ก่อนออกจากบ้านควรเตรียมตัวให้ดีตามนี้
1. ตรวจสอบวัน เวลานัดหมายฉีดวัคซีนให้ดี รวมถึงเช็กสถานที่ฉีดวัคซีนให้แน่ชัดอีกครั้ง
2. เช็กสภาพร่างกายตัวเองว่าพร้อมแค่ไหน มีอาการป่วย มีไข้สูง ไอ เจ็บคอ ท้องเสียรุนแรง หรือไม่สบายตรงไหนหรือเปล่า หากมีอาการควรเลื่อนฉีดวัคซีนไปก่อน เพราะถ้าสุขภาพยังไม่แข็งแรงพอ ร่างกายอาจตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่ดี
3. ควรเว้นระยะห่างจากวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน รวมทั้งการฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ แนะนำให้เว้นระยะอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน)
4. งดออกกำลังกายอย่างหนัก
5. รับประทานอาหารเช้าให้เรียบร้อย ห้ามอดอาหาร แต่งดดื่มชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม ก่อนไปฉีดวัคซีน
6. หากมียารักษาโรคที่ต้องกิน ให้กินตามปกติได้เลย ยกเว้นปรึกษาแพทย์แล้ว แพทย์แนะนำให้หยุดยาเพื่อให้ได้ผลดีจากวัคซีน
7. ถ้ามีประวัติแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา สามารถกินยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงนอน 30 นาที - 1 ชั่วโมง ก่อนฉีดวัคซีน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการแพ้เล็กน้อยไปได้
8. ไม่ควรกินยาดังต่อไปนี้
* ยาลดไข้ แก้ปวด
หากมีไข้ ไม่สบาย ห้ามกินยาแก้ปวด ยาลดไข้ก่อนไปฉีดวัคซีนโควิด 19 เพราะยาอาจไปกดภาวะการอักเสบ จนบดบังการตอบสนองของวัคซีน นอกจากนี้ หากมีอาการไม่สบายหลังฉีดวัคซีน อาจทำให้เกิดความสับสนได้ว่าเป็นอาการแพ้วัคซีนหรือเป็นอาการป่วยที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว
* ยาแอสไพริน
การกินยาแอสไพรินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนที่รุนแรงกว่าเดิมได้ในคนที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำมาก ๆ นอกจากนี้ยาแอสไพรินก็ไม่มีส่วนป้องกันอาการลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ด้วย
ยกเว้นกินเพื่อรักษาโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
* ยาที่มีผลทำให้หลอดเลือดแดงหดตัว
เช่น ยาแก้ปวดไมเกรน ยาแก้คัดจมูก ยาลดน้ำมูก (Pseudoephridine) ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRI หรือ SNRI หากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงยากลุ่มนี้ในช่วง 1-2 วันก่อนฉีดวัคซีน หรือหากจำเป็นต้องกิน ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
9. ดื่มน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซี.ซี. (ประมาณ 3-5 แก้ว) เพื่อช่วยให้หลอดเลือดขยาย การขับถ่ายของเสียต่าง ๆ ในร่างกายก็จะดีขึ้น
10. สวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการฉีดวัคซีนบริเวณต้นแขน
11. เตรียมบัตรประชาชนให้พร้อมก่อนออกจากบ้าน
12. สวมหน้ากาก 2 ชั้น (สวมหน้ากากอนามัย ทับด้วยหน้ากากผ้าที่ชั้นนอก) และพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไปด้วย
เราควรไปถึงก่อนเวลานัดประมาณ 30 นาที เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 ดังนี้
1. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันพื้นฐานอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หลังสัมผัสพื้นผิวใด ๆ ทุกครั้ง
2. ตรวจสอบข้อมูลยืนยันตัวบุคคลลงทะเบียนผ่าน Line หมอพร้อม ให้เรียบร้อย
3. ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต วัดอุณหภูมิตามขั้นตอน
4. ให้ข้อมูลสุขภาพกับพยาบาลหรือแพทย์โดยละเอียด เช่น
- ประวัติโรคประจำตัว
- หากเป็นโรคเรื้อรังแต่ขาดยา ขาดการรักษาต้องแจ้งแพทย์ด้วย
- ยาหรือวิตามินที่กินเป็นประจำ
- ประวัติแพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ
- อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ หากมีควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
- ผู้เป็นโรคเลือดออกง่าย ต้องแจ้งแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน
- ข้อมูลสุขภาพที่จำเป็นอื่น ๆ ให้แจ้งแพทย์ทุกอย่าง
5. ขณะรอฉีดวัคซีนควรทำใจให้สบาย หายใจเข้า-ออก ลึก ๆ หรือผ่อนคลายตัวเองด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ
6. พยายามจิบน้ำบ่อย ๆ ก่อนฉีดวัคซีน
7. ฉีดวัคซีนโควิดที่แขนข้างที่ไม่ถนัด อย่าเกร็ง อย่ายกของหนัก และลดการใช้แขนข้างนั้นหลังฉีดวัคซีน
8. สำหรับผู้ที่กินยาละลายลิ่มเลือด ให้กดนิ่งตรงจุดที่ฉีดยาต่ออีกอย่างน้อย 1 นาที
9. หลังฉีดวัคซีนควรอยู่รอดูอาการในบริเวณที่ฉีดประมาณ 30 นาที หากมีอาการผิดปกติ เช่น แขน-ขาชา ปากเบี้ยว มีไข้ขึ้นสูงมาก หน้ามืด มีผื่นขึ้น หายใจไม่ออก ให้แจ้งแพทย์ในบริเวณนั้นทันที
10. เมื่อนั่งพักครบ 30 นาทีแล้ว พยาบาลจะสอบถามอาการ ให้คำแนะนำ พร้อมกับตรวจสอบวัน-เวลานัดหมายการฉีดวัคซีนครั้งต่อไป และรับเอกสารคำแนะนำต่าง ๆ
ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังฉีดวัคซีนโควิด พยายามล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ให้บ่อย และกลับบ้านไปก็ควรสังเกตอาการตัวเองหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ด้วยนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด 19
- ก่อนฉีดวัคซีนโควิดต้องเตรียมตัวอย่างไร ห้ามกินอะไรบ้าง
- ฉีดวัคซีนโควิด 19 ดีไหม โรคประจำตัวแบบไหนควรฉีด ไม่ควรฉีด
- วัคซีนโควิด 19 แต่ละยี่ห้อต่างกันยังไง
- แพ้วัคซีนอาการเป็นยังไง สัญญาณไหนต้องเอะใจ รีบไปหาหมอ
- เป็นไข้ เป็นหวัด ฉีดวัคซีนได้ไหม อันตรายหรือเปล่า
ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก กรมอนามัย, โรงพยาบาลรามคำแหง, โรงพยาบาลนครธน, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, เฟซบุ๊ก Drama-addict, เฟซบุ๊ก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ), ชัวร์ก่อนแชร์