ต้นโกฐจุฬาลัมพา เป็นไม้ล้มลุกมีอายุปีเดียว ลำต้นสูง 0.7-1.6 เมตร แตกกิ่งมาก ทั้งต้นมีกลิ่นแรง มีขนขึ้นประปราย หลุดร่วงได้ง่าย
- ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงเวียน มีต่อมโปร่งแสง ขอบใบหยักลึกคล้ายขนนก 3 หรือ 4 ชั้น แฉกใบจักฟันเลื่อยลึกรูปสามเหลี่ยม เส้นกลางใบเด่นชัดทางด้านบน แกนกลางใบมีปีกแคบ ก้านใบสั้นมาก
- ช่อดอก เป็นแบบช่อแยกแขนง รูปพีระมิดกว้าง ส่วนช่อย่อยเป็นช่อกระจุกแน่น มีสีเหลืองถึงเหลืองเข้ม ลักษณะกลมและมีจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 มิลลิเมตร ก้านช่อย่อยสั้น วงนอกเป็นดอกเพศเมีย มี 10-18 ดอก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายจักเป็นซี่ฟัน 2 ซี่ หรือ 3-4 ซี่ ยอดเกสรเพศเมียแหลม ดอกย่อยตรงกลางเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มี 10-30 ดอก โคนกลีบเชื่อมติดกัน เป็นหลอดปลายจักซี่ฟัน 5 ซี่ เกสรเพศผู้มี 5 อัน อับเรณูเชื่อมติดกัน แต่ละอันมีรยางค์ด้านบน 1 อัน รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม และมีรยางค์ปลายมนที่โคน 2 อัน
- ผล เป็นผลแห้ง
- เมล็ดล่อน รูปไข่แกมรี ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
1. แก้ไข้
2. รักษาไข้มาลาเรีย
3. ลดเสมหะ แก้ไอ
4. แก้ริดสีดวงทวาร
5. แก้หืด หอบ ดีซ่าน
6. ต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
7. ต้านอักเสบ ระงับอาการปวด
ด้วยสรรพคุณทางยาของสมุนไพรชนิดนี้ ในปัจจุบันสารสำคัญในโกฐจุฬาลัมพา และอนุพันธุ์กึ่งเคมีสังเคราะห์ ถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่นในหลายประเทศรวมทั้งไทย โดยเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก (WHO) อีกทั้งยังเป็นเครื่องยาที่ได้รับการรับรองในวงการแพทย์แผนจีนอีกด้วย ส่วนในตำรับยาไทยก็ใช้โกฐจุฬาลัมพารักษาโรคอยู่หลายขนานด้วยกัน
1. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต หรือยาแก้ลม
2. ตำรับยาแก้ไข้
3. ยาเลือดงาม
4. ยาพิกัดโกฐ
คณะนักวิจัย 7 คน จากมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย และมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พบว่าสรรพคุณโกฐจุฬาลัมพาสามารถต้านโควิด 19 ได้ในระดับห้องปฏิบัติการ โดยพบว่าสารสกัดรวมในน้ำร้อนและใบแห้งของโกฐจุฬาลัมพา (มีตัวอย่างหนึ่งมีอายุมากกว่า 10 ปี) มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อโควิด ซึ่งรวมทั้งสายพันธุ์แอฟริกาและอังกฤษ โดยนักวิจัยเชื่อว่าสารที่มีบทบาทสำคัญในการยับยั้งไวรัสนี้ นอกจากสาร Artemisinin และองค์ประกอบแล้ว น่าจะมาจากการทำงานของสารอื่น ๆ ในโกฐจุฬาลัมพาด้วย
อย่างไรก็ตาม การค้นพบดังกล่าวยังคงได้ผลสำเร็จในห้องปฏิบัติการ ยังไม่มีการทดลองในมนุษย์นะคะ ดังนั้นจึงควรรอความชัดเจนจากแพทย์และการทดลองด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย
เนื่องจากโกฐจุฬาลัมพาเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยา จึงควรใช้อย่างถูกต้องและใช้ด้วยความระมัดระวัง ดังนี้
1. เช็กให้ดีว่าเป็นโกฐจุฬาลัมพาที่มีสารอาร์ทีมิซินิน (Artemisinin) สารออกฤทธิ์สำคัญที่ช่วยแก้ไข้ ต้านไวรัส
2. ต้นโกฐจุฬาลัมพามีทั้งพันธุ์ดอกสีขาวและดอกสีแดง ซึ่งสรรพคุณทางยาเหมือนกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ดอกสีเหลือง ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia princeps Pamp ด้วย แต่พันธุ์นี้จะมีพิษ ถ้าใช้เกินขนาดก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
3. ไม่ควรใช้ยาโกฐจุฬาลัมพาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ควรใช้ตามคำแนะนำของหมอพื้นบ้าน และแพทย์แผนไทย เพราะอาจส่งผลกระทบต่อตับ-ไตได้
4. ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาอื่นต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้โกฐจุฬาลัมพา รวมไปถึงก่อนใช้สมุนไพรหรืออาหารเสริมทุกชนิด
5. ไม่ควรรับประทานโกฐจุฬาลัมพาเพียงตัวเดียว แต่ต้องนำมาเข้าตำรับยา คือผสมกับตัวยาอื่น เพื่อปรับฤทธิ์ยาให้สมดุล เพราะการหาซื้อมากินเองโดยไม่เข้าตำรับยาอาจเกิดผลข้างเคียงได้ จึงควรเลือกใช้ตามตำรับยา เช่น ตำรับยาจันทน์ลีลา ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรต้านโควิด
- วิธีกินฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด 19 ควรใช้อย่างไร ต้องกินวันละเท่าไร
- กระชายขาว ต้านโควิด 19 ได้จริงไหม พร้อมสรรพคุณที่น่าสนใจ
- ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว กินคู่กันได้ไหม ไขข้อสงสัยเรื่องสมุนไพรรักษาโควิด
- เปิดรายชื่อ ยาฟ้าทะลายโจร สำหรับรักษาอาการเบื้องต้น โควิด 19 มียี่ห้อไหน ใช้ขนาดเท่าไหร่ เช็กที่นี่
- 12 ยาสมุนไพรดูแลตัวเองในเบื้องต้น เมื่อติดโควิดแล้วต้องรักษาตัวที่บ้าน Home isolation
- 13 สมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกัน ควรมีติดบ้านในช่วงโควิด 19
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
เฟซบุ๊ก สมุนไพรอภัยภูเบศร (1), (2)
เฟซบุ๊ก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
Disthai
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เฟซบุ๊ก BIOTHAI