x close

ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ต้านไวรัส รักษาโควิด 19 รู้จักสักนิด ทำไมถึงไม่ใช้กับผู้ป่วยทุกคน

          ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยารักษาโควิด 19 ในปัจจุบัน แล้วจริง ๆ คือยาอะไรกันแน่ พร้อมตอบข้อสงสัยทำไมใช้กับบางเคสเท่านั้น ไม่ได้ให้ผู้ป่วยโควิดทุกคน

          ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในช่วงที่โควิด 19 แพร่ระบาด เนื่องจากเป็นหนึ่งในยาสำคัญที่ใช้รักษาโควิดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม มีเพียงผู้ป่วยบางกลุ่มเท่านั้นที่จะได้รับยาตัวนี้ ทำให้หลายคนสงสัยว่า ทำไมจึงไม่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยทุกคน เชื้อจะได้ไม่ลุกลามจนเป็นปอดอักเสบรุนแรง หรือเป็นเพราะมีผลข้างเคียงอย่างไร และยาตัวนี้จำเป็นกับการรักษาโควิดแค่ไหน ตามมาหาคำตอบกัน
ยาฟาวิพิราเวียร์

ยาฟาวิพิราเวียร์ คือยาอะไร

          ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) คือ ยาต้านไวรัสที่ค้นพบโดยบริษัทโตยามะเคมิคอล (Toyama Chemical Co., Ltd) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 โดยยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) มีชื่ออื่นว่า T-705 และมีชื่อทางการค้าอีกชื่อว่า Avigan  

          เดิมทียาฟาวิพิราเวียร์ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล และยังมีการใช้ยาตัวนี้ต้านไวรัสอีโบลาเมื่อครั้งที่เกิดการระบาดหนักในแถบแอฟริกาตะวันตก ช่วงปี พ.ศ. 2557-2559 เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์มีฤทธิ์ต้านไวรัสในกลุ่มอาร์เอ็นเอไวรัส (RNA virus) ได้หลากหลายชนิด เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus), ไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย (Foot-and-mouth disease virus) หรือไวรัสไข้เหลือง (Yellow fever virus) รวมไปถึงโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคโควิด 19 ด้วย

ยาฟาวิพิราเวียร์ กับบทบาทในการรักษาโควิด 19
          ด้วยประสิทธิภาพของยาฟาวิพิราเวียร์ที่ต้านไวรัสในกลุ่มอาร์เอ็นเอไวรัส (RNA Virus) ได้หลากหลายชนิด ทางเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น จึงทดลองใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัสโควิด 19 และพบว่าได้ผลดี สามารถลดความเสี่ยงต่อการลุกลามของโรคได้ ยาชนิดนี้จึงเป็นที่สนใจและถูกใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงในบ้านเราที่อนุมัติให้ใช้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งในการระบาดระลอกแรกจะใช้ยาตัวนี้รักษาเฉพาะผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง เนื่องจากยามีจำกัด แต่เมื่อมีการระบาดในรอบหลัง ๆ และพบว่าเชื้อลงปอดเร็วขึ้น จึงปรับแผนการรักษาใหม่ โดยให้ยาเร็วขึ้นในผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การรับยาฟาวิพิราเวียร์ คือให้ใช้ยานี้ได้ตั้งแต่คนที่ปอดอักเสบขั้นต้น และผู้ป่วยที่อาจเกิดปอดอักเสบรุนแรง
ยาฟาวิพิราเวียร์ ใช้กับผู้ป่วยกลุ่มไหนบ้าง
ยาฟาวิพิราเวียร์

          การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ตามคำแนะนำของกรมการแพทย์ ฉบับปรับปรุง วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 จะพิจารณาจากเกณฑ์ผู้ป่วยโควิด 19 ดังต่อไปนี้

1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี

          ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง

2. ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ และไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง

         อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด แต่หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน กรณีผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 18 ปี แพทย์จะดูแลรักษาตามอาการ และอาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน

3. ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง (ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน)

          คนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ แพทย์จะพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับอาการ โดยเริ่มยาเร็วที่สุดภายใน 5 วัน หลังจากมีอาการ แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 1 ข้อ หรือเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ เช่น หญิงตั้งครรภ์ แพทย์จะพิจารณาให้ยาชนิดอื่นแทน

4. ผู้ติดเชื้อยืนยันที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วัน หลังจากมีอาการ และได้รับออกซิเจน

           ในผู้ป่วยผู้ใหญ่จะพิจารณาให้ยาเรมดิซิเวียร์ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี และมีอาการหายใจเร็ว หรือมีอาการรุนแรงอื่น ๆ แพทย์จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ 5-10 วัน หรือหากเป็นมากจะให้ยาเรมดิซิเวียร์

          ทั้งนี้ หากตั้งครรภ์จะไม่ได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มไหนก็ตาม เนื่องจากมีผลวิจัยว่าการใช้ยาชนิดนี้อาจกระทบต่อทารกในครรภ์ ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 และ 3 ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจะได้ประโยชน์จากการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์มากกว่าความเสี่ยง จึงอาจพิจารณาให้ใช้ยานี้ โดยตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยและญาติ

หมายเหตุ : ภาวะโรคร่วม หรือปัจจัยเสี่ยง ได้แก่กลุ่มต่อไปนี้
          - อายุมากกว่า 60 ปี
          - เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมทั้งโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ
          - โรคไตเรื้อรัง
          - โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคหัวใจแต่กำเนิด
          - โรคหลอดเลือดสมอง
          - เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
          - ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ≥30 กก./ตร.ม.)
          - ตับแข็ง
          - ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เป็นโรคที่อยู่ในระหว่างได้รับยาเคมีบําบัด หรือยากดภูมิ หรือ corticosteroid equivalent to prednisolone 15 มก./วัน 15 วันขึ้นไป, ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มี CD4 cell count 200 เซลล์/ลบ.มม. ลงมา)
          - ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มี CD4 cell count น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.
ยาฟาวิพิราเวียร์ วิธีกินเป็นอย่างไร ต้องกินกี่เม็ด
          กรมการแพทย์ระบุข้อมูลการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาผู้ป่วยโควิด 19 โดยผู้ป่วยแต่ละคนที่เข้าเกณฑ์การใช้ยาจะต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ตามข้อกำหนด ดังนี้

* ผู้ป่วยผู้ใหญ่

          - วันแรก กินขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 9 เม็ด  
          - วันต่อมา จะลดเหลือขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง (ทุก 12 ชั่วโมง)

          โดยต้องกินต่อเนื่องนาน 5 วัน เท่ากับจะได้รับยารวม 50 เม็ด/คน แต่แพทย์อาจพิจารณาให้กินยานานกว่า 5 วัน ขึ้นอยู่กับอาการทางคลินิก

* ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม

          - วันแรก กินขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 12 เม็ด วันละ 2 ครั้ง (ทุก 12 ชั่วโมง)
          - วันต่อมา จะลดเหลือขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 5 เม็ด วันละ 2 ครั้ง (ทุก 12 ชั่วโมง)

          โดยต้องกินต่อเนื่องนาน 5 วัน หรือมากกว่านั้นตามอาการทางคลินิกและดุลยพินิจของแพทย์

* ผู้ป่วยเด็ก

          ในวันแรกจะได้ยาฟาวิพิราเวียร์ 70 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน วันละ 2 ครั้ง วันต่อมาจะลดเหลือ 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน วันละ 2 ครั้ง กินต่อเนื่อง 5 วัน หรือมากกว่านั้น

          ทั้งนี้ ควรให้ยาภายใน 4-5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี
ยาฟาวิพิราเวียร์ ทำไมไม่ให้ผู้ป่วยโควิดทุกคน
ยาฟาวิพิราเวียร์

          เหตุผลที่ไม่สามารถให้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยทุกคนได้ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการเพียงพอว่าการให้ยาเร็วตั้งแต่ยังไม่มีอาการจะมีประโยชน์อย่างไร เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะหายจากโรคได้เองโดยไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส แต่การให้ยาในวงกว้างอาจเกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วย เช่น มีอาการตับอักเสบ หรือเกิดเชื้อดื้อยาได้ในภายหลัง

          ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ต้องเข้าเกณฑ์การประเมินของแพทย์ คือ มีปริมาณไวรัสในร่างกายมากกว่าผู้อื่นและเสี่ยงต่อการลุกลามของโรค รวมทั้งคนที่มีความเสี่ยงว่าจะมีโรครุนแรงหรือเป็นปอดอักเสบ แต่อาจพิจารณาให้ยาได้ในกรณีผู้ป่วยไม่มีอาการแต่มีโรคร่วม และ/หรือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ

ยาฟาวิพิราเวียร์ ผลข้างเคียงคืออะไร

     ผลข้างเคียงที่พบได้เมื่อใช้ยาฟาวิพิราเวียร์คือ 

  • อาการคลื่นไส้ อาเจียน 
  • อาจมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติเมื่อรับประทานร่วมกับยาบางชนิด
  • มีผลต่อการทำงานของตับ จึงไม่ควรรับประทานร่วมกับฟ้าทะลายโจร หรือยาที่มีผลต่อตับ
  • หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ โดยการรับประทานยาในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการ
  • ไม่ควรใช้ยาพร่ำเพรื่อ เกินความจำเป็น โดยเฉพาะในคนที่ไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาต้านไวรัส อาจเกิดภาวะเชื้อดื้อยา ทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงได้  
ยาฟาวิพิราเวียร์ ทำให้ตาสีม่วงจริงหรือ ?

          ในรายงานทางการแพทย์ของต่างประเทศและในไทย พบผู้ป่วยบางรายที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์มีอาการตาเปลี่ยนสีเป็นสีม่วงหรือน้ำเงิน ซึ่งแพทย์อธิบายว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีคุณสมบัติเรืองแสง และการสะสมของตัวยาในร่างกายผู้ป่วยโควิดอาจมีผลให้กระจกตา เล็บ และผิวหนัง เปลี่ยนสีและเรืองแสงได้ แต่ไม่ทำให้อวัยวะดังกล่าวทำงานผิดปกติไป ไม่มีผลกระทบกับการมองเห็นใด ๆ ไม่เป็นอันตราย และสีตาที่เปลี่ยนไปจะสามารถหายได้เองเมื่อหยุดยาฟาวิพิราเวียร์ประมาณ 14 วัน ส่วนเล็บหรือผิวหนังที่เปลี่ยนสีไปอาจต้องใช้เวลาสักระยะ แต่ในที่สุดก็จะหายเป็นปกติดี 

          ทั้งนี้ อาการตา เล็บ ผิวหนังเปลี่ยนสี ยังเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น และเป็นผลข้างเคียงใหม่ที่ทางการแพทย์เพิ่งพบได้ไม่นาน ดังนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษากันต่อไป

ยาฟาวิพิราเวียร์ องค์การเภสัชกรรมผลิตได้เท่าไร
ยาฟาวิพิราเวียร์

ภาพจาก : องค์การเภสัชกรรม

          เมื่อครั้งที่โควิด 19 ระบาดใหม่ ๆ ไทยต้องสั่งซื้อยาฟาวิพิราเวียร์จากประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน มารักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่งการนำเข้ายาจากต่างประเทศก็มีราคาสูง เม็ดละราว ๆ 120 บาท (ขึ้นอยู่กับค่าเงิน) และมีจำนวนจำกัด ทางองค์การเภสัชกรรมจึงมีแผนจะผลิตยาชนิดนี้เอง โดยหลังจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีคำสั่งปฏิเสธคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรฟาวิพิราเวียร์ของบริษัทญี่ปุ่นไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 องค์การเภสัชกรรมจึงเริ่มวิจัย พัฒนา และผลิตยาเอง กระทั่งในที่สุดก็มีข่าวดีว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ขึ้นทะเบียนยาฟาวิพิราเวียร์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

          โดยยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ไทยผลิต ใช้ชื่อว่า "ฟาเวียร์" มีขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด เป็นผลิตภัณฑ์ยาสามัญรายแรกของประเทศไทย มีคุณภาพมาตรฐานสากล จากข้อมูลวันที่ 25 มีนาคม 2565 พบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ กระจายในภูมิภาครวม 10 ล้านเม็ด และอยู่ในกรุงเทพฯ 2-3 ล้านเม็ด

         
ทั้งนี้ ราคายาฟาวิพิราเวียร์จากองค์การเภสัชกรรมก็จะมีราคาถูกลงกว่ายาที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่สำคัญเมื่อเราผลิตยาเองได้ก็จะมียาต้านไวรัสไว้ใช้อย่างทั่วถึงด้วยค่ะ

ยาฟาวิพิราเวียร์ ซื้อที่ไหน

          ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากแพทย์ต้องพิจารณาปริมาณยาที่จะให้ผู้ป่วย โดยดูจากระดับอาการ น้ำหนักตัว หรือโรคประจำตัว เพื่อป้องกันการใช้ยาเกินจำเป็นและเกิดปัญหาไวรัสดื้อยา ดังนั้น ยาฟาวิพิราเวียร์จึงไม่มีวางขายตามร้านขายยาหรือท้องตลาดทั่วไป เราไม่สามารถหาซื้อมากินเองได้นะคะ อย่าหลงเชื่อสั่งซื้อยาทางออนไลน์มากินเองเด็ดขาด เพราะเป็นของปลอมแน่นอน

          แต่หากเป็นผู้ป่วยโควิดที่ทำ Home Isolation และลงทะเบียนผ่าน 1330 กด 14 ไว้แล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะพิจารณาจ่ายยาฟ้าทะลายโจรหรือยาฟาวิพิราเวียร์ให้ตามระดับอาการ 

ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์
ตำรับยาสำหรับเด็ก-ผู้สูงอายุ

           นอกจากยาฟาวิพิราเวียร์ชนิดเม็ดที่องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตแล้ว เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด ได้เปิดตัวตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ที่พัฒนาและคิดค้นสูตรขึ้นมาเพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิดในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด

           โดยตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นยาน้ำเชื่อมปราศจากน้ำตาล ลักษณะเป็นยาน้ำใส สีส้ม รสราสป์เบอร์รี มี 2 ขนาด คือ ขนาด 800 มิลลิกรัม ในน้ำเชื่อม 60 มิลลิลิตร และขนาด 1,800 มิลลิกรัม ในน้ำเชื่อม 135 มิลลิลิตร

วิธีรับประทานยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์

     * ผู้ป่วยผู้ใหญ่ 
           - วันแรก รับประทานขนาด 1,800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (ทุก 12 ชั่วโมง) 
           - วันต่อมา รับประทานขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (ทุก 12 ชั่วโมง) 
 

     * ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม
           - วันแรก รับประทานขนาด 2,400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (ทุก 12 ชั่วโมง) 
           - วันต่อมา รับประทานขนาด 1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (ทุก 12 ชั่วโมง) 
 

     * ผู้ป่วยเด็ก
           - วันแรก รับประทานขนาด 60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง 
           - วันต่อมา รับประทานขนาด 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง
 

          ย้ำกันอีกทีว่า การรักษาโควิด 19 จริง ๆ แล้วในผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อย สามารถรักษาตามอาการโดยไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ แต่หากเป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การใช้ยาตามข้อกำหนดก็จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ไปรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์

บทความที่เกี่ยวกับการรักษาโควิด 19

 

*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 15 กรกฎาคม 2565

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ต้านไวรัส รักษาโควิด 19 รู้จักสักนิด ทำไมถึงไม่ใช้กับผู้ป่วยทุกคน อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2565 เวลา 13:28:00 181,533 อ่าน
TOP