กินเจกินอาหารเหล่านี้ได้ไหม เช็ก 20 อาหารยอดฮิตที่หลายคนเข้าใจผิด ทำเจแตก !


          ไม่อยากเจแตกต้องรู้ไว้ กินเจห้ามกินอาหารอะไรบ้าง โดยเฉพาะอาหารเหล่านี้ที่หลายคนคิดว่าไม่มีเนื้อสัตว์ แต่จริง ๆ แล้วมีส่วนผสมบางอย่างที่ทำให้เจแตกมานักต่อนักแล้ว

          สำหรับเทศกาลกินเจในปีนี้ ใครตั้งมั่นว่าจะต้องกินเจให้ครบ 9 วัน ทำบุญด้วยการละเว้นเนื้อสัตว์อย่างจริงจังสักครั้ง หรือกินเจเป็นประจำอยู่ทุกปีก็ตาม อยากให้มาดูค่ะว่าเมนูอาหารไม่เจที่หลายคนคิดว่าเป็นอาหารเจ และเผลอกินจนเจแตกมากันแล้ว มีอะไรบ้าง เผื่อหลายคนคิดไม่ถึงมาก่อนว่าอาหารเหล่านี้ไม่เจ จะได้เลี่ยงเจแตกกันได้ทัน

กินเจ ห้ามกินอะไร


1. น้ำสลัด


กินเจ

          สลัดผักดูเหมือนจะไร้เนื้อสัตว์ แต่หากกินสลัดผักน้ำข้น ในน้ำสลัดนั่นแหละค่ะที่จะทำให้เราเจแตกได้ เพราะมีส่วนผสมของนม ไข่ แล้วยังจะมีนมข้นหวานที่อาจจะเป็นนมข้นหวานผสมครีมเทียมด้วย ดังนั้น หากไม่อยากเจแตกกับเมนูอาหารเจที่ไม่เจแบบนี้ก็เลือกกินสลัดผักล้วนที่มาพร้อมน้ำสลัดใส หรือสลัดผักน้ำมันมะกอกแทน

2. ส้มตำ


กินเจ

          แม้ส่วนประกอบของส้มตำจะมีแต่ผัก แต่ในส่วนของเครื่องปรุงรสนั้นมีทั้งน้ำปลา กระเทียม กุ้งแห้ง ที่เห็นได้ชัดว่าไม่เจแน่ ๆ แล้วหากกินส้มตำรสเผ็ด รสจัดอีก เคสนี้ก็ยิ่งไม่เจเข้าไปใหญ่ เพราะข้อห้ามการกินเจก็มีการห้ามกินอาหารรสจัดด้วยนะคะ

3. เส้นสปาเกตตี-บะหมี่-บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป


กินเจ

          อาหารเส้นจำพวกนี้มักมีส่วนผสมของไข่อยู่ด้วยค่ะ ดังนั้น จึงไม่ใช่อาหารเจแน่นอน นอกจากจะเป็นเส้นหมี่หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่หน้าซองปรากฏธงเจ แบบนั้นก็กินได้โดยไม่ต้องกลัวเจแตก

4. นมถั่วเหลือง


          นมถั่วเหลืองหลายกล่องหลายยี่ห้อมีส่วนผสมของนมโคอยู่ไม่มากก็น้อย ดังนั้น ก่อนจะเลือกดื่มนมถั่วเหลืองในช่วงที่กินเจ ควรอ่านส่วนผสมด้านหลังกล่องสักหน่อย เช็กสักนิดว่าไม่มีส่วนผสมของนมผง นมโค ที่อาจทำให้เจแตก หรือเลือกดื่มนมถั่วเหลืองที่มีคำว่า เจ แปะอยู่บนหน้ากล่องก็ได้

5. นมเปรี้ยว โยเกิร์ต


          นมเปรี้ยวและโยเกิร์ตต่างก็ทำมาจากนมค่ะ ที่สำคัญในนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตก็มีแล็กโทบาซิลลัส แบคทีเรียมีชีวิต ที่จัดว่าเป็นหนึ่งในข้อห้ามการกินเจเช่นกัน

6. กาแฟ ชาเย็น โกโก้

 


กินเจ

          หลายคนอาจข้องใจว่า กินเจกินกาแฟได้ไหม บอกเลยว่ากินได้ แต่ต้องดื่มกาแฟดำที่ไม่ใส่นมข้นหวานหรือครีมเทียม ส่วนโกโก้ ชาเย็น นมเย็น ชาเขียวเย็น ชานมไข่มุก เครื่องดื่มยอดฮิตเหล่านี้มักมีส่วนผสมของนมข้นหวานและครีมเทียม ไม่ใช่เครื่องดื่มเจอย่างแน่นอน

7. เครื่องดื่มมอลต์สำเร็จรูป


          เครื่องดื่มมอลต์สำเร็จรูปไม่ว่าจะแบบกล่อง หรือแบบ 3 in 1 พร้อมชงดื่มเสร็จสรรพ แน่นอนว่ามีส่วนผสมของนมและครีมเทียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ดังนั้น หลีกเลี่ยงไว้เลยดีกว่าไม่ว่าจะเป็นไมโลหรือโอวัลตินก็ตาม

8. น้ำผึ้ง และเครื่องดื่มผสมน้ำผึ้ง


          มะนาวน้ำผึ้ง ชาเขียวเย็นสูตรน้ำผึ้งมะนาว หรือเครื่องดื่มสมุนไพรใด ๆ ก็ตามที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้ง ต้องพึงระวังไว้ว่าอย่าดื่ม ไม่งั้นก็เจแตกไปตามระเบียบ

9. ช็อกโกแลต


กินเจ

          ช็อกโกแลตเป็นสแน็กที่มีส่วนผสมของโกโก้เป็นหลักก็จริง แต่อย่าลืมว่านอกจากโกโก้แล้ว ในช็อกโกแลตส่วนใหญ่ยังผสมนม เนย เพื่อเพิ่มรสชาติความอร่อยด้วยนะคะ แม้ใครจะลองกินดาร์กช็อกโกแลต 70-99% ก็น่าจะไม่พ้นส่วนผสมจากนมไม่มากก็น้อยอยู่ดี แถมยังขมมาก กินยากอีกต่างหาก

10. วุ้น เยลลี่ หมากฝรั่ง ลูกอม

 


กินเจ

          ขนมกลุ่มนี้ก็ไม่เจค่ะ เพราะอะไรก็แล้วแต่ที่มีส่วนผสมของเจลาตินก็มีส่วนผสมของไขมันจากสัตว์ทั้งนั้น ส่วนลูกอมบางยี่ห้อก็มีส่วนผสมของนมและครีมเทียมด้วย ดังนั้น ก่อนจะกินขนมเหล่านี้แนะนำให้ดูส่วนประกอบบนฉลากดี ๆ

11. ไอศกรีม น้ำแข็งไส


กินเจ

          ไอศกรีมส่วนมากจะมีส่วนประกอบของนมและครีมเทียม ทว่าหากเป็นไอศกรีมหวานเย็น หรือซอร์เบต ก็ยังพอจะเป็นไอศกรีมเจได้อยู่ ส่วนน้ำแข็งไสต้องระวังในส่วนของเครื่องที่อาจไม่เจ เช่น ช็อกโกแลต เวเฟอร์ต่าง ๆ เยลลี่ หรือแม้แต่นมข้นหวานที่ราดบนน้ำแข็งเพิ่มความหวานตอนท้ายสุด

12. ขนมไทย


กินเจ

          ขนมไทยหลายชนิดมีส่วนผสมของไข่ เช่น สังขยา ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หม้อแกง ข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวหน้าปลา ขนมผิง ดอกจอก บัวลอยที่อาจใส่ไข่หวานหรือนมสดลงไปด้วย อีกทั้งวุ้นกะทิ ลูกชุบ ซึ่งมีส่วนผสมของเจลาติน หรือแม้แต่ขนมครกหน้าต้นหอม รวมไปถึงขนมครกใบเตย ก็มีส่วนผสมของไข่ด้วยเช่นกัน เผลอกินเมื่อไรก็เจแตกเมื่อนั้นล่ะค่ะ

13. เค้ก คุกกี้ ขนมปัง


กินเจ

          ขนมปังที่ไม่มีคำว่าเจกำกับอยู่อย่าเสี่ยงกินเลยดีกว่า เพราะโดยมากแล้วขนมปังจะมีส่วนผสมของเนยหรือไข่ไก่ โดยเฉพาะขนมปังใส่ไส้ชนิดต่าง ๆ อย่างขนมปังสังขยา ขนมปังราดน้ำผึ้ง ขนมปังชีส เค้ก คุกกี้ โดนัท พาย เป็นต้น รวมทั้งพวกฟาสต์ฟู้ดทั้งหลายอยางพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ด้วยนะ

14. ป๊อปคอร์น ถั่วชนิดต่าง ๆ


กินเจ

          ป๊อปคอร์นเป็นสแน็กที่มีส่วนผสมของเนย บางทีก็ปรุงรสด้วยชีส ส่วนธัญพืชอบอย่างถั่วก็ควรเลือกที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำผึ้งหรืออบเนย จะได้เจไม่แตก

15. ข้าวเกรียบ


          แม้จะเป็นข้าวเกรียบผัก เช่น ข้าวเกรียบฟักทอง แครอต หรือข้าวเกรียบเห็ด แต่ทั้งนี้ก็ต้องอ่านส่วนผสมให้ดี ๆ เพราะข้าวเกรียบส่วนใหญ่จะมีกุ้งแห้งผสมอยู่ด้วย แถมยังมีส่วนผสมของกระเทียมอีกต่างหาก ดังนั้น เลือกกินข้าวเกรียบที่มีคำว่า เจ อยู่บนซองจะดีกว่าค่ะ

16. น้ำปลาหวาน เครื่องจิ้มผลไม้บางชนิด


กินเจ

          เมนูผลไม้ที่ดูห่างไกลจากเนื้อสัตว์ บางทีเราต้องคำนึงถึงเครื่องเคียงหรือเครื่องจิ้มผลไม้ที่มาคู่กันด้วย อย่างมะม่วงน้ำปลาหวาน กระท้อนทรงเครื่อง มะกอกทรงเครื่อง หรือแม้แต่พริกเกลือที่มีส่วนผสมของกะปิ รวมไปถึงพริกเกลือเค็มที่แม่ค้าส่วนใหญ่มักจะผสมผงปรุงรสที่ทำจากเนื้อสัตว์ลงไป เคสนี้ก็ต้องระวังให้ดี

17. ขนมขบเคี้ยว มันฝรั่งทอด


          ขนมขบเคี้ยวนี่ต้องดูส่วนผสมบนฉลากให้ดี ๆ ค่ะ เพราะบางอย่างมีส่วนผสมของนม เช่น เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลต เวเฟอร์อบกรอบเคลือบชาเขียว ที่ดูเหมือนจะเจ แต่จริง ๆ แล้วมีส่วนผสมของนมอยู่เพียบ หรือขนมขบเคี้ยวประเภทแป้งที่มีส่วนผสมของกุ้ง ปลา เป็นต้น ในขณะที่มันฝรั่งทอดบางยี่ห้ออาจมีส่วนผสมของผงกระเทียม หัวหอม ดังนั้น กินเจปีนี้เลี่ยงก่อนแล้วกันเนอะ

18. ขนมปี๊บ


          ขนมปี๊บยอดฮิตอย่างขนมขาไก่ก็ไม่เจนะคะ เพราะมีส่วนผสมของน้ำปลาอยู่ด้วย ไว้สำหรับปรุงรสให้มีรสเค็มขึ้นนั่นเอง

19. เต้าหู้ไข่


กินเจ

          ชื่อก็บอกอยู่ว่าเป็นเต้าหู้ไข่ แต่บางคนอาจเผลอลืมไปว่าเต้าหู้ไข่เป็นอาหารเจ ยิ่งเมื่อนำมาทำเป็นอาหารสำเร็จรูปแล้ว บางทีเราก็อาจจะลืมคิดไปได้ค่ะว่าเต้าหู้ที่กินไปนั้นเป็นเต้าหู้ไข่หรือเต้าหู้ขาวที่ทำจากถั่วเหลืองล้วน ๆ ดังนั้น อยากให้ระวังให้ดีก่อนจะเลือกซื้ออาหารมารับประทานในช่วงเทศกาลกินเจ

20. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์


กินเจ

          เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และของมึนเมาทุกชนิดไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในข้อห้ามการกินเจเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อร่างกายเราอีกมากมาย ฉะนั้นจะกินเจหรือไม่กินเจก็อยากให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะดีกว่า

           ส่วนอาหารบางประเภทที่ดูเหมือนไม่ใช่อาหารเจ อย่างสาหร่าย ผลไม้ดอง สามารถรับประทานได้ เพราะไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์หรือผักต้องห้าม แต่สำหรับซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ต้องระวังสักนิด เพราะบางยี่ห้ออาจผสมเนย น้ำมันหัวหอม หรือน้ำมันกระเทียมลงไปด้วย ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงไว้ก่อนค่ะ

          ตั้งใจมั่นว่าจะกินเจทั้งทีก็อย่าเผลอให้อาหารเหล่านี้ทำให้เจแตกได้นะคะ โดยเฉพาะการปรุงรสในการกินอาหารเจต่าง ๆ อย่างกินก๋วยเตี๋ยวเจแต่ดันเผลอเติมน้ำปลา หรือกินซอสมะเขือเทศ ซอสพริก มายองเนส ที่มีส่วนผสมของกระเทียมและเนย รวมไปถึงการเผลอใส่น้ำมันหอยนางรมลงไปในอาหารเจ แบบนี้ก็ทำให้เจแตกได้ในเสี้ยววินาทีที่ตักอาหารเข้าปากเลยเชียวล่ะ

          อย่างไรก็ดี การกินเจก็อยู่ที่ใจ เมื่อเราตั้งใจจะทำบุญด้วยการไม่เบียดเบียดสัตว์ก็พยายามหลีกเลี่ยงการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตให้เป็นหลัก หรือหากใครสงสัยว่าถ้าเผลอเจแตกไปแล้วจะกลับมากินเจต่อได้ไหม ลองมาหาคำตอบกันเลย

          - เจแตก กินเจต่อได้ไหม ไขข้อสงสัยหากกินเจขาดไป ไม่ครบ 9 วัน

 

บทความที่เกี่ยวข้องกับกินเจ


          -  วิธีล้างท้อง เตรียมตัวให้พร้อมก่อนกินเจ    
          -  ประวัติและตำนานการกินเจ     
          -  ข้อห้ามการกินเจ การกินเจที่ถูกต้อง กินเจห้ามกินอะไรบ้าง    
          -  10 คำถามคาใจเรื่องกินเจ ได้เวลาต้องขอเคลียร์   
          -  ประโยชน์ของการกินเจ เสกสุขภาพดีได้ ไม่ใช่แค่อิ่มบุญ    

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กินเจกินอาหารเหล่านี้ได้ไหม เช็ก 20 อาหารยอดฮิตที่หลายคนเข้าใจผิด ทำเจแตก ! อัปเดตล่าสุด 2 ตุลาคม 2567 เวลา 14:23:25 281,668 อ่าน
TOP
x close