วัคซีนเข็ม 4 ควรฉีดเมื่อไหร่ เลือกใช้สูตรไหน ห่างจากเข็ม 3 กี่เดือน

           วัคซีนเข็ม 4 ใครต้องฉีดบ้าง ถ้าเข็ม 3 ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ไปแล้ว จะต้องฉีดเข็ม 4 ยี่ห้ออะไร เว้นระยะห่างจากเข็ม 3 กี่เดือน
           หลังจากคนไทยทยอยฉีดวัคซีนเข็ม 3 เป็นบูสเตอร์โดสเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันสู้โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนไปบ้างแล้ว ก็ยังมีคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขให้เดินหน้าฉีดวัคซีนเข็ม 4 ในกลุ่มเสี่ยงรวมทั้งประชาชนทั่วไปในบางพื้นที่ ซึ่งหลายคนคงอยากทราบว่า เราอยู่ในข่ายที่ต้องไปฉีดวัคซีนเข็ม 4 หรือไม่ และต้องฉีดสูตรไหน ยี่ห้ออะไร วันนี้รวบรวมข้อมูลมาบอกให้ทราบกัน
วัคซีนเข็ม 4 ใครควรฉีดบ้าง
วัคซีนเข็ม 4

          จากการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ได้แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เป็นเข็มที่ 4 ไม่ว่าจะเป็น

  • กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
  • เจ้าหน้าที่ด่านหน้า
  • กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  • กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน
  • กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ประชาชนทั่วไป  
วัคซีนเข็ม 4 ควรฉีดเมื่อไหร่ ทำไมต้องฉีด

          การฉีดวัคซีนโควิด 19 จะทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสอยู่สักระยะหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน ภูมิคุ้มกันนั้นจะค่อย ๆ ตกลง เป็นเหตุให้เราต้องฉีดวัคซีนโควิด เข็มที่ 3 เข็มที่ 4 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ในการต่อสู้กับไวรัสทั้งสายพันธุ์เก่าและสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะโอมิครอน

          ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยถึงประสิทธิผลของวัคซีนเข็มต่าง ๆ ในช่วงการระบาดของ Omicron พบข้อมูลดังนี้

  • การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้น้อยมาก สามารถป้องกันการป่วยปอดอักเสบที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และการเสียชีวิตได้ 75%
     
  • การฉีดวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ 15% สามารถป้องกันการป่วยปอดอักเสบที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และการเสียชีวิตได้ 93%
     
  • การฉีดวัคซีน 4 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ 76% สามารถป้องกันการป่วยปอดอักเสบที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และการเสียชีวิตได้ 96% โดยยังไม่พบการเสียชีวิตในการศึกษานี้

          ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงได้แนะนำให้ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม เพื่อลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด และสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ห่างจากวัคซีนเข็มที่ 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป

วัคซีนเข็ม 4 ฉีดสูตรไหน ยี่ห้ออะไร
วัคซีนเข็ม 4

สูตรการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 4 เป็นดังนี้         

  • คนที่ฉีดเข็มที่ 1-2 เป็นซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม และเข็มที่ 3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า : สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยฉีดห่างจากเข็มที่ 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป 
  • คนที่ฉีดเข็มที่ 1-2 เป็นซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม และเข็มที่ 3 เป็นไฟเซอร์ : สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 เป็นไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา โดยฉีดห่างจากเข็มที่ 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป 
  • คนที่ฉีดเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า และเข็มที่ 3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า : สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 เป็นไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา โดยฉีดห่างจากเข็มที่ 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป 
  • คนที่ฉีดเข็มที่ 1-2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า และเข็มที่ 3 เป็นไฟเซอร์ : ควรฉีดเข็มที่ 4 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา โดยฉีดห่างจากเข็มที่ 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป 

          อย่างไรก็ตาม กรณีกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ สามารถฉีดขนาดครึ่งโดสได้ ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน (ทั้งนี้มีข้อมูลการศึกษาในผู้ใหญ่ที่แข็งแรงดีว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครึ่งโดสสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความคุ้มกันบกพร่อง หรือในเด็ก)

          นอกจากนี้ทางด้านศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยผลการวิจัยว่า การใช้วัคซีนชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา เป็นเข็มที่ 4 จะกระตุ้นภูมิได้ดีกว่า โดยวัคซีนโมเดอร์นาให้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าวัคซีนไฟเซอร์เล็กน้อย แต่ก็มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงมากกว่า โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุน้อย 

วัคซีนเข็ม 4

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กระทรวงสาธารณสุข

จองวัคซีนเข็ม 4 ได้ที่ไหน

          สามารถติดตามข่าวได้จากหน่วยงานสาธารณสุขของจังหวัดต่าง ๆ  ซึ่งจะมีประกาศลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ออกมาอยู่เรื่อย ๆ หรือลองเช็กจุดบริการฉีดวัคซีนเข็ม 4 ได้จากลิงก์ด้านล่างนี้

          อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้วกี่เข็ม ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้อยู่ดี จึงจำเป็นต้องดูแลตัวเองตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด เพราะหากติดเชื้อขึ้นมา แม้อาการป่วยอาจจะไม่หนัก แต่เสี่ยงต่อภาวะ Long Covid ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายไม่น้อยหลังหายป่วย

*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 25 พฤษภาคม 2565

บทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด 19

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัคซีนเข็ม 4 ควรฉีดเมื่อไหร่ เลือกใช้สูตรไหน ห่างจากเข็ม 3 กี่เดือน อัปเดตล่าสุด 7 ธันวาคม 2565 เวลา 11:56:35 129,080 อ่าน
TOP
x close