โรคทางจิตเวช หรืออาการป่วยทางจิต มาดูกันว่า มีโรคอะไรบ้าง และวิธีการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ เหล่านี้กันค่ะ

ปัจจัยทางชีวภาพ
-
ความผิดปกติของวงจรเซลล์ประสาท : โดยเฉพาะเซลล์ประสาทที่มี “สารสื่อประสาท (Neurotransmitters)” ซึ่งการมีสารเคมีนี้มากหรือน้อยเกินไป จะส่งผลต่อการทำงานของสมองในด้านความคิด การรับรู้ และการใช้ชีวิตในสังคมได้
-
พันธุกรรม : ครอบครัวที่สมาชิกมีอาการป่วยทางจิต ก็จะมีแนวโน้มเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากความผิดปกติบางอย่างอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม อีกทั้งปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด การล่วงละเมิด หรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ อาจส่งผลกระทบหรือกระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิตในคนกลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น
-
การติดเชื้อ : เชื้อโรคบางอย่าง เช่น ไวรัสหรือแบคทีเรียบางตัว อาจเป็นสาเหตุทำให้เซลล์สมองเสียหาย ส่งผลให้เกิดโรคทางจิตเวช หรือกระตุ้นให้อาการแย่ลงได้
-
อาการผิดปกติหรือการบาดเจ็บของสมอง : เช่น โรคสมองเสื่อม เนื้องอกในสมอง หรือโรคทางกายที่ทำให้การทำงานของสมองผิดปกติอย่างโรคลมชัก ความผิดปกติของสมองที่เกิดจากการใช้ยารักษาโรค สารเสพติด สารพิษ รวมถึงอาการบาดเจ็บทางสมองจากอุบัติเหตุ เหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคจิตเวชได้เช่นกัน
-
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์และก่อนคลอด : มีผลทำให้สมองของทารกในครรภ์หยุดทำงานไปชั่วขณะ เช่น ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ อาจจะทำให้เด็กเกิดมามีอาการออทิสติก
ปัจจัยทางด้านจิตใจ
-
ความบอบช้ำทางจิตใจอย่างรุนแรงในวัยเด็ก เช่น การถูกล่วงละเมิดทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือการล่วงละเมิดทางเพศ
-
เหตุการณ์รุนแรงในวัยเด็กที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น พ่อแม่เสียชีวิต หรือประสบอุบัติเหตุ
-
มีความรู้สึกในใจว่าตัวเองดีไม่พอ ขาดความนับถือตัวเอง
ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
-
พ่อแม่หย่าร้าง หรือมีปัญหาในครอบครัว
-
ชีวิตครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ เช่น มีสภาพการเลี้ยงดูที่ไม่ดี ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวย่ำแย่
-
สภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย
-
กลุ่มเพื่อนและคนที่คบหาในสังคม
-
เปลี่ยนงานหรือโรงเรียน
-
ค่านิยมของคนในสังคม เช่น ถ้าเป็นผู้หญิงต้องผอมถึงจะสวย จนส่งผลต่อความคิดว่าไม่อยากกินเยอะ กลัวจะอ้วน หรือต้องโกหกตัวเองและคนรอบข้างว่า ร่ำรวยมีฐานะ เพื่อให้เข้าสังคมได้
-
การติดสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด ทั้งเสพเองหรือคนในครอบครัวเสพ
-
การใช้ยารักษาโรคบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน

การแบ่งประเภทของโรคทางจิตเวชนั้น จะขึ้นอยู่กับเกณฑ์แบ่งของแต่ละระบบ ซึ่งในปัจจุบันเกณฑ์ที่นิยมใช้กันคือ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
-
อาการวิตกกังวล
-
ความผิดปกติทางอารมณ์ อาจจะเป็นแบบซึมเศร้า (Depression) หรือตื่นตัวคึกคัก (Mania หรือ Hypomania)
-
ความผิดปกติทางจิต
-
โรคหรืออาการที่มีสาเหตุมาจากยา สารเสพติด หรือความเจ็บป่วยทางกาย
-
อื่น ๆ เช่น บุคลิกภาพผิดปกติ ความผิดปกติทางกายที่มีสาเหตุมาจากจิตใจ ความผิดปกติทางการนอน หรือทางเพศ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังอาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
-
กลุ่มโรคจิต (Psychosis) ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น หลงผิด ประสาทหลอน
-
กลุ่มโรคประสาท (Neurosis) ที่ผู้ป่วยจะไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติออกมาจนสังเกตได้
-
เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับผู้อื่น หรือชอบแยกตัวออกจากสังคม
-
เหม่อลอยบ่อย ๆ พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง ถามอย่างตอบอย่าง
-
ความคิดไม่ปะติดปะต่อ
-
พูดจาผิดแปลกไป ใช้ภาษา คำพูด และคำศัพท์แปลก ๆ
-
ยิ้ม หัวเราะโดยไม่มีเหตุผล หรือมีอาการซึม เฉยเมย ไม่แสดงอารมณ์ใด ๆ
-
นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกิน
-
ขาดการดูแลตัวเอง ไม่ใส่ใจหน้าตา การแต่งตัว การรักษาสุขอนามัย
-
ขาดสมาธิ ขาดความสนใจในสิ่งรอบตัว หลงลืม
-
เห็นภาพหลอน เห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น และเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเห็นอย่างจริงจัง
-
หูแว่ว ได้ยินเสียงในหู หลอนว่าได้ยินเสียงแปลก ๆ
-
มีพฤติกรรมผิดปกติจนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่สามารถไปเรียน ทำงาน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ขาดงาน ขาดเรียน เรียกได้ว่าประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ ถ้าสังเกตตัวเองและคนรอบข้างว่ามีอาการอย่างน้อย 3 อาการขึ้นไป และเป็นอาการต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน ถึงจะวินิจฉัยได้ว่ามีความผิดปกติ และควรไปพบจิตแพทย์นะคะ
โรคทางจิตเวช มีอะไรบ้างที่พบบ่อย
1. โรควิตกกังวลทั่วไป
โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder : GAD) เป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่ง ผู้ป่วยมักจะกังวลแบบระบุสาเหตุไม่ได้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ งาน เงิน ครอบครัว รวมถึงเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมีความหวาดระแวงในเรื่องที่เกินจริง เช่น กลัวว่าจะเกิดภัยพิบัติ
อาการที่สังเกตได้ของผู้ป่วยโรควิตกกังวลทั่วไป เช่น รู้ตัวว่ามีความกังวลหรือระแวงในเรื่องต่าง ๆ รอบตัว แต่ไม่สามารถหยุดความคิดนั้นได้ กระสับกระส่าย ร่างกายอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิ นอนหลับยากหรือหลับ ๆ ตื่น ๆ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ซึ่งต้องมีอาการอย่างน้อย 6 เดือน โดยอาการทางกายเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ และกระทบกับการทำงานหรือการเรียน รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันปกติ นอกจากนี้ยังอาจจะมีปัญหาเรื่องอารมณ์อื่น ๆ เช่น การกลัวหรือไม่ชอบเข้าสังคม หรือเป็นโรคซึมเศร้า เป็นต้น
2. โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองชื่อ เซโรโทนิน (Serotonin) มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้ายบ่อยครั้ง ทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง โรคนี้เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยทั้งจากกรรมพันธุ์ พัฒนาการของจิตใจ และสิ่งแวดล้อมที่เผชิญ รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัว ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
อาการที่สังเกตได้ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้) ไม่ค่อยมีความสนใจหรือเพลิดเพลินในกิจกรรมต่าง ๆ น้ำหนักเปลี่ยนแปลง เช่น ลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมากผิดปกติ นอนไม่หลับหรือนอนมากไป กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด รู้สึกตนเองไร้ค่า ไม่เป็นที่ต้องการ ไม่มีประโยชน์ ทำอะไรก็ไม่ดี คิดอยากตาย ในผู้ป่วยที่เป็นหนักต้องระวังให้มาก เพราะมีโอกาสคิดสั้นฆ่าตัวตายสูงมาก
- เช็กอาการโรคซึมเศร้า นี่เราป่วยอยู่ไหมนะ แล้วจะรักษาอย่างไร
- เช็ก ! แบบทดสอบโรคซึมเศร้า ดูว่าเราเสี่ยงป่วยหรือไม่ ?
- โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น ความเปราะบางของวัย กับโรคทางใจที่น่าเป็นห่วง
- เช็กอาการโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ...เรื่องใกล้ตัวที่คนใกล้ชิดต้องใส่ใจ
- โรคซึมเศร้า ควรกิน-ควรเลี่ยงอาหารอะไร ไม่อยากซ้ำเติมอาการของโรคต้องรู้ !
- 13 วิธีเอาชนะอารมณ์ซึมเศร้า ทำได้ง่ายจนคุณคาดไม่ถึง
- 10 ดาราเคยป่วยโรคซึมเศร้า แต่เอาชนะโรคนี้ได้ กลับมาสดใสอีกครั้ง
3. โรคไบโพลาร์

โรคไบโพลาร์ (Bipolar) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคทางด้านอารมณ์กลุ่มเดียวกับโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีลักษณะอารมณ์ช่วงหนึ่งเป็นแบบครื้นเครง รื่นเริง สนุกสนาน สลับกับภาวะซึมเศร้าอีกช่วงหนึ่ง สาเหตุของโรคเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยมีสารสื่อนำประสาทที่ไม่สมดุลคือ มีสารเซโรโทนิน (Serotonin) น้อยเกินไป และสารนอร์เอพิเนฟริน (Epinephrine) มากเกินไป นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด และการใช้สารเสพติดด้วย
อาการของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์นั้นจะมีทั้งแบบที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ เรียกว่า Mania หมายถึงอารมณ์สนุกสนาน ร่าเริง ครื้นเครงเกินกว่าปกติที่ควรจะเป็นโดยไม่มีเหตุผล ช่างพูดช่างคุย คุยได้ไม่หยุด และไม่ชอบให้ใครมาขัด ถ้ามีคนขัดใจจะหงุดหงิด ก้าวร้าว และแบบอารมณ์ซึมเศร้า เรียกว่า Depression หมายถึงอารมณ์เบื่อหน่าย ท้อแท้ หดหู่ ไม่อยากทำอะไรเลย เศร้าซึม หม่นหมอง รู้สึกด้อยค่า คล้ายกับอาการของโรคซึมเศร้า
4. โรคแพนิก

โรคแพนิก (Panic Disorder) คือ ภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแบบไม่มีเหตุผล จริง ๆ แล้วอาการแพนิกไม่อันตราย แต่มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กลัวการอยู่คนเดียว ไม่กล้าไปไหนคนเดียว หรือกลัวโรคกำเริบขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ สาเหตุของโรคแพนิกอาจจะเกิดได้ทั้งปัจจัยทางร่างกาย ที่เกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า อะมิกดาลา ทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดความคิดและพฤติกรรมที่ตื่นตระหนกผิดปกติไป และปัจจัยทางจิตใจ เช่น เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายหรือรุนแรงในชีวิตมา
เมื่อเกิดแพนิกขึ้นมา ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจขัด หายใจลำบาก เวียนหัว ท้องไส้ปั่นป่วน มือชา เท้าชา เหงื่อแตก รู้สึกเหมือนควบคุมตัวเองไม่ได้ และกลัวเหมือนตัวเองกำลังจะตาย หรือจะเป็นบ้า ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดแบบทันทีทันใด แล้วค่อย ๆ รุนแรงขึ้น จากนั้นอาการจะสงบลงได้เอง
5. โรคจิตเภท
โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นอาการผิดปกติของสมองที่ส่งผลต่อการรับรู้และความคิดที่แตกต่างและผิดไปจากความเป็นจริง เช่น ประสาทหลอน ได้ยินเสียงหรือเห็นภาพหลอนต่าง ๆ หรือคิดไปเองว่าจะมีคนมาทำร้าย ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคจิตเภทส่วนใหญ่มักเริ่มต้นมีอาการตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น รักษาไม่หายขาด มักจะมีอาการกำเริบอยู่บ่อยครั้ง
อาการของโรคจิตเภท สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอาการด้านบวก ซึ่งจะเป็นความผิดปกติทางด้านความคิด การรับรู้ การสื่อสาร และพฤติกรรม เช่น หลงผิด หวาดระแวง ฝังใจ เกิดภาพหลอน หูแว่ว ประสาทหลอน คิดว่ามีคนพูดหรือสั่งให้ทำสิ่งต่าง ๆ รวมถึงมีพฤติกรรมที่ผิดแผกแปลกไปจากเดิม และกลุ่มอาการด้านลบ จะเป็นภาวะความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่ลดน้อยลงจากสิ่งที่คนทั่วไปจะมี เช่น พูดน้อย ไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์ หน้าตาเฉยเมย ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ขาดความกระตือรือล้น เฉื่อยชา เก็บตัว ไม่ชอบแสดงออก
6. โรคจิตหลงผิด
โรคจิตหลงผิด (Delusional Disorder) เดิมเรียกว่า โรคหวาดระแวง (Paranoia หรือ Paranoid Disorder) เป็นอาการที่ผู้ป่วยจะหลงผิด ปักใจเชื่อบางสิ่งบางอย่าง โดยไม่ว่าจะมีหลักฐาน เหตุผล หรือคำชี้แจงใด ๆ ที่น่าเชื่อถือมาโต้แย้ง ผู้ป่วยก็ยังจะคงฝังใจเชื่อสิ่งนั้นอยู่ สาเหตุของโรคจิตหลงผิด อาจจะเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ด้านจิตใจ ที่ต้องการปิดกั้นจากโลกภายนอก หรือไม่มีความไว้วางใจต่อคนรอบข้าง ด้านสังคม และด้านชีวภาพ ที่เกิดจากสื่อประสาทในสมองชื่อ สารโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน ได้ฟัง มีมากเกินไป ทำให้ไม่สมดุล
อาการของโรคจิตหลงผิด มีหลากหลายประเภท เช่น หลงผิดคิดว่ามีคนมาหลงรัก แอบชอบ หลงเชื่อว่าตนเองมีพลังวิเศษเหนือธรรมชาติ หลงผิดว่าคนรักนอกใจ และระแวงว่ากำลังถูกปองร้าย หรือมีคนต้องการกลั่นแกล้ง ทำร้าย รวมถึงหลงผิดเกี่ยวกับร่างกายของตนเองว่าผิดปกติกว่าคนอื่น หรือกำลังป่วยเป็นโรคร้ายอยู่
7. โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง
โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง หรือโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น อยู่ในเหตุการณ์วินาศกรรม จลาจล สึนามิ ดินโคลนถล่ม บ้านพัง ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรมทางเพศ ถูกโจรปล้น พบเห็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ถูกขังเป็นเวลานาน หรือแม้กระทั่งบางคนที่ไม่ได้ประสบเหตุการณ์ร้าย ๆ แต่เกิดความรู้สึกตื่นกลัวจากการได้ยินหรือดูข่าว จนเกิดความเครียดและมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตามมา
สำหรับอาการป่วยทางจิตจากภาวะเครียดที่เจอเหตุการณ์สะเทือนใจนั้นจะแสดงอาการออกมา 2 ระยะ โดยระยะแรกเรียกว่า โรคเครียดเฉียบพลัน (Acute Stress Disorder (ASD)) จะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังเหตุการณ์และอาจจะหายเองได้ แต่ถ้าเกิน 1 เดือนแล้วยังมีภาวะดังกล่าวอยู่ ก็จะกลายเป็นโรค PTSD ซึ่งจะมีอาการต่าง ๆ คือรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นกำลังจะเกิดขึ้นอีก ยังตามมาหลอกหลอน รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเองและตกใจกลัว (Flash back) หลับตาหรือนอนหลับฝันทีไรก็ยังเห็นภาพนั้น และเมื่อมีอะไรมากระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น จะรู้สึกกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง ใจสั่น ตกใจง่าย สะดุ้งง่าย ไม่มีสมาธิ เครียดง่ายกับเรื่องธรรมดา รวมถึงหลีกเลี่ยง ไม่พูด ไม่นึกถึง หรือไม่ทำกิจกรรมที่จะทำให้คิดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเลย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรค PTSD อาจจะมีอาการอื่น ๆ เช่น ซึมเศร้า โทษตัวเองว่ามีส่วนทำให้เกิดเหตุร้าย หรือรู้สึกผิดที่หนีเอาตัวรอด (Survivor Guilt) วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ ติดแอลกอฮอล์ หงุดหงิดง่าย ทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตายด้วย
8. โรคกลัว

โรคกลัว (Phobia) เป็นโรคความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยมักจะแสดงอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือสถานการณ์เฉพาะ ซึ่งจะเป็นไปอย่างไร้เหตุผล และจะกลัวเฉพาะสิ่งเร้าบางอย่างเท่านั้น เช่น กลัวที่แคบ กลัวรู กลัวเข็ม กลัวการขาดโทรศัพท์มือถือ กลัวเสียง กลัวทะเล กลัวการอยู่คนเดียว กลัวคนต่างชาติ กลัวการเข้าสังคม ซึ่งสาเหตุของโรคนี้ ยังไม่มีระบุทางการแพทย์อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความหลังที่ติดค้างในจิตสำนึกหรือปมในอดีตที่ฝังใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่ดีกับสิ่งนั้น ๆ
ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลัว มักจะมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน หรือเมื่อพบสิ่งที่กลัว ได้แก่ กล้ามเนื้อหดเกร็ง รู้สึกชาวูบขึ้นมาทั้งตัว ปวดศีรษะ ใจสั่น หายใจไม่ทัน หายใจไม่ทั่วท้อง มือสั่น ปากสั่น เหงื่อออก อาจมีอาการรู้สึกวิงเวียนและหมดสติได้
9. โรคย้ำคิดย้ำทำ

โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรค OCD (Obsessive-Compulsive Disorder) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดซ้ำ ๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลใจ และต่อยอดมาถึงการตอบสนองทางความคิดด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เพื่อลดความวิตกกังวลนั้นให้หายไป ซึ่งผู้ป่วยก็รู้ตัวว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่มีเหตุผล แต่ก็หยุดความคิดและการกระทำนี้ไม่ได้ ทั้งนี้สาเหตุของโรคนี้เกิดได้ทั้งจากปัจจัยชีวภาพ เช่น ความผิดปกติของการทำงานของสมองและระบบประสาท รวมถึงพันธุกรรมด้วย และปัจจัยด้านพฤติกรรมการเรียนรู้และความกลัว เช่น กลัวโชคร้าย กลัวความสกปรก เป็นต้น
อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามอาการ คือ อาการย้ำคิด ผู้ป่วยจะมีความคิดและความรู้สึกวนไปวนมา เช่น ปิดประตูสนิทหรือเปล่า ปิดเตาแก๊สหรือยัง หรือมีความคิดว่าตัวเองทำอะไรผิดไป ทำให้เกิดความกังวล ไม่สบายใจ และอาการย้ำทำ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลมาจากอาการย้ำคิด ทำให้ผู้ป่วยต้องทำกิจกรรมที่กังวลนั้นบ่อยครั้งเกินความจำเป็น เช่น เดินไปปิดประตูอีกครั้ง เช็กว่าปิดเตาแก๊สแล้ว 2-3 รอบ หรือล้างมือซ้ำ ๆ แม้อาการต่าง ๆ จะไม่ได้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ทำให้เกิดความรำคาญใจได้ หรือถ้าเป็นมากเข้า ก็อาจจะทำให้เสียการเสียงาน และเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้
10. โรคคิดไปเอง
โรคคิดไปเองว่าตัวเองป่วย หรือโรคไฮโปคอนดริเอซิส (Hypochondriasis) เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีความกังวลและหมกมุ่นกับปัญหาสุขภาพมากเกินไป เมื่อเกิดความผิดปกติในร่างกายเล็กน้อยก็มักจะคิดกลัวอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองจะป่วยเป็นโรคร้ายแรง หรือบางครั้งอาจจะไม่มีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ โรคนี้มักพบได้บ่อยในกลุ่มคนอายุระหว่าง 20-30 ปี ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากความเครียดจนส่งผลถึงปัญหาสุขภาพของตัวเอง
อาการของโรคคิดไปเองในเบื้องต้น คือ หมกมุ่น กังวลว่าตัวเองจะป่วยด้วยโรคร้ายแรงตลอดเวลา และแม้จะเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ได้ผลวินิจฉัยแล้วว่าไม่มีความผิดปกติใด ๆ ก็ยังกลัวอยู่ดี และความรู้สึกกลัวเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คนรอบข้างเริ่มเอือมระอา จนกระทั่งมีปัญหากับการเข้าสังคมได้
11. โรคหลงตัวเอง

โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) หรือ "นาซิซีติส" (Narcisisitic) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า NPD คือ อาการที่ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกหลงใหลในรูปโฉมของตัวเอง รวมถึงความเห็นแก่ตัว ความรู้สึกอยากเป็นที่หนึ่ง อยากเป็นจุดสนใจ หรือความคิดที่ว่าตัวเองทำอะไรก็ไม่ผิด ซึ่งอาจจะเกิดจากการสั่งสอนแบบผิด ๆ มาตั้งแต่เด็ก พันธุกรรมหรือความผิดปกติของยีน รวมทั้งความเครียดและการถูกกดดันจากครอบครัว รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่จนทำให้ต้องรักตัวเองมาก ๆ เป็นการทดแทน
คนที่ป่วยโรคหลงตัวเองมักจะมีอาการแสดงออก ดังนี้
- คิดแต่เรื่องของตัวเอง แถมยังชอบพูดถึงตัวเองในแง่ดีบ่อย ๆ
- ชอบเรียกร้องความสนใจ อยากเป็นคนสำคัญตลอดเวลา
- คิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ ทุกคนต้องให้ความสนใจ
- ชอบเพ้อฝันถึงเรื่องเกินจริง คิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น และต้องได้รับแต่สิ่งดี ๆ
- มีอารมณ์แปรปรวน มักจะไม่พอใจอะไรบ่อย ๆ ไม่แคร์และไม่สนใจความรู้สึกของคนรอบข้าง
- ต้องการที่จะชนะทุกสิ่งอย่างบนโลกนี้ โดยไม่สนว่าอะไรจะผิดจะถูก
- คิดว่าตัวเองมีแต่คนอิจฉา หรือรู้สึกอิจฉาคนรอบข้างบ่อยครั้ง
- ต้องการมีอำนาจ ต้องการคำชมเชย และอยากเป็นที่รักของคนอื่นอยู่เสมอ
- เอาแต่ใจตัวเอง มักจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง อยู่ร่วมกับคนอื่นยาก อ่อนไหวง่าย และมักจะฟูมฟายกับเรื่องที่เสียใจแบบเกินเหตุ
- ทนไม่ได้กับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง และมักจะโทษว่าเป็นความผิดของผู้อื่น
- ชอบที่จะเป็นผู้รับ โดยที่ไม่คิดจะเป็นผู้ให้
ซึ่งอาการดังที่กล่าวมาอาจจะคล้ายคลึงกับอุปนิสัยส่วนตัว จึงจำเป็นต้องเช็กให้ชัวร์ว่ามีอาการเหล่านี้เกิน 5 ข้อหรือไม่ ถ้าเกินก็เข้าข่ายว่าป่วยเป็นโรคนี้แล้วล่ะ
12. โรคหลอกตัวเอง
โรคหลอกตัวเอง (Pathological Liar) คือ อาการผิดปกติทางจิตที่ทำให้ผู้ป่วยพูดโกหกได้เรื่อย ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง ซึ่งสาเหตุของโรคนี้มาจากการแต่งเรื่องหลอกตัวเองเพื่อหลบหนีความจริงที่ไม่อยากรับรู้ จนเข้าใจไปเองว่าเรื่องที่มโนขึ้นมานั้นเป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นจริง ๆ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติทางประสาทและสมอง ผลข้างเคียงจากโรคยั้งใจไม่ได้ ลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมเลียนแบบ และอาการของโรคบุคลิกภาพแปรปรวน เป็นต้น
โรคหลอกตัวเอง อาจจะมีอาการที่แสดงออกตั้งแต่พูดโกหก เกินจริง มโนเก่งอยู่เรื่อย ๆ ถ้ามีคนมาขัดใจหรือลบล้างความคิดในมโนของเขา ก็อาจเกิดความรู้สึกไม่พอใจหรือโกรธขึ้นมา และผู้ป่วยบางรายอาจไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตัวเองแสดงออกหรือพูดออกมาคือเรื่องหลอกลวง เพราะอยู่ในโลกที่ตัวเองสร้างขึ้น
13. โรคคลั่งผอม
โรคคลั่งผอม หรือโรคอะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (Anorexia Nervosa) คือภาวะกลัวอ้วนมากจนเกินไป ถือเป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน หรือภาวะ Eating Disorder สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะย้ำคิดย้ำทำ และมีทัศนคติที่ผิดเกี่ยวกับรูปร่าง รวมถึงการถูกรอบข้างกดดันหรือล้อเลียน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเป็นวัยรุ่นที่มีความอ่อนไหวในเรื่องอารมณ์และความใส่ใจในรูปร่างของตัวเอง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคคลั่งผอมจะเสพติดความผอมมาก ๆ และมีพฤติกรรมกินอาหารน้อยหรือไม่ยอมกินอาหาร พยายามลดน้ำหนักอย่างหนักเพราะกลัวจะอ้วน หรือคิดว่าร่างกายยังผอมไม่พอ แม้จะอดอาหารจนเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกก็ยังคงคิดว่าตัวเองอ้วนอยู่ดี จึงชอบวัดสัดส่วน ชั่งน้ำหนักบ่อย ๆ เบลอ ๆ หลงลืมง่าย อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง เป็นลมบ่อย ประจำเดือนคลาดเคลื่อนหรือขาดเนื่องจากฮอร์โมนแปรปรวน มีอาการหนาวสั่น ผมร่วง นอนไม่หลับ เครียด และบางรายมีพฤติกรรมออกกำลังกายหนักมาก วันละ 4-5 ชั่วโมงติดต่อกัน เป็นต้น
14. โรคฮิสทีเรีย
โรคฮิสทีเรีย (Hysteria) หลายคนจะคิดว่าเป็นโรคขาดผู้ชายไม่ได้ โรคบ้าเซ็กส์ แต่จริง ๆแล้ว โรคนี้เป็นโรคทางจิตเวชในกลุ่ม Somatoform Disorders ซึ่งเป็นอาการทางประสาทชนิดหนึ่ง มี 2 ลักษณะคือ โรคประสาทฮิสทีเรีย (Conversion Reaction) และบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรีย (Histrionic Personality Disorder) ซึ่งเป็นประเภทที่จะพบเจอได้บ่อยที่สุด
คนที่ป่วยโรคฮิสทีเรียแบบบุคลิกภาพผิดปกติมักจะชอบทำตัวเด่น ชอบแสดงท่าทีที่โอเว่อร์แอ็คติ้ง เหมือนเล่นละคร หรือแสดงทางอารมณ์เกินจริง อารมณ์แปรปรวน ไม่คงที่ ไม่ควบคุมอารมณ์ มีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ และในกรณีที่เรียกร้องความสนใจไม่สำเร็จ อาจมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง หรือขู่ทำร้ายตัวเองเพื่อให้ผู้อื่นสนใจเลยก็ได้
15. โรคนิมโฟมาเนีย

โรคนิมโฟมาเนีย (Nymphomania) เป็นโรคที่เกิดในผู้หญิง ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติในการควบคุมพฤติกรรมในเรื่องเพศ ทำให้เกิดความต้องการทางเพศมากกว่าปกติ หรือมีความคลั่งไคล้ในเรื่องเพศนั่นเอง ส่วนผู้ชายที่มีอาการป่วยแบบเดียวกันจะเรียกว่า โรคสไตเรียซิส (Satyriasis) ซึ่งสาเหตุของโรคนี้อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในสมอง เช่น การหลั่งสารสื่อนำประสาท (Neurotransmitters) ในสมองมากกว่าปกติ รวมถึงการเกิดความผิดปกติในสมองตรงบริเวณที่ส่งผลต่อการเกิดความต้องการทางเพศ การขาดสมดุลระหว่างอารมณ์และจิตใจ พันธุกรรม สภาพแวดล้อม ความเครียด และบาดแผลทางจิตใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นต้น
ลักษณะของผู้ป่วยโรคนิมโฟมาเนียที่สังเกตได้อย่างชัดเจน ได้แก่ มีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์กับใครก็ได้ ใช้บริการทางเพศจากการแชต ภาพลามก หรือใช้บริการทางเพศออนไลน์ มีการแสดงออกทางเพศที่ผิดปกติ ชอบโชว์ มักสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ชอบพูดจาลามก และมักจะมีท่าทางในลักษณะว่ามีความต้องการทางเพศตลอดเวลา
16. โรคหลายบุคลิก
โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder) เป็นภาวะความผิดปกติของพฤติกรรมแสดงออกอย่างหนึ่ง โดยมีลักษณะสูญเสียความเป็นตัวตน ความจำในอดีต การรับรู้ในเอกลักษณ์ และประสาทสัมผัส รวมทั้งการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย พูดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกจะเหมือนมีคนหลายคนในร่างคนคนเดียวกัน โดยอาจมี 2-4 บุคลิกภาพหรือมากกว่านั้น ซึ่งแต่ละบุคลิกมีนิสัยต่างกันสิ้นเชิง อาจแตกต่างกระทั่งมุมมอง เพศ การรับรู้ต่อสิ่งรอบตัว และความเชื่อทางศาสนาด้วย
เมื่อผู้ป่วยโรคนี้เปลี่ยนบุคลิกเป็นอีกคนแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรมการพูดจา ตรรกะความคิด ความทรงจำ การเรียนรู้และเข้าใจ การปฏิบัติตัวต่อสิ่งรอบข้าง รวมทั้งสูญเสียการควบคุมตนเอง และมักจะจำไม่ได้หรือสูญเสียความทรงจำในระหว่างที่เปลี่ยนไปเป็นอีกบุคลิก จึงมักจะมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ อยู่เสมอด้วย ทั้งนี้ ช่วงเวลาเปลี่ยนบุคลิกอาจเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ และอาจเกิดขึ้นเพียงนาที ชั่วโมง หรืออาจเป็นวัน ๆ
17. โรคใคร่เด็ก
โรคใคร่เด็ก (Pedophilia) เป็นอาการของผู้ใหญ่ที่มีอารมณ์ทางเพศกับเด็กก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์ ประมาณอายุ 13 ปีลงไป และอาจก่อใหเกิดการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก และการข่มขืน ผู้ป่วยที่เป็นโรคใคร่เด็กส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สำหรับสาเหตุของโรคนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ แต่ก็มีหลายปัจจัย เช่น ผลมาจากพันธุกรรม มีปูมหลังจากการเลี้ยงดูจากครอบครัวในวัยเด็ก เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือโดนข่มขืนในวัยเด็กมาก่อน จนเกิดปมในใจ
สำหรับอาการของโรคใคร่เด็กที่แพทย์วินิจฉัยได้ พบว่า ผู้ป่วยมักมีจินตนาการที่กระตุ้นทางเพศ หรือคิดถึงพฤติกรรมทางเพศที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือเด็ก (อายุ 13 ปีหรือต่ำกว่า) มีความรู้สึกสับสน งุ่นง่าน ลำบากใจ ไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ จนกว่าจะได้ทำตามความปรารถนาของตัวเอง
18. โรคชอบขโมยของ

โรคชอบขโมยของ หรือโรคชอบหยิบฉวย (Kleptomania) เป็นโรคที่ผู้ป่วยไม่สามารถยับยั้งใจหรือควบคุมอารมณ์ต่อแรงกระตุ้นที่จะลักเล็กขโมยน้อยได้ มักเป็นการขโมยแบบที่ไม่มีการวางแผนหรือต้องการทรัพย์สินเงินทอง แค่เกิดความรู้สีกอยากขโมยเท่านั้น ซึ่งสาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าจะเกิดความผิดปกติทางชีวภาพ ทำให้สมองหลั่งสารบางอย่างออกมาเช่นเดียวกับโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรคแพนิก
สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคชอบขโมยของ คือ มักจะขโมยสิ่งของที่ตัวเองไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หรือสิ่งของที่ไม่มีราคาค่างวดอะไร ก่อนลงมือจะมีความเครียดเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่เมื่อลงมือขโมยของแล้ว จะรู้สึกสบายใจ และผ่อนคลายลง เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปอาจจะเกิดความรู้สึกผิด เสียใจ แต่บางรายก็อาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ขโมยของมาแล้วอาจนำของไปเก็บไว้ หรือทิ้งไป หรือเอาไปคืนที่เดิมด้วย
19. โรคติดพนัน
โรคติดพนัน (Pathological Gambling หรือ Gambling Disorder) เป็นโรคของคนที่ไม่สามารถต่อต้านแรงกระตุ้นหรือความอยากของตัวเองในการเล่นพนันได้ และจะมีอาการหมกมุ่นเหมือนผู้ป่วยย้ำคิดย้ำทำ หรือผู้ป่วยที่ติดสุราและยาเสพติด จนส่งผลเสียต่อชีวิตในด้านอื่น ๆ ไปด้วย มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น เป็นอาการผิดปกติที่สมองทำให้ต้องพึ่งพากิจกรรมที่ตื่นเต้น เร้าใจ เพื่อให้ตัวเองมีความสุข การถ่ายทอดทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และสิ่งยั่วยุต่าง ๆ
อาการของผู้ป่วยโรคติดพนันที่พบเจอได้บ่อย เช่น เล่นการพนันจนเสียงานเสียการ ใช้เงินจำนวนมากในการพนันจนทำให้เกิดหนี้ก้อนโต และเล่นต่อไปเพื่อให้ได้เงินมาใช้หนี้ หรือบางครั้งต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อหาเงินมาเล่นพนัน พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้ชีวิตครอบครัวของผู้ป่วยไม่มีความสุข เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และอาจจะลุกลามไปเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
20. โรคจิตจากการใช้สุรา ยา สารเสพติด
โรคจิตจากการใช้สุรา ยา สารเสพติด (Substance Use Disorder) เป็นอาการของผู้ป่วยที่ดื่มสุรา ใช้ยา หรือเสพยาเสพติดเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความอยากได้ยาหรือสารนั้น ๆ เป็นประจำ เนื่องจากมีความพอใจเมื่อได้เสพซ้ำ ๆ โดยมีอาการที่แสดงออกทั่วไปแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่
-
ด้านร่างกาย : มีภาวะทุพโภชนาการ มีการติดเชื้อตามอวัยวะต่าง ๆ และมีอาการเสื่อมทางระบบประสาท
-
ด้านจิตใจ : หมกมุ่น อยู่กับตัวเอง หงุดหงิดง่าย ระแวง ซึมเศร้า และสิ้นหวัง
-
ด้านสังคม : แยกตัวออกมาจากสังคม ขาดความรับผิดชอบ จนกลายเป็นภาระให้กับครอบครัวและคนรอบข้าง

อย่างที่ทราบแล้วว่าอาการป่วยทางจิตมีหลายรูปแบบ บางภาวะอาจไม่กระทบกับชีวิตประจำวันมากนัก ขณะที่บางโรคก็รุนแรงและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด ดังนั้นใครที่กำลังคิดว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงหรือเข้าข่ายอาการโรคจิตเวช ควรไปพบจิตแพทย์หรือขอคำปรึกษาที่ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ โดยปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่นี่ค่ะ
รวมศูนย์ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เครียด กังวลใจ พบจิตแพทย์ที่ไหนดี
โรคทางจิตเวช หรืออาการป่วยทางจิต ในแต่ละโรค อาจจะมีอาการหรือรายละเอียดของโรคที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ดี ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเหล่านี้สามารถรักษาให้หายขาดหรือบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
-
พบแพทย์ เพื่อเข้ารับคำปรึกษา หรือคำแนะนำ
-
ใช้ยารักษา เพื่อควบคุมอารมณ์และรักษาระดับของสารสื่อประสาทในสมองให้เป็นปกติ
-
รักษาด้วยไฟฟ้า โดยใช้กระแสไฟที่มีขนาดต่ำ ไม่เป็นอันตรายต่อสมอง กับผู้ป่วยที่ใช้ลองยารักษาแล้วไม่ได้ผลที่ดีพอ
-
ปรับเปลี่ยนวิธีคิดด้วยการทำจิตบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวเองมากขึ้น พยายามสร้างความสุขให้ตัวเอง มองด้านบวก อยู่กับปัจจุบัน ไม่จมอยู่กับอดีตที่ผ่านมาแล้ว และไม่วิตกกังวลหรือเครียดกับสิ่งรอบข้างจนเกินไป
-
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน พักผ่อนให้เพียงพอ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
-
ปรับตัวให้เข้ากับคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยฝึกการเข้าสังคม จัดกิจกรรมกลุ่มบำบัด หรือเข้ากลุ่มที่ตัวเองสนใจ
-
ใช้วิธีครอบครัวบำบัด โดยให้ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวได้พูดคุยกันผ่านนักบำบัดเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นการช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดี และทำให้ญาติพี่น้องเข้าใจอาการที่เป็น สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการลดน้อยลงได้
ป้องกันอย่างไรไม่ให้ป่วยทางจิต

การดูแลตัวเองให้มีสุขภาพจิตแข็งแรง รวมทั้งลดพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ย่อมลดโอกาสที่จะเกิดภาวะป่วยทางจิตได้ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
-
ดูแลสภาพจิตใจตัวเอง ไม่ให้เกิดความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ หรืองานอดิเรกอื่น ๆ เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
-
ฝึกทำสมาธิ เพื่อเพิ่มสารเซโรโทนินในสมอง ซึ่งจะช่วยให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย ลดอารมณ์ด้านลบ เป็นคนที่มีความอดทนและใจเย็นมากขึ้น อีกทั้งยังมีงานวิจัยพบว่า การทำสมาธิยังช่วยลดความเครียดและอาการซึมเศร้า ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นด้วย
-
ยิ้มและหัวเราะมากขึ้นในทุก ๆ วัน โดยอาจจะคุยกับเพื่อนที่รู้ใจ ดูหนังตลก รายการตลก เพื่อให้ร่างกายสร้างสารเซโรโทนิน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเศร้าลงได้
-
ฝึกตัวเองให้เป็นคนมองโลกในแง่ดี รวมถึงเพิ่มความเข้มแข็งทางจิตใจ เพื่อยอมรับกับปัญหาและความผิดหวังที่เกิดขึ้น คิดหาทางออกด้วยสติและปัญญา ไม่จมอยู่กับอดีตที่ผ่านไปแล้ว
-
ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โดยใช้เหตุผลในการคิด วิเคราะห์ และตัดสินแก้ไขปัญหา ไม่โทษตัวเองหรือผู้อื่นด้วยอารมณ์
-
เมื่อเกิดปัญหาควรหาเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจได้ในการระบายความทุกข์ ไม่เก็บทุกอย่างไว้กับตัวเพียงคนเดียว
-
ให้อภัยตัวเองเมื่อทำอะไรผิดพลาด อย่าโทษ อย่าโกรธตัวเอง ให้คิดเสียว่าตัวเองได้ทำดีที่สุดแล้ว และอนาคตจะทำได้ดีกว่านี้
-
เข้าร่วมกลุ่มที่ตัวเองสนใจ เพื่อสร้างทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการปรับตัวเข้ากับสังคม
-
หากิจกรรมใหม่ ๆ ทำ เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง เช่น เปลี่ยนเส้นทางไปทำงาน ขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัด รู้จักกลุ่มคนใหม่ ๆ หัดทำงานฝีมือ เล่นเกมฝึกทักษะต่าง ๆ
-
หมั่นออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยให้สมองหลั่งสารเคมีที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์ผ่อนคลายต่าง ๆ ได้ดี
-
ใส่ใจดูแลสมาชิกในครอบครัว ด้วยการเลี้ยงดูและปลูกฝังความคิด-ทัศนคติที่ดี หากิจกรรมต่าง ๆ มาทำร่วมกัน เพื่อคลายความเครียด เพราะการได้พูดคุยกันทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวด้วย
-
อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสุรา ยาเสพติด
-
หลีกเลี่ยงการใช้ยาผิดจุดประสงค์ หรือเกินกว่าปริมาณที่แพทย์กำหนด เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดยา จนส่งผลต่อระบบประสาทได้
-
หมั่นสังเกตพฤติกรรมตัวเองและคนรอบข้าง หากมีอาการเข้าข่ายของโรคจิตเวชดังที่กล่าวมาควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล(1), (2)
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรงพยาบาลเพชรเวช
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
โรงพยาบาลศรีธัญญา
สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
กรุงเทพธุรกิจ
msdmanuals.com
psychiatry.org
webmd.com (1), (2)
mentalhealth.org.uk