ท้องอืด อึดอัด ไม่ถนัดขับถ่าย อาจเสี่ยงอุจจาระอุดตันในลำไส้ หรือ โรคขี้เต็มท้อง

          เป็นคนถ่ายยาก เหมือนมีอาการท้องผูกแบบเป็น ๆ หาย ๆ ต้องระวังภาวะอุจจาระอุดตันในลำไส้ หรือโรคขี้เต็มท้อง ซึ่งอาจต้องรักษากันยาว...
อุจจาระอุดตัน

          อาการท้องผูกเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และถ้าเราไม่ใส่ใจอาการท้องผูก คิดเอาเองว่าปวดเมื่อไรก็ค่อยถ่าย บอกเลยว่าพฤติกรรมแบบนี้เสี่ยงมาก ๆ ที่จะมีภาวะอุจจาระอุดตันในลำไส้ ซึ่งนอกจากจะทำให้ของเสียตกค้างในร่างกายแล้ว ภาวะอุจจาระอุดตันในลำไส้ยังอาจนำมาซึ่งอาการไม่สบายท้อง เช่น อาการท้องอืด อึดอัด ท้องโต และมีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุดอยู่ตลอดเวลา และหากมีอาการมาก ๆ อาจต้องทำการผ่าตัดรักษาเลยทีเดียว

อุจจาระอุดตัน คืออะไร


          ภาวะอุจจาระอุดตันในลำไส้ คือ ภาวะที่อุจจาระไม่ถูกขับถ่ายออกมา และเกิดการสะสมจนอุจจาระแห้ง แข็ง อัดแน่นกันอยู่บริเวณปลายลำไส้ตรง และร่างกายไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระที่อุดตันได้ ส่งผลให้มีอาการท้องผูกเรื้อรังเป็นเวลานาน

อุจจาระอุดตัน เกิดจากอะไร

          โดยปกติแล้วร่างกายจะขับถ่ายของเสียออกได้เอง แต่ในบางคนก็มีปัญหากับการขับถ่ายจนเกิดภาวะอุจจาระอุดตันในลำไส้ได้ ซึ่งอุจจาระอุดตันในลำไส้ สาเหตุก็มาจากสิ่งเหล่านี้

          - รับประทานผัก ผลไม้น้อย

          - ดื่มน้ำน้อย

          - อั้นอุจจาระบ่อย

          - มีอาการท้องผูก

          - ไม่ออกกำลังกาย

          - มีประวัติผ่าตัดในช่องท้อง

          - กินยาบางอย่างที่ทำให้ท้องผูก

          - มีโรคประจำตัว เช่น โรคไทรอยด์ โรคที่เกี่ยวกับการทำงานของลำไส้ รวมไปถึงโรคทางจิตเวชที่อาจทำให้มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการขับถ่ายผิดปกติไป

อุจจาระอุดตัน

อุจจาระอุดตัน ใครเสี่ยงบ้าง

          - คนที่มีอาการท้องผูกบ่อย กล่าวคือ ไม่ถ่ายติดต่อกัน 3 วัน และเป็นอย่างนี้บ่อย ๆ

          - คนที่มักจะกลั้นถ่ายบ่อย

          - เด็กที่มีพฤติกรรมกลั้นอุจจาระเพราะห่วงเล่น จนไม่ยอมขับถ่ายแม้จะรู้สึกปวดก็ตาม

          - ผู้สูงวัยที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว ทำให้ขับถ่ายไม่สะดวกจนต้องอั้นไว้

อุจจาระอุดตัน อาการเป็นอย่างไร

          * ท้องผูก ถ่ายไม่ออกบ่อยครั้ง

          * ต้องเบ่งอุจจาระทุกครั้งที่ถ่าย

          * ท้องอืด อึดอัดท้อง

          * เจ็บรูทวารเวลาถ่าย

          * ถ่ายมีเลือดปน เนื่องจากอุจจาระแข็งมาก และอาจครูดผนังรูทวารจนเป็นแผลได้

          * อุจจาระเป็นก้อนเล็ก ๆ

          * รู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด

          * ปวดท้องบีบ ๆ เสียด ๆ เมื่อขยับร่างกาย

          * มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน

          หากมีอาการข้างต้นก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาก่อนจะเกิดอาการรุนแรงกว่านี้

อุจจาระอุดตัน

อุจจาระอุดตัน รักษาอย่างไร


          ขั้นแรกแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากอาการที่ผู้ป่วยเป็นก่อน และอาจมีการคลำบริเวณหน้าท้องเพื่อเช็กลำไส้ว่ามีสิ่งผิดปกติอยู่ไหม รวมไปถึงอาจมีการเอกซเรย์เพื่อให้เห็นสิ่งที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งหากพบว่ามีอุจจาระตกค้างในส่วนปลายของลำไส้มาก แพทย์อาจใช้เครื่องมือสวนออก

          หรือหากมีอาการหนัก หรือไม่สามารถนำอุจจาระออกมาจากร่างกายได้ด้วยวิธีอื่น ๆ แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อล้างลำไส้และเคลียร์อุจจาระที่อุดตันอยู่ในลำไส้ให้หมด ซึ่งเคสที่ต้องผ่าตัดยังพบได้น้อยมาก ๆ ค่ะ ทว่าการสวนทวารหนักเพื่อให้ถ่ายอุจจาระก็เป็นสิ่งที่หลายคนไม่อยากเจอเหมือนกัน

อุจจาระอุดตัน อันตรายแค่ไหน

          การที่มีของเสียสะสมอยู่ในร่างกายจำนวนมาก จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้หลายประการ อย่างแรกก็ทำให้การย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้มีอาการท้องอืด และเมื่อท้องอืด ก็ทำให้ไม่สบายตัว ซึ่งอาจส่งผลต่อการนอนหลับ และเมื่อนอนไม่หลับหรือหลับได้ไม่เต็มที่บ่อย ๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดความไม่สบายอื่น ๆ ตามมาอีกมาก

          - 11 โรคที่เสี่ยงเพราะแค่อดนอน ไม่อยากล้มหมอนต้องนอนให้พอ !

อุจจาระอุดตัน ป้องกันได้ไม่ยาก

อุจจาระอุดตัน

          ถ้าไม่อยากโดนสวนทวารหนัก หรือมีอาการท้องผูกจนเสี่ยงภาวะอุจจาระอุดตัน เราก็สามารถป้องกันภาวะอุดจาระอุดตันด้วยวิธี ดังนี้

          1. รับประทานผัก-ผลไม้มาก ๆ

          2. ดื่มน้ำให้ได้วันละ 1.5-2 ลิตร

          3. เคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ

          4. พยายามฝึกร่างกายให้ถ่ายเป็นประจำทุกวัน

          5. เข้าห้องน้ำทันทีที่รู้สึกปวดถ่าย พยายามอย่าอั้นอุจจาระ

          6. พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาระบาย

          7. หากมีอาการท้องผูกบ่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ท้องผูก เพื่อป้องกันไม่ให้เสี่ยงต่อภาวะอุจจาระอุดตันในลำไส้

          เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากพบเจอภาวะอุจจาระอุดตันในลำไส้แน่ ๆ ดังนั้นก็พยายามดูแลตัวเองให้ดี ๆ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน รวมไปถึงการออกกำลังกายนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์-ศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, chulauniversity

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท้องอืด อึดอัด ไม่ถนัดขับถ่าย อาจเสี่ยงอุจจาระอุดตันในลำไส้ หรือ โรคขี้เต็มท้อง อัปเดตล่าสุด 10 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09:44:00 53,405 อ่าน
TOP
x close