โรค PTSD ภาวะป่วยทางใจที่ต้องเฝ้าระวัง หลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต

          PTSD ภาวะเครียดหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ กับความผิดปกติทางอารมณ์ที่กระทบต่อการดำเนินชีวิต มาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้น

ptsd

          มีหลายคนประสบพบเจอกับเหตุการณ์ร้ายแรงอันไม่คาดฝัน แม้สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถลืมเหตุการณ์นั้นได้ และทำให้ภาพความน่ากลัวยังคงตามหลอกหลอนจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต บางคนถึงขั้นไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

          ในทางการแพทย์มีโรคทางจิตเวชโรคหนึ่งที่เรียกว่า "ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ" มีชื่อย่ออย่างเป็นสากลว่า PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น อยู่ในเหตุการณ์วินาศกรรม จลาจล สึนามิ ดินโคลนถล่ม บ้านพัง ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรมทางเพศ ถูกโจรปล้น พบเห็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ถูกขังเป็นเวลานาน ฯลฯ หรือบางคนอาจจะไม่ได้ประสบพบเหตุร้ายด้วยตัวเอง แต่อาจเห็นจากข่าวหรือได้ฟังคำบอกเล่ามาแล้วรู้สึกตื่นกลัวตามไปด้วย จนเกิดความเครียดและมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตามมา ซึ่งผู้ที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจจากเหตุเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษา

          โรค PTSD มีอาการเป็นอย่างไร รักษาได้หรือไม่ ลองไปรู้จักโรคทางจิตเวชที่ดูไม่ไกลเกินตัวกันสักครั้ง

โรคเครียด PTSD

เช็กอาการของผู้ป่วย PTSD

          สำหรับอาการป่วยทางจิตจากภาวะเครียดที่เจอเหตุการณ์สะเทือนใจนั้นจะแสดงอาการออกมา 2 ระยะ โดยระยะแรกเกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังเหตุการณ์เรียกว่า Acute Stress Disorder (ASD) หรือ โรคเครียดเฉียบพลัน จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 2 คือหลังเกิดเหตุการณ์มาแล้ว 1 เดือน ที่เรียกว่า PTSD

          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะ ASD สามารถหายเองได้ หรือไม่เป็นอะไรเลยในเดือนแรก แต่อาจจะป่วยด้วย PTSD ในเวลาต่อมา หรือถ้าป่วยด้วย ASD ติดต่อกันนานเกิน 1 เดือนยังไม่หาย ก็จะกลายเป็น PTSD ได้ในภายหลัง ซึ่งอาจแสดงอาการออกมาได้ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

           1. เหตุการณ์นั้นตามมาหลอกมาหลอน (re-experiencing)

          ผู้ที่รอดตายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หนีจากสงคราม หนีจากคนที่ตามมาทำร้าย จะยังรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นกำลังจะเกิดขึ้นอีก ยังตามมาหลอกหลอน รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเองและตกใจกลัว (Flash back) หรือหลับตาทีไรก็ยังเห็นภาพนั้น เช่น รู้สึกเหมือนพื้นสั่นไหวคล้ายกับแผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา หรืออาจฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

           2. อาการตื่นตัวมากเกินไป (Hyperarousal)

          เหตุการณ์น่ากลัวทำให้เรารู้สึกตื่นตัวในช่วงหนึ่ง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ แม้ว่าเหตุการณ์น่ากลัวจะผ่านไปแล้ว แต่ร่างกายก็ยังไม่ยอมเลิกตื่นตัว ทำให้เรายังรู้สึกกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง ใจสั่น ตกใจง่าย สะดุ้งง่าย ไม่มีสมาธิ เครียดง่ายกับเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อมีอะไรมาสะกิดให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น บางรายอาจจะเป็นแบบคอยระแวดระวังตัวเกินกว่าเหตุ นอนหลับยาก หรือมีอาการทางกายอื่น เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว มีความตึงกล้ามเนื้อสูง คลื่นไส้ ท้องร่วง เป็นต้น

           3. คอยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ (Avoidance) หรือมีอารมณ์เฉยชา (Emotional numbing)

          หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูด นึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัว เช่น ประสบภัยพิบัติมาจึงไม่กล้าดูข่าวนี้ในโทรทัศน์ หรือบางคนขับรถชนคนตายจึงไม่กล้าขับรถอีก แม้แต่ดูภาพยนตร์หรือเห็นอะไรที่เกี่ยวกับรถก็ทำไม่ได้ ไม่กล้าว่ายน้ำเพราะเคยจมน้ำ หรือไม่กล้าไปในสถานที่ประสบเหตุ เพราะเมื่อเห็นแล้วจะรู้สึกกระวนกระวายขึ้นมาอีก

          ขณะที่บางคนอาจดูสิ่งเหล่านี้ได้แต่ไร้ความรู้สึก กลายเป็นคนเฉยชาไม่ร่าเริงเหมือนก่อน รู้สึกห่างเหินหรือแปลกแยกจากผู้อื่น บางรายจำเหตุการณ์ช่วงสำคัญ ๆ ขณะเกิดเหตุไม่ได้ ซึ่งอาการลักษณะนี้เป็นกลไกทางจิตเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงที่จะต้องเผชิญกับความรู้สึกที่น่ากลัวนั้น

          ทั้งนี้ ผู้ที่เป็น PTSD ยังอาจมีอาการอื่นได้อีก เช่น ซึมเศร้า โทษตัวเองว่ามีส่วนทำให้เกิดเหตุร้าย หรือรู้สึกผิดที่หนีเอาตัวรอด (Survivor guilt) วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ ดื่มเหล้าเบียร์มากกว่าเดิมเพื่อดับความกระวนกระวายใจ หงุดหงิดง่าย ทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย

โรคเครียด PTSD

ใครคือกลุ่มเสี่ยงป่วย PTSD ?

          ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ร้ายแรงอาจไม่จำเป็นต้องเป็น PTSD ทุกคน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคน โดยทั่วไปจะมีผู้ประสบภัยราว 20% ที่มีโอกาสเกิดโรคนี้ หากรายใดปรับตัวได้เร็วหลังประสบความทุกข์ยากก็อาจมีอาการผิดปกติทางจิตใจแค่ช่วงสั้น ๆ แล้วหายไป ถ้าเป็นเช่นนี้ไม่ถือว่าป่วย PTSD แต่ถ้าใครมีอาการลักษณะนี้อยู่นานเกิน 1 เดือนแล้วยังไม่หาย เช่นนี้ถึงเรียกว่าป่วย PTSD ซึ่งคนที่มีแนวโน้มป่วย PTSD ได้ง่ายหลังเกิดเหตุร้าย ได้แก่

           1. คนที่มีประสบการณ์ถูกทำร้ายตอนเด็ก ๆ

           2. คนที่ไม่ค่อยมีเพื่อนหรือครอบครัวมาคอยช่วยเหลือ

           3. คนที่ชอบพึ่งพิงคนอื่น

           4. ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรค PTSD ได้มากกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงมีโอกาสเป็นราว 18.3% ส่วนผู้ชายราว 10.3% (ข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ)

           5. เป็นคนที่อายุน้อยมาก ๆ หรือแก่มาก ๆ

           6. คนที่มีเรื่องให้เครียดกังวลใจอยู่ก่อน แล้วมาเจอเหตุร้ายซ้ำ

           7. ดื่มจัดก่อนเกิดเหตุ

ptsd

โรค PTSD รักษาได้ไหม ?

          โดยทั่วไปโรค PTSD สามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ

           1. การรักษาทางจิตวิทยา

          คือการทำพฤติกรรมบำบัดให้ผู้ป่วยสงบลง เพราะอาการส่วนใหญ่ของโรคนี้จะคล้ายกับอาการของโรคกลัว (Phobic disorder) นั่นคือกลัวเหตุร้ายและหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้นึกถึงเหตุร้ายนั้น จึงต้องรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยเข้าหาและเผชิญหน้า (Exposure therapy) กับเหตุร้ายและสิ่งกระตุ้นนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น จินตนาการหรืออ่านข่าวเรื่องนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูวิดีโอเรื่องนั้นซ้ำ ๆ หรือไปดูที่เกิดเหตุซ้ำ ๆ ครั้งแรก ๆ ที่ทำก็จะกลัวมากหน่อย แต่ครั้งหลัง ๆ จะกลัวน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะจะเกิดความชินชาขึ้น

          ขณะที่บางรายอาจรู้สึกโทษตัวเองหรือรู้สึกผิดก็ต้องใช้วิธีจิตบำบัด (Psychotherapy) ร่วมด้วย เพื่อเปลี่ยนความคิดและแก้ไขการใช้เหตุผลที่ผิดพลาด

           2. การรักษาด้วยยา

          หากการรักษาด้วยจิตบำบัดไม่ได้ผล จิตแพทย์อาจให้ยาในกลุ่มยาแก้ซึมเศร้า เช่น Fluoxetine, Escitalopram, Sertraline ร่วมด้วย โดยยากลุ่มนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์จึงจะเริ่มออกฤทธิ์ แต่หากผู้ป่วยรายใดมีอาการใจสั่น ตกใจง่าย กระวนกระวาย แพทย์จะให้ยารักษาอาการเหล่านี้ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแพทย์มักจะหลีกเลี่ยงยาคลายกังวลในกลุ่ม Diazepam หรือ Alprazolam แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้แพทย์จะพยายามให้ผู้ป่วยใช้ในระยะสั้น ๆ เพื่อป้องกันการเสพติด

          นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น สะกดจิต, จิตบำบัด หรือ Group therapy ที่จะให้ผู้ป่วยมาคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ป่วยอื่นที่เป็นเหมือนกัน

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มักมีผลการรักษาดีมักเป็นผู้ที่มีลักษณะ ดังนี้

           1. เริ่มมีอาการเร็วหลังจากเกิดเหตุ

           2. เป็นมาไม่นาน (ไม่เกิน 6 เดือน)

           3. เป็นผู้ที่ทำงานทำการได้ดีอยู่ก่อนที่จะเกิดเหตุ

           4. มีเพื่อนฝูงหรือครอบครัวที่ดี

           5. มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายดีอยู่ก่อน

จะทำอย่างไรเมื่อเราเป็น PTSD ?

          หากเราประสบเหตุรุนแรงมาแล้วมีอาการดังที่บอกไป นอกจากการเข้ารับการบำบัดแล้ว เรายังต้องพยายามปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองเพื่อช่วยในการบำบัดอีกแรง คือ

           1. ต้องเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่าเราไม่ได้เป็นโรคจิตหรือเป็นบ้า แต่เหตุการณ์ร้ายแรงต่างหากที่ทำให้เราเครียด หากเราเข้าใจได้เช่นนี้จะทำให้เราพร้อมจัดการกับมัน ต้องพยายามเข้าใจว่าภาพติดตาที่วนไปวนมาในความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องปกติ เมื่อเวลาผ่านไปอาการเหล่านี้จะดีขึ้นเอง

           2. อย่าแยกตัวออกห่างจากคนอื่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เราเครียด ผู้ป่วยมักจะแยกตัวออกห่างจากคนอื่น อยากอยู่คนเดียว แต่การทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้อาการหนักมากขึ้น เราควรปรับตัวกลับไปใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงกับภาวะก่อนประสบภัยมากที่สุด ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ และญาติตามปกติ เช่น ออกไปซื้อของ ดูหนัง เที่ยวกับเพื่อน หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง จะช่วยให้เราออกจากสภาพหดหู่ใจได้

           3. กล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้าง กล้าที่จะเข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อให้อาการที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตหมดไป

           4. ต้องรู้จักดูแลตัวเอง พักผ่อนให้มาก ฝืนกินอาหารให้ได้ พยายามหาอะไรทำ ระลึกไว้ว่าการทำงานจะช่วยให้ผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยดี

โรคเครียด PTSD

หากคนใกล้ตัวเป็น PTSD เราควรทำอย่างไร ?

          ครอบครัวและคนรอบข้างก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การบำบัดรักษาโรค PTSD ได้ผลดีขึ้น ดังนั้นเมื่อคนใกล้ตัวเราประสบปัญหานี้เราควร

           1. รับฟังปัญหาของเขาอย่างจริงใจ เป็นมิตร ไม่วิจารณ์ แม้เขาอาจพูดถึงแต่สิ่งเดิม ๆ แต่เขาก็ต้องการคนรับฟังสิ่งเหล่านั้น ต้องการระบายความอัดอั้นตันใจ อย่ารับฟังอย่างไม่ตั้งใจหรือเสแสร้งว่ารับฟังเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้งละเลย 

           2. สอบถามอย่างห่วงใย การถามเป็นวิธีการแสดงออกถึงความห่วงใย ไม่ว่าจะถามถึงปัญหา ความทุกข์ที่เขาเป็นอยู่ แต่ไม่ควรแนะนำให้ลืมหรือห้ามนึกถึง ควรสอบถามถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เขาใช้ เพื่อสังเกตว่าเขาใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

           3. ผู้ป่วยหลายคนมักโทษว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเอง เราจะต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าใคร ๆ ก็คาดเดาเหตุการณ์ไม่ได้ หรือถึงจะเข้มแข็งแค่ไหนก็ช่วยไม่ได้

           4. ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเขาแม้เขาจะไม่ได้ร้องขอ

           5. อย่าถือสาเมื่อเขาแสดงอารมณ์โมโหหรือโกรธออกมา

           6. ส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ช่วยอีกแรง หากเราไม่สามารถรับฟังหรือจัดการกับปัญหาอารมณ์ของเขาได้


โรคเครียด PTSD

กรณีผู้ป่วยโรค PTSD เป็นเด็ก

          พญ.เบญจพร ปัญญายง จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า หากผู้ประสบเหตุการณ์ร้ายแรงเป็นเด็กเล็ก (อายุ 20 เดือน - 6 ขวบ) การสื่อสารค่อนข้างทำได้อย่างจำกัด ดังนั้นผู้ปกครองอาจวินิจฉัยโรคได้จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งมักพบว่าเด็กจะเสียทักษะทางพัฒนาการที่เคยทำได้ เช่น เคยพูดได้กลับพูดไม่ได้ ปัสสาวะรดที่นอนทั้ง ๆ ที่เคยควบคุมได้ หรือมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้นใหม่ เช่น กังวลกับการพลัดพราก ก้าวร้าว หรือกลัวสิ่งต่าง ๆ ที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

          ทั้งนี้ อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ เกิดขึ้นแล้วหายไปได้เองในราว 4-6 สัปดาห์ภายหลังเกิดเหตุการณ์ และเมื่อผ่านไปแล้ว 3 เดือน เด็กจะรู้สึกดีมากขึ้น แต่หากยังไม่หายก็ต้องบำบัดรักษาแก้ปัญหาต่อไป โดย...

           การบำบัดทางจิตใจ 

          เป็นการบำบัดรักษาที่ได้ผลค่อนข้างดี เพราะเด็กที่ป่วยมักจะมีอาการหลีกเลี่ยงเพื่อปกป้องตัวเองจากความรู้สึกเจ็บปวดและไม่สบายใจที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต ทำให้ดูเหมือนเด็กไม่มีอาการ จึงไม่มารับการบำบัด สิ่งที่จะทำได้ก็คือ ต้องให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิต การผ่อนคลาย เผชิญกับสิ่งที่กลัว ปรับเปลี่ยนความคิด การจัดการกับอารมณ์ ซึ่งในผู้ป่วยเด็กจะใช้วิธีวาดภาพและการเล่าเรื่องเพื่อบำบัด และจะให้เด็กเล่าเรื่องราวเหตุการณ์รุนแรงให้ฟังเท่าที่สามารถเล่าได้พร้อมกับให้เด็กเขียนบันทึกไปด้วย เมื่อบำบัดครั้งต่อไปก็จะให้เด็กอ่านบันทึกนั้นและเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับความคิดและอารมณ์ ขณะเดียวกันจะมีการจัดชั่วโมงให้ผู้ปกครองเข้าร่วมด้วย

           การให้คำปรึกษาครอบครัว

          พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กหายจากอาการ PTSD หากพ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการเหล่านี้ก็จะช่วยเด็กในเรื่องการปรับตัว ทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ลดตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเครียด และการเตือนล่วงหน้าถึงสถานการณ์ที่เด็กอาจกังวลและต้องการความช่วยเหลือ

          ไม่มีใครรู้ได้ว่าเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจจะเกิดกับเราเมื่อไร ดังนั้นการเตรียมพร้อมตลอดเวลาในทุกเรื่อง ทั้งการฝึกฝนร่างกายและจิตใจให้พร้อมเผชิญเหตุที่ไม่คาดฝัน ก็จะช่วยให้เราปรับตัวและฟื้นฟูสภาพจิตใจได้เร็วขึ้นในการต่อสู้กับปัญหาต่อไป แต่หากใครประสบกับเรื่องเลวร้ายแล้วรู้ว่าตัวเองมีแนวโน้มป่วยด้วยโรค PTSD ก็อย่าอายที่จะไปพบจิตแพทย์ เพื่อช่วยบำบัดรักษาสภาพจิตใจให้กลับมาแข็งแกร่งโดยเร็วที่สุด


ขอบคุณข้อมูลจาก
- กรมสุขภาพจิต 
- ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
- สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสุขภาพ
- thailabonline.com
 
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรค PTSD ภาวะป่วยทางใจที่ต้องเฝ้าระวัง หลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต อัปเดตล่าสุด 24 มิถุนายน 2564 เวลา 14:01:28 82,709 อ่าน
TOP
x close