และสามารถให้บริการทางทันตกรรมได้เทียบเท่าโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เนื่องจากในรถทันตกรรมเคลื่อนที่มีการพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์อยู่ตลอด และยังมีทันตแพทย์ชาวต่างประเทศให้ความสนใจมาเป็นอาสาสมัครในหน่วยทันตกรรมพระราชทานอีกด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายทางอุปกรณ์ทันตกรรม เก้าอี้ทำฟันที่เพิ่มขึ้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายทุกประการ

โครงการพระราชดำริ

          อย่างไรก็ตาม คณะทันตแพทย์อาสาสมัครในหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ จะมีโอกาสได้เข้าเฝ้ากราบพระบาทเสมอ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะทรงเน้นเสมอว่า ควรออกหน่วยในพื้นที่ที่ขาดแคลนทันตแพทย์จริง ๆ โดยประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ในจังหวัดให้แน่ใจว่ามีราษฎรต้องการเข้ารับบริการทางทันตกรรม เพื่อให้ไปแล้วคุ้มทุน ทำให้ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปโดยไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร

          นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระราชกระแสรับสั่งให้ทันตแพทย์รักษาคนไข้ด้วยใจ โดยไม่ใช่ให้บริการทางทันตกรรมเท่านั้น แต่ควรดูว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ เช่น ให้สังเกตว่าขาเจ็บ ตาบวม เจ็บคอ หรือความผิดปกติอื่น ๆ หรือเปล่า เพราะทันตแพทย์ก็เป็นแพทย์เหมือนกัน เรียนมาเหมือนกัน ถ้ารักษาได้ไม่เกินความสามารถก็ควรให้การรักษาไป แต่ถ้ารักษาไม่ได้ ควรให้คำแนะนำส่งต่อไปรักษา แบบนี้ราษฏรก็จะได้รับการดูแลแต่เนิ่น ๆ และควรต้องถามทุกข์สุข เรื่องการทำมาหากิน ถนนหนทาง น้ำท่า เพราะถ้าน้ำไม่มีจะให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้งได้อย่างไร หรือถ้าถนนไม่ดีจะให้มาพบหมอปีละ 2 ครั้งได้อย่างไร

โครงการพระราชดำริ

          ดังนั้นหน่วยทันตกรรมพระราชทานจึงมุ่งเน้นให้การรักษาแบบองค์รวม คือ ไม่รักษาเฉพาะกายอย่างเดียว แต่ต้องดูแลไปถึงจิตใจ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณของราษฎรด้วย

          ทั้งนี้นอกจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะพระราชทานหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ให้คณะทันตแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะแรกแล้ว ต่อมาพระองค์ได้พระราชทานหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ให้คณะทันตแพทย์อีก 6 คณะ ได้แก่
 
โครงการพระราชดำริ

          - คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับหน้าที่ดูแลราษฎรทางภาคเหนือตอนบน

          - คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับหน้าที่ดูแลราษฎรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          - คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับหน้าที่ดูแลราษฎรทางภาคใต้

          - คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รับหน้าที่ดูแลราษฎรทางภาคเหนือตอนล่าง

          - คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รับหน้าที่ดูแลราษฎรทางภาคกลาง

          สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ หรือในพื้นที่ที่ไม่มีถนนเชื่อมต่อ จำเป็นต้องสัญจรทางน้ำเท่านั้น พระองค์ท่านก็โปรดเกล้าฯ ให้สภากาชาดไทยใช้เรือเวชพาหน์ เข้าไปให้การรักษาพยาบาลและการทันตกรรมแก่ชาวบ้าน โดยปัจจุบัน เรือเวชพาหน์ ออกให้บริการทางการแพทย์และทันตกรรมมานานกว่า 62 ปีแล้ว (ทำความรู้จัก เรือเวชพาหน์ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทางน้ำลำเดียวในโลก โครงการพระราชดำริที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา)
 
โครงการพระราชดำริ

          และนอกจากโครงการพระราชดำริ หน่วยทันตแพทย์เคลื่อนที่แล้ว ยังมีโครงการพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎรด้านทันตกรรมอีกหลายโครงการ เช่น

          - รากฟันเทียมข้าวอร่อย ความสุขพระราชทาน จากกระแสพระราชดำรัส... "ไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย”

          - เจลลี่พระราชทาน อีกหนึ่งโครงการของพ่อหลวง ร.9 เพื่อผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก

          โครงการพระราชดำริเหล่านี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีพระเมตตาอันยิ่งใหญ่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทางกระปุกดอทคอมขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ด้วยความอาลัยยิ่ง 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์
สำนักทันตสาธารณสุข
มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน โครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9 เพื่อชาวไทยมียิ้มสดใส อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2561 เวลา 14:53:23 13,363 อ่าน
TOP
x close