คำว่า Erotomania คือ ภาวะหลงผิดเฉพาะอย่าง ที่จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อว่า Etienne Esquirol ให้คำจำกัดความขึ้นมาเมื่อปี 1819 แต่นอกจากจะเรียกว่า Erotomania ก็ยังมีชื่อ Clérambault syndrome ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกในวงกว้างมากกว่า
โดยอีโรโทมาเนีย (Erotomania) จัดเป็นภาวะหลงผิด (Delusion Disorder) ซึ่งเป็นการหลงผิดคนละกลุ่มกับอาการที่เกิดกับผู้ป่วยจิตเภท ผู้ป่วยจะหลงผิดอย่างจริงจังว่ามีคนมาหลงรักเรา มโนว่าเป็นแฟนกับคนนั้นคนนี้ โดยที่ทั้งหมดเป็นแฟนทิพย์ สามีทิพย์ จากการคิดไปเองล้วน ๆ ความจริงคือแทบไม่รู้จักหรือได้เข้าใกล้คนที่เรามโนถึงด้วยซ้ำ หรืออาจเป็นคนใกล้ตัวก็ได้
เช่น เชื่ออย่างสนิทใจว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นแฟนเรา หรือเชื่อว่าตัวเองเป็นแฟนกับดารา ไอดอล หรือคนดัง คนที่ร่ำรวย สูงส่งกว่าเรา ทั้งที่ยังไม่เคยเจอเขาตัวเป็น ๆ เลยสักที ต่อมานักวิชาการจึงบัญญัติภาวะคิดไปเองว่าเป็นแฟนกับดารา หรือคลั่งคนดังมาก ๆ ด้วยคำว่า A romantic delusion เพิ่มขึ้นมาด้วย
สาเหตุของภาวะอีโรโทมาเนีย (Erotomania) อาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้
* เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากโรคจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง หรืออัลไซเมอร์
* ภาวะเครียดรุนแรง โดยเฉพาะความเครียดจากการสูญเสียคนรัก หรือการผิดหวังที่รุนแรง
* เป็นผลข้างเคียงจากโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะเนื้องอกในสมอง มะเร็งสมอง
นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ยังมีกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ด้วย
* คนที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
* คนที่รู้สึกโดดเดี่ยว หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม
* คนที่ชอบแยกตัวออกจากสังคม
* คนที่มองมุมมองของผู้อื่นบกพร่อง ผิดเพี้ยนไป
* คนที่มีภาวะหลอนจากการเสพติดสุราและยาเสพติด
* คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมาก่อน
อย่างไรก็ตาม จากสถิติทางการแพทย์พบว่า เพศหญิงมีความเสี่ยงเป็น Erotomania มากกว่าเพศชายด้วยนะคะ
อาการ Erotomania หรือโรคมโนว่าคนอื่นมาหลงรักตัวเอง แบบชัด ๆ จะสังเกตได้ดังนี้
1. คลั่งไคล้เขามากจนนั่งดูรูป ดูคลิปได้ทั้งวัน
2. ส่งข้อความ จดหมายรัก ของขวัญ ให้แฟนในมโนเสมอ ๆ
3. ปักอกปักใจเชื่ออย่างแรงกล้าว่ากำลังคบหากันอยู่
4. พยายามติดต่อกับแฟนในมโนอย่างดื้อด้าน แม้เขาจะไม่รับโทรศัพท์ หรือไม่ยอมพูดด้วย ก็ยังตื๊อไม่เลิก หรือมีพฤติกรรมสะกดรอยตาม
5. เชื่อสนิทใจว่าท่าทาง สายตา หรือคำพูดบางอย่างของใครคนนั้นสื่อถึงเรา หรือเขากำลังส่งสัญญาณบอกรักเราอย่างลับ ๆ หรือหากโดนคนนั้นปฏิเสธก็จะคิดว่าเขาอยากให้ความสัมพันธ์ของเราเป็นความลับ ไม่อยากเปิดเผยให้ใครรู้
6. จะมีอาการไม่พอใจมากหากใครมายุ่งกับแฟนในมโนของตัวเอง
7. อาจคุกคามคนที่คิดว่าเป็นแฟนตัวเอง หรือทำร้ายคนที่มายุ่งกับแฟนในมโนของตัวเองได้
8. ใช้เวลาไปกับเรื่องของคนรักทิพย์จนเสียการเสียงาน รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง
ทั้งนี้ หากมีพฤติกรรมดังกล่าวนานต่อเนื่องกัน 6 เดือน หรือลากยาวเป็นปี จะจัดว่าอาการน่าเป็นห่วง และควรรีบพบจิตแพทย์เพื่อรักษา เพราะอาจทำให้มีอาการทางจิตอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น เป็นโรควิตกกังวล โรคคลั่งผอมเพราะอยากสวยดูดี หรือติดสุรา สารเสพติด
Erotomania รักษาได้ด้วยวิธีทางจิตวิทยา ดังนี้
* การบำบัดจิต และการปรับพฤติกรรม
* รักษาด้วยยา เช่น ยาต้านเศร้า หรือยาปรับอารมณ์
* หากมีโรคอื่น ๆ เกี่ยวข้องด้วย แพทย์อาจรักษาจากต้นเหตุของอาการ หรือบรรเทาโรคนั้นเพื่อให้อาการหลงผิดเบาลง เช่น หากติดสารเสพติดหรือสุรา ก็จะรักษาอาการเสพติดให้หาย เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเวช
- โรคหลอกตัวเอง มโนเก่ง เบ่งเต็มโซเชียล คนรอบข้างคุณป่วยอยู่ไหมนะ ?
- โรคมโน อาการทางจิตของคนชอบคิดเพ้อเจ้อ ขี้โกหกเพราะป่วย !
- โรคหลงตัวเอง (Narcisisitic) เช็กสิคุณแค่มั่นหน้า หรือมีอาการป่วย ?
- ชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย เสพติดศัลยกรรมด้วย ระวังป่วยโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง
- 9 สัญญาณป่วยโรคคิดว่าตัวเองเก่งไม่จริง Imposter syndrome
- เช็ก 11 สัญญาณเตือนป่วยจิตเวช มีอาการเหล่านี้พบแพทย์เถอะ
- โรคทางจิตเวช หรืออาการป่วยทางจิต มีอะไรบ้าง ทำไมคนยุคนี้ป่วยกันเยอะ ?
- รวมศูนย์ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เครียด กังวลใจ พบจิตแพทย์ที่ไหนดี
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสุขภาพจิต
webmd.com
medicalnewstoday.com
healthline.com