ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) คือ ยาเม็ดรักษาโควิด 19 จากบริษัทไฟเซอร์ Pfizer ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2563 จากยาเดิมที่ใช้รักษาโรคซาร์ส (SARS) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนาเช่นเดียวกับโควิด 19 แต่เป็นคนละสายพันธุ์กัน โดยยาจะทำหน้าที่ยับยั้งเอนไซม์ ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนไม่ได้ และยังเป็นยาในกลุ่มที่ได้ผลดีในการต้านไวรัส HIV อีกด้วย
ต้องอธิบายก่อนว่า ยาที่ใช้รักษาโควิด 19 ที่เคยใช้กันมาเป็นยารักษาโรคอื่น ๆ แล้วนำมาใช้รักษาอาการในผู้ป่วยโควิด ไม่ว่าจะยาฟาวิพิราเวียร์ ที่เป็นยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่และเคยใช้รักษาโรคอีโบลา หรือแม้แต่ยาโมลนูพิราเวียร์ ก็เป็นยาที่พัฒนาขึ้นมาจากยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่เช่นกัน ซึ่งยาทั้ง 2 ตัวนี้ก็มีสรรพคุณยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้
แต่สำหรับยาแพกซ์โลวิด เป็นยาตัวแรกที่ถูกคิดค้นมาเพื่อรักษาโควิด 19 โดยเฉพาะ ออกฤทธิ์โดยมีสารยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส SARS-CoV-2-3CL จึงทำให้ไวรัสโควิดไม่สามารถแบ่งสารโปรตีนเพื่อเพิ่มจำนวนในเซลล์ได้ เรียกได้ว่าตัดกลไกสำคัญที่จะทำให้ไวรัสมีวัตถุดิบชั้นดีที่ช่วยในการเจริญเติบโตนั่นเอง ทางบริษัทผู้ผลิตจึงเชื่อมั่นว่ายารักษาโควิดตัวนี้จะเข้ามาเปลี่ยนเกมและพลิกสถานการณ์โรคระบาดให้กลับมาดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาแพกซ์โลวิดรักษาโควิด 19 ต้องใช้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส HIV เนื่องจากยาตัวนี้จะช่วยชะลอการละลายของยาแพกซ์โลวิด ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้น
จากการศึกษาวิจัยในผู้ป่วย 1,379 คน ทำให้เห็นประสิทธิภาพของยาแพกซ์โลวิด ดังนี้
- ช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลงได้ 88% เมื่อผู้ป่วยได้รับยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ
- กลุ่มที่ให้ยาแพกซ์โลวิด มีการนอนโรงพยาบาล ร้อยละ 0.77 และไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอก มีผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล ร้อยละ 6.31 และมีผู้เสียชีวิต 13 คน
นอกจากนี้ทางบริษัทไฟเซอร์ยังเคลมว่าผลข้างเคียงจากการใช้ยาแพกซ์โลวิดมีน้อยมาก โดยอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรงพบได้ประมาณ 10% กว่า ๆ และอาการข้างเคียงที่รุนแรงพบได้ราว ๆ 1% เท่านั้น อีกทั้งยังระบุด้วยว่า อาการข้างเคียงที่พบจากการใช้ยายังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกิดจากตัวโรคหรือเกิดจากยาแพกซ์โลวิดด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้สั่งซื้อยาแพกซ์โลวิด จำนวน 5 หมื่นคอร์ส หรือ 1.5 ล้านเม็ด จากบริษัทไฟเซอร์ และยาดังกล่าวถูกส่งมาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 หลังจากนี้ องค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้จัดเก็บและกระจายยาไปใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ต่อไป
ทางกระทรวงสาธารณสุขจะใช้ยาแพกซ์โลวิดกับผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่มีภาวะเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เพื่อช่วยลดการนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิต ได้แก่
- คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
- ผู้ที่เป็นเบาหวาน
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง
- ผู้ที่มีภูมิต้านทานร่างกายต่ำ
สำหรับยาแพกซ์โลวิด มีต้นทุนประมาณคอร์สละ 10,000 บาท ประกอบด้วยยาสูตรผสม คือยาต้านไวรัสตัวใหม่ "เนอร์มาเทรลเวียร์" (Nirmatrelvir) ขนาด 150 มิลลิกรัม 2 เม็ด กินร่วมกับยาตัวเก่า "ริโทนาเวียร์" (Ritonavir) ขนาด 100 มิลลิกรัม 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งเท่ากับว่าในผู้ป่วย 1 คน กินยา 1 คอร์ส จะต้องใช้ยารวม 30 เม็ด ในการรักษาต่อครั้ง (Nirmatrelvir 20 เม็ด และ Ritonavir 10 เม็ด)
โดยยาเนอร์มาเทรลเวียร์จะออกฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนของเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้เชื้อไม่สามารถเพิ่มจำนวน ส่วนยาริโทนาเวียร์จะช่วยชะลอการแตกตัวของยาเนอร์มาเทรลเวียร์ ทำให้ยาอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ต้องระมัดระวังการใช้ยาแพกซ์โลวิดก็คือ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร คนที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ผู้ป่วยโรคตับหรือไตบกพร่อง รวมทั้งคนที่รับประทานยาบางชนิดอยู่ที่อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน ดังนั้น การพิจารณาให้ยาจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
บทความที่เกี่ยวข้องกับยารักษาโควิด 19
- ข่าวดี ! ไฟเซอร์ทำสำเร็จ เปิดตัวยาเม็ด Paxlovid ต้านโควิด 19 ลดเสียชีวิตได้ 89%
- ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ต้านไวรัส รักษาโควิด 19 รู้จักสักนิด ทำไมถึงไม่ใช้กับผู้ป่วยทุกคน
- ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ความหวังรักษาโควิด 19 ที่โลกรอคอย
- ไทยจองซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ หลังผลทดลองใช้ได้ผล ติดโควิดกินแล้วไม่ตาย ถึงไทยสิ้นปีนี้
- ข่าวดี ! นักวิจัยทดลอง ยาต้านโควิด 19 พบกำจัดไวรัสในปอดได้ 99.9% สู้ได้หลายสายพันธุ์
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 11 เมษายน 2565
ขอบคุณภาพจาก : กรมการแพทย์
ขอบคุณข้อมูลจาก : Thai PBS 1, 2, ฐานเศรษฐกิจ, TNN, เดลินิวส์, สำนักข่าวไทย, กรมการแพทย์