จากสถิติที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca ไปกว่า 168 ประเทศทั่วโลก พบว่าอาการหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca ที่พบได้ทั่วไป และไม่รุนแรง ได้แก่
- อาการกดเจ็บบริเวณที่ฉีด พบได้มากกว่า 60%
- อาการปวดตำแหน่งที่ฉีด ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย พบได้มากกว่า 50%
- อาการปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว พบได้มากกว่า 40%
- อาการไข้ หนาวสั่น พบได้มากกว่า 30% โดยอาการไข้มักจะพบในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี เพราะร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนได้ดีมากกว่าคนสูงอายุ ซึ่งไม่อันตราย และจะหายได้เองภายใน 1-2 วัน
- อาการปวดข้อ และคลื่นไส้ พบได้มากกว่า 20%
นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้อีก เช่น
- อาการบวม แดง ร้อน บริเวณตำแหน่งที่ฉีด
- มีจ้ำเลือดไม่รุนแรง
- ผื่นแดงเล็กน้อย
- รู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว ไม่มีแรง
- มีอาการคล้ายไข้หวัด เจ็บคอ
- อาเจียนไม่เกิน 5 ครั้ง
ซึ่งอาการเหล่านี้ส่วนมากไม่รุนแรง และมักจะหายได้เองภายใน 1-3 วัน หรือในช่วงสัปดาห์แรกหลังฉีดวัคซีน
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว
- สามารถกินยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม จำนวนครั้งละ 1-2 เม็ด เพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออาการไข้ได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ตามความจำเป็น และดื่มน้ำเยอะ ๆ รวมไปถึงนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หากมีอาการบวมแดงบริเวณจุดฉีดวัคซีน ให้ประคบเย็นบริเวณที่ปวดภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังฉีดวัคซีน โดยใช้เจลเย็นหรือผ้าชุบน้ำเย็นจัด ๆ ประคบ เพื่อลดอาการปวดบวม หลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปค่อยประคบอุ่น เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
- ให้รักษาตามอาการหรือรอให้อาการดีขึ้น อาการมักหายได้เองใน 1-2 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ควรรีบไปโรงพยาบาล หรือโทร. 1669 เพื่อรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน
สำหรับอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน AstraZeneca ที่พบได้น้อย ได้แก่
- ต่อมน้ำเหลืองโต (น้อยกว่า 1%)
- เบื่ออาหาร (น้อยกว่า 1%)
- มึนหรือเวียนศีรษะ (น้อยกว่า 1%)
- ปวดท้อง (น้อยกว่า 1%)
- เหงื่อออกมากผิดปกติ (น้อยกว่า 1%)
- มีผื่นคัน (น้อยกว่า 1%)
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการหลายระบบร่วมกันดังต่อไปนี้อาจแสดงถึงภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) คือ
- ระบบผิวหนังและเยื่อบุ เช่น อาการคัน ตัวแดง ผื่นลมพิษ ปากบวม หน้าบวม มีจุด (จ้ำ) เลือดจำนวนมาก
- ระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการหอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ด หลอดลมตีบ คัดจมูก
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น อาการเวียนศีรษะ วูบ หมดสติ ความดันต่ำ
- ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียนเกิน 5 ครั้ง ปวดท้อง ถ่ายเหลว
สำหรับภาวะแพ้รุนแรงพบได้น้อยมาก ประมาณ 4 ในล้าน ส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 30 นาที หลังฉีดวัคซีน แต่บางคนอาจใช้ระยะเวลานานกว่านั้น
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว
ที่ต้องเฝ้าระวังใน 4-30 วัน
ในต่างประเทศพบเคสผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ทั้งคู่ มีอาการลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ หรือจริง ๆ ก็คือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด 19 ที่เรียกว่าภาวะ VITT (Vaccine-Induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia) ซึ่งจะแตกต่างกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันทั่วไป คือ เกิดจากการตอบสนองภูมิต้านทานของร่างกาย บางครั้งถ้ารุนแรงเกินไปก็จะไปกระตุ้นเกล็ดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้นมา แต่สามารถรักษาได้ถ้าวินิจฉัยได้ทัน
ทั้งนี้ อุบัติการณ์ของภาวะ VITT อยู่ที่ 1:125,000 ถึง 1:1,000,000 ของผู้ได้รับวัคซีนเท่านั้น อย่างในสหราชอาณาจักร พบภาวะ VITT 0.000013% หรือ 13 ใน 1 ล้านคน และจากข้อมูลการใช้วัคซีนในประเทศอินเดีย พบภาวะ VITT 0.61 ใน 1 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2564) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุต่ำกว่า 55 ปี ส่วนมากเป็นเพศหญิง มักแสดงอาการหลังได้รับวัคซีนประมาณ 4-30 วัน
อย่างไรก็ตาม คนเอเชียมีโอกาสเป็นน้อยกว่าคนยุโรป ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบคนไทยที่ฉีดวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษดังกล่าวเลย และแม้จะมีอัตราการเกิดภาวะ VITT ที่ต่ำมาก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดควรเช็กอาการต่อไปนี้
- ปวดศีรษะรุนแรง
- แขน-ขาชา อ่อนแรง
- หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
- ชัก หรือหมดสติ
- ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน
- เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก
- ปวดท้องไม่ทราบสาเหตุ หรือปวดหลังรุนแรง
- ขาบวมแดง หรือซีด เย็น
ถ้ามีอาการเหล่านี้ปรากฏในช่วง 4-30 วัน หลังฉีดวัคซีน ร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ต้องรีบพบแพทย์และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะสนับสนุนค่าตรวจรวมทั้งค่ารักษาให้
- ชื่อวัคซีน : ChAdOx1 nCoV-19 vaccine (AZD1222)
- เทคนิคที่ใช้ผลิต : เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ที่แบ่งตัวไม่ได้ โดยมีเชื้ออะดีโนไวรัส (Adenovirus) เป็นพาหะ
- ผู้ผลิต : มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) ร่วมกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)
- ต้องฉีดกี่โดส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 4-12 สัปดาห์ (กระทรวงสาธารณสุขแนะนำห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ ถ้าจำเป็น)
- ราคาวัคซีน AstraZeneca : 2.16-5.25 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส (ประมาณ 66-160 บาท/โดส)
- ประสิทธิภาพ :
- ป้องกันการติดเชื้อรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต 100% (หลังฉีดเข็มแรก 22 วันไปแล้ว)
- จากการศึกษาการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในคนไทย พบว่าหลังฉีดเข็มแรก 30 วัน มีภูมิคุ้มกันถึง 96.7%
- อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 18 ปีขึ้นไป
- การเก็บรักษา : สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8ºC
บทความเรื่องฉีดวัคซีนโควิด 19
- ซิโนแวค vs แอสตร้าเซนเนก้า เทียบข้อดี-ข้อด้อย ต่างกันยังไง ฉบับหมอบอกเอง
- ก่อนฉีดวัคซีนโควิดต้องเตรียมตัวอย่างไร ห้ามกินอะไรบ้าง
- เช็กให้พร้อม ! ต้องทำอะไรบ้างในวันนัดฉีดวัคซีนโควิด 19
- 12 วิธีดูแลตัวเองหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ห้ามกินอะไรบ้าง
- เช็กอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด แบบไหนหายเองได้ หรืออันตรายต้องรีบหาหมอ !
- ความเสี่ยง ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน กับการฉีดวัคซีนโควิด 19 จริงเท็จแค่ไหน ?
- งดกาแฟก่อนฉีดวัคซีนโควิด จำเป็นแค่ไหน ต้องงดดื่มหรือไม่กันแน่
- กินยาคุมฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม จะเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน หรือต้องหยุดยาก่อนหรือเปล่า ?
- ฉบับอัปเดต 8 วัคซีนโควิดในไทย มีอะไรบ้าง ประสิทธิภาพ-ผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหน
ขอบคุณข้อมูลจาก
บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, รามา แชนแนล, กรมควบคุมโรค, สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี