ป่วยโรคไหนควรเลี่ยงกาแฟให้ไกล เพื่อความปลอดภัย อาการไม่กำเริบ

           กาแฟ...ใคร ๆ ก็ดื่มได้ แต่สำหรับคนที่มีอาการป่วยบางอย่าง โรคประจำตัวบางโรคก็อาจไม่เหมาะที่จะดื่มกาแฟ เพราะอาจทำให้อาการป่วยแย่ลงกว่าเดิม

โรคที่ห้ามดื่มกาแฟ

        กาแฟเป็นเครื่องดื่มประจำวันที่หลายคนอาจจะเริ่มกินมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปก็อาจมีภาวะเจ็บป่วยบางอย่างเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งทำให้การดื่มกาแฟของเราอาจไม่ฟินเหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะดื่มกาแฟไปก็รู้สึกไม่สบายตัว หรือกระตุ้นอาการป่วย ดังนั้นเพื่อไม่ให้กาแฟมีโทษกับร่างกาย เรามาดูกันค่ะว่าป่วยโรคอะไรควรเลี่ยงกาแฟบ้าง

1. โรคนอนไม่หลับ

        เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่ากาแฟมีคาเฟอีนที่ทำให้รู้สึกตื่นตัว ดังนั้นคนที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง ก็ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ โดยเฉพาะในช่วงหลัง 14.00 น. เป็นต้นไป

2. ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการไม่ได้

โรคที่ห้ามดื่มกาแฟ

        กาแฟมีทั้งคาเฟอีนและสารกลุ่มไดเทอร์พีน ซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มการทำงานของหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้ การดื่มกาแฟในปริมาณมาก จึงอาจทำให้ใจสั่น กระสับกระส่าย และความดันโลหิตเพิ่มขึ้นชั่วขณะ

        ดังนั้นหากมีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว และควบคุมอาการไม่ได้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟปริมาณมากในเวลาใกล้เคียงกัน โดยควรดื่มกาแฟเพียงวันละครั้ง หรือให้ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ เพราะฤทธิ์ของกาแฟจะส่งผลต่อความดันโลหิตได้นานถึง 1-3 ชั่วโมงเลยทีเดียว นอกจากนี้ก็ไม่ควรดื่มกาแฟก่อนไปทำกิจกรรมหนัก ๆ เช่น ไปออกกำลังกาย ไปวิ่ง ไปยกน้ำหนัก เพราะจะยิ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นไปอีก

3. ต้อหิน

              คาเฟอีนมีผลทำให้ความดันตาสูงได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยโรคต้อหินที่จำเป็นต้องควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับดี ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งรวมไปถึงเครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลมด้วยนะคะ แต่ถ้าอยากดื่มก็ได้ ทว่าต้องจำกัดปริมาณคาเฟอีนให้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งกาแฟแก้วเดียวก็เกินแล้วล่ะ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสี่ยงอาการต้อหินหนักกว่าที่เป็นอยู่ งดไปเลยก็ดี

          - 6 อาหารที่มีคาเฟอีนแฝงอยู่ บอกเลยว่าไม่ดื่มกาแฟก็หนีไม่พ้น

4. โรคไขมันในเลือดสูง

        สารในกลุ่มไดเทอร์พีนที่อยู่ในกาแฟส่งผลให้คอเลสเตอรอลโดยรวม LDL คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นคนที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟสดหรือกาแฟต้มที่ไม่ผ่านการกรอง เพราะฤทธิ์กาแฟอาจทำให้ร่างกายคุมระดับไขมันในเลือดได้ไม่ดี

5. โรคกระดูกพรุน

โรคที่ห้ามดื่มกาแฟ

        คาเฟอีนมีฤทธิ์เพิ่มการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกลดน้อยลง และแม้จะไม่ร้ายแรงจนทำให้กระดูกบางมากเสี่ยงต่อการแตกหัก แต่ในคนที่เป็นโรคกระดูกพรุนค่อนข้างรุนแรง หรือได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ก็ควรระวังโทษของกาแฟในข้อนี้ด้วย

6. ภาวะวัยทอง

        ผู้สูงอายุควรงดดื่มกาแฟจะดีต่อสุขภาพมากกว่า เพราะฤทธิ์ของกาแฟทั้งกระตุ้นความดันโลหิต อาจกระตุ้นการเกิดไขมันเลวในร่างกาย ที่สำคัญยังเพิ่มการขับแคลเซียมของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนได้มากขึ้น

        - อาหารวัยทอง ควรกิน ควรเลี่ยงอะไร ให้สบายทั้งกายและใจ

7. โรคกระเพาะอาหารที่อาการรุนแรง

โรคที่ห้ามดื่มกาแฟ

        เราอาจเคยได้ยินมาบ้างว่าไม่ควรดื่มกาแฟตอนท้องว่าง เพราะกาแฟอาจกัดกระเพาะอาหาร ทว่าในหลายงานวิจัยก็ไม่พบว่ากาแฟมีฤทธิ์ทำให้อาการปวดท้อง หรืออาการจากโรคทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เป็นแผลในกระเพาะอาหาร แพทย์อาจสั่งงดการดื่มกาแฟเป็นราย ๆ ไป เพื่อไม่ให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลงไปอีก

8. ลำไส้แปรปรวน

              สำหรับผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟเช่นกัน เพราะอาจทำให้รู้สึกปั่นป่วนในท้อง เพราะกาแฟอาจไปกระตุ้นอาการปวดท้องและอาการท้องเสียได้

9. โรคเบาหวาน


โรคที่ห้ามดื่มกาแฟ

        กาแฟมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นคนที่เป็นเบาหวานแบบที่ควบคุมไม่ได้ แนะนำว่าเลี่ยงการดื่มกาแฟจะดีกว่า แต่สำหรับคนที่ควบคุมน้ำตาลได้ดีมาตลอด แพทย์ก็ไม่ได้ห้ามนะคะ เพียงแต่จะแนะนำว่าอย่าเติมน้ำตาล นม หรือครีมเยอะเกินไป รวมทั้งอย่าดื่มในปริมาณมากด้วย

10. คนที่มีภาวะขาดวิตามินบี 1

        ถ้ามีภาวะขาดวิตามินบี 1 ควรงดดื่มกาแฟไปเลย เพราะกาแฟจะยิ่งไปลดการดูดซึมวิตามินบี 1 และยังกระตุ้นการขับวิตามินบี 1 ออกทางปัสสาวะ ทำให้ระดับวิตามินบี 1 ในเลือดลดลง ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาหลอดเลือด ระบบสมอง ประสาท และหัวใจตามมาด้วย

        - 13 สัญญาณว่าคุณกำลังขาดวิตามินบี 1 รู้ให้ทัน ป้องกันการเสียชีวิต

11. หญิงตั้งครรภ์

โรคที่ห้ามดื่มกาแฟ

        คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรงดกาแฟไปก่อน เพราะกาแฟจะไปดึงแคลเซียมของคุณแม่ออกมา มีผลต่อทารกในครรภ์ที่ต้องการแคลเซียมเพื่อสร้างกระดูก ขณะเดียวกัน ฤทธิ์ของกาแฟอาจทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ หรือคลอดก่อนกำหนดได้ ทั้งยังมีการศึกษาที่กล่าวถึงความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร

          นอกจากนี้ หญิงให้นมบุตรก็ควรงดกาแฟด้วยเช่นกัน เพราะกาแฟจะไปดึงแคลเซียมออกจากน้ำนมแม่ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับแคลเซียมน้อยลง ขณะที่คาเฟอีนจะถูกขับออกมาทางน้ำนมได้ และอาจกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ทารกมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น นอนน้อยลง ตื่นง่าย กระสับกระส่าย งอแง อยู่ไม่สุข ดูดนมได้ไม่ดี เป็นต้น

ดื่มกาแฟอย่างไร ไม่เสียสุขภาพ 

โรคที่ห้ามดื่มกาแฟ

        เราควรดื่มกาแฟวันละกี่แก้ว คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญที่หลายคนข้องใจมานาน ซึ่งหลายการศึกษาก็พบว่า คนที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว สามารถดื่มกาแฟวันละ 3-4 แก้ว หรือรับคาเฟอีนได้ไม่เกิน 300-400 มิลลิกรัม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟที่ผสมครีมเทียมหรือน้ำตาลในปริมาณมากเกินไป เพราอาจเพิ่มไขมันและน้ำหนักตัวได้ นอกจากนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ก็ขอย้ำอีกทีว่าอย่าดื่มกาแฟหลังเวลา 14.00 น. นะคะ

        ถึงแม้ผู้ป่วย หรือคนที่มีภาวะของบางโรคอยู่อาจไม่ควรดื่มกาแฟ แต่ก็ไม่อยากให้มองกาแฟเป็นผู้ร้าย เพราะจริง ๆ แล้วหากดื่มอย่างเหมาะสม กาแฟก็มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ไม่น้อยเลย

        - 9 ข้อดีของกาแฟ ดื่มอย่างเหมาะสม สุขภาพก็แจ่มใส

ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ชัวร์ก่อนแชร์, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ป่วยโรคไหนควรเลี่ยงกาแฟให้ไกล เพื่อความปลอดภัย อาการไม่กำเริบ อัปเดตล่าสุด 6 มีนาคม 2564 เวลา 14:04:38 128,316 อ่าน
TOP
x close