x close

โอมิครอนอาการต่างจากเดลตาอย่างไร เช็ก 8 อาการที่พบได้ วัคซีนป้องกันได้แค่ไหน ?

           Omicron เชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก อาการโอมิครอนเป็นอย่างไร ต่างจากสายพันธุ์เดลตาหรือเปล่า มาหาคำตอบกัน
          กำลังเป็นที่จับตาทั่วโลกสำหรับโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า โอมิครอน (Omicron) เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมหลายจุด จึงสร้างความกังวลว่า โควิดสายพันธุ์นี้จะแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตาที่ครองโลกอยู่หรือไม่ ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วยในหลายประเทศแล้ว รวมทั้งประเทศไทย แสดงว่าโควิดโอมิครอนอยู่ไม่ไกลตัวอีกต่อไป ดังนั้นจึงควรศึกษาไวรัสตัวนี้เอาไว้เพื่อรับมือ 
โอมิครอน (Omicron) คืออะไร
โอมิครอน (Omicron)

          โอมิครอน (Omicron) เป็นภาษากรีก หรือบางคนอ่านว่า โอไมครอน ตามภาษาอังกฤษ คือสายพันธุ์ใหม่ของโรคโควิด 19 มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 ถูกพบครั้งแรกในทวีปแอฟริกา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ก่อนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จะจัดให้สายพันธุ์โอมิครอนอยู่ในรายชื่อเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) เป็นลำดับที่ 5 ต่อจากอัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา 

          ทั้งนี้ เนื่องจากพบว่าไวรัสตัวนี้มีการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 ตำแหน่ง รวมถึงมีการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสถึง 32 ตำแหน่ง และยังกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่ง มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ 

          นอกเหนือจากศักยภาพในการระบาดอย่างรวดเร็วแล้ว สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังแสดงความกังวลคือ ประสิทธิภาพในการกลายพันธุ์ที่สูงผิดปกติ ทำให้สามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่า และอาจหลบหลีกต่อภูมิคุ้มกันได้ด้วย

อาการโอมิครอน vs เดลตา ต่างกันไหม
โอไมครอน อาการ

          จากข้อมูลผู้ป่วยโควิดที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน พบว่าส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ และบางคนอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เช่น รู้สึกอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่พบการสูญเสียการรับรสหรือรับกลิ่น และส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน

          อย่างไรก็ตาม ทีมศึกษาวิจัยจากอังกฤษยังพบว่าผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอนจะมีอยู่ 8 อาการที่เป็นสัญญาณว่าติดเชื้อโอมิครอน คือ

  • เจ็บคอ (อาจมีไอแห้ง)
  • น้ำมูกไหล
  • จาม
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
  • เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน และอาจทำให้เสื้อผ้าชุ่มด้วยเหงื่อจนต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า แม้ว่าจะนอนในห้องแอร์ก็ตาม
  • ปวดหลังส่วนล่าง

          ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบอาการสายพันธุ์โอมิครอน กับ เดลตา สายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน จะเห็นว่าไม่ค่อยต่างกันมากนัก เพราะผู้ป่วยสายพันธุ์เดลตามักมีอาการคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป และไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับรสเช่นเดียวกัน

          ดังนั้น อาจต้องสังเกตอาการเหงื่อออกในตอนกลางคืนและปวดหลังส่วนล่างเพิ่มเติม เพื่อแยกว่าติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่ แต่เพื่อความแน่ใจแพทย์จะเป็นผู้ส่งตรวจหาเชื้อเพื่อยืนยันสายพันธุ์

อาการโอมิครอนที่พบในผู้ติดเชื้อประเทศไทย

          ในส่วนของประเทศไทย จากข้อมูล ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2564 พบผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอนมีอาการน้อยจนถึงไม่มีอาการ 90%, ผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อย 10% และผู้ป่วยที่มีอาการมาก 3-4% 

          ทั้งนี้ หากศึกษาจากผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการ 41 ราย พบอาการมาก-น้อยตามลำดับ คือ

  • ไอ 54%
  • เจ็บคอ 37% 
  • ไข้ 29% 
  • ปวดกล้ามเนื้อ 15% 
  • มีน้ำมูก 12% 
  • ปวดศีรษะ 10% 
  • หายใจลำบาก 5% 
  • ได้กลิ่นลดลง 2%

          อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษามีเพียง 10 ราย ทั้งหมดมีอาการดีขึ้นภายใน 24-72 ชั่วโมง หลังได้รับยา และให้ยาจนครบ 5 วัน

โควิดโอมิครอน มีความรุนแรงแค่ไหน

          เชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนสามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา 2-5 เท่า และอาจจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่เดลตาในอนาคต หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 73% ภายใน 1 สัปดาห์

         
อย่างไรก็ตาม เท่าที่พบผู้ป่วยในต่างประเทศ ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยคล้ายโรคหวัด หลายคนจึงไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยข้อมูลผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศอังกฤษ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเพียง 20-25% น้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา ที่ผู้ป่วยต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลถึง 50% ส่วนอัตราการเสียชีวิตปัจจุบันยังไม่สูงมากนัก และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19
  

          ขณะที่ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง พบว่า สายพันธุ์โอมิครอนทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณหลอดลมและเพิ่มจำนวนได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ โดยเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาประมาณ 70 เท่า แต่กลับพบการติดเชื้อที่ปอดน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา และมีการเพิ่มจำนวนที่เซลล์เนื้อปอดได้ช้ากว่า นั่นจึงทำให้สายพันธุ์โอมิครอนแพร่เร็ว เพราะเชื้อมักชุกชุมในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งแพร่กระจายไปยังผู้คนรอบข้างได้ง่าย

          ทั้งนี้จากข้อมูลดังกล่าวแสดงว่า สายพันธุ์โอมิครอนอาจมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา
ทว่าก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะโอมิครอนมีความสามารถหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อมาก่อน ดังนั้นจึงยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโอมิครอน

วัคซีนโควิดป้องกันโอมิครอนได้หรือไม่
วัคซีนโควิด

          เนื่องจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีการกลายพันธุ์หลายจุด จึงอาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันไปบ้าง เพราะมีข้อมูลพบว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งได้รับวัคซีนครบแล้ว 2 เข็ม แต่ก็ยังติดเชื้อสายพันธุ์นี้ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย แสดงให้เห็นว่าวัคซีนยังสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคได้

          นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ต่อสู้กับโอมิครอนได้ หลังพบว่าการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ไม่สามารถป้องกันโอมิครอนได้มากนัก โดยบริษัทผลิตวัคซีนได้ทดลองฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อดูระดับแอนติบอดีว่าต่อสู้กับโอมิครอนได้หรือไม่ และพบข้อมูลดังนี้

  • วัคซีนไฟเซอร์ : เมื่อฉีด 3 เข็ม จะเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันได้สูง 25 เท่า
     
  • วัคซีนโมเดอร์นา : เมื่อฉีดเข็มที่ 3 ครึ่งโดส (50 ไมโครกรัม) จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโอมิครอน 37 เท่า และหากฉีด 1 โดส (100 ไมโครกรัม) ภูมิจะเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 83 เท่า
     
  • วัคซีนซิโนแวค : จากการทดลองให้วัคซีนซิโนแวคกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 พบว่าผู้ทดลอง 45 คน จาก 48 คน หรือคิดเป็น 94% มีระดับภูมิคุ้มกันที่จะรับมือโอมิครอนได้มากขึ้น เทียบเท่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 3 เข็ม
     
  • วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า : ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด พบว่า การฉีดแอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 ช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้มากขึ้น โดยภูมิคุ้มกันมีระดับสูงกว่าการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และสูงกว่าที่พบในผู้ที่เคยติดโควิดและหายป่วยได้เองจากสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือสายพันธุ์อัลฟา เบตา และเดลตา

          นั่นจึงเป็นเหตุผลที่หลายประเทศเดินหน้าฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่เลื่อนระยะเวลาการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้เร็วขึ้น จากเดิมต้องเว้นระยะห่างหลังฉีดเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน มาเป็น 3 เดือน

          ในเวลาเดียวกันบริษัทผลิตวัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ ทั้งโนวาแวกซ์, โมเดอร์นา, ไฟเซอร์, แอสตร้าเซนเนก้า, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ก็กำลังพัฒนาวัคซีนโควิด 19 สูตรใหม่ เพื่อรับมือกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนโดยเฉพาะ คาดว่าจะมีข่าวดีอีกไม่นาน

          ถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่าอย่าเพิ่งตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าสายพันธุ์นี้ทำอันตรายกับมนุษย์ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็ไม่ควรประมาทการ์ดตก เรายังต้องดูแลป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดเหมือนที่ผ่าน ๆ มา ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำ และเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้มาก

บทความที่เกี่ยวข้องโควิดโอมิครอน

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 28 ธันวาคม 2564


ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 (1), (2), (3), (4), (5)  
เฟซบุ๊ก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข   
ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ 
โรงพยาบาลพญาไท
โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล หนองแขม (1), (2)
องค์การอนามัยโลก   
prevention.com 
nypost.com
walesonline.co.uk
กรุงเทพธุรกิจ
ฐานเศรษฐกิจ
เฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun
mirror.co.uk  
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โอมิครอนอาการต่างจากเดลตาอย่างไร เช็ก 8 อาการที่พบได้ วัคซีนป้องกันได้แค่ไหน ? อัปเดตล่าสุด 7 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09:25:58 153,632 อ่าน
TOP