ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ความหวังรักษาโควิด 19 ที่โลกรอคอย

          มารู้จักยาต้านไวรัสชนิดเม็ดที่มีชื่อว่า โมลนูพิราเวียร์ ซึ่งจากการทดลองพบว่ามีประสิทธิภาพดี ลดอัตราเข้าโรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิตได้ กลายเป็นความหวังใหม่ที่ใช้สู้โควิด
          เราอยู่กับโควิด 19 มาเกือบ 3 ปี โดยแรก ๆ ก็ไม่มีทั้งยาต้านไวรัส ยารักษา หรือแม้แต่วัคซีนป้องกันโรค ทว่าที่ผ่านมาทางการแพทย์รวมไปถึงนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์แทบจะทุกแขนงก็ศึกษาและค้นคว้าตัวยาต้านไวรัสกันเรื่อยมา จนมาถึงยาที่ชื่อว่า โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่การทดลองในระยะที่ 3 พบประสิทธิภาพการรักษาที่น่าพอใจ เราเลยอยากพาทุกคนมารู้จักยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) มาดูกันว่าจริง ๆ แล้วยาตัวนี้มีสรรพคุณอย่างไรกันแน่
ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) คือยาอะไร
ยาโมลนูพิราเวียร์

ภาพจาก Quality Stock Arts/Shutterstock

          บริษัท เมอร์ค (Merck) บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศเยอรมนี  และบริษัท ริดจ์แบ็ค เทอราพิวทิค (Ridge Biotherapeuthics) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันวิจัยและผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ให้เป็นยาชนิดเม็ดรับประทานที่ออกฤทธิ์ต้านไวรัส โดยถูกพัฒนาขึ้นมาต้านไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ แต่จากการศึกษาพบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ยังมีฤทธิ์ต่อต้านไวรัสโคโรนาอีกหลายชนิด เช่น ไวรัสซาร์ส ไวรัสเมอร์ส และไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด 19
ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)
มีประสิทธิภาพอย่างไรกับโควิด 19
ยาโมลนูพิราเวียร์

          ในเดือนตุลาคม 2564 บริษัทเมอร์ค ได้เผยผลการทดลองเฟสที่ 3 ที่ใช้ยาเม็ดโมลนูพิราเวียร์ รักษาโรคโควิด 19 ในกลุ่มผู้ป่วยผู้ใหญ่จำนวน 775 คน ซึ่งมีปัญหาสุขภาพอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น โรคอ้วน, โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ โดยใช้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยที่แสดงอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงอาการปานกลาง และให้ยาภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ

          และจากผลการทดลองก็แสดงให้เห็นว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ สามารถลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตของผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 ได้ถึง 50% โดยมีผู้ป่วยเพียง 7.3% เท่านั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยโควิด 19 ที่รักษาด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ ไม่มีใครเสียชีวิตเลยแม้แต่คนเดียว เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก

          สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของยาโมลนูพิราเวียร์ จะช่วยลดการลุกลามของโรค โดยต้านเชื้อโควิดได้ทั้งสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) สายพันธุ์แกมมา (สายพันธุ์บราซิล) และสายพันธุ์มิว (สายพันธุ์โคลอมเบีย) โดยทำให้พันธุกรรมของไวรัสผิดปกติจนไม่สามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์ได้ จึงลดความรุนแรงของอาการป่วยได้นั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม ยาโมลนูพิราเวียร์ ยังอยู่ในสถานะยาต้านไวรัสทดลองและวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นเฟสสุดท้าย และทางบริษัทเมอร์คเตรียมยื่นขออนุมัติกับทาง FDA หรือ อย. ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากผ่านการพิจารณา ยาโมลนูพิราเวียร์ จะเป็นยาฉุกเฉินที่ใช้รักษาโควิด 19 และจะเป็นยารักษาโควิดชนิดรับประทานตัวแรกของโลก อีกทั้งยังเป็นความหวังสำคัญของการต่อสู้กับโควิด 19 ที่อาจทำให้โควิดไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป

ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)
กินอย่างไรเมื่อใช้รักษาโควิด
          อ้างอิงจากการทดลองเฟสที่ 3 ผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการน้อยหรือปานกลาง จะได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ ขนาด 200 มิลลิกรัม ครั้งละ 4 เม็ด โดยกินวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน หลังเริ่มแสดงอาการ ซึ่งเท่ากับว่า การใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ต่อคอร์สจะตกอยู่ที่ 40 เม็ดต่อผู้ป่วยโควิด 1 คน ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องได้รับยาโดยเร็วที่สุดภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ และห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) จะได้ใช้เมื่อไร
ยาโมลนูพิราเวียร์

ภาพจาก rarrarorro / Shutterstock

          ตามแผนของบริษัทผู้ผลิตยาคาดว่า จะยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ FDA ภายในเดือนตุลาคม 2564 เพื่อใช้เป็นยาฉุกเฉินสำหรับการรักษาโรคโควิด 19 ซึ่งทางเมอร์ค ก็เตรียมผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ประมาณ 10 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ และยังได้ทำสัญญากับฐานการผลิตหลายแห่งในประเทศอินเดีย เพื่อให้ผลิตและส่งยาโมลนูพิราเวียร์ในราคาถูกให้กับประเทศรายได้น้อยถึงปานกลางด้วย

          ส่วนประเทศไทย ทางกรมการแพทย์ก็ได้เจรจาสั่งจองยาโมลนูพิราเวียร์ไปแล้วจำนวน 200,000 ชุด เพื่อเตรียมไว้ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 จำนวน 200,000 ราย ซึ่งหากยาโมลนูพิราเวียร์ผ่าน FDA ของสหรัฐอเมริกาแล้ว คาดว่าจะมีการขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายในเดือนพฤศจิกายน และยาโมลนูพิราเวียร์อาจจะเข้ามาในประเทศไทยในช่วงเดือนธันวาคม 2564

ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ราคาเท่าไร
          ตามข้อมูลในปัจจุบัน สนนราคายาโมลนูพิราเวียร์ในตอนนี้ตกอยู่ที่ 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 คอร์ส หรือเกือบ ๆ 24,000 บาท แต่อย่างไรก็ดี ราคายาโมลนูพิราเวียร์อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยในการผลิต เช่น ผลิตยาได้เยอะขึ้น หลายบริษัทผลิตยาตัวนี้ได้ รวมไปถีงฐานการผลิตยาในแต่ละประเทศก็อาจทำให้ราคายาถูกลงด้วย
          พอได้ทราบข้อมูลยาโมลนูพิราเวียร์ ก็อยากให้มียาตัวนี้ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 เร็ว ๆ สักที แต่เหนือสิ่งอื่นใดการไม่ติดเชื้อก็ยังเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นอย่าลืมไปฉีดวัคซีนและดูแลตัวเองให้รอดปลอดภัยจากโควิดกันด้วยนะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับยาและสมุนไพรรักษาโควิด 19

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ความหวังรักษาโควิด 19 ที่โลกรอคอย อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2564 เวลา 09:46:14 41,019 อ่าน
TOP
x close